ไม่ใช่แค่ภาพข่าวที่เห็น แต่งานวิจัยก็ยังออกมาช่วยกันสนับสนุนอีก
- Lund University Centre for Sustainability Studies in Sweden (LUCSUS) บอกว่ามี 3 หนทางที่จะช่วยทำให้ก๊าซเรือนกระจกหมดไปได้ไวๆ คือลดการบิน ลดการขับรถ และลดการกินเนื้อสัตว์
- Nature Climate Change บอกว่าการท่องเที่ยวทำให้ก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของโลกเพิ่มขึ้น 8% โดยเฉพาะการบิน! แถมยังเทียบให้ดูว่า ไฟล์ทบินไปกลับนิวยอร์ก-ลอนดอนครั้งเดียว ใช้คาร์บอนไปเทียบเท่ากับการกินเนื้อสัตว์ถึงสองปี!
อย่างนี้คนชอบเที่ยว หรือใครก็ตามที่เชื่อในรสชาติแปลกต่างที่เราจะได้สัมผัสจากการเดินทางไกล ก็จะเกิดคำถามว่า เมื่อไวรัสผ่านพ้นไปหรือเราเรียนรู้ที่จะป้องกันได้แล้ว เราจะยังไปเที่ยวเหมือนเดิมได้ไหม? แล้วควรรึเปล่า?
มองโลกในแง่ดีกันก่อน จากแนวโน้มที่เราเห็นในสื่อต่างๆ เชื่อว่าหลังวิกฤตโควิด-19 นี้ ปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวล้นเมืองหรือ overtourism จะถูกเก็บมาคิดเยอะขึ้น และคำว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนหรือที่เรียกว่า sustainble tourism จะถูกภาคธุรกิจหยิบกลับมาคิดวิเคราะห์ทบทวนให้มากขึ้นกว่าเดิม ลองมาจินตนาการกันดูว่าเราอาจจะเจออะไรในการเดินทางบ้าง
การท่องเที่ยวยุคใหม่ จะเปลี่ยนไปยังไง?
สนามบินจะเข้มงวด? – เราจะพกพาสปอร์ตดิจิทัลอีกเล่มที่บ่งบอกเรื่องสุขภาพและวัคซีนที่เพิ่งฉีดมา เมื่อไปถึงสนามบินต้องเดินเข้าเครื่องฆ่าเชื้อทั้งตัว เดินไปมาในสนามบินต้องระวังชนกับหุ่นยนต์ทำความสะอาดระบบยูวี หลังจากนี้เราอาจจะไม่ต้องเดินไปเช็กอินกับมนุษย์อีกต่อไปแต่ใช้เครื่องหรือผ่านมือถือแทน คิวตรวจคนเข้าเมืองคงยาวเหยียดเพราะต้องตรวจโรคด้วย และตอนตรวจกระเป๋าดูท่าทางจะต้องเข้มงวดกวดขันหนักขึ้นอีกหนึ่งเบอร์
บนเครื่องบินจะไม่มีรอยยิ้ม? – สจ๊วตหรือแอร์โฮสเตสอาจจะยิ้มให้แต่เราคงไม่รู้ เพราะเขาหรือเธอ (รวมทั้งเรา) ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา หรือเครื่องแบบของพวกเขาอาจจะเปลี่ยนไปกลายเป็นชุดป้องกันติดเชื้อหรือ PPE ผู้โดยสารคงจะต้องนั่งกันห่างๆ ที่เว้นสองที่ นั่นแปลว่าราคาตั๋วอาจจะแพงขึ้นไปอีกด้วยเหตุผลของความห่างนี้ ซึ่งจะทำให้เราขึ้นเครื่องบินกันน้อยลงกว่าเดิม…
สายการบินจะปรับตัวเพื่อโลก? – นอกจากการดูแลเรื่องความปลอดภัยและความสะอาดที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นจนค่าตัวพุ่ง อาจจะถึงเวลาที่สายการบินต้องทบทวนการใช้คาร์บอนของตัวเองไปพร้อมกัน ว่าถึงเวลาที่ต้องลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยเหมือนกัน เราอยากเห็นวิศวกรหันมาออกแบบและพัฒนาเครื่องบินที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ หรือพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกไปได้ถึง 60% จากเดิม
โรงแรมจะมินิมอล? – นอกจากจะเพิ่มมาตรฐานความสะอาด ลดการบริการที่ต้องมีการสัมผัสกัน ห้องพักก็อาจจะตกแต่งแบบมินิมอลขึ้น อะไรไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเอามาตกแต่งให้เสี่ยงโรคอีก (เช่น คงไม่มีอีกแล้ว พวกสมุด ปากกา กระดาษเขียนจดหมาย แมกกาซีน หมอนอิงวางทั่วห้อง) อาหารบุฟเฟต์ยามเช้าอาจจะสลายเป็นอาหารจานเดียวเหมือนโรงอาหาร รับแล้วไปนั่งกินแบบมีระยะห่าง กุญแจห้องอาจจะเป็นแบบดิจิตอลหรือสแกนได้จากมือถือ พวกยิมและสระว่ายน้ำคงต้องกำหนดระยะห่างแบบชัดเจน
แล้วนักท่องเที่ยวอย่างเราล่ะ ควรจะเปลี่ยนไปยังไง?
