Play —— บันทึกประจำวัน

บันทึกการเดินเท้าเข้าตึกร้าง New World x Old Town

จากอดีตห้างสรรพสินค้า สู่ตึกร้างที่กลายเป็นวังมัจฉา
จนกลายมาเป็นนิทรรศการที่ต่อบทสนทนาระหว่างผู้คนในอดีตและปัจจุบัน

ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town
18 JUN 2020 5.45 PM

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา

แต่ในฐานะคนที่เกิดและเติบโตในเมือง หลายๆ ครั้งเราก็แอบถอนหายใจกับอาคารเก่าหลายแห่งที่ต้องถูกรื้อถอนไป บางอาคารเราก็แค่เคยเดินผ่านแล้วหลงรักในรูปลักษณ์ภายนอก แต่บางอาคารเราอาจจะผูกพันกับมันมากกว่านั้น และก็ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงของสถานที่ มันก็ส่งผลต่อบริบทเชิงสังคมโดยรอบไปมากมาย

ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ ย่านบางลำพู ก็เป็นอีกอาคารหนึ่งที่หล่นหายไปตามกาลเวลาพร้อมบริบทสังคมของคนในชุมชน แต่ไม่รู้จะเรียกว่าโชคดีหรือเปล่าที่วันนี้ร่างกายของมันยังไม่ถูกรื้อถอนให้สูญสลายไปด้วย เราจึงยังได้เห็นห้างฯ แห่งนี้ ยุคหนึ่งกลายเป็นวังมัจฉาในตึกร้างที่ถูกแชร์ภาพไปทั่วโลกโซเชียลในฐานะ Unseen Aquarium และยุคนี้ มันก็กลายเป็นนิทรรศการในตึกร้างที่เปิดให้คนเข้าไปเดินได้!

หลายคนน่าจะได้เห็นภาพ ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town กันไปบ้างแล้วในสื่อต่างๆ เราเองก็อยากจะบันทึกเก็บไว้เช่นกันว่าในมุมมองของเรา การได้รับคำชวนให้มาเดินเที่ยวเล่นในตึกร้างที่แทบจะผุพัง ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนบทสนทนาที่อาจจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

New World x Old Town

  • ทำไมต้องจัดนิทรรศการในตึกร้าง ในย่านเก่า?

ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town คือนิทรรศการที่จัดขึ้นโดยอาจารย์และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับศิษย์เก่า และกลุ่มตัวละครลับสำคัญคือชมรมเกสรลำพู แก๊งเยาวชนในชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่ตึกนิวเวิลด์คนล่าสุดให้เข้ามาใช้พื้นที่

ตึกร้างแห่งนี้กลายมาเป็นนิทรรศการได้อย่างไร อาจารย์หน่อง-ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลภาพรวมนิทรรศการ และเป็นสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและการพัฒนาเมืองเล่าให้เราฟังว่า เพราะความบังเอิญที่เพื่อนสมัยประถม เพิ่งได้มรดกเป็นที่ดินผืนนี้มา และยังไม่รู้ว่าจะรีโนเวตตึกหรือพัฒนาไปทางไหนดี อาจารย์หน่องซึ่งเป็นคนที่อินเรื่องตึกเก่าและมีประสบการณ์ในการทำโปรเจกต์ฟื้นฟูย่านเก่าอยู่แล้ว เลยได้ทีริเริ่มไอเดียนิทรรศการนี้ขึ้นมา เพื่อเปิดอาคารที่ถูกทิ้งร้างให้เสื่อมถอยมานานนี้ให้เปิดออกสู่ผู้คนและชุมชนโดยรอบอีกครั้งหนึ่ง 

เราค่อยๆ ย่องเท้าอย่างเบาๆ เพื่อเข้าไปในตึกร้างในวันฟ้าครึ้ม โดยพยายามไม่ให้กระทบโครงสร้างอาคาร ก่อนจะได้พบว่านิทรรศการภายในถูกแบ่งเป็นหลายโซนจัดแสดง ทั้งโซนร่างแบบแนวคิดการปรับปรุงนิวเวิลด์จากไอเดียของนักศึกษา ไลท์ติ้งอินสตอลเลชั่นเล่าเรื่องวังมัจฉา วิดีโอสัมภาษณ์คนสำคัญในบางลำพูของชมรมเกสรลำพู และโซนเล่าเรื่องบางลำพูผ่านสิ่งของ 20 อย่างที่สะท้อนความเป็นย่านนี้จากสายตาคนนอก ซึ่งเรื่องเล่าทั้งหมดเรียกความสนใจให้คนในชุมชนเองที่ได้มาเข้าร่วมงาน อยากแลกเปลี่ยนความทรงจำของตัวเองที่มีต่อชุมชนและห้างนิวเวิลด์ด้วยเหมือนกัน

