Work —— สาระสำคัญ

มันคงเป็น KRAM รัก เมื่อของพรีเมียมองค์กรก็มี ‘คราม’ ใส่ใจโลก

ใครจะคิดว่าภาพที่เห็นอยู่นี่ไม่ใช่เซ็ตแฟชั่นของแบรนด์ไลฟ์สไตล์ แต่เป็นภาพถ่ายคอลเลกชั่นของพรีเมียมของบริษัทประกัน! และยิ่งไปกว่าความคูลของดีไซน์ทั้งหมดนั้น มันยังซ่อนความ Eco-conscious และไอเดียของคำว่า Sustainable ลงไปได้แบบเนียนๆ เบาๆ  เลยคิดว่าต้องหยิบเรื่องเขามาเล่าต่อสักหน่อย

แล้วทำไม Eco-conscious ถึงเป็นเรื่องที่เราต้องสนใจ เพราะมันคือไลฟ์สไตล์แคร์โลกที่กำลังเป็นเทรนด์ยอดนิยมของโลกตอนนี้ ซึ่งถ้าคุณเป็นผู้บริโภคที่อีโค่คอนสเชียสพอ คุณจะไม่ใช่แค่คนที่รู้วิธีอ่านป้ายที่ติดอยู่บนสินค้า แต่คุณจะเลือกจ่ายให้กับสินค้าที่ออร์แกนิก ยั่งยืน หรือเป็นมิตรกับสัตว์ เมื่อเทรนด์นี้กำลังมา ผู้ผลิตก็ต้องเปลี่ยนตาม หันมาทำสินค้าที่แคร์โลกมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าดีใจที่วิธีคิดนี้ลุกลามมาถึงการผลิตของพรีเมียมในบริษัทได้ด้วย!

ความเก๋ของของพรีเมียม KEEP KRAM collection ของบริษัท Allianz Ayudhya คือแบรนด์เขาไม่ได้แค่สั่งผลิตสินค้าอะไรก็ได้ แล้วแปะโลโก้องค์กรพอเป็นพิธี แต่จริงจังกับดีไซน์ที่อยากให้คนรับนำไปใช้ได้จริงในทุกวันแบบไม่เคอะเขิน แคร์เรื่องความยั่งยืน ภายใต้คอนเซปต์หลักของคำว่า ‘คราม’ 

พอเอา ครามคิดสร้างสรรค์ + ครามใส่ใจโลก + ครามคอมมูนิตี้ + ครามเท่ รวมกันออกมาเลยกลายเป็นของพรีเมียมที่มี ‘ครามดีงาม’ จนเราอยากซื้อมาใช้เองบ้าง (ซึ่งเขาก็ขายคนทั่วไปนะ) และก็อยากเชียร์ให้เอาแนวคิดแนวแคร์นี้ไปทำกันเยอะๆ 

คราม คิดสร้างสรรค์

ของพรีเมียมใน KEEP KRAM collection เขาหยิบเอาสีธรรมชาติจาก ‘คราม’ มาเป็นไอเดียสร้างสรรค์หลัก เหตุผลที่ต้องสีคราม เพราะเป็นเฉดสีที่ใกล้กับสีแบรนด์พอดิบพอดี แต่มีความเป็นไทยสูง แล้วความเก๋ของผ้าที่ย้อมด้วยครามตามภูมิปัญญาคนโบราณคือใส่แล้วให้ความเย็นสบายตัว จากวลี KEEP CALM เลยบิดมาเป็นชื่อ KEEP KRAM สินค้าที่ใช้แล้วจะเย็นสบายใจ

ความสร้างสรรค์ชั้นที่ 2 คือการเติมความใส่ใจโลกลงไป เพิ่มความ ‘ยั่งยืน’ อีกนิดให้สินค้า ด้วยไอเดียที่ให้ความสนใจทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและชุมชน แทนที่จะเป็นของพรีเมียมธรรมดาๆ เลยถูกคิดมาแล้วว่าของแต่ละชิ้นจะถูกใช้ให้คุ้มค่าได้ยังไง และในแต่ละชิ้นจะเติมความ Eco-conscious ไปได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งเสื้อยืด เสื่อ แก้วมัก ร่ม ผ้าพันคอ เลยทำออกมาให้เลือกหลายออพชั่นอย่างที่เห็น

คราม ใส่ใจโลก

เสื่อปิกนิกใน KEEP KRAM collection คือของพรีเมียมที่ Eco-conscious มาตั้งแต่กระบวนการผลิต เพราะเขาไปจับมือกับแบรนด์ PDM ซึ่งเด่นเรื่องการนำเส้นใยพลาสติก PP รีไซเคิลมาทอเป็นเสื่อสุดเก๋ นอกจากจะทำจากวัสดุที่เป็นมิตรกับโลกแล้ว เสื่อนี้ยังพลิกลวดลายงานหัตถกรรมเสื่อพื้นบ้านให้ออกมาเป็นเสื่อลายกราฟิกสีครามหน้าตาเป็นมิตร น่าพกไปปิกนิกนอกบ้านในวันแดดดี

