การประกาศอิสรภาพเล็กๆ ของผู้หญิงชื่อเล็ก
“จริงๆ เป็นคนชอบความสวยงาม เราโตมากับหนังสือแฟชั่นเพราะคุณแม่เป็นช่างตัดเสื้อ ตอนเด็กๆ เราก็จะอยากลองใส่เสื้อแบบนั้นแบบนี้ แต่ว่าสุดท้ายแล้วเราก็พบว่า อยากสวยยังไงเราก็จะไม่ฝืนที่จะไม่สบาย ให้ใส่อะไรที่มันเพื่อความสวยงามที่ไม่สบายตัว เราก็จะยอมแพ้ ไม่ใช่ทางเราอย่างนี้ค่ะ
“คือเราเป็นคนเรื่องมากกับความสบายอะ เป็นคนติดความสบาย โดยเฉพาะสบายกาย เป็นคนเซ้นสิทีฟเรื่องความสบายของตัวเอง แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ไม่เคยมีชุดชั้นในที่ทำให้เรารู้สึกสบายเลย โดยเฉพาะเวลาที่เราอยู่ในบ้าน คือเราเป็นคนขี้หนาว พอสร้างบ้านก็ตั้งใจว่าจะไม่ติดแอร์ พอเราทำงานอยู่บ้านมันก็ร้อน หน้าร้อนนี่ก็ร้อนมาก ผู้ชายร้อนก็ยังถอดเสื้อได้ใช่ไหม จริงๆ การไม่ใส่บราเลยคือสิ่งที่ดีที่สุดนะ สำหรับเรา”
เจ้าของบ้านเล่าเรื่องกวนใจสมัยที่ยังใส่บราทั่วไปให้เราฟัง ตามมาด้วยเสียงหัวเราะ และเล่าต่อว่าเคยอ่านเจอข้อมูลว่าการใส่บราวันหนึ่ง 12 ชั่วโมงมันเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมด้วยนะ เธอก็เริ่มตั้งคำถามกับค่านิยมนี้แบบจริงจัง เห็นลุคเรียบร้อยแบบนี้ เธอเคยมีความคิดที่จะโนบรา (แบบที่ยังดูเรียบร้อย) มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว
โชคดีที่เมื่อเข้าวัยทำงาน พี่เล็กได้คุยกับคุณแม่ที่เป็นช่างตัดเสื้อ และรู้ว่าสมัยก่อน ผู้หญิงทุกคนต้องใส่ชุดชั้นในแบบสั่งตัด วัดตัวกันแทบทุกคน
“ถ้าตัดชุดชั้นในใส่เองได้นี่จะถือเป็นการประกาศอิสรภาพมากเลยนะ (หัวเราะ) เพราะเราจะได้เลือกในสิ่งที่เราคิดว่ามันน่าจะดี ตรงจริต ก็เลยเริ่มให้คุณแม่ลองตัดให้ใส่ก่อน เริ่มจากกางเกงชั้นในก่อน คิดที่จะเริ่มทำนานมาก กว่าจะได้ผ้าที่เราถูกใจก็ใช้เวลานานมาก เราไม่ได้เร่งรีบ ก็หามาเรื่อยๆ”
ปีแรกของยังเล็กอันเดอร์ พี่เล็กเล่าว่ายังเป็นปีที่หาผ้าออร์แกนิกที่ไว้ใจได้จริงๆ ในท้องตลาดยากอยู่ เลยเริ่มง่ายๆ จากเดินหาผ้าในพาหุรัด จนเจอฝ้ายบาง เนื้อเนียน แข็งแรง ทนทาน ใส่แล้วไม่เป็นขุย เลยเอาผ้าที่ชอบที่ชอบไปให้แม่ช่วยตัด First Bra ของยังเล็กให้
ความสบายและความเป็นตัวเองที่มองหา
“บราของเราก็จะแบบ ขอน้อยที่สุด (หัวเราะ) ขอเป็นเส้นน้อยๆ มินิมอลสุดๆ คือแบบที่เราอยากลองใส่ คิดว่าใส่ให้เหมือนไม่ได้ใส่ เพราะว่าเราต้องการความสบายขั้นสุด
บราตัวแรกของยังเล็ก ที่เห็นว่าเป็นแค่ผ้าสามเหลี่ยมสองชิ้น กับเส้นสายเล็กๆ ที่โอบล้อมตัวแบบง่ายๆ ไม่ได้มาจากความรู้สึกอยากเปิดเผยเนื้อหนังแต่อย่างใด แต่สำหรับพี่เล็กมันคือนิยามของความสบายที่หาไม่ได้จากบราในท้องตลาด
“เราไม่ค่อยชอบชุดชั้นในในท้องตลาด ไม่ชอบในที่นี้ไม่ได้หมายถึงต่อต้านคนที่เขาชอบนะ เพียงแค่รู้สึกว่าเราไม่เป็นแบบนั้นเลย เราก็คือคนส่วนน้อยของสังคมนี้ใช่ไหม ทำไมผู้หญิงต้องออกมาเป็นลุคสวย เซ็กซี่ ตู้ม หรืออะไรก็ตาม แต่เราไม่ได้จะไปเปลี่ยนค่านิยมหรือความคิดของใคร เพียงแต่ว่าเราก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเป็นตัวของตัวเองแล้วมีความสุข พอใจ
“ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดถึงคนอื่นมากค่ะ คิดว่าต้องทำให้ได้แบบที่ตัวเองชอบก่อน เป็นแบบที่เรารู้สึกโอเคกับมันก่อน อย่างชุดชั้นในที่คุณแม่เคยทำเมื่อสมัยหลายสิบปีมาแล้ว มันก็ไม่ใช่แบบที่เราจะใส่ เรามีความชอบความวินเทจ แต่ว่าเราก็อยากจะให้มันใส่ได้จริง ใช้ได้จริงในโลกปัจจุบัน และดูร่วมสมัยด้วย”
พอบราล็อตแรกของยังเล็กเริ่มมีลูกค้าสนใจ ก็เลยกลายเป็นความสนุกที่ได้ออกแบบแพตเทิร์นใหม่ๆ ทั้งบราครึ่งตัวแบบที่ดูมีเนื้อผ้ามากขึ้นมาหน่อย และแบบวินเทจที่ดูเต็มตัวขึ้นมาอีกนิด ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากความชอบของหญิงสาวผู้มีหัวใจวินเทจ แต่เน้นว่าต้องไม่ลืมความสบาย ที่เชื่อว่าน่าจะมีผู้หญิงหลายๆ คนที่มีปัญหา และกำลังมองหาอยู่เหมือนกัน
“ส่วนใหญ่จะเป็นฟีดแบ็กจากตัวเองนี่แหละ เราก็เป็นคนเรื่องมากที่สุด (หัวเราะ) ใส่ๆ ไปก็จะ เอ๊ะ ตรงนี้มันน่าจะมีอันนี้เพิ่มขึ้นมานะ ตรงนั้นน่าจะรูดมากหน่อย แต่เพราะวัตถุประสงค์แรกของเราไม่ได้เน้นเรื่องความกระชับ เราบอกลูกค้าแต่แรกว่าเราไม่ได้เน้นซัพพอร์ตนะ ก็เลยไม่ได้โฟกัสเรื่องนั้นมาก แต่ก็ไม่ชอบเวลาที่ใส่แล้วรู้สึกคร่อกแคร่กๆ เหมือนกัน
“บางคนก็คิดว่าเป็นชุดว่ายน้ำหรือเปล่า มีหลายคนที่ถาม เพราะว่ามันไม่เหมือนชุดชั้นใน” เจ้าของธุรกิจเล็กๆ ที่ชื่อเล็ก เล่ายิ้มๆ
ความงามแบบเดียว อาจจะไม่ใช่คำตอบของทุกคน
ถ้าไม่ใช่เจ้าของธุรกิจชุดชั้นใน คงไม่ได้เห็นว่านอกจากความไม่สบายตัวแล้ว มีความไม่สบายอะไรที่มากับ ‘บราสำเร็จรูป’ อีกบ้าง
“มันทำให้เราเห็นว่า มันมีความกังวลอยู่ในผู้หญิงเนอะ หลายคนบอกว่าหน้าอกเล็กมากเลยค่ะ หรือว่ารอบตัวใหญ่แต่หน้าอกเล็กค่ะ หาที่พอดีไม่ได้เลย เขาก็จะพูดให้เราฟัง หรือเวลาที่มีคนแชร์โพสต์ของเราไป เพื่อนเขาก็จะมาบอกว่า หูย ของเรามันมีไม่มากพอที่จะใส่แบบนี้
“เรามักจะคิดเรื่องที่ว่าของเรามันมากไปน้อยไปกันอยู่ตลอดเวลา มันไม่แปลกนะ แต่ก่อนเราก็เคยรู้สึกแบบนั้น เพราะว่าเราไม่เคยหาที่มันพอดีได้เลย เราก็เลยรู้สึกว่าเราไม่มาตรฐาน เราไม่ใช่ไซส์มาตรฐาน แต่จริงๆ แล้ว
“มันไม่มีมาตรฐาน” พวกเราและช่างภาพ (ใช่ค่ะ หญิงล้วน) ช่วยกันตอบแทนเป็นเสียงเดียวกัน
“ตอนที่เราวัยรุ่น เคยคิดว่าคัพเอฉันยังหลวมเลยอะ แล้วเราก็ไม่อยากใส่ที่มันดูตู้ม ให้มันดูไม่ธรรมชาติ จนไปเจอบราของแบรนด์อะไรสักอย่าง มีไซส์ AA (หัวเราะ) เลยคิดว่าดีจังเลยเหมือนทำมาเพื่อเรา สุดท้ายมันก็เป็นอย่างนั้นอะ ไม่ใช่แค่ชุดชั้นในนะ พอเราเริ่มโตเป็นวัยรุ่น เราก็อยากใส่กางเกงยีนส์ แต่เราไม่ใช่คนขายาว ก็จะไม่เจอกางเกงยีนที่พอดีกับเรา ไม่เคยเจอกางเกงยีนส์ที่ใส่แล้วรู้สึกว่ามันเป็นของเรา เราก็จะรู้สึกว่าเราไม่ได้มาตรฐาน”
พอมาทำแบรนด์ของตัวเอง Younglek UNDER เลยกำหนดไซส์มาตรฐาน S M L ไว้แบบหลวมๆ แต่สำหรับคนที่ต้องการไซส์พิเศษ ก็เปิดให้สั่งตัดตามขนาดของตัวเองได้เช่นกัน ขณะเดียวกันก็นิยามตัวเองไว้ว่าเป็นชุดชั้นในสวมใส่สบาย ที่ไม่ได้แปลว่าจะเหมาะสมกับผู้หญิงทุกคนเช่นกัน
“ชั้นในของเราเหมือนเป็นทางเลือกมากกว่า คือมันไม่ได้ตอบโจทย์ทุกคนเช่นกัน เพราะว่าความต้องการของแต่ละคน แล้วก็รูปร่าง ไม่มีใครเหมือนกันเลย (ลากเสียงยาว) แต่ว่าเราก็ต้องให้ลูกค้าเขาพิจารณาเองว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการหรือเปล่า โดยที่เราไม่พยายามที่จะโน้มน้าว ไม่พยายามที่จะบอกว่าของฉันดีอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมันไม่ใช่ ไม่ใช่คำตอบที่ดีสำหรับทุกคน
“ลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกันจริงๆ บางคนชอบแบบสายเดี่ยวมากเลย แต่เขาเป็นคนตัวใหญ่เนื้อเยอะ ใส่แบบที่เป็นเส้นมันก็อาจจะฝังลงไปในเนื้อ แล้วก็อาจจะทำให้เขาอึดอัด ไม่สบาย หรือว่าอย่างบางคนคัพใหญ่ แต่ตัวผอม เขาใส่แล้วชอบก็มี แบบเดียวกันแพตเทิร์นเดียวกัน บางคนบอกว่าใส่แล้วตรงกลางห่าง บางคนบางว่าใส่แล้วชิดเกินไปอยากให้ห่างกว่านี้ เแต่ละคนความชอบไม่เหมือนกัน ความพอดีหรือสรีระไม่เหมือนกันเลย
“มันยากมากที่มันจะมีสิ่งเดียวที่เป็นคำตอบให้กับทุกคน คือเราเองก็ยังไม่สามารถที่จะทำเป็นร้านที่ custom ที่วัดตัวตัดได้เต็มรูปแบบ เหมือนร้านวัดสายตา มีวัดระยะห่าง บนล่าง หลายมิติมาก ต้องมีดีไซเนอร์ช่วยฟังปัญหา ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เรายังไม่พร้อมจะทำอย่างนั้น แต่ว่าถ้าทำได้ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด”
