Body —— วิธีทำ

ฮาวทูไม่ทิ้ง แต่เก็บยีนส์เก่ามาซ่อมด้วยการเย็บ

เรามองว่า หนึ่งในสิ่งที่มนุษย์ยุคเราทำหล่นหายไปก็คือทักษะในการ ‘ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ’ โดยเฉพาะกับเสื้อผ้าตัวเก่า 

เพราะฉะนั้น เวลาที่สังเกตเห็นรอยขาดจิ๋วที่ถูกปะชุนอย่างบรรจงบนเสื้อใครสักคนเข้า หรือบังเอิญเห็นว่าพี่กระเป๋ารถเมล์เขามีวิธีดามคอเสื้อสุดเท่ด้วยตัวหนีบกับกระดาษแข็ง ก็จะรู้สึกดีกับมันเป็นพิเศษ ความพยายามในการซ่อมแซมเสื้อผ้าตัวเก่าให้ใส่ต่อได้นานๆ กลายเป็นเรื่องมีเสน่ห์เหลือเกิน ในวันเวลาที่เสื้อตัวใหม่หาซื้อมาแทนตัวเดิมได้ง่ายดายแบบวันนี้

ที่ผ่านมาเราไม่เคยลงมือซ่อมเสื้อผ้าเอง อย่างมากก็ส่งเสื้อตัวเก่งที่เริ่มพังให้ป้าเย็บผ้าแถวบ้านซ่อมให้ เพราะคิดว่างานเย็บผ้าเป็นอะไรที่ต้องเนี้ยบ ต้องใช้ความอดทน เป็นงานของผู้หญิงยุคเก่า แต่พอได้รู้ว่าการทิ้งเสื้อผ้าง่ายๆ ของเรามันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมขนาดไหน ก็เลยทำให้เริ่มค้นข้อมูล และพบว่าที่จริงเราซ่อมเสื้อผ้าแบบไม่ต้องซุกซ่อนรอยเย็บให้เนี้ยบก็ได้นี่ อะไรแบบนี้ฝรั่งเขาเรียกว่า visible mending

ถ้างั้นก็อย่าลีลา ลงมือทำเลยดีกว่า เริ่มจากกางเกงยีนส์ลายทางตัวเก่งที่ใส่จนตรงเอวมันปริๆ ขาดๆ เสื้อนอนตัวเก่าที่ใส่จนเป็นรู แล้วมาดูกันว่าการได้ซ่อมเสื้อผ้าตัวเก่งจะน่าภูมิใจแค่ไหน

ป.ล. ขออภัย มือใหม่หัดเย็บ

สภาพยีนส์เอวปริ และเสื้อเน่าตัวเก่า

ก่อนจะเริ่มซ่อม เรามาฝึกพิจารณารอยแผลของเสื้อผ้าตัวเก่ากันก่อน แล้วประเมินว่ามันพอจะซ่อมด้วยมือเราได้ไหม ซ่อมแล้วน่าจะใส่ต่อได้รึเปล่า

กางเกงยีนส์ตัวเก่งของเราตัวนี้วิเคราะห์สภาพรูที่ขาดแล้วค่อนข้างใหญ่ ระดับชูสองนิ้วลอดเข้ามาได้ แต่เราก็คิดว่าน่าจะสู้ไหว ด้วยการขาดที่ยังเป็นรอยเส้นตรงแต่ไม่ได้ถึงกับโบ๋จนเนื้อผ้าหายไปเลย น่าจะเย็บปิดด้วยการสานและเดินเส้นได้อยู่ 

ส่วนตรงกระเป๋าที่เคยเอาให้ป้าเย็บผ้าแถวบ้านซ่อมให้ ก็เปิดแผลให้เห็นรอยด้ายไร้ระเบียบเกินไป เดี๋ยวจะเอาเศษผ้ามาปะทับก็แล้วกัน

เสื้อห่านคู่ที่ใส่นอน มีข้อเสียคือความบาง เพราะใส่นานแล้วและซักหลายรอบ แต่มันก็นุ่มนิ่มจนไม่อยากทิ้ง อยากลองซ่อมดูก่อน 

อุปกรณ์สำหรับซ่อมแบบ visible mending

  • เข็มปักขนาดใหญ่ ขนาดเข็มเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าจะใช้กับกางเกงยีนส์เนื้อหนา เข็มต้องใหญ่และแข็งแรงพอที่ทิ่มเข้าไปจะไม่หักกลาง
  • ด้ายปัก เลือกสีสันที่ชอบใจได้ เพราะ visible mending คือการปักแบบอวดรอยแผล ดังนั้น เลือกสีที่อยากอวดและตัดกับสีผ้าด้วยจะยิ่งน่ารัก
  • เศษผ้าเหลือใช้ ผ้าชิ้นจิ๋วที่ไปโน่นไปนี่แล้วซื้อมาเก็บไว้ ได้ฤกษ์ใช้สักทีนะ น้องเศษผ้าคนนี้ซื้อมาจาก Nippori ที่โตเกียว ญี่ปุ่นเลยนะ 
  • เข็มหมุด เอาไว้กลัดผ้าให้นิ่ง ไม่ดิ้นไปมา
  • ส่วน ตัวรีดรูปหัวใจ เอามาเผื่อไว้ในกรณีที่ปักแล้วไม่ชอบขึ้นมา 555 (สุดท้ายไม่ได้ใช้นะ)

