Work —— บันทึกประจำวัน

a day #233 ใครไม่แคร์ คนทำแคร์

คนทำขออวดบ้าง! หลังตกปากรับคำไปทำคอนเทนต์ให้ a day #233 ฉบับ World-Life Balance เพราะอยากเป็นส่วนเล็กๆ ที่ใช้ความถนัดของตัวเองมาช่วยให้โลกยั่งยืนขึ้น เราเลยอยากเก็บบันทึก (กึ่งอวด) ว่าช่วงเวลา 3-4 เดือนแห่งการเปิดเล่มยันปิดเล่มมันเป็นยังไง ใครเอาไอเดียไปรียูสต่อได้ เราก็ยินดีนะ

ฟีลลิ่งกลับไปเป็น บ.ก. สารคดีอีกครั้ง จริงๆ ตอนปิดเล่มมันก็ดีนะ – บี

#คนเริ่มแคร์2019 

ขอย้อนไปตั้งแต่ต้นปี ว่าทำไมทำคอนเทนต์อยู่ดีๆ ถึงอยากหันมาแคร์โลก ไม่ใช่ว่าเกิดจะรักโลกขึ้นมาดื้อๆ แต่ในฐานะคนทำคอนเทนต์ที่มีทีมงานกันอยู่ไม่กี่ชีวิต เมื่อเข้าสู่ปีที่สามของการง่วนทำงานหนักๆ ก็อยากจะโฟกัสบ้าง

พอหันมาหารือกันว่าในบรรดาคอนเทนต์หลายๆ หมวดที่เคยทำ คอนเทนต์แบบไหนนะที่เรารู้สึกถนัด พอใจ หรือ content กับมันจริงๆ กันแน่ สุดท้ายก็ตกลงปลงใจกันว่าจะปักธงตัวเองไว้ที่คอนเทนต์แนว Sustainable Living ที่วนเวียนอยู่กับเรื่องไลฟ์สไตล์กินดี อยู่ดี ยั่งยืน และเห็นหัวคนอื่นรวมถึงธรรมชาติ เราก็พยายามไม่ว่อกแว่กและวางแผนกันไว้ว่าจะคลอดแบรนด์ลูกที่ชื่อ ‘ไอแอลไอยู’ ออกมาเพื่อทำอะไรสนุกๆ กว่าเดิมให้จงได้

กันยายน 2019 ระหว่างที่เรากำลังปั้นลูกคนใหม่กันอยู่ ก๋าย บรรณาธิการสารคดี a day ต่อสายมาชักชวนเรา (ผู้เป็นศิษย์เก่า) ไปทำอะเดย์ฉบับที่ว่าด้วย ‘ไลฟ์สไตล์ยั่งยืน’ พอรู้ว่าหัวข้อนี้มันพอดิบพอดีกับความอินของเราที่กำลังสุกงอม ก็โพล่งความในใจออกไปแบบไม่ลังเลว่าอยากทำ! แต่ขอทำในนามหัวไอแอลไอยูนะ ว่าแล้วก็ขอกลับมาทำการบ้านต่อให้กลม น่าอ่าน และเป็นเรามากขึ้นดู

คิดก่อนแคร์

ตุลาคม 2019 คือช่วงเวลาแห่งการหาความรู้และโยนไอเดียมากองกันไว้ตรงกลาง ทีมงานของเราอันประกอบด้วยทั้งซีเนียร์ที่เป็นอดีตคนทำอะเดย์ และจูเนียร์ที่ไม่เคยผ่านการทำนิตยสารมาก่อน ก็ต้องมาช่วยกันโยนและพ่นคำที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาอาณาจักรของคำว่า ‘ยั่งยืน’ หรือ sustain ที่จะอยู่ในอะเดย์เล่มนี้ให้ได้เสียก่อน

ยั่งยืน = มีอนาคต อยู่นาน ไม่ตายเร็ว

น่าตื่นเต้นที่คำว่า ‘ยั่งยืน’ มันข้องเกี่ยวประเด็นอีกมากมายที่ไม่ใช่แค่เรื่องกรีนๆ แต่เกี่ยวกับทั้งเรื่องกิน เรื่องเมือง เรื่องธุรกิจ เรื่องการศึกษา เรื่องความเท่าเทียม ฯลฯ แต่ปัญหาที่ตามมาคือถ้าใส่ลงไปทั้งหมดนั่น คนอาจจะไม่อยากอ่าน และหน้ากระดาษก็คงจะไม่พอ สุดท้ายจึงต้องจำใจตัดประเด็นที่ใหญ่เกินกว่าคำว่า ‘Lifestyle’ จะรับผิดชอบไหวออกไปให้หมด จนเหลือแค่เรื่องที่ผู้คนทั่วไปจะรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับฉันเท่านั้นพอ