ส่วนของอีกชิ้นที่เข้าข่ายรักโลกไม่แพ้กัน คือแก้ว double wall ไล่สีครามสำหรับพกพาเพื่อลดการใช้ single-use plastic ข้อดีคือออกแบบอย่างเข้าใจหัวอกคนพกแก้วว่ามันจะต้องมีปัญหาร้อนมือเวลาใส่น้ำร้อนหรือหยดน้ำเกาะเวลาใส่น้ำเย็นแน่ๆ แก้วสองชั้นนี่แหละที่จะตอบโจทย์ เพิ่มความมั่นคงด้วยฝาปิดและขอบยางซิลิโคน เพื่อให้เวิร์กกับการพกไปใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ หรือจะใช้กดน้ำกินในออฟฟิศก็หล่อเหลาเอาการอยู่

คราม คอมมูนิตี้

ความยั่งยืนไม่ได้มีขอบเขตแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่การสนับสนุนชุมชนก็เป็นอีกประเด็นที่ทำให้สังคมยั่งยืน

ซึ่งของสีครามบางชิ้นในคอลเลกชั่นนี้อย่าง ผ้าพันคอผืนยาว และแถบไล่สีครามบนเสื้อยืด ก็เป็นงานย้อมครามด้วยมือตามภูมิปัญญาดั้งเดิมจริงๆ ของคนอีสาน โดยแบรนด์ได้ไปพัฒนาร่วมกับ ‘ครามสกล’ แบรนด์ผ้าครามชื่อดังของจังหวัดสกลนคร

ความพิเศษของงานย้อมครามด้วยมือ คือเทคนิคการไล่สีที่ต้องใช้ช่างย้อมครามที่มีสกิลย้อมคราม จับจังหวะการย้อมออกมาให้ได้สีที่ไล่ระดับแบบใกล้เคียงกันที่สุด ซึ่งก็ต้องทำไปทีละชิ้น ใช้ความประณีต และระยะเวลาหลายชั่วโมง ดังนั้นสิ่งที่คนซื้อจะได้ไป จึงไม่ได้มีแค่ความสวยงาม แต่เบื้องหลังของมันคือการช่วยกระจายรายได้ให้พี่น้องในชุมชนเขาอยู่ได้อย่างยั่งยืนไปด้วย

คราม เท่

และแม้ว่าของพรีเมียมอีกหลายๆ ชิ้นใน KEEP KRAM collection จะไม่ได้อีโค่ คราฟต์จ๋า หรือโลคอลแบบสุดทาง แต่ก็เห็นความตั้งใจในการออกแบบทางเลือกใหม่ๆ ให้ของใช้เหล่านี้มันอยู่กับชีวิตประจำวันของเราไปได้นานๆ เป็นตัวอย่างของงานดีไซน์ที่ดี เพราะหยิบเอาความคราฟต์มาลดทอนให้ร่วมสมัย เพื่อให้ความเป็นไทยสอดแทรกอยู่ในสินค้าอย่าง ร่ม ผ้าพันคอซาติน ได้อย่างไม่เคอะเขิน

คราม นี้มันต้องมี!

ช่วง: ช่วยเขาขายของแบบตรงๆ 

ก็บอกกันตรงๆ เลยว่า สินค้าพรีเมียมของ Allianz Ayudhya คอลเลกชั่นนี้เขาไม่ได้ขายแค่คนในองค์กร แต่ใครที่เห็นไอเดียแล้วรู้สึกว่าโดนซื้อใจ เขาก็จำหน่ายให้คนทั่วไปด้วย แต่ผลิตออกมาในจำนวนจำกัด ใครอยากหาของใช้สวยๆ และดีด้วย เข้าไปแอด Line official: Collection Shop  แล้วทักเข้าไปถามไถ่ cf กันได้ตามอัธยาศัย

Content Designer

หน่วยย่อยของนักเล่าเรื่องที่อยากเล่าเรื่องส่วนตัวเล็กๆ ง่ายๆ ที่อยู่ในวงโคจรและความสนใจเรื่องไลฟ์สไตล์ที่สร้างภาระต่อโลกน้อยลงหน่อย ด้วยสมมติฐานที่ตั้งเองว่า เราน่าจะมีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่สนุกและสนิทกับโลกมากกว่าที่หลายคนคิดนะ

Read More: