ถึงเรื่องจะเยอะ แต่ก็ไม่ง่ายที่เราจะตัดใจให้ขาด แล้วเลิกซื้อเสื้อผ้าไปตลอดกาล…
เสื้อผ้ามือสองจึงเกิดมาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักช้อปอย่างเรา!! เพราะเสื้อมือสองช่วยลดการผลิตเสื้อผ้าใหม่ ลดการทำลายทรัพยากรไปได้เยอะ และทำให้เสื้อผ้าเดิมที่อาจถึงคิวโยนทิ้งกลับมามีชีวิตใหม่ได้ ที่สำคัญ เสื้อผ้ามือสองส่วนมากยังมีราคาถูก มีให้เลือกหลากหลายไม่ได้มีแค่เสื้อวินเทจแบบที่เราเข้าใจ ถ้าหาให้ดีเลยมีโอกาสเจอของดีมีแบรนด์ติดตัวกลับไปอีกต่างหาก
ไหนๆ เราก็เดินห้างจนเบื่อแล้ว เลยอยากชวนทุกคนไปแวะช้อปเสื้อมือสองตามร้านต่างๆ แล้วขอเป็นมือที่สองให้เหล่าเสื้อผ้าสวยๆ ที่เฝ้ารอเจ้าของคนใหม่ พร้อมทำความรู้จักคำศัพท์ในวงการเสื้อมือสอง เพื่อผันตัวมาเป็นนักช้อปมือสองในระดับเซียนกัน
อยากเดินสวยๆ ลองไปช้อปชุดแม่บ้านญี่ปุ่นที่ Treasure Factory
มือที่หนึ่ง: เหล่าแม่บ้านญี่ปุ่นและคุณลูกค้าจากทั่วกรุงเทพฯ
จุดเด่น: เสื้อสะอาด คุณภาพเยี่ยม (เป็นเสื้อแบรนด์ด้วย) แต่ราคาแอบแรง เหมาะกับคนขี้เกียจขุดค้น ไปเดินสวยๆ ยังไงก็ได้ของดี
ราคา: ประมาณ 200-1,000 บาท
Treasure Factory เป็นร้านขายของมือสองในย่านสุขุมวิท (ที่มีสาขาที่อื่นด้วย) ก้าวแรกที่เดินเข้าไป เหมือนหลุดเข้าไปอยู่ญี่ปุ่นจริงๆ สำหรับช่วงโควิดที่เดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้แบบนี้ แค่แวะเข้าไปฟังสปอตภาษาญี่ปุ่นที่นี่ก็อุ่นใจแล้ว
ร้านแห่งนี้เป็นร้านขายสินค้า Resale หรือร้านที่รับซื้อและขายของมือสอง นอกจากเสื้อผ้า แล้วก็ยังมีข้าวของเครื่องใช้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์กีฬา เครื่องดนตรี เครื่องใช้ไฟฟ้าและของจิปาถะอีกมากมาย สินค้าทุกชิ้นมีคุณภาพเยี่ยมเหมือนใหม่ และอยู่ในราคารับไหว อย่างเสื้อผ้าก็มีตั้งแต่สินค้าแบรนด์เนมเฉียดหมื่นไปจนถึงเสื้อผ้าหลักร้อยนิดๆ ที่เราประทับใจก็คือ ที่นี่มีเสื้อผ้าแบรนด์ญี่ปุ่นที่ปกติราคาแรงในราคาหลักร้อยเยอะมาก เพราะร้านนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่คนญี่ปุ่นในไทยอาศัยอยู่พอดี คนที่แวะเวียนมาก็เลยเป็นคนญี่ปุ่นซะส่วนใหญ่ด้วยเช่นกัน
อย่างที่บอกว่าร้านนี้เป็นร้าน Resale ที่รับซื้อสินค้าด้วย เราจึงสามารถนำเสื้อผ้าและข้าวของตามประเภทที่เขายินดีรับซื้อมาฝากขายได้! แต่พี่พนักงานบอกว่าที่นี่ไม่ได้รับของทุกแบบ อย่างเสื้อผ้าจะต้องมีอายุไม่เกิน 3 ปี อยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่เปรอะเปื้อน และไม่ใช่ชุดเทศกาลอย่างชุดไทยหรือกิโมโนะ และหากเสื้อประเภทไหนมีอยู่ในสต็อกเยอะแล้ว ทางร้านก็อาจไม่รับพิจารณาได้ด้วย เมื่อนำเสื้อมาส่ง พนักงานชาวญี่ปุ่นจะตรวจเช็กแบบละเอียดยิบทุกซอกทุกมุม (อันนี้ขอคอนเฟิร์มเพราะไปยืนส่องมา) หากเสื้อตัวไหนผ่านเราก็จะได้รับเงินตามสภาพ สินค้าส่วนมากในร้านเลยมีทั้งข้าวของแบรนด์ญี่ปุ่นจากชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ และข้าวของแบรนด์ไทยที่เราคุ้นเคยกันดีปะปนกันไป
สำหรับใครที่กำลังมองหาลู่ทางทำเงินเล็กๆ น้อยๆ และมีเสื้อผ้าสภาพดี เราจึงขอแนะนำให้ไปเยือน Treasure Factory สักครั้ง!
