อันที่จริง ในยามนี้ก็ต้องขอบคุณพี่ๆ บุรุษไปรษณีย์และน้องๆ แอปฯ ขนส่งต่างๆ ที่ยังคงต้องออกไปทำงานนอกบ้านอย่างแข็งขัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้การอยู่บ้านของเราไม่ค่อยลำบากลำบนอะไร
ถ้าพูดกันให้ซึ้งกว่านั้น เราคิดว่าพวกเขาช่วยอีกเยอะอย่าง ทั้งช่วยให้การอุดหนุนระหว่างเรากับร้านต่างๆ ยังพอเป็นไปได้ และยังช่วยให้เราส่งความปรารถนาดีไปกับข้าวของเล็กๆ น้อยๆ แทนการพบปะเจอตัว ซึ่งมันมีความหมายมากเหมือนกันในเวลานี้นะ
ไม่ได้จะมาซึ้งอย่างเดียว นึกขอบคุณพี่ๆ เขาทั้งทีก็ต้องดูแลเขาให้ดีด้วย เราเลยอยากชวนมาระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงการรับ-ส่ง ข้าวของ และช่วยกันลดจำนวนขยะที่มาพร้อมกิจกรรมนี้ เท่าที่เราพอจะทำได้กันดีกว่า
ส่งอย่างไร ไม่ให้มีของแถม
ก่อนจะแพ็กอะไรก็ล้างมือให้สะอาดเอี่ยม สเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อถ้าวัสดุเอื้อให้ทำได้ อย่างน้อยก็มั่นใจว่าไม่มีเชื้ออะไรแถมไปให้ทั้งคนส่งและคนรับ จากนั้น ถ้าต้องออกไปส่งที่ไปรษณีย์หรือจุดรับ ก็แน่นอนว่าควรใส่มาส์กออกไป เว้นระยะห่างจากผู้คน และรีบไปรีบกลับนะ
ส่วนใครที่ประเมินว่าช่วงนี้มีของต้องส่งบ่อยๆ แนะนำแอปฯ Flash Express เพราะเขามารับถึงบ้าน ใช้วิธีโอนจ่ายไม่ต้องจับเงินได้ก็ง่ายดีนะ
รับอย่างไร ให้ปลอดภัยหน่อย
กว่าพัสดุหรือซองจดหมายจะส่งมาถึงเรา ย่อมผ่านมือและกระบวนการมามากมาย แม้ระบบการขนส่งจะยังไม่มีรายงานว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19
เชื้อก็มีชีวิตอยู่บนกระดาษลังได้ก็ราวๆ 24 ชั่วโมงเท่านั้นแหละ
ถ้าไม่ได้รีบร้อนอะไร ก็หาสเตชั่นตั้งโต๊ะวางซองหรือพัสดุไว้ในมุมที่ห่างจากการใช้ชีวิตประจำวันซักหน่อย แล้วอดใจรอก่อนเปิดกล่องก็พอจะสบายใจได้อีกเปล่าหนึ่งนะ
อ่ะ อ่ะ เรารู้ว่าบางอย่างก็รอไม่ไหว จะสเปรย์ฆ่าเชื้อก่อนเปิดซองหรือเปิดกล่องก็เป็นอีกวิธีที่ง่ายนะ หยิบข้าวของออกมาแล้ว ฆ่าเชื้อตามสมควรกับวัสดุก็ไปล้างมือให้เรียบร้อย แล้วก็เก็บกล่อง เก็บซองเอาไว้รียูสได้ ไม่อันตรายจนต้องทิ้งลงถังขยะติดเชื้อหรอก
ใช้ยังไง ให้เปลืองทรัพยากรน้อยๆ
อย่างที่บอกว่ากล่องพัสดุนั้นรียูสได้ สมบุกสมบันได้ สเปรย์แอลกอฮอล์ซ้ำๆ ก็แค่บวมนิดหน่อย แพ็กให้แน่นหนาก็พร้อมเป็นภาชนะใหม่ได้อีกครั้ง การหยิบเอากล่องมากลับใช้หน้าบีจึงเป็นวิธีใช้ของให้คุ้ม ถ้ากลัวคนรับไม่เข้าใจก็โน้ตสื่อสารไปซะหน่อยว่าอยากลดการใช้ทรัพยากรโลก
ส่วนการแพ็กด้านใน ถ้าของที่เคยสั่งมามีบับเบิลพลาสติกมาด้วยก็เอามารียูสซะ (อย่าเอาไปบีบเล่น!) แต่ถ้าไม่มี ข้าวของรอบตัวช่วยกันกระแทกได้โดยไม่ต้องสั่งบับเบิลพลาสติกใหม่เอี่ยมมา จะเป็นเอกสารสำคัญที่เอาไปรีไซเคิลเต็มแผ่นแล้วไม่สบายใจ ก็ย่อยเป็นกระดาษฝอยเอา หรือจะเป็นกระดาษแมกกาซีนอาร์ตมันที่ร้านรับซื้อขยะแถวบ้านไม่ยอมรับ ก็ขยำลงพื้นที่ขลุกขลักในกล่องได้ เศษขากางเกงยีนส์ที่ตัด เสื้อยืดที่ย้วยเกินกว่าจะบริจาคใคร เอาลองใช้ดู
กรีนขึ้นไปอีกขั้น ถ้าสก็อตเทปใสหมดแล้ว ลองใช้เทปกระดาษแทนดูสิ
แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่ก็ลดการใช้พลาสติกลง และกล่องเหล่านั้นก็จะนำไปรีไซเคิลง่ายขึ้นอีกนิดเพราะไม่มีพลาสติกปนมา
แถมสำหรับคนที่มีซองทวงหนี้ (หรือซองจดหมายที่มีช่องใสๆ เห็นด้านใน) แม้ช่วงหลังจะยกเลิกให้ส่งบิลอิเล็กทรอนิกส์มาแทนแล้ว แต่ใครที่ยังมีซองเหล่านี้เยอะอยู่ให้เอามาใส่เงินสดส่งให้พี่ๆ แมสเซนเจอร์ หากไม่สะดวกโอนเงินกัน เพราะช่องใสๆ ช่วยให้เห็นเงินข้างในโดยไม่ต้องเอาออกมานับ ลดความเสี่ยงลงไปได้อีกนิดนึง
Read More:
ทดลองทำ Un-Shopping List (ได้จริงหรอ?)
หยุดช้อป กลั้นใจไม่ซื้อของใหม่ 1 เดือนเต็ม
#จับฉลากของขวัญเคยรัก หมายเลข 1 | เจ้าของเก่า: โอ๋
ของขวัญเคยรักปริศนาหมายเลข 1 ที่จะนำมาจับฉลากสิ้นปีนี้ในธีม จับฉลากของขวัญเคยรัก!
ทดลองเว้นระยะห่างกับ ‘ทิชชู่’ 1 เดือน
มนุษย์เสพติดทิชชู่อย่างเราจะทำได้ไหม?