วิธีทำ – เย็บให้เห็น ซ่อมรอยขาดบนกางเกงยีนส์

หยิบด้ายปักสีที่ชอบมาสนเข็ม เลือกสีด้ายที่ตัดกับผ้า จะทำให้งานออกมาน่ารักและมองเห็นชัดว่ารอยซ่อมอยู่ตรงไหน คือเสน่ห์ของ visible mending เขาล่ะ และอย่าลืมว่าการสนเข็ม ใจต้องนิ่ง

เริ่มปักเดินเส้นแนวตั้ง ด้านที่ตั้งฉากกับรอยขาด

เดินเส้นยาวเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องครอบคลุมส่วนที่ขาด

ปักย้อนกลับ เว้นระยะห่างตามชอบ ไปเรื่อยๆ

เมื่อเดินเส้นมาจนถึงรอยขาด ถ้ามีด้ายเก่าของกางเกงเหลืออยู่ ให้สานหรือสอดด้ายสลับบนล่างของด้ายเก่า ในการเดินเส้นแต่ละรอบ

เดินเส้นขึ้นและลงไปเรื่อยๆ จนสุดรอยขาด 

หรือจะเดินเส้นต่อไปอีกตามใจชอบ

ปักเข็มลงไปด้านหลัง ผูกปม

หยิบด้ายอีกสีที่ตัดกัน มาปักเพื่อปิดรอยแผลให้แน่นสนิท

ปักเข็มลงไปด้านหลัง ผูกปม

เหมือนยังไม่เสร็จ แต่นี่เสร็จแล้ว!

วิธีทำ – ปะเศษผ้า ปิดรอยเย็บเก่าที่กระเป๋ากางเกง

ตัดเศษผ้าให้พอดีกับช่องกระเป๋า

กลัดไว้ด้วยเข็มหมุด

เริ่มเย็บที่ขอบผ้าด้านล่าง

แทงเข็มขึ้น แล้วจับด้ายให้ไขว้ไปด้านหลังของเข็ม 

เว้นระยะพอดีๆ แล้วทำเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ จนครบขอบผ้า

เสร็จแล้ว! วิธีนี้นอกจากจะน่ารัก ยังช่วยไม่ให้ชายผ้ารุ่ยด้วยนะ

วิธีทำ – เย็บปิดรูบนเสื้อนอนเน่า

เย็บปิดรูบนเสื้อ ปักด้ายสีสนุกขึ้นลงไปตามแนวเรื่อยๆ

ปิดจนรูสนิทกันตลอดรอดฝั่ง

เป็นอันเสร็จ เพราะเหนื่อยแล้ว แต่ก็โอเคนะ 

ผลลัพธ์ของการลงมือซ่อมแซมเสื้อผ้าที่สึกหรอ

ฟังดูโรแมนติกแต่เป็นเรื่องจริง ถ้าจะบอกว่าการใช้เวลาครึ่งบ่ายวันอาทิตย์ไปกับการค่อยๆ เย็บ ค่อยๆ ซ่อมเสื้อผ้า มันทำให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับกางเกงยีนส์ตัวเก่งและเสื้อนอนตัวเก่าแบบทะนุถนอมมากขึ้น ทำให้เราฝึกที่จะชื่นชมในความสึกหรอมากขึ้น ทำให้เราได้กลับมาใช้มือ สายตา และจดจ่อสมาธิกับสิ่งของที่จับต้องได้มากขึ้น

แถมการสวมใส่ผลงานซ่อมแซมชิ้นเดียวในโลกของเรา มันทั้งประหยัดและภูมิใจกว่าไปซื้อของใหม่ตั้งเยอะแยะ 

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Read More:

Body วิธีทำ

วิธี Anti-Haul เลิกซื้อ เลิกอวด เลิกแกะกล่อง

วิธีเลืกซื้อ เลิกอวด เลิกแกะกล่อง ของเหล่ายูทูบเบอร์สายมินิมัล

Body จากผู้ใช้จริง

ฝาก ‘รอยเท้า’ เอาไว้!

รองเท้าคู่โปรด ฝากรอยเท้า (คาร์บอน) ไว้ให้โลกแค่ไหน

Body มนุษยสัมพันธ์

มนุษยสัมพันธ์ 03: คุยกับ Younglek เรื่องความสบายของนม บรา ชั้นใน ที่คล้ายๆ กับการได้ประกาศอิสรภาพเล็กๆ

เล็ก-ภัทรสิริ อภิชิต เจ้าของแบรนด์ชุดชั้นในที่ชื่อ Younglek Under