สายขุดคุ้ย แวะช้อปเสื้อราคาสบายกระเป๋าที่ ชินจูกุ Outlet
มือที่หนึ่ง: มือปริศนาจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลีและจีน
จุดเด่น: มีเสื้อให้เลือกทุกแบบทุกสไตล์แต่ต้องค้นเยอะหน่อย เพราะเสื้อบางตัวก็เก่าและเปรอะไปบ้าง
ราคา: บางสาขา 3 ตัว 100 บางสาขาขีดละ 30 กว่าบาท
แม้แต่เจ้าของร้านเองก็ตอบไม่ได้ว่าเสื้อผ้าเหล่านี้มาจากไหน!
ชินจูกุ Outlet น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับนักช้อปมือสอง เพราะร้านนี้เขามีสาขาเยอะเหมือนเซเว่น ติดป้ายว่าเป็นสินค้านำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ซึ่งเราก็เชื่อว่าพวกมันถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากประเทศเหล่านั้นจริงๆ เพียงแต่ต้นตอมือที่หนึ่งนั้นไม่อาจทราบได้ ขอสันนิษฐานว่าส่วนใหญ่เป็นเสื้อจากการโละบ้าน และเสื้อเก่าที่ถูกส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ แทนที่จะนำไปทิ้งถังขยะ ก็ถูกส่งมาขายตามร้านขายของเก่าต่างๆ แล้วส่งต่อมาเรื่อยๆ แทน
จุดเด่นของร้านนี้ก็คือการขายเสื้อตามน้ำหนัก หรือบางสาขาก็ขายเสื้อแบบ 3 ตัว 100 มีตั้งแต่เสื้อเด็ก สายเดี่ยว กางเกงขาสั้น เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ไปยันเสื้อโค้ตลุยหิมะ คุณภาพก็ตามราคา จึงต้องอาศัยสกิลสอดส่องเพื่อมองหาของดีกันหน่อย อย่างตอนที่เราไปก็เจอทั้งเสื้อยูนิโคล ทาร์เก็ต และแบรนด์ขึ้นห้างอีกสองสามแบรนด์ ถ้าเอาไปซักให้ดีก็ได้สภาพเหมือนใหม่อยู่ หรือใครที่มาแล้วไม่เจอของถูกใจคราวนี้ มาอีกวันเขาก็มีของใหม่มาลงแล้ว เรียกว่าใครที่เบื่ออุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น จะมาช้อปปิ้งแฟชั่นมือสองที่ลงของแบบฟาสต์ๆ ที่นี่แทนก็ได้นะ
มือที่หนึ่ง: เจ้าของเสื้อ ที่อยากส่งต่อเสื้อเก่าของตัวเอง
จุดเด่น: มีเสื้อให้เลือกไม่เยอะ ลุ้นๆ เอาว่าวันนี้จะมีเสื้อตัวไหน เหมาะกับคนชอบการแข่งขัน เพราะต้องแย่งเอฟกับคนอื่นด้วย
ราคา: ขึ้นอยู่กับคนขาย
เป็นคนมือไว มาซีเอฟเสื้อมีเจ้าของในอินสตาแกรม
นอนอยู่บ้านก็สามารถช้อปปิ้งแบบยั่งยืนได้ เมื่อสมัยนี้ร้านของมือสองนั้นยกมาให้ช้อปกันถึงในอินสตาแกรม ถ้าอยากรู้ว่าเยอะแค่ไหนลองเสิร์ชคำว่า thrift หรือ second hand ในช่องค้นหาในไอจีดูจะพบว่ามีร้านให้เลือกเป็นสิบๆ ร้านเลย
