Eat —— วิธีทำ

ภารกิจพิชิตตู้เย็น! เคลียร์ทุกชั้น กินให้ทันก่อนหมดอายุ

ถึงเวลาจัดการกับภารกิจใหญ่ในบ้านที่ทำใจอยู่นานกว่าจะลงมือได้ นั่นคือ ‘ภารกิจเคลียร์ตู้เย็น’ 

ยอมรับว่าตู้เย็นเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในบ้านที่ถูกละเลยไป ถึงแม้จะเปิดใช้ทุกวัน และเราเชื่อมั่นเหลือเกินว่าตู้เย็นคือพื้นที่ยืดอายุของทุกสิ่ง แต่ความจริงไม่เข้าข้างเราแบบนั้น! ทุกอย่างมีวันหมดอายุและกลายสถานะเป็นขยะอาหาร ผักและผลไม้บางอย่างถ้าปล่อยไว้นานไปจนสุก อาจเร่งให้เพื่อนผักข้างเคียงอายุสั้นลงโดยที่เราไม่ตั้งใจ

ขยะอาหารที่มาจากของเสียในตู้เย็น บางทีอาจมากกว่าขยะเศษอาหารที่เรากินเหลือในแต่ละมื้อเสียอีก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเห็นเชื้อราบนขนมปังแค่ชิ้นเดียวในถุง แต่อย่าลืมว่ามีราที่เรามองไม่เห็นซ่อนตัวอยู่ในขนมปังด้วย นั่นแสดงว่าเราต้องทิ้งทั้งถุงยังไงล่ะ จะกินไม่ทันหรือแช่นานจนลืม ก็จบลงที่ปาดน้ำตาให้ความเสียดายอาหารและเงินไปพร้อมกัน ถึงแม้พื้นที่สี่เหลี่ยมด้านในตู้เย็นจะไม่ใหญ่มาก แต่หากดูแลไม่ดี เอาใจใส่ไม่ทั่วถึงก็อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นขยะอาหารในบ้านได้กองใหญ่เลยทีเดียว 

การจัดการตู้เย็นของเราครั้งนี้จึงไม่ใช่การเริ่มแก้ที่ปลายเหตุหรือแค่หยิบเอาของหมดอายุไปทิ้ง แต่จะทำให้เราสามารถสำรวจพื้นที่ว่างในตู้เย็น จัดวางให้ถูกที่เพื่อยืดอายุอาหาร แพลนการซื้อของเข้าบ้าน และที่สำคัญเราจะกินทุกอย่างทันก่อนที่มันจะหมดอายุ!

01 มาเริ่มต้นกันใหม่ ด้วยการหยิบทุกอย่างออกมากอง

ถ้าไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ให้เคลียร์ทุกอย่างออกมาวางไว้ข้างนอก มาดูกันทีละชิ้นว่าสิ่งไหนยังดีสิ่งไหนต้องบอกลา แล้วจะเห็นว่าตัวเองยัดทุกอย่างเข้าไปในตู้เย็นมากมายขนาดนี้ได้ยังไง! นอกจากจะทำให้ตู้เย็นกระจายความเย็นได้ช้าแล้ว ยังทำให้ตู้เย็นทำงานหนักและเปลืองไฟกว่าเดิมโดยใช่เหตุ ซึ่งในความจริงเราควรทำความสะอาดตู้เย็น 2 สัปดาห์/ครั้ง โดยเช็ดผนังตู้เย็นด้านในด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นและถอดอุปกรณ์ด้านในออกมาล้างทำความสะอาด (อย่าลืมถอดปลั๊กด้วยนะ)

ยิ่งถ้าเราลืมผัก ผลไม้หรืออาหารที่แช่ไว้นาน จนเริ่มเน่าและมีเชื้อรา รู้ไหมว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นของแบคทีเรียตัวดีที่ชื่อว่า ‘ลิสเทอเรีย’ (Listeria) ต้นตอของโรคอาหารเป็นพิษเลยนะ ซึ่งพอแบคทีเรียโตแล้วก็ไปไหนไม่ได้ นอกจากไปเกาะอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ที่อยู่ในตู้เย็นเรานั่นแหละ แล้วใครเป็นคนกินล่ะ ก็เราไง 

ไปค่ะ! ทำความสะอาดตู้เย็นกัน

02 ถึงเวลาตัดใจ สิ่งไหนควรทิ้ง

สิ่งไหนควรตัดใจทิ้งหรือสิ่งไหนได้ไปต่อ แยกกันง่ายด้วยการดูตัวเลข Expired Date หรือ EXP (วันหมดอายุ) คือ วันที่ส่วนประกอบบางอย่างในอาหารอาจหมดอายุ ทำให้อาหารกินไม่ได้ อย่าเสี่ยงเปิดมากินต่อ ตัดใจทิ้งซะ และ Best Before Date หรือ BBF/BBD (วันที่ควรบริโภคก่อน) นี่ไม่ใช่วันหมดอายุนะ แต่คือวันสุดท้ายที่อาหารจะยังคงรสชาติและคุณภาพดีอยู่ หากเก็บในที่เหมาะสมและอาหารที่ยังไม่ถูกเปิด

แต่อาหารสดบางประเภทอาจไม่บอกวันหมดอายุ ถ้าไม่ชัวร์เราห้ามชิมเด็ดขาดนะ ดูแค่รูปลักษณะภายนอกของอาหารและดมกลิ่นก็พอแล้ว เช่น อาหารปรุงสุกที่กินเหลือแล้วแช่ไว้ ลองดูว่ามีลักษณะแฉะ ข้น หรือเหนียวผิดปกติหรือไม่ หามีฟองขึ้นจนผิดสังเกตหรือมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวชัดเจน ต้องบอกลากันแล้วล่ะ เตือนตัวเองว่าเช็กให้ดีก่อนทิ้งนะ! 

03 จัดการที่อยู่ใหม่ ยืดอายุได้อีกนาน

การเก็บอาหารให้ถูกช่องนอกจากจะหยิบง่ายแล้วยังช่วยยืดอายุได้นานขึ้นด้วย  เพราะแต่ละพื้นที่ในตู้เย็นให้ความเย็นที่ต่างกัน เช่น ประตูตู้เย็นจะโดนความเย็นน้อยสุด อะไรที่เสียง่ายไม่ควรแช่ตรงนี้ แล้วอาหารประเภทอื่นๆ แช่ตรงไหนดีนะ?

  1. นม: ไม่ควรเก็บไว้ที่ชั้นวางตรงประตู เพราะพื้นที่ตรงนี้อุ่นที่สุด อาจทำให้นมเสียได้
  2. ขนมปัง: เก็บนอกตู้เย็นได้ 2-3 วัน แต่หากเก็บในช่องฟรีซ จะต่ออายุได้ 1-2 เดือนเลยนะ
  3. อาหารปรุงสด / อาหารกินเหลือ: เก็บในตู้เย็นหรือช่องฟรีซ แต่ต้องรีบกินนะ เพราะแค่ 1-2 วันก็อาจเสียแล้ว 
  4. เครื่องปรุง: เครื่องปรุงที่ใส่วัตถุกันเสียเก็บนอกตู้เย็นได้ เครื่องปรุงบ้างชนิดจะระบุให้เก็บในตู้เย็นเสมอ
  5. ไข่: ไข่ดิบ เก็บในตู้เย็นได้ 3-5 สัปดาห์ ไม่ควรเก็บในช่องฟรีซ / ไข่ต้ม เก็บในตู้เย็นได้ 1 สัปดาห์ ไม่ควรเก็บในช่องฟรีซ
  6. เนื้อสัตว์: แบ่งตามปริมาณที่จะนำไปปรุงในแต่ละมื้อ ใส่กล่องแช่ในช่องฟรีซ และเขียนวันที่ที่นำเข้าตู้เย็น
    เตือนไว้ด้วยจะดีมาก 
  7. ผักและผลไม้: ถึงเป็นประเภทเดียวกันแต่ไม่ควรเก็บใกล้กัน เพราะผลไม้ที่สุกแล้วจะมีก๊าซเอทิลีนที่
    ทำให้ผักผลไม้ข้างเคียงพากันสุกตามกันไปและเสียง่ายขึ้น ยืดอายุได้ด้วยการห่อด้วยกระดาษหรือใส่กล่องให้มิดชิด