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากงานนี้ คือที่นี่มีความทรงจำเยอะกว่าที่เราคิด เจ้าของที่ดินที่ได้มรดกมาก็ไม่รู้ว่าสตอรี่มันเยอะขนาดนี้ ว่าห้างนี้เคยเป็นห้างฯ ของคนในย่าน เป็นสิ่งที่ทำให้ย่านเฟื่องฟู เป็นความทรงจำวัยสาวของหลายๆ คน บางคนเล่าว่ามีจูบแรกในลิฟต์แก้ว เป็นชีวิตประจำวันของคนในย่าน พอเจ้าของที่ดินได้ฟังเรื่องที่คนในชุมชนเล่า มันก็น่าจะส่งผลกับเขาด้วย” 

อาจารย์หน่องแชร์ให้ฟัง ว่าบทสนทนาที่เกิดขึ้นจากการจัดนิทรรศการเล็กๆ แบบนี้ มันก็อาจจะมีความหมายต่ออนาคตของชุมชนได้เหมือนกัน

A Whole New World

  • ประวัติศาสตร์ห้างนิวเวิลด์ บอกอะไรเรา? 

บางคนอาจจะเกิดไม่ทันได้รู้จักห้างนิวเวิลด์เลย แต่ก่อนที่ห้างนี้จะกลายมาเป็นตึกร้างวังมัจฉาที่ฝรั่งฮือฮาในโลกโซเชียล จนกลายเป็นสถานที่เที่ยวลับๆ ของนักท่องเที่ยวอยู่ช่วงหนึ่ง New World เคยเป็นห้างหรูที่แสนจะโก้เก๋ไม่แพ้ใคร ในยุคที่ย่านบางลำพูยังเป็นย่านการค้าที่สำคัญในกรุงเทพฯ และการล่มสลายของมันก็สะท้อนเรื่องการพัฒนาย่านได้ดีทีเดียวล่ะ

ห้างนิวเวิลด์เปิดตัวในปี พ.ศ. 2526 ในยุคสมัยที่บางลำพูยังฮอตและผู้คนเชื่อว่าอะไรที่ดูทันสมัยก็ดีไปหมด ในห้างมีสินค้าใหม่ๆ วางขาย มีลิฟต์แก้วสุดเท่ที่มองเห็นจากหน้าห้าง และเมื่อความนิยมของห้างไปถึงขีดสุด ทำให้เจ้าของห้างฮึกเหิมอยากจะต่อเติมมันจาก 4 ชั้นให้กลายเป็น 11 ชั้นโดยพลการ (พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มีกฎว่าห้ามสร้างตึกสูงเกิน 4 ชั้น) นิวเวิลด์ตอนนั้นเลยมีทั้งสวนสนุก ฟู้ดคอร์ท โรงหนัง และแม้กระทั่งลิฟต์สำหรับขึ้นไปจอดรถบนชั้นสูงๆ 

แต่ความเจริญก็ต้องพ่ายให้ตัวบทกฎหมาย ในที่สุด กทม. ก็สั่งให้เจ้าของห้างฯ ค่อยๆ รื้อถอนส่วนต่อเติมลงให้เหลือ 4 ชั้น จนเกิดเหตุการณ์พื้นถล่มในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและร้านค้าได้รับความเสียหาย ช่วงหลังจึงเหลือแค่ชั้น 1 ที่เปิดให้บริการเท่านั้น แต่พื้นที่ชั้นล่างของห้างก็ยังเป็นทางให้คนในชุมชนเดินทะลุเข้าไปสู่ตลาดเช้าได้ จนสุดท้ายห้างก็ต้องปิดตัวและหมดลมหายใจไป

ส่วนวังมัจฉาเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ห้างกลายเป็นตึกร้างไร้คนดูแล แอ่งน้ำที่เกิดจากน้ำฝนตรงกลางห้างได้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของลูกน้ำและยุง คนในชุมชนทั้งแม่ค้าและชาวบ้านทนไม่ไหว ก็เลยต้อง save ชุมชนไว้ด้วยวิธีน่ารักคือการเอาปลามาปล่อยซะเลย จากแค่ปลาหางนกยูงก็เริ่มมีปลานิล ปลาคาร์ฟ ปลาทับทิม ปลาช่อน และอื่นๆ จนกลายเป็น Unseen Aquarium ใจกลางกรุงที่คนแอบเข้ามาชมอยู่ช่วงหนึ่ง (เราเองก็เคยแวะมาดูด้วย) ก่อนที่ กทม. จะสั่งปิดห้างอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2557 โดยเรียกกรมประมงมาสูบน้ำออกและขนย้ายปลา ว่ากันว่าจับปลาได้มากถึง 3 ตัน! ก็เป็นอันปิดตำนานห้างนี้ลงอย่างเป็นทางการ เหลือไว้แต่เพียงโครงสร้าง

A Whole Old Town

  • Good Old Days บอกอะไรเรา? 