ได้ขอบเขตที่ต้องการแล้วล่ะ แต่กลัวคนจะอี๋เรื่องกรีน หรือเหวอกับคำว่ายั่งยืนไปเลย เลยลองจินตนาการดูว่าคนทุกวันนี้สนใจหรืออ่อนไหวกับเรื่องอะไรบ้างนะ เราแบ่งกลุ่มคนออกมาได้ตามทัศนคติ 4 แบบคร่าวๆ เพื่อเอามาแบ่งพาร์ตและหาวิธีเล่ากันต่ออีกที โดย

  • คนที่สนใจข่าวสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาสังคม > เราจะรวบรวม FACT ที่ถูกต้องและครบถ้วนมาให้อ่าน
  • คนที่ติดตามเทรนด์โลก กระแสสังคม > เราจะอัพเดตทุก TREND ยั่งยืนมาไว้ด้วยกันในรูปแบบพจนานุกรม
  • คนที่ชอบเสพแรงบันดาลใจ และเรื่องราวดีๆ > เราจะไปสัมภาษณ์คนตัวเล็กๆ ที่จะ INSPIRE ให้อยากลงมือทำบ้าง
  • คนที่เพิกเฉย หรือติดอยู่กับความเชื่อผิดๆ > เราจะไปหาองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มาตอบเรื่อง MYTH หรือลบความเชื่อผิดๆ ไปซะ

พอได้โครงสร้างและแผนงานละเอียด เราคิดว่าแค่ทีมไอแอลไอยูอาจจะมีกำลังไม่พอ เลยไปชวน ภาพพิมพ์ (Parppim Pim) มาเป็นกองกำลังเสริม ที่จะเป็นคนลงพื้นที่ไปคุยกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตอบคำถามและหาทางออกให้ยังมีหวังว่าโลกจะยั่งยืนขึ้นได้ 

บ่ายวันหนึ่งในเดือนกันยา ขณะที่เรากำลังเริ่มค้นหาข้อมูลเรื่อง Sustainable Lifestyle ชุดแรกกัน และยังไม่ได้ชื่อธีมเล่มอย่างเป็นทางการ เอม น้องจูเนียร์ในทีมก็ขายชื่อนี้ขึ้นมา

World-Life Balance

สำหรับพวกเรา คำนี้ไม่ใช่แค่ฟังเข้าหู แต่ยังสื่อสารในสิ่งที่เราอยากบอกกับสังคมวันนี้ ที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์ที่พูดถึง Work-Life Balance เรามัวแต่ให้ความสำคัญกับการบาลานซ์ชีวิตและการทำงาน แต่หลงลืมที่จะลงมือทำเพื่อโลกบ้าง เพราะเราอาจจะลืมไปว่า เราคือโลก โลกก็คือเรา ถ้าเราไม่ทำโลกให้สมดุลแล้ว ชีวิตและการงานของเราอาจจะไม่มีวันสมดุลเลย

ถ้ายังปล่อยให้โลกไร้บาลานซ์ 
เราอาจจะไม่มีพรุ่งนี้ที่ไกลไปกว่า 30 ปีเลยก็เป็นได้ 

แคร์วิธีเล่า

หลังจากที่จิ้มหาข้อมูลอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเดือน เราได้เอาข้อมูลมาเลือก และออกแบบวิธีเล่าในแบบที่เราคิดว่าน่าสนใจ แทนที่จะเล่าปัญหาหรือข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบเครียดๆ เราเลือกเล่าผ่านชุดซีรีส์ภาพถ่ายของช่างภาพ ที่สะท้อนเรื่องราวปัญหานั้นๆ 