ทำไมร้านตัดเสื้อใน Custom made ถึงหายไปในยุคสมัยเรา เราถาม
“มันน่าจะเป็นเรื่องของยุคหนึ่งที่สิ่งของสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามามั้ง แล้วมันก็คงจะดูน่าตื่นตาตื่นใจกว่า การที่ซื้อได้เลย มันช่างดีจังเลยนะ ไม่ต้องรอตัด ไม่ต้องรอช่าง มันคือความทันสมัยอะ และบางทีผู้หญิงก็จะรู้สึกว่า ฉันปรับตัวตามสิ่งที่ฉันต้องการได้ ปรับความชอบ ปรับค่านิยม ปรับอะไรไปตามนี้ได้ เราเห็นภาพโฆษณาแล้วก็คิดว่าฉันอยากเป็นอย่างนี้ ฉันจะไม่สบายนิดหน่อย ไม่พอดีนิดหน่อย แต่ถ้าฉันได้เป็นอย่างนี้ ฉันก็โอเค”
ถ้าเปรียบพี่เล็ก เหมือนกับช่างตัดเสื้อสมัยก่อนที่แอบเย็บข้อความซ่อนความในใจไว้ในตะเข็บเสื้อผ้า เธอเองก็แอบซ่อนข้อความบางอย่างที่อยากสื่อสารเอาไว้ภายใต้การทำแบรนด์นี้เหมือนกัน
“เราเป็นคนที่มีความคิดเข้ามาในหัวมากมาย ทำนั่นดีกว่า ทำนี่ดีกว่า แต่สิ่งที่เราจะตัดสินใจทำจริงๆ มันมักจะเป็นอะไรที่เรามีแมสเสจที่เราอยากจะพูด ไม่ได้แค่ทำโปรดักต์ คือถ้าทำโปรดักต์สวยๆ ออกมาขาย เราอาจจะคิดขำๆ แล้วเราก็เลิกไปไม่ทำ แต่พอเป็นเรื่องนี้ มันมีแมสเสจที่เราอยากจะพูดอยู่ในนั้น แต่เราไม่อยากจะพูดออกไปตรงๆ เราก็พูดผ่านสิ่งที่มันดูสวยงาม ให้ข้อความของเรามันแฝงอยู่ลึกๆ เหมือนว่าเราทำเพื่อตัวเอง”
“เรารู้สึกว่าชีวิตมันมีทางเลือก เราไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างที่สังคมส่วนมากเขาเป็น หรืออยากจะให้เป็น เป็นผู้หญิงอย่างนี้ หรือว่าเป็นความงามแบบนี้ เราไม่ต้องเป็นแบบนั้นก็ได้อะ เรามีทางเลือกอะ มันมีทางอีกมากมาย เพียงแต่ว่าในสังคมเรามันอาจจะไม่ได้เปิดกว้างมากขนาดนั้น เราไม่ค่อยเห็นตัวอย่างของทางเลือกอะไรมากมายในบ้านเรา อาจจะเป็นสังคมที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมก็ได้”
ชั้นในทางเลือก ที่เลือกจะมองให้เห็นหลายๆ ด้าน
อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่เราไม่รู้คือการเลือกเนื้อผ้า ถ้าสังเกตในท้องตลาด ชั้นในทั่วไปจะเน้นผ้ายืดที่มีความยืดหยุ่นกับร่างกาย เพื่อให้คนใส่สบายทุกท่วงท่า แต่ Younglek UNDER กลับไม่ได้สนใจเรื่องนั้นมากเท่าเรื่องราวรอบๆ ที่ผ้าผืนนั้นจะส่งผลกระทบไปถึง
“สำหรับเรา ตลอดชีวิตมาอยู่กับแม่ที่ตัดเสื้อให้ ผ้าส่วนมากมันไม่ใช่ผ้ายืด แต่เป็นผ้าธรรมดา เป็นผ้าที่สามารถแก้ได้ ซ่อมได้ ซ่อมเองต่อเองก็ได้ อะไรอย่างนี้ ลูกค้าบางคนที่ซื้อไปแล้วรู้สึกไม่พอดี บางคนก็ซ่อมเองเลย แล้วถ่ายรูปมาให้เราดู เขาขยายตรงกลางให้มันห่างตามที่เขาต้องการ แล้วมันก็เย็บเองได้ด้วยความที่เป็นผ้าธรรมดา
“อยากจะพูดเหมือนกันว่า จริงๆ คุณสามารถซ่อมเองได้เลยนะ คุณจะใช้ไปได้นานมาก ถ้าตะขอมันหัก คุณเปลี่ยนเองได้ ถ้ายางมันยืด มันหมดอายุจริงๆ เปลี่ยนได้ ถ้าผ้ามันยังไม่ขาด หรือจริงๆ ถ้าผ้าขาดแล้วก็ยังปะชุนได้ จริงๆ ก็คิดไปถึงเรื่องการย่อยสลายด้วยซ้ำ แต่ก็ยังเป็นโจทย์ที่ยังไม่สามารถทำได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างเช่นยาง ก็ยังย่อยสลายยาก หรือว่าตัวที่เป็นตะขอก็ยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยากอยู่ เคยพยายามเป็นไม้ แต่ก็แตกหัก ยังไม่เจอดีไซน์ที่มันดี”
ความน่ารักของคอลเลกชั่นล่าสุดของยังเล็ก คือการพัฒนาตัวเองจากผ้าฝ้ายญี่ปุ่นที่ซื้อในพาหุรัด สู่ผ้าลินินในคอลเลกชั่นก่อนหน้า จนมาเป็นผ้าฝ้ายอินทรีย์สีนวลๆ ที่ผลิตได้ในประเทศไทยตามใจต้องการในที่สุด เพิ่มความน่ารักไปด้วยการส่งมันไปย้อมด้วยสีของต้นไม้พืชผัก ผ่านฝีมือเพื่อนที่ไว้ใจได้สองชีวิต คนแรกคือศศิ (ศศิมา อัศเวศน์) แห่ง walk on the wild side และพี่หนู (ภัทรพร อภิชิต) พี่สาวของเธอเอง ก็เลยออกมาเป็นชุดชั้นในสีครามจากคราม สีเขียวจากครามผสมมะม่วง และสีชมพูจากฝาง ที่น่ารักน่าใส่เหลือเกินนี่แหละค่ะ
ด้วยความที่เป็นการทำมือทุกขั้นตอน และต้องอาศัยแรงงานฝีมือจากหลายที่ เลยยังต้องเป็นการสั่งซื้อแบบพรีออเดอร์เป็นหลัก พี่เล็กเสริมว่า วิธีสั่งแบบนี้ยังดีต่อทั้งดีต่อคนขายที่ไม่ต้องมีสต็อก ดีกับคนซื้อที่มีเวลาให้ตรึกตรองให้แน่ใจ และดีกับสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
“เราให้ค่าจ้างคนเย็บแบบคิดเป็นตัว และให้ในราคาสูง เพราะฉะนั้นเราเหลือทิ้งไม่ได้ เหลือสิบตัวนี่ก็ไม่ได้อะ เราไม่เหมือนการผลิตเสื้อผ้าในระบบอุตสาหกรรมที่โหดร้ายกับคนงานที่ได้ค่าจ้างน้อย ต้นทุนมันต่ำมากจากที่เราเคยไปรู้มา ไปได้ยินมา เราก็ไม่อยากที่จะเข้าไปสู่ตรงนั้น ไม่อยากไปสนับสนุน การที่เราทำได้ช้าทำได้น้อยยังไงก็ไม่เป็นไร ค่อยเป็นค่อยไป จริงๆ อยากบอกลูกค้าเหมือนกัน ว่าซื้อเท่าที่จำเป็นนะคะ
