ถูกต้องแล้วที่เราต้องระมัดระวัง แต่ถ้าความกลัวชักจะเริ่มทำให้เรากวาดปลากระป๋องมาเต็มรถเข็น แย่งลังมาม่ากับอาม่าที่หน้าเชลฟ์ หรือซื้อหน้ากากอนามัยมาตุนไว้หลายตั้งทั้งที่ไม่ได้ป่วยอะไร โดยอยู่บนฐานคิดว่าก็ฉันยอมจ่ายแพงกว่า จะตุนจะกักไว้แค่ไหนก็เป็นสิทธิ์ของฉันไม่ใช่เหรอ
วางถุงในมือลงก่อน แล้วมองไปรอบๆ ก็จะเห็นว่ามีอีกหลายเรื่องที่น่ากลัวกว่าไวรัส
เราเชื่อว่า #NotSoBadSocialDistancing เกิดขึ้นได้ ถ้าเราเห็นอกเห็นใจกันแล้วลองแบ่งปันเท่าที่ไหว ลองคิดดูสิว่าเราจะอยู่กันยังไงถ้ายังมีคนที่อยู่ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ ตัว
ถึงจะต้องอยู่แบบตัวใครตัวมันมากขึ้น แต่เราต้องแย่งกันซื้อของ พร้อมทะเลาะกับผู้คน ตุนสินค้าไม่เผื่อใคร หรือใช้คำแรงๆ เหยียดกลุ่มเสี่ยง โทษคนป่วย ฯลฯ กันด้วยเหรอ
ถามตัวเองบ้างไหม ว่าอยู่ไหวเหรอ?
รู้ว่าตกใจและไม่มั่นใจ ‘ร้าบาน’ แต่คิดดีๆ ก่อนตัดสินใจตุนนะ
ยังไม่ต้องเห็นแก่ใครก็ได้ คิดถึงตัวเองในฐานะคนเคยกินของอร่อย ปรุงใหม่ๆ สดๆ ทุกวัน จะต้องกินอาหารซ้ำๆ ชืดๆ จ๋อยๆ อย่างเมนูแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ฯลฯ พวกนี้ได้กี่วันกันเชียว และต่อให้กินไหว พอดีสนิทกับอาหารไมโครเวฟอยู่แล้ว ก็อยากลองคิดถึงร่างกายตัวเองที่ต้องย่อยและใช้อาหารแปรรูปหนัก (ultra-processed food) ทุกมื้อ ร่างก็ไม่น่าไหวเหมือนกันนะ
หากอยากเก็บไว้ให้พออุ่นใจก็ลองคิดถึงความหลากหลายในแต่ละมื้อดูและวางแผนสักนิด ไม่ใช่ซื้อเยอะเข้าว่า ส่วนข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ก็ซื้อเท่าที่จำเป็นตามปกติ พอเข้าใจแหละว่าเวลาเห็นเชลฟ์บนชั้นมันร่อยหรอ ก็เลยเผลอซื้อตุนกับเขาบ้าง ลองเท่าทันใจดูสักนิด กระดาษทิชชู่และของบางอย่าง ไม่ต้องมีเยอะมากก็ได้
หรือถ้าซื้อมาเต็มกำลังแล้วล่ะ ลองดูว่าพอจะแบ่งปันคนรอบตัวดูไหม เพราะอาจจะมีบางคนที่ไม่ได้มีเผื่อเหลือ แถมยังขาด ก็แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้นะ
ไม่ให้ตุนแล้วจะอยู่กันยังไง
ลองเดินไปสำรวจดูไหมว่าร้านโชห่วยใกล้ๆ มีอะไรขายบ้าง บางร้านรับไข่ทุกวันไม่ขาด อีกร้านมีของแบบในซูเปอร์มาร์เก็ตเป๊ะ แค่อาจจะแพงกว่านิดเพราะขายแยกเป็นชิ้น ไม่ต้องซื้อยกแพ็ค นอกจากจะไม่ต้องเดินทางไปรวมตัวกับมนุษย์จำนวนมาก ก็ยังช่วยพยุงให้ร้านจิ๋วในชุมชนอยู่รอดได้ในวิกฤตนี้ด้วย
ส่วนอาหารสดสำหรับคนทำอาหาร (หรืออยากทำอาหารดู) ลองนัดแนะรถกับข้าว หรือรถพุ่มพวงลำโพงเสียงดัง ว่าจะยังขับมาซอยบ้านเราทุกวันไหม ยังไงไก่ก็ยังออกไข่ทุกวัน ผักโตแล้วก็ต้องตัดมาขาย เราไม่ถูกตัดขาดจากอาหารหรอก
ส่วนร้านอาหารตามสั่งใกล้บ้าน ลองพกกล่องหรือถือจานไปใส่ก็ได้นะ ลดขยะได้อีกนิดนึง : )
ถ้าอยากกินของดีขึ้นมาอีกเบอร์ มั่นใจว่าปลอดสารเคมีและดีต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นอีกนิด แต่ตลาดนัดสีเขียวอาจไม่คึกคักเหมือนเก่า ก็ลองพรีออเดอร์กับเครือข่ายตลาดกรีน หรือผูกปิ่นโตกับเกษตรกรรายเล็กๆ ดูสิ
นอกจากจะได้กินได้ใช้ของดีที่ตั้งใจทำ แถมยังได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวอร์ชั่นจิ๋วให้หมุนต่อได้
#โปรส่งฟรีหนีโควิด19กับGreeneryMarket ไม่ต้องรอตลาดนัดสีเขียว อยากกินขนมปังดี ไส้กรอกโฮมเมดปลอดสาร ผักดี ข้าวดี ฯลฯ ก็สั่งให้ถึงจำนวน ของก็มาส่งถึงบ้านได้ https://www.facebook.com/greeneryorg
City Farm Market อีกตลาดสีเขียวรวมของดีที่ยืนยันมาแล้วว่าจะจัดในวันเสาร์ที่ 28 มีนาคมนี้ที่สวนผักคนเมือง ไทรม้า นนทบุรี แต่ถ้าใครไม่พร้อมไป ก็ยังเปิดพรีออเดอร์ผลผลิตล่วงหน้าที่มีผัก ผลไม้ และวัตถุดิบอินทรีย์ให้พรีมากมาย ภายในวันพุธที่ 24 นี้ ทางตลาดบอกว่าพร้อมส่งแกรบให้ถึงบ้านเลย https://www.facebook.com/cityfarmthailand
ปันอยู่ ปันกิน ตลาดนัดสีเขียวเจ้าเก๋า ที่มีสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้พรีออร์เดอร์ครบครัน ตั้งแต่เนื้อหมูเลี้ยงปล่อย ไข่ไก่อารมณ์ดี กาแฟ กะทิกระป๋อง ยันสบู่สูตรธรรมชาติ https://www.facebook.com/punyoopunkin
HealthMe อาหารปิ่นโตจากวัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรรายจิ๋ว นอกจากสั่งปิ่นโตปรุงเสร็จพร้อมกินแล้ว จะพรีออเดอร์ผัก ผลไม้ และสินค้าอินทรีย์พ่วงมาก็ได้ หรือจะลองโมเดลตะกร้าปันผัก อีกระบบ CSA ส่งผักอินทรีย์ให้ทุกสัปดาห์ก็ได้เหมือนกัน https://www.facebook.com/HealthMeDelivery
ปลูกปั่น ปั่นน้ำผักห้าสีแบบอินทรีย์ ส่งถึงที่ด้วยจักรยาน ยังยืนยันที่จะปั่นผักส่งทั่วกรุงต่อไปถ้าเรายังอยากดูแลสุขภาพกันในเวลานี้ https://www.facebook.com/PukPunbkk/
นอกเหนือไปจากนี้ ยังมีเกษตรกรเล็กๆ ผู้ผลิตรายน้อยๆ อีกมาก ที่ยังตั้งอกตั้งใจปลูกและปรุง (ในมาตรการป้องกับโควิด-19 อย่างเข้มข้น) เพื่อส่งอาหารดีๆ มาให้คนเมืองกิน ลองตามหาและผูกมิตรกันไว้นะ
ช่วงเวลายากลำบากกับระบบรวนๆ ที่มาตรการไม่มีมาตรฐาน ทุกธุรกิจ ร้านรวง และเซอร์วิสต่างๆ ก็ต้องจัดการผลกระทบ ปรับโมเดลสู้วิกฤตกันหลายกระบวนท่า โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีเจ้าเล็กๆ ที่ต้องดูแลคนเล็กๆ ซัพพลายเออร์น้อยๆ กันเป็นทอดๆ ไป
