Love —— ภาพเหตุการณ์จริง

ป้ายนี้ไม่ได้มาล้ม แต่มาบอกว่า…

ม็อบนี้มีคนหนุนหลัง…ม็อบนี้มาเพื่อล้ม… และสารพัดคำกล่าวหา ที่หลายคนคงได้ยินกันผ่านๆ มาตลอดช่วงสองสามวันที่ผ่านมา

นอกจาก 3 ข้อเรียกร้อง อย่างการหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา 2 จุดยืน ไม่จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ไม่ทำรัฐประหาร และ 1 ความฝัน คือการมีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงแล้ว คนที่มารวมการชุมนุมกับกลุ่มประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา เขาอยากส่งเสียงเรื่องอะไรกันบ้าง

และนี่คือป้ายที่เรากับเพื่อนๆ ได้เจอระหว่างอยู่ในม็อบ ลองตามมาดูกันว่าทำไมพวกเขาต้องชูป้ายเหล่านี้

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ

‘Dissolve Parliament, Amend Constitution, Stop Harassing Protesters’

ป้ายนี้เป็นป้ายที่เราเห็นบ่อยสุดๆ หันซ้าย หันขวา ยังไงก็ต้องเจอป้ายเกี่ยวกับการยุบสภา ไม่ก็แก้รัฐธรรมนูญอยู่รอบตัวสักอัน เพราะนี่แหละคือหัวใจสำคัญของการมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ผ่านความเห็นชอบจากประชามติด้วยคะแนนเห็นชอบ 16 ล้านเสียงต่อ 10 ล้านเสียง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 และได้รับพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 แม้ในคราวนั้นจะมีผู้คนจำนวนหนึ่งออกมาคัดค้านการลงประชามติ และพยายามชี้ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผลเท่าไหร่นัก เมื่อกฎหมายในคราวนั้นไม่ได้เอื้อต่อการวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้นักรณรงค์กว่า 212 คนถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว ที่เราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นโดยกลุ่มคนของ คสช. เพื่อเอื้อประโยชน์แก่การสืบทอดอำนาจของรัฐบาลชั่วคราวในครั้งนั้นสู่การเป็นรัฐบาลอย่างเป็นทางการในตอนนี้

ผลที่ตามมาก็อย่างที่เห็นว่า ส.ว. จำนวน 250 คนที่กำลังทำหน้าที่อยู่ในสภาล้วนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของพวกเรา แต่กลับได้มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เพื่อเป็นสิทธิเป็นเสียงให้พวกเขาในสภาอีกที แล้วไหนจะเรื่องแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ถูกเขียนไว้เผื่อขีดแนวทางประเทศกันไปยาวๆ เรื่องสิทธิในการวิพากษ์วิจารย์อย่างที่ควรจะเป็นในระบบประชาธิปไตยก็หายไปอีก 

แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะต้องอาศัยเสียงจาก ส.ว. มากกว่า 84 เสียงและต้องรอลงประชามติอีก แต่เราทุกคนก็สามารถเป็นพลังเล็กๆ ในการลงชื่อเพื่อร่วมเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ได้ อย่างตอนนี้ทีม iLaw เขาก็ต้องการกำลังอีกเยอะ เพื่อรวบรวมเสียงให้ได้ถึง 50,000 เสียง แล้วนำไปเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะประกอบไปด้วย 5 ยกเลิก 5 แก้ไข นั่นคือ

  • ยกเลิก นายกคนนอก
  • ยกเลิก ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
  • ยกเลิก แผนปฏิรูปประเทศที่เขียนขึ้นโดย คสช.
  • ยกเลิก การจัดหาผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง
  • ยกเลิก นิรโทษกรรม คสช. และทำให้คำสั่ง คสช. มีผลบังคับใช้ต่อไป
  • แก้ไข ให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น
  • แก้ไข ให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งและเหลือเพียง 200 คน
  • แก้ไข ให้คนในองค์กรอิสระเป็นคนที่เหมาะสมตามหน้าที่
  • แก้ไข วิธีการแก้รัฐธรรมนูญให้ไม่ต้องผ่าน ส.ว. และไม่บังคับทำประชามติ
  • แก้ไข ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้

โดยทุกคนสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และดาวน์โหลดเอกสารสำหรับการเข้าชื่อเพื่อส่งไปรษณีย์กลับไปให้ iLaw ดำเนินการต่อ ได้ที่ ilaw.or.th/50000Con%20 หรือถ้าไม่สะดวกส่งไปรษณีย์ก็สามารถเข้าไปเช็กสถานที่รับลงชื่อใกล้บ้าน แล้วแวะไปลงชื่อได้ทาง twitter.com/iLawclub/status/1295403305099616258  

อย่าลืมชักชวนกันมาเยอะๆ นะ เสียงของทุกคนมีความหมาย!

ขอให้นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เราต้องเห็นข่าวการบังคับอุ้มหาย

‘ถูกบังคับสูญหาย MISSING’

ป้ายตามหาทนายสมชาย นีละไพจิตร คือหนึ่งในป้ายของแคมเปญ #Thaicantbreath ซึ่งตามหาบุคคลสูญหายที่ถูกรัฐไทยอุ้มหายตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา น่าสงสัยเหมือนกันนะว่าทำไมการเห็นต่างถึงกลายเป็นอาชญกรรมและมีเหยื่อเกิดขึ้นไม่รู้จบขนาดนี้

การอุ้มหาย หรือการบังคับบุคคลให้สูญหาย ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงมากที่สุดวิธีหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกักขัง จับกุม หรือลักพา และปกปิดชะตากรรมของเหยื่อ

ทนายสมชายเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของบุคคลที่ถูกอุ้มหาย จากเหยื่อกว่า 87 ราย นับตั้งแต่ยุคปราบปรามคอมมิวนิสต์ ไปสู่ยุคที่ผู้คนเริ่มออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงยุคหลังรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 หรือช่วง คสช. ซึ่งคาดว่ามีผู้สูญหายไปอย่างน้อย 9 คน ในหลายๆ เคสคดีก็ยังไม่คืบหน้า และไม่ได้แม้แต่ข้อสรุปว่าคนเหล่านั้นเสียชีวิตอยู่ที่ไหน หรือเป็นตายร้ายดีอย่างไร 

อย่างในกรณีของวันเฉลิม เอ็นจีโอผู้ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ซึ่งหายตัวไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อนและเป็นการจุดประเด็นเรื่องการอุ้มหายให้กลับมาเป็นที่พูดอีกครั้ง หรือกรณีของสุรชัย แซ่ด่าน นักเคลื่อนไหวที่หายตัวไปอย่างลึกลับหลังจากลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศลาวเมื่อปี พ.ศ. 2561 ก่อนจะมีคนพบศพผู้ติดตาม 2 คนของเขาบริเวณแม่น้ำโขง

เอาเข้าจริงประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับการอุ้มหายขนาดนั้น (เหรอ?) เพราะประเทศเราเองก็เคยลงมติเห็นชอบให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา CED หรือ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ แถมในปี พ.ศ. 2560 เรายังมีการร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่ท้ายที่สุดก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรคืบหน้า จนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ถูกพับเก็บใส่กล่อง และหายไปพร้อมกับคดีทั้งหลายที่ไม่มีอะไรคืบหน้าเลยเช่นกัน

เมื่อผู้หญิงทุกคนไม่ได้มีสิทธิในร่างกายของตัวเอง

‘Decreminalize Abortion ปลดแอกกฎหมายทำแท้ง’

ป้ายเรียกร้องการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย คือการชูประเด็นที่ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันและต่อสู้มาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จนในที่สุดเสียงของพวกเธอก็ดังไปทั่วพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“เราจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรถ้าแม้แต่เรื่องร่างกายของเรา สุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของเรายังถูกควบคุมโดยรัฐ” คือคำกล่าวของกรกนก คำตา ตัวแทนจากคณะผู้หญิงปลดแอก (Women for Freedom and Democracy) บนเวทีปราศัยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในมุมมองของหลายๆ คนการทำแท้งยังเป็นเรื่องผิดบาป

ถึงใครจะมองว่านี่เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเกิดท้องแล้วตัดสินใจทำแท้งขึ้นมา การกระทำนี้ก็ยังขัดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ว่าด้วยหญิงที่ทำแท้ง หรือผู้ที่ยินยอมทำแท้งให้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับเงินไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอยู่ดี

สุดท้ายผู้หญิงหลายคนที่ท้องไม่พร้อมจึงไม่กล้าทำแท้ง และโรงพยาบาลส่วนใหญ่จึงไม่มีบริการทำแท้งอย่างเปิดเผย เพราะยังไงก็เสียประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย นั่นทำให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งตัดสินใจเข้าใช้บริการคลินิกทำแท้งผิดกฎหมาย ที่ทำกันอย่างลับๆ ไม่ถูกสุขอนามัย หรือเลือกกินยาที่หาซื้อได้บนโลกออนไลน์โดยไม่ปรึกษาแพทย์แทน ถ้าโชคดีการเอาเด็กออกก็ผ่านไปได้อย่างราบรื่น แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจเกิดอาการแทรกซ้อน กลายเป็นคนพิการ หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย

คงจะดีกว่านี้ ถ้าผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมจะมีสิทธิในร่างกายของตนเอง สามารถเข้าถึงการทำแท้งได้อย่างปลอดภัย ในโรงพยาบาลที่ไว้ใจได้ และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ 

สำหรับใครที่สนใจสามารถช่วยผลักดันการแก้ไขกฎหมายการทำแท้ง กับคณะผู้หญิงปลดแอกได้ที่นี่เลย https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdSQFlaxekq8tnb6MuSTHh0HJLr7YZ0F9OukMSzXGUrcdYceg/viewform

ไม่ว่าเพศไหนก็อยากได้ความเท่าเทียม (จริงๆ)

‘DEMOCRACY = GENDER EQUALITY #สมรสเท่าเทียม’

แม้ความหลากหลายทางเพศจะเป็นเรื่องที่พวกเราส่วนใหญ่คุ้นชิน และถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปกติในสังคมไทย ขนาดว่าเปิดทีวีไปเราก็มีโอกาสเจอซีรีส์ที่นำเสนอเรื่องราวความรักของกลุ่มคนเหล่านี้อยู่บ่อยๆ แต่น่าเศร้าที่ในชีวิตจริงคู่รัก LGBTQ กลับไม่ได้รับสิทธิในการแต่งงานและจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเหมือนอย่างนิยายที่เราเคยอ่านเคยดู

หลังจากผ่านการเข้าออกที่ประชุมสภา และลบๆ แก้ๆ กันอยู่ถึง 7 ปี ในที่สุด พ.ร.บ. คู่ชีวิตก็ผ่านร่างจากที่ประชุมอีกอีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุสิทธิให้กับ ‘คู่ชีวิต’ ดังนี้

  • คู่ชีวิตสามารถจดทะเบียนกันได้ตั้งแต่อายุ 17 ปี
  • คู่ชีวิตมีสิทธิในทางกฎหมาย
  • คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงได้
  • เมื่อไม่ได้ทำพินัยกรรมคู่ชีวิตก็สามารถรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมได้

แต่เมื่อ พ.ร.บ. ชุดนี้ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายบนโลกออนไลน์ และมีการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ. คู่ชีวิตนี้ ให้มีความเท่าเทียมกับสิทธิที่ ‘คู่สมรส’ ชายหญิงได้รับ เพราะเมื่อ พ.ร.บ. นี้ถูกเขียนแยก คำว่าคู่ชีวิตก็กลายเป็นกำแพงจำกัดพวกเขาให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิอื่นๆ ในฐานะคู่สมรสได้ ทั้งการหมั้นอย่างถูกกฎหมาย การใช้นามสกุลร่วมกัน การเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของรัฐอย่างการลดหย่อนภาษีของคู่สมรส และสิทธิอื่นๆ อีกมากมายที่คู่สมรสทำได้

หลังจากนี้พวกเราก็คงต้องคอยจับตามองกันต่อไป และใช้สิทธิใช้เสียงที่มีเพื่อผลักดันให้ไม่ว่าใครๆ ก็สามารถสมรสและได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม

กระบอกเสียงของพวกเราอยู่ที่ไหน

‘ไหนคะกระบอกเสียง? Ur privilege wazzup wit dat?’

แม้ในโลกออนไลน์ ประเด็นร้อนระอุทางการเมืองจะถูกพูดถึงกันทุกวัน แต่เมื่อปิดคอมฯ วางมือถือ แล้วลองเปิดทีวีดูสื่อกระแสหลัก จะพบว่าประเด็นบางประเด็นกลับเงียบหายเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดีไม่ดีประเด็นไหนที่ร้อนแรงพอจะนำเสนอก็ได้ ก็ดันโดนบิดเบือนความจริง กลายเป็นการส่งต่อความเข้าใจผิดให้กับผู้คนจำนวนมากแทนซะได้ จนบางทีเราก็ได้แต่ตั้งคำถามว่าจรรยาบรรณสื่อที่เคยเรียน เคยท่องกันนี่ยังจำเป็นอยู่มั้ยนะ

เมื่อประชาชนคนธรรมดาไม่สามารถช่วงชิงพื้นที่สื่อได้มากพอ ความหวังของพวกเราจึงตกไปอยู่กับกลุ่มคนที่มีเสียงดังกว่าอย่างกลุ่มดารา นักร้อง ที่สามารถส่งเสียงออกไปได้ไกลพอให้เป็นกระแสข่าว ดีไม่ดีเสียงของพวกเขายังดังไกลข้ามประเทศอีกต่างหาก ซึ่งที่ผ่านมาเราก็มีโอกาสได้เห็นกระบอกเสียงหลากหลายรูปแบบทั้งดีมั่ง เงียบมั่ง หรือชวนงงบ้างไปเลยก็มี ซึ่งเราก็ต้องระลึกไว้เสมอนั่นแหละว่าแม้เราจะเรียกร้อง หรือกดดันให้ใครออกมาพูดอะไร นั่นก็เป็นสิทธิของพวกเขาอีกเช่นกันที่จะออกมาพูดหรือไม่พูดก็ได้ (ถึงจุดนี้ก็คงต้องพิจารณากันเองแล้วล่ะ) อย่างไรก็ตาม เราก็หวังว่าการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองจะเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็พูดได้โดยไม่ต้องกลัวว่านี่จะส่งผลกระทบต่อการงานอาชีพของตัวเอง

ใครๆ ก็ไปม็อบได้ 

‘I’m tired of retweeting that’s why I’m here #FreedomForThai’

ในฐานะพลเมืองชาวเน็ต การได้แต่รีทวิต (และบ่น) โดยที่ทำอะไรไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดไม่น้อยสำหรับเรา นี่เลยถือเป็นโอกาสของเราที่จะได้ลุกจากหน้าคอมฯ มาส่งเสียงจริงๆ จังๆ สักที

แต่ก่อนจะมาสู่การชูป้ายกระดาษแบบนี้ ชาวเน็ตเขาก็ได้ใช้พลังของโลกโซเชียล ดันให้ประเด็นทางการเมืองติดเทรนด์และเป็นที่พูดถึงอยู่หลายครั้ง อย่างที่เราคุ้นเคยกันก็คือสารพัดแฮชแท็ก save ที่เกิดขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับเหล่านักเคลื่อนไหวทั้งหลายที่โดนละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือจะเป็น #NoCPTPP ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับปากท้องของเรา ไหนจะการเรียกร้องการสมรสเท่าเทียม และอีกสารพัดประเด็นที่ผุดขึ้นและเงียบหายไปตามกาลเวลา 

จากโลกออนไลน์ในคราวนั้น นี่จึงน่าจะเป็นครั้งแรกที่ชาวเน็ตจำนวนมากได้ออกมามีส่วนร่วมเรียกร้องอย่างจริงจัง แม้ใครหลายๆ คนจะพูดว่านี่คือม็อบของคนรุ่นใหม่ หรือม็อบจากเด็กๆ บนโลกออนไลน์ แต่เมื่อมาถึงในม็อบ เราก็มีโอกาสได้เจอกับคนหลากหลายรุ่น ตั้งแต่เด็กมัธยมที่ใช้พลังของพวกเขาอย่างเต็มที่ คนวัยเดียวกันที่สู้ไปพร้อมเรา ไปจนถึงกลุ่มผู้ใหญ่ คุณตาคุณยายที่ยังสู้มาตลอดและไม่เคยยอมแพ้ 

 

อ้างอิง

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Read More:

Love มนุษยสัมพันธ์

มนุษยสัมพันธ์ 02: คุยกับฝัน-โปรดิวเซอร์พอดแคสต์ R U OK เรื่องโอเคกับตัวเองก่อน แล้วทุกอย่างก็จะโอเค

คุยกับฝันเรื่องรักตัวเอง ชวนคิดถึงคนอื่น และตระหนักว่าเรามีคุณค่าเกินกว่าจะนิ่งเงียบและยอมจำนน

Love สาระสำคัญ

โควิด-19 คือข่าวดีของการกอบกู้สิ่งแวดล้อมจริงไหม?

หรือคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง สัตว์ป่าออกมาเริงร่า อาจจะเป็นผลดีที่อยู่เพียงชั่วคราว

Love สาระสำคัญ

รวมแพ็กเกจน่ารักที่รักษ์โลกด้วย

ชวนมาดูแพคเกจจิ้งน่ารัก น่าส่งต่อ จากทั่วโลกที่นอกจากงานดีไซน์จะมาเหนือ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่แพ้ใคร