ในมุมของออฟฟิศเล็กจิ๋ว เราค่อนข้างจริงจังกับการคอมเมนต์งานในแบบละเอียดยิบ เพราะมันจะถ่ายทอดวิทยายุทธให้กันได้ก็ตอนลงมือทำจริงนี่แหละ จากที่คอมเมนต์เยอะอยู่แล้วตอนทำคอนเทนต์ออนไลน์ เจองานนี้เข้าไปเหมือนได้แก้งานคูณสอง คูณสี่ บางทีก็คูณร้อย! – เต้

แทนที่จะเล่าเทรนด์แบบสามัญ เราเลือกที่จะรวบรวมทุกกระแสออกมานิยามแบบกระชับ ทำเป็นพจนานุกรมฉบับยั่งยืนที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย มีภาพเซ็ตติ้งสวยๆ ประกอบคำอธิบายในแต่ละหมวดหมู่

แทนที่จะเล่า Myth หรือความเชื่อผิดๆ แบบสิ้นหวัง เราเลือกที่จะหาคำตอบพร้อมทางออกมาให้ นำเสนอผ่าน Typography ที่ออกแบบโดยกราฟิกดีไซเนอร์ที่ถนัดเรื่องนี้

อะเดย์สนุกมาก ขอบคุณจริงๆๆ เดี๋ยวพิมไปจอยโปรเจ็กต์พี่ห่วนต่อด้วย – ภาพพิมพ์

ออกไปหา บางคนที่แคร์

พฤศจิกายนถึงธันวาคม 2019 ช่วงเวลาแห่งการเลิกขลุกอยู่แต่หน้าจอ อะเดย์เล่มนี้ ยังพาพวกเราออกไปเจอผู้คนที่ลงมือทำสิ่งเล็กๆ เพื่อโลกที่ยั่งยืนขึ้น และเราก็ได้ถ่ายทอดเรื่องเหล่านั้นออกมาเป็นบทสัมภาษณ์ โดยเราออกแบบให้เรื่องเล่าของทุกคนมีน้ำหนักไม่เท่ากัน เพราะบางคนเปลี่ยนตัวเอง บางคนเปลี่ยนของใช้ในชีวิตประจำวัน บางคนเปลี่ยนเสื้อผ้าการแต่งตัว บางคนเปลี่ยนวิธีทำอาหาร บ้างก็เปลี่ยนคนในชุมชน เปลี่ยนความเข้าใจผิดของผู้คน หรือบางคนก็กล้าแม้กระทั่งออกไปประท้วงให้ทุกคนเปลี่ยน 

ท่ามกลางโลกที่ไม่ค่อยมีใครแคร์ เราดีใจจริงๆ ที่ได้เจอคนเหล่านี้ คนที่ยังแคร์โลก โดยไม่สนว่าจะมีใครแคร์บ้างหรือเปล่า

ท่ามกลางสารพัดปัญหาโลกใกล้แตก การได้เห็นคนรุ่นใหม่ที่ออกมาทำอะไรบ้างอย่างเพื่อสร้างบาลานซ์ให้โลกเรายังน่าอยู่ ช่วยชุบชูจิตใจเรามาอีกครั้ง – วิว

a day เล่มนี้ทำให้เราได้ไปเจอคนรุ่นใกล้ๆ กันที่มีความคิดและมีพลังในการทำสิ่งที่เรายังอดทึ่งไม่ได้ อย่างฟ้าใหม่ที่ออกจากวงการฟาสต์แฟชั่นได้อย่างถาวร หรือหลิงที่ลุกออกมาเป็นแกนนำคนนับร้อย ซึ่งแน่นอนว่าเราคงยังทำอะไรแบบนั้นไม่ได้แน่ๆ แต่ในระหว่างที่คุยกันมันทำให้ได้กลับมามองตัวเองอยู่เหมือนกันว่าเราใช้ชีวิตเป็นยังไง แล้วก็พยายาม keep in mind กับสิ่งที่พวกเขาพยายามทำอยู่ด้วย – เอม

แคร์คนอ่าน

เราตั้งเป้าหมายในใจกันว่า อยากให้คนอ่านอะเดย์เล่มนี้แล้วได้อะไรกลับไปจริงๆ ไม่ใช่แค่อ่านแล้วเพียงผ่าน อยากให้ซื้อไปแล้วเก็บไว้ได้นานๆ วิธีการแคร์คนอ่านของพวกเรา จึงออกมาเป็นกิมมิกสนุกๆ หลายอย่าง 