04 เขียนเตือนใจ แยกกองไว้ให้เห็นชัด

Eat Me First! – รวมสิ่งที่ใกล้หมดอายุมาอยู่ใกล้ๆ กัน เราจะได้รู้ว่าโซนนี้ต้องรีบกินแล้วนะ แต่อาหารบางอย่างไม่ได้เขียนวันหมดอายุติดไว้ เราอาจเขียนแปะไว้หน่อยว่าสิ่งนี้ซื้อมาวันไหน จะได้คาดคะเนได้ว่าถึงเวลาต้องนำไปใช้หรือยัง หรือถ้าไม่สะดวกเขียนแปะบนอาหาร งั้นลองทำตามนี้

  1. เขียนรายการอาหารและวันหมดอายุติดหน้าตู้เย็น จะได้เห็นชัดๆ
  2. ตั้งเตือนความจำในโทรศัพท์ เขียนรายชื่ออาหารและตั้งเวลาวันหมดอายุของในตู้เย็น ถึงเราจำไม่ได้ก็จะมีตัวช่วยเตือน!

05 แช่อาหารที่กินแล้วดี ในจุดที่หยิบง่าย

ออกตัวก่อนว่า เราจัดอยู่ในพวกที่หิวเมื่อไรก็เดินไปเปิดตู้เย็น เจออะไรหยิบง่ายก็เอาออกมากินก่อน ไหนๆ ก็จัดตู้เย็นแล้ว ลองจัดวางอาหารที่ดีต่อสุขภาพไว้ในจุดที่หยิบง่าย เช่น ผลไม้ โยเกิร์ต นม ฯลฯ อิ่มด้วยพร้อมกินดีด้วย ก็ดีกว่าเป็นไหนๆ  

06 ขาดเหลือสิ่งไหน อะไรต้องไปซื้อเติม

พอเคลียร์ทุกอย่างในตู้เย็นเสร็จเรียบร้อยและเริ่มมีพื้นที่ว่าง เราก็จะรู้ว่าต้องลิสต์รายการอะไรเข้ามาเติมในตู้เย็นบ้าง หากของจำเป็นที่เราต้องการ ซื้อมาต้องใช้อยู่แล้ว ลองเลือกของที่หมดอายุเร็วๆ ก่อน เพื่อลดปัญหาความโดดเดี่ยวในชั้นวาง เพราะคนส่วนใหญ่จะเลือกของที่หมดอายุช้ามาเก็บไว้ แต่ถ้าลืมใช้ก็เสียทิ้งอยู่ดี เช่น ซื้อนมขวดที่หมดอายุเร็วกว่าเพื่อน เราต้องดื่มทุกเช้าอยู่แล้ว

เสร็จสิ้นภารกิจใหญ่แอบภูมิใจในตัวเองที่สามารถจัดการต้นตอของขยะอาหารในบ้านที่น่ากังวลไปได้อีกจุด ยืดอายุของเหล่าพืชผักและอาหารให้นานขึ้นอีกหน่อย  จริงๆ การเคลียร์ตู้เย็นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เราควรจริงจังเรื่องการวางแผนเลือกซื้ออาหารในครั้งต่อไป ย้ำเตือนใจว่าซื้อของเข้าตู้เย็นเมื่อไรต้องมัดสติติดไปด้วยเสมอนะ

Content Creator

#นักเขียน #จบครูศิลปะ กำลังไล่อ่านหนังสือที่ซื้อมาให้หมดทุกเล่ม

Read More:

Eat สาระสำคัญ

เรื่องกล้วยเช้านี้

กล้วยที่เรากินทุกวัน เกี่ยวอะไรกับ Food Security

Eat ผลการทดลอง

ว่างนัก เลยทดลองหมักอาหารกินเอง

ผลการทดลองทำกินจิหมักๆ และเหล้าบ๊วยดองๆ ของคน WFH

Eat วิธีทำ

ดูสารคดีจน Guilty แต่ก็ยังกินต่อให้ Guilt-Free ได้อยู่!

ส่องปัญหาเรื่องกินๆ แบบเวิลด์ไวด์ พร้อมทางเลือกกินแบบไทยๆ ที่ไม่ต้องเลิก