เราได้เห็นบางร้านเริ่มปรับตัว ขยายเวลาสำหรับเดลิเวอรี่ บางร้านคิดโมเดลใหม่เพื่อร่วมด้วยช่วยกันยามวิกฤต บางร้านขอแรงเปิดขาย voucher ให้จ่ายก่อน อร่อยทีหลัง เพื่อนำเงินไปหมุนจ่ายให้พนักงานก่อน ฯลฯ ในฐานะลูกค้าประจำ แฟนคลับ หรือเพื่อนร่วมสังคมเดียวกัน มาช่วยอุดหนุน ช่วยแชร์ หรือช่วยให้กำลังใจกันเท่าที่เราทำได้กันเถอะ
และในความยากลำบาก เราก็ยังเห็นเรื่องน่ารักที่ธุรกิจเล็กๆ พยายามแบ่งให้เราเช่นกัน เราได้เห็นว่าร้านหนังสือ The Booksmith ขอส่งหนังสือให้คนป่วยโควิด-19 อ่านฟรีในช่วงนี้ ได้เห็นโรงแรมกะทัดรัดกลางเมืองอย่าง The Quarter Residence เปิดห้องพักให้บุคลากรทางการแพทย์มานอนพักหรืออาบน้ำแทนที่จะต้องกลับบ้านไกลๆ แล้วกลับไปสู้โรคต่อ เราเห็นร้านขนมปัง craft bread อาสาปั่นจักรยานส่งขนมปังให้ลูกค้าวัยชราในหมู่บ้าน ฯลฯ ซึ่งความน่ารักเหล่านี้ มันก็ทำให้ช่วงเวลาอยู่ยากมีกำลังใจให้อยู่ต่อมากขึ้นนะ
Social Distancing อาจแค่ไม่สะดวกสบายกับเรา
แต่กับบางคนอาจยากเย็นกว่านั้น
หากมีเพื่อนบ้านวัยชราที่อยู่ลำพังไม่มีลูกหลานแวะมาดูแลได้บ่อยๆ ลองแวะไปถามไถ่ดูบ้างว่าคุณตาคุณยายต้องการความช่วยเหลือไหม ของบางอย่างที่เราคิดว่าง่ายอย่างการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ อาจเป็นเรื่องยากเย็นมากๆ สำหรับคนวัยนี้ก็ได้ หรือไหนๆ ก็ทำอาหารหม้อใหญ่ จะแบ่งไปสักชามก็อิ่มใจดีออก
หรือกับพี่ๆ น้องๆ คนหาเช้ากินค่ำใกล้ๆ ตัว พี่รปภ. พี่วินปากซอย คุณป้าแม่บ้าน คนล้างจานในร้านอาหารที่ปิดไป ลองถามไถ่ความเป็นไปและช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ดูนะ แบ่งหน้ากากที่มีให้พี่ๆ ที่ต้องออกไปทำงาน (เพราะหยุดทำงานไม่ได้) ปันเจลแอลกอฮอล์ที่สะสมไว้ในขวดเล็กๆ ให้พี่แม่ค้าที่ต้องจับเงินทั้งวัน หรืออาหารที่ตุนไว้นั่นแหละ ที่คิดว่าเผื่อเหลือเผื่อขาด เอาไปให้คนที่ขาดบ้างก็ดี
ใครที่คิดว่าที่ผ่านมาไม่เคยเอ่ยทักทาย จู่ๆ จะเข้าไปก็ยังไงๆ อยู่ ก็ลองคิดดูอีกที ว่าช่วงเวลาที่ควรช่วยๆ กันแบบนี้น่าจะเป็นการข้ามกำแพงต่างคนต่างอยู่ได้ และหากผ่านช่วงนี้ไป จะช่วยเหลือดูแลเท่าที่มีแรงต่อไป ก็น่ารักดีไม่ใช่เหรอ
Read More:
ฮาวทูสู้กับ Climate Despair
สิ้นหวัง หมดไฟ ไปต่อยังไงกับปัญหาโลกร้อน/โลกรวน
คุยกับ ‘แก้ว-มณีวรรณ’ เด็ก ม.ปลาย ที่เลือกตอบความฝันด้วยการศึกษานอกระบบ
"ครูคะ หนูขอลาออก"
ไหว้เจ้า 9 ศาล กับ 9 คำอธิษฐานเพื่อเมืองที่ดีกว่านี้
รวมคำอธิษฐานจากเมือง ที่อยากให้เมืองนี้ดีและน่าอยู่มากขึ้น