ยอมรับแต่โดยดีว่าโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตพวกเราหลายๆ คน (ที่ไม่ได้อยู่ในความลำบาก) ให้กลายเป็นชีวิตที่ช้าลงไปแล้ว และถ้าเรามีพลังลุกขึ้นมาทำอาหารเอง ออกกำลังกายที่บ้าน นั่งสมาธิเวลาฟุ้งซ่าน นั่นแปลว่าพวกเราก็มีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องการท่องเที่ยวให้ช้าลง คิดถึงสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น และยั่งยืนขึ้นหลังโควิด-19 ได้เหมือนกัน
เที่ยวไกลๆ ให้น้อยลง – เริ่มง่ายๆ จากที่เคยเที่ยวเมืองนอกปีละ 5-6 ครั้ง ลองลดจำนวนลงมาเหลือครั้งเดียว แต่เต็มอิ่มไปเลยดีกว่าไหม หลังจากนี้อาจจะไม่มีตั๋วโปรมาทำให้เราหวั่นไหวมากเท่าเดิม เราก็อาศัยจังหวะนี้แหละลดจำนวนไปเลย ข้อดีคือเราจะได้ ‘ใช้เวลาก่อนเดินทาง’ ไปกับการทำความเข้าใจจุดหมายปลายทางของเรามากขึ้นก่อนจะไป ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เราเที่ยวได้อย่างลึกซึ้ง ซึมซับ และมีคุณภาพกว่าเดิม
“Overtourism is just another form of overconsumption”
คือคำกล่าวของ Shannon Stowell, CEO of the Adventure Travel Trade Association
เรามาใช้เวลานี้คิดทบทวน แล้วทำการเที่ยวให้น่าจดจำยิ่งขึ้นดีกว่า
ผจญภัยในที่ใกล้ๆ ให้มากขึ้น – Local Tourism หรือการเที่ยวในชุมชนเป็นอิมแพกเล็กๆ ที่ช่วยทั้งสิ่งแวดล้อมและธุรกิจชุมชนให้ดำรงอยู่ได้ แทนที่จะต้องบินไปชายหาดบนเกาะแสนไกลในต่างแดน เราลองหันมองหาชุมชนเล็กๆ ในบ้านเราที่หาดอาจจะไม่ได้สวยที่สุด แต่มีวัฒนธรรมและสิ่งใหม่ให้เราค้นหาอีกเยอะ
คิดก่อนบิน – ถ้าต้องบินสักครั้งต่อปี การเลือกบินก็สำคัญ อย่าลืมว่า business class มันสบายขาก็จริง แต่ยิ่งสนับสนุนให้คาร์บอนมากกว่าเดิม เพราะจำนวนที่นั่งต่อเครื่องลดลงไปอีก ฟังดูเป็นเหมือนการช่วยได้นิดหน่อย แต่การเลือกของเรามีผลต่อการผลักดันนโยบายของสายการบินได้อีกทางเหมือนกัน
ไปถึงแล้ว ก็ต้องช้าให้หมด – การช่วยลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุดเมื่อไปถึงปลายทาง คือการแสดงความเคารพต่อสถานที่และสิ่งแวดล้อมนั้นอย่างแรงกล้า อย่าลืมตัวว่าเราไปเป็นแขกของที่นั่น ด้วยการเลือกที่พักและกิจกรรมที่ไม่ขัดต่ออุดมการณ์ความยั่งยืน ไม่รบกวนชุมชน สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม เลือกการเดินทางที่กรีนให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงการเลือกสนับสนุน Local Tour ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนได้ด้วย
ระวังธุรกิจเขียวไม่จริง – มองหาความกรีน ก็ต้องเลือกและดูให้ดีว่าธุรกิจที่เราอุดหนุนนั้นโปร่งใสเรื่องความกรีนแค่ไหนด้วย ไม่ใช่แค่อุดมการณ์ลมๆ แล้งๆ ที่หลอกให้เราเชื่อสนิท
“ยังไงร่างกายก็ยังต้องการเดินทาง”
ไม่ใช่แค่เพราะตัวเอง หรือจิตวิญญาณของนักเดินทางอย่างเดียว แต่ธุรกิจท่องเที่ยวมีคนข้องเกี่ยวอยู่ในนั้นจำนวนมหาศาล (โดยเฉพาะในบ้านเรา) แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้เราขลาดกลัวที่จะเชื่อมต่อกับโลกเหมือนแต่ก่อน แต่วิกฤตนี้ก็ทำให้เราอยากจะหันมาเข้าใจและเห็นใจผู้คนรอบกายมากขึ้น ทำให้เราอยากเปลี่ยนมุมมองต่อการเที่ยว รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมบนโลกที่เราหรือคนรุ่นถัดไปต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนานๆ
ดังนั้น ถ้าเราผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกันได้แล้ว
ก็มาเที่ยวให้ช้าๆ ลงกันเถอะนะ
อ้างอิง
Read More:
ตามหาที่นั่งทำงาน สะดวก ถูกและดี ในกรุงเทพฯ มีอยู่จริงปะ?
ถ้าอยากออกไปทำงานนอกบ้าน จะไปนั่งที่ไหนได้บ้างนะ
บันทึกการเดินเท้าเข้าตึกร้าง New World x Old Town
ก่อนจะสร้างโลกใหม่ ต้องไม่ลืมโลกเก่า?
Play-lists พาใจไปเที่ยวเล่น ในวันที่ต้องอยู่บ้าน
รวมลิสต์สิ่งบันเทิงใจ ในวันที่ไวรัสไม่เป็นใจให้บันเทิงนอกบ้าน