อย่างแรกคือ เราหาวิธีเรียกแขกเข้าบ้าน ด้วยการทำ QUIZ ขึ้นมาให้คนเล่นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มาวัดตัวเองหน่อยว่าระดับความยั่งยืนของตัวเองเป็นระดับไหน เปรียบเทียบออกมาเป็นสัตว์ต่างๆ โดยได้นักวาดภาพประกอบคนเก่งมาช่วยทำให้ควิซของเรามีชีวิตมากขึ้น

เราอยากให้คนอ่านแล้วเปลี่ยนจริงๆ ครึ่งหลังของเล่มนี้ เราออกแบบให้เป็น World-Life Balance Handbook คู่มือยั่งยืนในหมวดต่างๆ แบบครบและเต็มอิ่ม ที่จะช่วยให้คนอ่านลงมือเปลี่ยนพฤติกรรมตามได้แบบไม่ยากเกินไป ทั้งการเปลี่ยนการเลือกเสื้อผ้า ของใช้ เปลี่ยนการแยกขยะในบ้าน ที่ทำงาน เปลี่ยนการเที่ยวให้ยั่งยืนขึ้น ฯลฯ

เราอยากให้ทุกคนใช้วาระปีใหม่นี้ ในการท้าทายตัวเองให้ลงมือทำทุกๆ วัน วันละหนึ่งอย่าง เลยออกแบบของแถมปีใหม่เป็น 366 World-Life Balance Calendar ปฏิทินติดฝาผนังให้เอาไประบายสีเมื่อทำแต่ละอย่างได้สำเร็จ


แถมเมื่อใช้เสร็จแล้ว สิ้นปียังเอากระดาษไปใช้ต่อได้ เราทำลายแพตเทิร์น how to สอนวิธีให้เอากระดาษเหลือใช้ไปห่อของขวัญ ทำปกหนังสือ พับถุงใส่ของ หรือพับหมวกปาร์ตี้ปีใหม่ก็ยังได้!

แคร์ทีมงาน

อะเดย์เล่มนี้ไม่ได้มีแค่พวกเราที่ทุ่มเท แต่ยังมีอะทีมและฟรีแลนซ์อีกหลายชีวิตที่ช่วยกันปั้นผลงานออกมาให้สำเร็จ แม้ว่าเราจะเสร็จงานช้ากว่ากำหนด (ขออภัยทีมจ้า) ทำให้กว่าจะได้วางรูปเล่มกันก็ปาเข้าไปกลางเดือนธันวาคม 2019 แล้ว ถ้าไม่ได้พลังของพิสูจน์อักษร ช่างภาพ นักวาดภาพประกอบ คนทำปก กราฟิกดีไซเนอร์ ชาวอะทีมที่ฮึดปิดเล่มกันมา ก็คงจะไม่เป็นรูปร่างได้อย่างที่เห็น 

แคร์โลกไปด้วยกันไหม? 


Content Designer

หน่วยย่อยของนักเล่าเรื่องที่อยากเล่าเรื่องส่วนตัวเล็กๆ ง่ายๆ ที่อยู่ในวงโคจรและความสนใจเรื่องไลฟ์สไตล์ที่สร้างภาระต่อโลกน้อยลงหน่อย ด้วยสมมติฐานที่ตั้งเองว่า เราน่าจะมีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่สนุกและสนิทกับโลกมากกว่าที่หลายคนคิดนะ

Read More:

Work มนุษยสัมพันธ์

เบน-เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ ดีไซเนอร์ ที่เข้าครัวทำวุ้นโยคังให้กลายเป็นงาน

เมื่องานของกราฟิกดีไซเนอร์ไม่ได้อยู่บนกระดาษ หน้าจอคอมพิวเตอร์ บนโลโก้แบรนด์ ฯลฯ แต่อยู่ในขนม

Work สาระสำคัญ

มันคงเป็น KRAM รัก เมื่อของพรีเมียมองค์กรก็มี 'คราม' ใส่ใจโลก

ของพรีเมียมองค์กรที่ย้อม ‘คราม’ ใส่ใจโลก ให้คนในก็รัก คนนอกก็เลิฟ

Work สาระสำคัญ

งานที่ดี คือ งานที่_________

งานที่ดีคืองานแบบไหน ลองมานิยามกันดูไหมให้การทำงานเวิร์กขึ้น!