ในนิทรรศการ New World x Old Town โซนที่สร้างบทสนทนาให้กับคนที่มามากที่สุดน่าจะเป็นโซนชื่อ 20×20 ซึ่งเป็นการหยิบเอาสิ่งของ 20 อย่างมาเล่าเรื่องชุมชนบางลำพู ผ่านสายตาของคนภายนอกที่มองเข้าไปยังชุมชนแห่งนี้ ตัวอย่างของตัวแทนความเป็นบางลำพูทั้งในยุครุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่น 

รถเข็นของ ที่สะท้อนความเป็นย่านค้าขายเสื้อผ้าในยุคหนึ่ง / เครื่องสังฆภัณฑ์ ที่บอกว่าในอดีตที่บางลำพูมีร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์สำหรับถวายพระอยู่มากมาย / ชุดนักเรียนตราสมอ ตัวแทนของร้านขายเครื่องแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของบางลำพูมาเป็นเวลาสามสิบกว่าปี / ของไหว้วาไรตี้ ที่สะท้อนให้เห็นว่าคนในย่านนี้มีความหลากหลายทางศาสนา เห็นได้จากการมีทั้งวัด มัสยิด และศาลเจ้า อยู่ในละแวกเดียวกัน / ธงไตรรงค์ ที่บ่งบอกว่าบางลำพูมีถนนที่เป็นภาพจำของร้านขายธงชาติ / อุปกรณ์งานฝีมือ บอกเล่าเรื่องราวของห้างตั้งฮั่วเส็ง ที่เป็นเหมือนที่พึ่งพิงของคนรักงานฝีมือ / หรือแม้กระทั่ง เครื่องทำทอง ที่เล่าเรื่องเก่าให้เราได้รู้ว่าครั้งหนึ่งที่ตรอกสุเหร่า เคยมีชุมชนของช่างทำทองใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพมาตั้งแต่สมัย ร.3! 

เรื่องราวเก่าๆ ของชุมชน ไม่เพียงแค่สะท้อนความทรงจำดีๆ ให้คนในชุมชนได้ nostalgia แต่การได้ทำความเข้าใจถึงยุครุ่งเรืองของย่านบางลำพู ก็ทำให้เราได้เห็นว่าการพัฒนาย่านในยุคเก่า แม้กระทั่งการเกิดขึ้นของห้างนิวเวิลด์เอง นั้นทำให้เกิดการสร้างรายได้ของชุมชนเยอะมาก 

พี่บางคนบอกว่าเมื่อก่อนมาที่นี่ทุกวันเพราะทำงานเป็นพนักงานอยู่ที่นี่ หรือลุงสมหมายที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของห้างก็บอกว่าตอนที่ห้างต่อเติมจนมี 11 ชั้น ที่นี่มีพนักงานไม่ต่ำกว่า 3,000 คน แล้วเมื่อมีคนนอกพื้นที่ที่ต้องเข้ามาทำงานทุกวัน ก็ทำให้มีการเช่าบ้านรอบบริเวณบางลำพูเพื่ออยู่อาศัย ในอดีต ทุกตารางเมตรของชุมชนจึงเกิดมูลค่ามหาศาล แตกต่างจากในวันนี้ที่บางลำพูดูเหมือนจะเงียบเหงาและซบเซาไปตามกาลเวลา ทั้งจากการหันไปลงทุนในย่านการค้าแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ อาทิ ราชประสงค์ สีลม สาทร สุขุมวิท ทำให้บางลำพูในยุคปัจจุบันค่อยๆ ลดบทบาทการเป็นย่านการค้าสำคัญลงไปในที่สุด