“สิ่งหนึ่งที่เป็นความตั้งใจของเรา ถึงแม้ว่าจะมีข้อเสียนะ คือไม่มีรูปนางแบบที่มาใส่สินค้าเราแล้วถ่ายภาพ ใครๆ ก็ทำกัน แต่เราไม่อยากทำแบบนั้น เพราะเรารู้สึกว่าเวลาที่เราซื้อเสื้อผ้า เราก็จะอยากเป็นแบบคนนี้ เราจะติดภาพนี้ ถ้าเราได้ใส่อันนี้เราก็คงจะคล้ายๆ แบบนี้ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่นะ อย่างที่บอกว่ามันไม่มีใครเหมือนกัน ไม่มีใครที่รูปร่างเหมือนกัน คุณใส่แล้วก็อาจจะไม่ได้เป็นแบบนี้
“ถ้าทำแบบนั้น คนที่เขาชอบเขาอาจจะชอบบรรยากาศของภาพนั้น ไม่ได้อยากได้ชิ้นนี้จริงๆ ก็ได้ เราอยากจะบอกว่า ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องซื้อ เราจะไม่ได้มีมาตรการช่วงนี้เซลล์ค่ะ ไม่ต้องการแบบนั้น อยากจะให้ซื้อโดยใช้วิจารณญาณก่อนซื้อว่า เราจำเป็นต้องใช้สิ่งนี้ เราคิดว่าสิ่งนี้น่าจะโอเค ไม่อยากจะใช้อะไรในการโน้มน้าว คือคิดว่าทุกวันนี้การขายสินค้ามันโน้มน้าวกันมากๆๆๆ แล้วเราก็ไม่ได้อยากบอกว่าของเรามันดีงาม หรือเป็นคำตอบสำหรับทุกคน”
เป็นอะไรก็เป็น
“เรารู้สึกว่าชุดชั้นใน มันเป็นเรื่องที่อยู่ข้างในของคนแต่ละคน ทุกวันนี้เราก็ตัดสินกันง่ายๆ ด้วยลุคภายนอกใช่ไหม เสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับต่างๆ แต่ว่าสิ่งที่อยู่ข้างในที่ไม่มีใครเห็นอย่างชุดชั้นใน มันก็คงสะท้อนว่าคนนั้นเป็นคนแบบไหน ให้ความสำคัญกับอะไร คนแต่ละคนมันไม่มีใครเหมือนกันเลยอยู่แล้วอะ”
สำหรับเจ้าของแบรนด์เล็กๆ ชุดชั้นในก็เป็นเครื่องสะท้อนหนึ่งว่าเราทุกคนไม่เหมือน และไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อยากรู้ว่า แล้วเธอคิดยังไงกับความไม่พอใจในนมของหญิงสาว ในยุคปัจจุบันที่การอัพไซส์แทบจะเป็นเรื่องปกติ
“เรามองว่ามันเป็นสิทธิของคนแต่ละคน ของร่างกายแต่ละคน เพียงแต่เราจะเป็นคนประเภทที่ไม่เคยมีความคิดเรื่องการจะไปเปลี่ยนแปลงตัวเองเลย อาจจะยอมรับตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า ยอมรับธรรมชาติมากเกินไปหรือเปล่า ไม่รู้อะ เรื่องนี้ไม่เคยอยู่ในความคิดเรา ไม่รู้เหมือนกัน แต่เราเชื่อว่า อะไรก็ตามถ้าทำเพื่อตัวเองสบายใจก็เป็นสิทธิของเขา ทุกวันนี้เทคโนโลยีมันก็คงทำให้ปลอดภัยขึ้นแล้วล่ะ
“ไม่รู้นะ เราไม่อยากจะพูดว่า เฮ้ย คุณต้องเคารพร่างกายตัวเอง พ่อแม่ให้มา หรือต้องเคารพธรรมชาติ คือเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องซีเรียสขนาดนั้น ถ้าอยากทำก็ทำ เออ เราเป็นคนอย่างนั้น ถึงทุกวันนี้เราจะไม่ได้ย้อมผม แต่เราก็ไม่ได้ไปว่าคนที่กัดสีผมเป็นสีเทาอะ มันก็สวยดีนะ สนุกดีอะ บางทีวันหนึ่งเราอาจจะลุกขึ้นมาย้อมผมเป็นสีชมพูก็ได้นะ แต่สุดท้ายแล้วถ้าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทำไปแล้วเราอาจจะกังวลสารเคมี (หัวเราะ)
“คือเราไม่ทำ แต่เราก็ไม่ได้ไปตัดสินคนอื่นอะค่ะ ก็แค่เราไม่ชอบ อาจจะขี้กลัวเกินไป คิดมากเกินไป บางคนอาจจะคิดว่าไม่เห็นเป็นไรเลย บางคนที่เขาสักเต็มตัวอะไรอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่าสวยดีนะ แต่เราไม่ได้อยากสัก เราก็ไม่ได้ตัดสินเขาอะ เราก็มีลูกค้าที่บอกว่า อยากจะสั่งรุ่นนี้อะค่ะ แต่เดี๋ยวมันจะไม่ใช่คัพนี้แล้ว (หัวเราะ) เดี๋ยวรออัพไซส์ก่อนค่อยมาสั่งนะ ก็ความสุขเขาอะ”
ทำอะไรได้ก็ทำ
สาละวนกับการคุยเรื่องชุดชั้นในที่ซุกซ่อนแมสเสจเรื่องทางเลือกของชีวิตเอาไว้ พอถอยออกมามองชีวิตภาพรวมชีวิตของพี่เล็กเอง ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ การใช้ชีวิตแบบ ‘เลือกเอง’ ของพี่เล็ก ก็ฮาร์ดคอร์เอาการสำหรับคนที่ไม่เคยมีภูมิต้านทานมาก่อน
“ไม่ย้อมผม เลิกกันคิ้ว ไม่มีรองพื้น อะไรอย่างนี้ จากเดิมที่เราชอบวาดรูป ชอบศิลปะ โตมากับหนังสือแฟชั่น เคยอยากเป็นช่างแต่งหน้ามาก ตอนเด็กๆ เล่นแต่งหน้าทุกวัน แต่สุดท้ายแล้วพอโตมาเรารู้สึกว่า ความอยากสวยของเรามันไปไม่ถึงอะ เราไม่ได้อยากสวยขนาดนั้น สุดท้ายแล้วเราขี้เกียจมากกว่า
“ถึงจุดหนึ่งเราคิดว่า ทำไมเราต้องมายากลำบากในการล้างอายไลเนอร์ออกจากตาของเราทุกวัน มันคงเริ่มจาก ไม่รู้เหมือนกัน เริ่มตั้งคำถามมั้ง ซึ่งจริงๆ มันยากเหมือนกันนะ ตอนที่เริ่มไม่ย้อมผมแรกๆ คือตอนทำงานในออฟฟิศที่เรายังต้องเจอคนมากมาย เราก็รู้สึกได้ถึงปฏิกิริยาคนที่คุยกับเรา เขาก็จะมอง แต่ว่าเราก็รู้สึกว่าเราต้องผ่านมันไปให้ได้ เพราะเราไม่เลือกทางนั้นอยู่แล้ว
“เราเป็นคนชอบแต่งหน้า แต่ว่าขี้เกียจเกินกว่าที่จะแต่งหน้าเยอะ สมัยก่อนชีวิตประจำวันก็อาจจะรองพื้นบางๆ แป้งฝุ่น ทาแก้มแดง อะไรอย่างนี้ จริงๆ เป็นคนที่ชอบผู้หญิงปากแดงมาก พอได้ไปเจอลิปสติกสีแดงที่ทาแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย มันเข้ากับเราอะ แล้วเราก็รู้สึกโอเคกับมัน ก็จะมีช่วงที่ปากแดงอยู่ช่วงหนึ่ง ทุกวันนี้ไม่แต่งหน้าเลย ก็ยังคิดถึงปากแดงอยู่นะ แต่ทาปากแดงแล้วเราก็ขี้เกียจที่จะเติม จริงๆ เราไม่ได้แอนตี้หรืออะไร แค่เลือกว่าทุกวันนี้เราจะทำแบบนี้ จะเป็นแบบนี้”
พี่เล็กคือหนึ่งในคนที่เราเห็นความพยายามที่จะ ‘เลิก’ ใช้สิ่งของที่คิดว่าไม่จำเป็น เช่น แชมพู หรือผ้าอนามัย ที่ผู้หญิงส่วนใหญ่อาจจะมองว่าโอ้โห นี่คือสิ่งจำเป็นมากๆ และมันก็ดูเวิร์กกับเธอซะจนเราอยากทำให้ได้บ้าง (อย่างน้อยก็ในวันข้างหน้า)
“เฮ้ย ไม่ใช้แชมพูก็ได้ด้วยเหรอ พอเขาอธิบายมาว่ามันเป็นกระบวนการแบบนี้ เราผมแห้งอยู่แล้ว ไม่ได้สระสามวันก็ไม่มีปัญหา ก็เลยลองดู หลังจากนั้นก็ไม่ได้ใช้มาตลอด นอกจากไปตัดผมที่ร้านก็ให้เขาสระเนอะ หลังจากนั้นกลับมา เราก็ไม่ใช้อยู่ดี เราก็รู้สึกว่าดีจังเลย ยิ่งเวลาไปต่างจังหวัดก็จะรู้สึกว่าสบายจังเลย มีของมาน้อยดีนะ มีแค่สบู่ก้อนเดียว เราก็รู้สึกว่ามันก็โอเค ชีวิตไม่ได้เปลี่ยนไปมาก หรือผ้าอนามัยผ้า เราว่ามันอยู่ที่ทัศนคติ ถ้าเรามีทัศนคติที่อยากทำอย่างนั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราก็จะไม่ได้มองว่ามันลำบาก มันง่ายมาก พูดงี้ได้เลย แต่ละคนไม่เหมือนกัน (เน้นเสียง) การไม่ใช้แชมพู หรือการไม่แต่งหน้า เราไม่ได้บอกว่ามันดีกว่านะ มันอาจจะไม่ได้ดีกว่าก็ได้ อยู่ที่ว่าเราวัดผลตรงไหน
แล้วพี่เล็กวัดผลตรงไหนคะ เราถาม
“พี่วัดผลตรงความเบาสบายของตัวเองอะ ความรู้สึกว่าถ้าไม่ต้องใช้ก็ได้แล้วเราใช้ทำไม มีคนบนโลกนี้เขาไม่ใช้อะ แล้วเขาก็อยู่ได้ เขาไม่ได้เป็นอะไร เราก็ลอง ก่อนจะลองเราก็หาข้อมูลประมาณหนึ่งนะ ก็กลัวๆ เหมือนกัน แต่ก็รู้สึกว่าถ้ามันไม่เวิร์ก เราก็กลับมาใช้ได้ มันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว”
และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่อาจจะยาวสักหน่อย ของพี่เล็ก ผู้หญิงตัวเล็กๆ แห่งแบรนด์ Younglek UNDER อ่านแล้วก็ตั้งสติ เป็นอะไรก็เป็น ทำอะไรได้ก็ทำ ปรับใช้กับชีวิตของตัวเอง แต่อย่าเพิ่งพุ่งไปช้อปบราอันสุดแสนน่ารักกันโดยไม่ยั้งคิดนะ เพราะไม่ว่าเรื่องไหนก็ต้อง conscious เหมือนกัน
ไม่เว้นแม้แต่เรื่องนมๆ ค่ะ
ภาพถ่าย: ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์
Read More:
ฮาวทูไม่ทิ้ง แต่เก็บยีนส์เก่ามาซ่อมด้วยการเย็บ
เก็บยีนส์เก่าที่ขาดมาซ่อมแบบ visible mending
อยู่บ้าน หยุดเชื้อ แต่หยุดออกกำลังกายไม่ได้!
รีวิวโปรเจกต์วิ่งวันละโล โยคะกับไบรไอนี่ ต่อยมวยตามคลิปยูทูบ อันไหนสนุก ทำที่บ้านไหว และทำต่อเนื่องไปได้ยาวๆ
Freedom of Choice ในฮิญาบ ที่เราและโลกก็ควรเข้าใจ ด้วยความเคารพ
ไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหน ก็ควรเคารพในศรัทธาที่แตกต่างกัน