นอกจากร้านที่ขายเสื้อผ้ากันเป็นกิจจะลักษณะแล้ว ร้านค้าอีกจำนวนหนึ่งก็ดำเนินกิจการโดยเจ้าของแอคเคาท์ที่อยากโละเสื้อผ้าเก่าของตัวเองนี่แหละ เสื้อผ้าพวกนี้จึงสามารถเรียกว่าเป็นเสื้อ pre-owned หรือ pre-loved ซึ่งเป็นอีกวิธีในการเรียกเสื้อมือสองแบบน่ารักๆ เพื่ออธิบายว่าเสื้อพวกนี้เคยมีเจ้าของมาก่อน แต่ตอนนี้พวกมันโดนเอามาปล่อยขายเพื่อตามหาเจ้าของคนต่อไป
เรามีโอกาสได้คุยกับเอิง-กนิฐปัญญีย์ นิ่มศรีทอง เจ้าของร้าน @flowerandbacon ในอินสตาแกรม ร้านของเอิงเป็นร้านขายเสื้อผ้าและของกระจุกกระจิก ซึ่งของทั้งหมดเป็นของที่เอิงเคยซื้อและใช้มาแล้ว ไม่ได้รับจากที่ไหนมาขายต่อ เพราะเมื่อก่อนเธอเป็นคนชอบแต่งตัว เลยซื้อเสื้อผ้าเยอะ แต่หลังๆ เธอเริ่มพบว่าเสื้อผ้าบางตัวซื้อมาใส่แล้วก็ไม่เวิร์ก ซื้อมาใส่ออกงานไม่กี่ครั้งก็ไม่ได้ใช้ต่อ เธอจึงเปิดร้านขึ้นมาเพื่อประกาศหาคนที่ชอบเสื้อสไตล์ใกล้เคียงกับเธอมารับน้องๆ เหล่านี้ไปดูแลต่อ
“เราจะเล่าสตอรี่ของเสื้อเวลาลงขาย เช่น ชอบเพราะอะไร ใส่ไปกี่ครั้ง ทำไมต้องขาย เราเชื่อว่าของที่เรารัก เราจะมีเรื่องราวกับมัน จังหวะที่จะขายเราไม่ได้เลือกเสื้อมาแบบโยนๆ นะ เรายังเอาเสื้อทุกตัวมาลองอีกรอบว่าเสื้อตัวนี้มันไม่เวิร์กกับจริงหรือเปล่า ถ้ามันไม่โอเคจริงๆ เราถึงจะขาย
“เราอยากให้คนซื้อเห็นว่า เสื้อพวกนี้เป็นเสื้อที่เรารักจริงๆ เราอยากให้เขาได้ใช้มันจริงๆ ไม่ใช่ซื้อเพราะแค่มันถูก ไม่งั้นมันก็จะวนกลับไปเป็น cycle เดิมๆ คือใส่ไม่ได้ก็ถูกทิ้งเป็นขยะ”
ด้วยเหตุนี้เสื้อแต่ละรอบที่เอิงขายเลยมีแค่ 5-10 ตัว หรือช่วงไหนที่เอาเสื้อมาลองแล้วพบว่าตัวนี้ยังเวิร์กกับเธออยู่ ช่วงนั้นก็อาจจะไม่มีสินค้าอะไรมาวางขายเลยก็ได้ ใครที่อยากอุดหนุนเลยต้องรอลุ้นกันหน่อยนะ ว่าช่วงไหนจะมีการปล่อยของมาขายอีก
Read More:
บันทึกสถิติงดซื้อเสื้อใหม่ 2019-2020
บันทึกความฟูและเฟลของนักช้อปกลับใจ งดซื้อเสื้อใหม่ 2 ปี!
First (NO) Bra REMAKE
หยิบเสื้อเก่ามาโมใหม่ ให้โนบราได้แบบไม่โป๊
มนุษยสัมพันธ์ 03: คุยกับ Younglek เรื่องความสบายของนม บรา ชั้นใน ที่คล้ายๆ กับการได้ประกาศอิสรภาพเล็กๆ
เล็ก-ภัทรสิริ อภิชิต เจ้าของแบรนด์ชุดชั้นในที่ชื่อ Younglek Under