New World x New Gen

  • ชมรมเกสรลำพู แก๊งเยาวชนที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

ท่ามกลางอนาคตที่ยังไม่แน่นอนของย่านเก่า การไปเดินนิทรรศการนี้ทำให้เราได้ทำความรู้จักกับกลุ่มเยาวชนย่านบางลำพู เกสรเล็กๆ ของย่านที่ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมกับชุมชนในนาม ‘ชมรมเกสรลำพู’ นำโดย ต้า-ปานทิพย์ ลิกขะไชย ที่ทำงานเคลื่อนไหวในชุมชนมาสิบกว่าปีตั้งแต่ตอนเรียน ใครจะคิดว่าวัยรุ่นคนนี้เองที่ทำข้อมูลด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อร่วมเรียกร้องให้โรงพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ข้างสวนสันติไชยปราการ กลายเป็นพิพิธบางลำพูในปัจจุบัน แทนที่จะกลายไปเป็นสิ่งอื่น

งานหลักๆ ที่น่ารักของแก๊งเกสรลำพู คือการรวมแก๊งเยาวชนมาทำหน้าที่เป็นไกด์เด็กในย่าน พานักท่องเที่ยวไปเชื่อมกับผู้ใหญ่ในชุมชนที่พวกเขาใกล้ชิด กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวแบบ Local Tourism ให้เกิดขึ้นในย่านบางลำพูได้สำเร็จ ใครอยากลองไปเที่ยวบางลำพูแบบอินไซด์กับเจ้าถิ่นวัยโจ๋ ลองแชตไปถามพวกเขาได้ที่เพจ เสน่ห์บางลำพู ได้เลย

ในงาน New World x Old Town แก๊งเกสรลำพูก็ได้หยิบเอาสติกเกอร์ เข็มกลัด พวงกุญแจ และของที่ระลึกต่างๆ เกี่ยวกับบางลำพูที่พวกเขาออกแบบเองมาขายพวกเราด้วย ซึ่งในฐานะตัวแทนของน้องๆ ในชุมชน พวกเขาก็อยากเห็นว่าเมื่อห้างนิวเวิลด์แห่งนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง มันจะกลับมาในรูปแบบไหน และจะช่วยทำให้บรรยากาศแถวบางลำพูกลับมามีชีวิตอีกครั้งได้ด้วยหรือเปล่า

New World to Conscious

  • อยากเห็น ‘โลกใหม่’ เป็นแบบไหน?

“ถ้าถามว่าอดีตมีผลกับอนาคตไหม คิดว่าในความรู้สึกของเจ้าของที่ดินเองเขาก็อินนะ แต่ถ้าถามว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตยังไง ก็คงตอบไม่ได้เพราะเราไม่ใช่เจ้าของที่ดิน แต่เราคิดว่ามันส่งผล เราเชื่อว่าเขาเองก็อยากพัฒนาที่ตรงนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของย่าน ไม่อยากให้มันแปลกแยก แต่อะไรที่ยังไม่ทำ เราไม่พูดดีกว่า”

อาจารย์หน่อง ผู้ดูแลนิทรรศการนี้ตั้งแต่ต้นตอบยิ้มๆ เมื่อเราถามไปว่าการจัดงานนี้ จะมีผลต่ออนาคตในการรีโนเวตห้างแห่งนี้มากแค่ไหน

สำหรับเรา ถึงแม้จะไม่ได้เกิดและโตมาแบบสนิทกับบางลำพูเท่าคนในชุมชน แต่เราเชื่อว่าทุกคนมีชุมชนที่เป็นของตัวเอง หรือเราเองก็มีสถานที่บางแห่งที่เรารู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของ นิทรรศการในตึกร้างนี้ก็น่าจะได้สร้างคำถามให้เกิดขึ้นในใจใครหลายคนแล้วเหมือนกัน ว่าถ้าวันหนึ่งสถานที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของเรา จะถูกพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นสิ่งใหม่ เราอยากเห็นมันเป็นแบบไหน แล้วเราในฐานะชุมชนหรือคนใช้พื้นที่ จะมีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งใหม่ยังไงได้บ้าง 

ขอบคุณ:

  • อาจารย์หน่อง-ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ และทีมงาน
  • รูปถ่ายแก๊งเกสรลำพู จากน้องต้า-ปานทิพย์ ลิกขะไชย

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Play สาระสำคัญ

เที่ยวหน้าจะเอายังไง? ถ้าร่างกายต้องการเดินทาง

วิถีใหม่หลังโควิด จะทำให้เราออกไปเจอโลกกว้างได้อย่างเดิมไหม

Play บันทึกประจำวัน

เดินสวนแบบก้มหน้าก้มตา นับญาติกับวัชพืชริมทาง

นับญาติกับเพื่อนร่วมโลกต้นจิ๋วในนามวัชพืช

Play ผลการทดลอง

‘ตามล่า’ หนังสือที่อยากได้จากร้านมือสอง

ทดลองช้อปหนังสือมือสองแบบมีมิชชั่น (ไม่) อิมพอสซิเบิ้ล