เรื่องระหว่างพ่อแม่กับสวนลุมมันเริ่มต้นที่ว่า ป๊ากับม้าเริ่มไปสวนลุมตั้งแต่อายุราวๆ 40 กว่า เพราะมีเพื่อนที่ค้าขายอยู่ในแวดวงเดียวกับป๊าชวนให้ไปวิ่งออกกำลังกาย นับจากนั้นมาสวนลุมก็คือกิจวัตรวันเสาร์อาทิตย์ และพอป๊าเลิกค้าขาย และอายุมากขึ้นจนเลิกวิ่ง สวนลุมก็กลายเป็นลมหายใจในทุกวัน
ที่ต้องเปรียบเทียบว่าการไปสวนลุมของป๊าม้าอยู่ในระดับลมหายใจ เพราะเขาไปทุกวันจริงๆ จนมีเพื่อนอยู่ที่นั่นเต็มไปหมด แถมยังรวมตัวกับเพื่อนตั้งชมรมซึ่งมีที่นั่งโต๊ะม้าหินของตัวเอง สมัยก่อนที่สวนลุมยังอนุญาตให้มีการนั่งเป็นชมรมแบบจริงจังมากกว่านี้ ก็ถึงขั้นเคยมีการตั้งตู้และลำโพงร้องเพลงกันมาแล้ว แต่ยุคปัจจุบันพอสวนลุมออกกฎห้าม ชมรมของป๊าก็อยู่กันแบบเงียบสงบ มีที่นั่งเป็นจุดนัดพบในแต่ละวันหลังเดินออกกำลัง เพื่อพูดคุย เล่นหมากรุกจีน อะไรก็ว่ากันไปตามประสาพอหอมปากหอมคอ ค่อยแยกย้ายกันตอนสายๆ
นั่นแปลว่า ไม่ใช่ชมรมหรอกที่ทำให้ป๊าม้าอยู่สวนลุมได้ทั้งวัน เพื่อนๆ แก๊งชมรมบางคนก็ยังต้องกลับไปทำงาน ป๊าม้าก็ต้องกลับบ้าน จนกระทั่งเมื่อหลายปีก่อนที่ป๊าม้าเลิกทำงาน และก้าวเข้าสู่ชีวิตแบบสูงวัยอย่างแท้จริง สิ่งที่ทำให้เขาอยู่ที่นั่นต่อได้แบบไม่กลับบ้านกลับช่อง ก็คือ…
การสมัครเป็นสมาชิกรายปีของ ‘ศูนย์สร้างสุขทุกวัย’ ในสวนลุม คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ป๊ากับม้ากลายเป็นนักกิจกรรมตัวยง!
บางคนเคยไปวิ่งที่สวนลุมแล้วผ่านอาคารที่หน้าตาคล้ายๆ ฟิตเนสห้องกระจก ที่จริงแล้วมันคือศูนย์ที่ กทม. จัดทำขึ้นให้ประชาชนเข้าไปทำกิจกรรม (แบบไม่จำกัดว่าต้องเป็นสูงวัย ตามชื่อที่บอกว่า ‘ทุกวัย’) เสียค่าสมาชิกรายปีแค่คนละ 40 บาท แลกกับการได้ใช้ Facilities ต่างๆ ไม่ว่าจะกิจกรรมกีฬา เช่น ห้องฟิตเนส สนามเทนนิส โต๊ะปิงปอง แบดมินตัน ว่ายน้ำ ฯลฯ แต่ที่พิเศษกว่าคือที่นี่ยังมี ‘คลาสกิจกรรม’ ให้เราได้เข้าไปเป็นนักเรียน ทั้งกิจกรรมเข้าจังหวะ กิจกรรมป้องกันตัว กิจกรรมดนตรี ขับร้อง คหกรรม ธรรมะ ยันศิลปะ
คลาสเรียนที่ว่า ก็จะมีครูหรืออาจารย์ที่ทาง กทม. จ้างมาให้สอนฟรีๆ แบบผู้เข้าร่วมไม่ต้องเสียตังค์เพิ่มสักบาท แถมจะเลือกมาวันไหนก็ได้ที่พร้อม มันก็เป็นอะไรที่ตอบใจผู้สูงวัยได้ดี การได้เข้าไป sit-in เห็นพ่อแม่ตั้งใจเรียนตอนเข้าคลาสเหมือนกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง มันคือแมจิกโมเมนต์ของลูกจริงๆ
จึงเก็บภาพกีฬามันๆ มาเล่าสู่กันฟังแบบเขินๆ ดังภาพต่อไปนี้
ถ้าไม่ตามป๊ากับม้ามาสวนลุม ก็ไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะได้รู้จักกีฬาวู้ดบอลรึเปล่า โชคดีว่าวันที่ตามมา เป็นวันที่ม้ากับป๊านัดเล่นวู้ดบอลกับเพื่อนที่ศูนย์ฯ พอดี ว่าแล้วก็เหล่าสูงวัยก็พากันไปยืมอุปกรณ์ แล้วเดินหิ้วมาที่สนามอย่างคุ้นเคย ยอมรับว่าตอนเปิดออกมาเห็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยไม้ครั้งแรก ต้องอุทานว่าโห เท่มาก
ระหว่างที่พ่อแม่วุ่นวายกับการติดตั้งประตูเพื่อกำหนดขอบเขตสนาม เราก็หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต เจอความน่ารักว่าวู้ดบอลคือกีฬาที่คนไต้หวันท่านหนึ่งประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้พ่อตัวเองเล่นแทนการตีกอล์ฟ (ซึ่งมีราคาแพง) เลยใช้ไม้ทำขึ้นมาให้พ่อเล่นบนเนินเขา พร้อมตั้งกติกาแบบง่ายๆ คือใครตีลูกบอลเข้าประตูด้วยจำนวนครั้งน้อยที่สุดจะถือเป็นผู้ชนะ
ตัดภาพกลับมาดูพ่อแม่กับเพื่อนกำลังเล่นอย่างเมามัน เราก็อยากลองเล่นบ้าง ปรากฏว่าไม้กับลูกมันมีน้ำหนักเยอะกว่าที่คิด การจะตีให้แม่นก็ต้องใช้กำลังและทักษะการเล็งที่ไม่ใช่ง่ายๆ เหมือนกัน การที่คนสูงวัยมาเล่นสิ่งนี้ก็น่าจะเหมือนการได้ยกเวตเบาๆ ใช้สมองไปด้วย แถมความสนุกที่ได้แข่งกับเพื่อน รู้เลยว่าจบเกมแรกต้องมีต่อเกมที่สอง!
กิจกรรมศิลปะของศูนย์ฯ ก็ไม่ใช่สอนวาดรูปเล่นๆ นะ แต่ด้วยความที่อาจารย์ที่เชิญมาสอนมีสกิลพู่กันจีน หม่าม้าผู้มีใจรักการวาดรูป ก็เลยได้อัพสกิลวาดรูปสีน้ำพู่กันจีนไปเล้ย!
เนื่องจากหม่าม้าเข้าคลาสช้าไปหน่อย ตอนใกล้เย็นแล้ว คุณครูเลยสอนวาดพู่กันด้วยรูปท่าไม้ตายที่ไม่ยากเกินไป นั่นก็คือรูปต้นไผ่ ว่าแล้วคุณครูก็หยิบพู่กันจุ่มสีเขียวอ่อนมาตวัดลงกระดาษให้ดูเป็นตัวอย่าง คุณครูลากเส้นแล้วตวัดเบาๆ สามทีก็กลายเป็นโครงลำต้นไผ่ พอถึงตาหม่าม้าทำเองบ้าง เกร็งไปหน่อยเลยทำให้น้ำหนักสีไม่เป็นดั่งใจ จากนั้นก็ค่อยๆ สอนเติมร่อง เติมกาบ เติมใบไปทีละขั้น ปิดท้ายด้วยการเขียนตัวอักษรภาษาจีน ‘ยื่อยื่อไทซิน’ ที่แปลว่า ‘เบิกบานใจทุกวัน’ ความดีงามคือครูไม่ดุเลยแต่เน้นให้กำลังใจ สอนไปทีละขั้นทีละตอน พอเสร็จแล้วก็ปรบมือให้กำลังใจ ชวนกันถ่ายรูปผลงาน แถมครูให้ผ่านเลยปั๊มตราชื่อจีนของคุณครูให้ด้วยหมึกแดงเป็นรางวัล เบิกบานใจจริงแฮะ
คุณครูบอกว่า ทริกของพู่กันจีนคือการฝึกใช้น้ำหนักมือ ความเจ๋งวัดกันที่ปาดครั้งเดียวจบ ไม่มีการแก้หรือวาดซ้ำ เลยเป็นสิ่งที่ท้าทาย ไม่ยากเกินไป เหมาะกับการฝึกสมาธิของผู้สูงวัย
กิจกรรมเข้าจังหวะที่เหมาะกับหม่าม้า ช้ากำลังดี ความซับซ้อนกำลังเหมาะ คือรำวง ไม่น่าเชื่อว่าเข้าคลาสมาจะเจอเหล่าเพื่อนๆ วัยแม่มากันเพียบ และบอกเลยว่าถึงจะรำทันบ้าง ไม่ทันบ้าง แต่ตั้งใจเรียนกันทุกคน!
ตอนแรกดูจากชื่อคลาส ก็คิดว่าเขาจะสอนรำเพลงแบบรำวงง่ายๆ แต่ของจริงเป็นการเรียนรำในเพลงไทยเดิม ที่ดูแล้วก็ไม่ค่อยง่าย คุณครูก็ท่วงท่าชดช้อยงดงาม เวลารำก็ต้องมีตัวชายตัวหญิงแบบจริงจัง ด้วยความที่คนเรียนเป็นสาวๆ กันหมดเลยต้องมีคุณน้าที่เสียสละรำเป็นฝั่งผู้ชายเพื่อเข้าคู่กันบ้าง บรรยากาศการเรียนน่ารักตรงที่คุณน้าคนที่รำเก่งๆ คล่องๆ เขาก็จะผลัดกันมายืนกลางวง เพื่อนำให้เหล่าแม่ๆ ที่รำไม่เก่งแล้วยืนตามอยู่หลังห้องเห็น และฝึกรำตามได้ทัน ส่วนแม่ฉัน เห็นอย่างนี้ก็ถืออยู่ในระดับที่โอเคนะ (หม่าม้าแอบมาบอกตอนหลัง ว่าตั้งใจจำท่า จนเท้าเป็นตะคริวบ่อยๆ 55)
นอกจากรำไทย ที่ศูนย์ฯ ยังมีห้องดนตรีไทยแยกมาโดยเฉพาะ สอนเครื่องดนตรีง่ายๆ อย่างระนาด ไปจนถึงสีซอ ฆ้องวงก็มี แต่สูงวัยระดับหม่าม้าที่มาลองเป็นครั้งแรก ขอแค่ระนาดให้ได้ก่อนก็พอ
สำหรับการเข้าคลาสครั้งแรก ครูจะให้เริ่มจากการตีสองมือไปพร้อมๆ กันแบบไล่โน้ตโดเรมีฟาซอลลาทีโดให้ได้ก่อน (เอาจริงๆ แค่นี้ก็ยากแล้ว เพราะไม่รู้จะเล็งมือซ้ายหรือมือขวา) ถ้าเริ่มคล่องแล้ว วันอื่นค่อยสอนอ่านโน้ตหรือเข้าเพลงจริงจัง เอ้า สู้เค้านะหม่าม้า!
ระหว่างปล่อยให้หม่าม้าเรียนดนตรีไทย เราก็แอบไปดูฝั่งเพื่อนๆ ของหม่าม้าที่เพิ่งรำวงเสร็จ เห็นเขานัดไปตีปิงปองที่ห้องตีปิงปองกันต่อ ห้องนี้ไม่มีคลาสสอน แต่เป็นการยืมอุปกรณ์และให้เล่นกันเองแบบอิสระเหมือนวู้ดบอล ถ้าเป็นเวลากลางวันจะไม่ต้องจองหรือต่อคิว เพราะคนน้อยอยู่แล้ว
โอ้โห เห็นสูงวัยแต่ความไวนี่ทีมชาตินะจ๊ะ
เดินไปต่อที่โรงยิม ก็จะเจอกับคลาสที่เรายกให้ว่าพีคที่สุด คือคลาสลีลาศ ใครว่าผู้สูงวัยจะชอบทำอะไรช้าๆ นี่แค่ยืนดูก็ยังอึ้งในลีลาความสามารถ ว่าผู้ใหญ่เขาเต้นกันเบอร์นี้เลยเหรอ (ฟีลลิ่งเหมือนยืนดูคนเต้นสวิงเป็นครั้งแรก!)
จากการสังเกตการณ์ คลาสลีลาศนี้ไม่ได้เบสิกเหมือนคลาสอื่นๆ ที่ป๊ากับม้าเข้าเรียน แต่เหมือนว่าคุณน้าๆ อาๆ แต่ละคนมีสกิลที่ผ่านการฝึกเป็นประจำมาแล้วจนเก่งพอสมควร สังเกตได้จากลีลา เสื้อผ้า และรองเท้าส้นหนาสีดำสำหรับเต้นลีลาศโดยเฉพาะ (น่ารักมาก) จนสามารถเข้าคู่เต้นกันแบบพริ้วได้ขนาดนี้ ว่ากันว่าลีลาศบางคลาสที่มีขาประจำ จะมีการเก็บค่าสมาชิกกันเป็นชมรมจริงจัง หรือมีคุณน้าบางคนที่เต้นเก่งจนเกิดแพสชั่นให้ไปแข่งประกวดก็มี ใครมายืนดูสุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนไม่ได้ด้วยนะ
ส่วนหม่าม้าของเราที่เป็นมือใหม่ ไม่เคยเต้นมาก่อนหรือสเต็ปอาจจะไม่เท้าไฟมาก จริงๆ แล้วเขาก็มีคลาสแบบง่ายอยู่เหมือนกัน แค่ต้องมาให้ถูกวัน
คลาสสุดท้ายที่เราขอเข้าไปนั่ง sit-in คือคลาสเรียนร้องเพลง ซึ่งไม่พูดถึงไม่ได้เพราะคลาสนี้คือหัวใจของการมาสวนลุมของป๊าม้า เรียกว่าทั้งคู่เป็นสมาชิกประจำของคลาสนี้เหมือนเป็นสังกัดชมรมย่อย มีเพื่อนสนิทเยอะแยะที่ได้จากคลาส (เพราะส่วนใหญ่เป็นขาประจำ) และเป็นเพื่อนกับครูกันไปเลยโดยปริยาย
ลักษณะของการเรียนร้องเพลงที่ศูนย์ฯ มีทั้งคลาสแบบสอนทักษะ และคลาสที่แจกโจทย์ให้ลองร้องในแต่ละวัน ปิดท้ายด้วยการฃร้องเพลงคาราโอเกะ ซึ่งเราได้ไปลองเข้าคลาสแบบหลัง พอเข้าห้องไปปุ๊ป คุณครูก็จะแจกเนื้อเพลงประจำวัน และรับบัตรคิวสำหรับร้องคาราโอเกะ จากนั้นก็จะเริ่มด้วยการชวนกันร้องเพลงโจทย์ไปด้วยกันสัก 2-3 รอบก่อนจะเรียงคิวกันขึ้นไปร้องคาราโอเกะ วันที่เราไปนั่งฟัง คุณครูแจกโจทย์เพลงคู่ ‘หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ’ ความน่ารักเลยยิ่งเบิ้ลเป็นสองเท่าไปเลย
ใช่ค่ะ ครอบครัวเราเป็นคนชอบร้องเพลงกันทั้งบ้าน (ได้เชื้อมาจากป๊าม้านี่แหละ) สมัยก่อนป๊ากับม้าต้องไปเช่าห้องคาราโอเกะกับเพื่อนแบบเสียตังค์ การมีชมรมร้องเพลงแบบนี้นี่มันเลยตอบโจทย์ความบันเทิง ความประหยัด แถมยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ สิ่งที่เราสัมผัสได้จากการเข้ามานั่งฟัง คือมวลของความสัมพันธ์ในห้องคาราโอเกะที่ต่างคนต่างมาจากที่ที่หลากหลาย
คุณน้าคนหนึ่งทำงานอยู่แผนกเวชระเบียนในโรงพยาบาล ส่วนคุณน้าอีกคนที่พกเครื่องวัดความดันมาวัดให้ทุกคน แกเป็นพยาบาลอยู่ฝั่งตรงข้ามนี่เอง ส่วนอีกคนคือลุงที่เป็นพ่อครัวร้านอิสลามชื่อดังที่เพิ่งปิดตัวไป คุณป้าอีกคนแกก็ทำขนมหวานขายเป็นงานอดิเรก คุณน้าบางคนก็เป็นโสด บางคนก็เกษียณจากงานแล้วปล่อยอพาร์ตเมนต์ให้เช่า ส่วนคนที่สาวๆ หน่อยแกเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ MRT สีลมนี่เอง ฯลฯ
ซีนที่ป๊าขึ้นไปร้องเพลงคู่กับคุณป้า การช่างออกท่าออกทางของป๊า ก็เรียกเสียงหัวเราะให้เพื่อนๆ ได้ประมาณนึง ส่วนเราก็นั่งเขินๆ พ่อตัวเองอยู่หลังห้องแหละนะ
ความน่ารักหนึ่งอย่างของคลาสร้องเพลง คือถ้าเป็นช่วงปกติที่ยังไม่มีมาตรการโควิด ก็จะมีการจัดงานปิดคลาสเมื่อเรียนจบแต่ละช่วง หรือจัดงานร้องเพลงตามเทศกาลอยู่เรื่อยๆ รูปนี้ก็มาจากงานประจำปีที่แม่มาร้องเพลงกับเพื่อนที่ศูนย์ฯ แล้วเราก็แวะมาให้กำลังใจ
เราไม่อาจรู้ได้จริงๆ หรอกว่าโลกของผู้สูงวัยเป็นแบบไหน ตอนเราอายุ 70 จะเป็นยังไง แต่การได้สัมผัสสังคมย่อมๆ ของพ่อแม่ก็ทำให้เรารู้ว่าแม้จะแก่ตัวไป การมีพื้นที่ให้มีความสุขในแบบที่เป็น มันคือคุณภาพชีวิตในแบบหนึ่งเหมือนกันแฮะ ถ้ากรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย มีพื้นที่ที่ออกแบบให้ผู้สูงวัยแบบจริงจัง มันน่าจะยิ่งดีกว่านี้อีก
ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เปิดทุกวัน จันทร์-ศุกร์ เวลา 7.00-20.00 ส่วนเสาร์-อาทิตย์-วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-18.00 ค่าสมัครสมาชิกสำหรับผู้อายุ 25 ปีขึ้นไป คือ 40 บาทต่อปี ใครสนใจหรืออยากให้พ่อแม่ไปใช้บริการ ลองแวะไปดูที่สวนลุม หรือลองเสิร์ชหาข้อมูลของศูนย์สร้างสุขทุกวัย เห็นเขาบอกว่ามี 36 แห่งทั่วกรุงเทพฯ เลยนะ
ส่วนถ้าใครมี Oldster Third Place เก๋ๆ ที่อยากแนะนำพ่อแม่เราและคนอื่นๆ บ้าง ก็อย่าเขินอายที่จะมาบอกกันล่ะ
Read More:
ไอแอลไอยูทดลองเปิด 'ร้านเช่า หนังสือ ' อ่านฟรีที่ออฟฟิศ!
อีกหนึ่งหนทางสู่ Conscious Lifestyle ที่ทำได้ง่าย ไอแอลไอยูชวนกันหยิบหนังสืออ่านวนกันไป แถมสนุกไม่ใช่เล่น!
แพ้ชนะไม่สำคัญเท่า ‘ความเป็นมนุษย์’
รวมมิตรชัยชนะของ #สิทธิมนุษยชน ในโตเกียวโอลิมปิกเกมส์ 2020
ดูหนัง Studio Ghibli ให้เป็นธรรมชาติ
ชวนมาดูหนังอนิเมชั่นของสตูดิโอจิบลิในเน็ตฟลิกซ์ ที่เล่าเรื่องธรรมชาติอย่างแนบเนียน