“การทำ meal plan เวิร์กกับตัวแตรเองเพราะเราอยากตัดสินใจรอบเดียว ถ้าทำแล้วจะวางใจว่าตลอดวีคนั้น เราไม่ต้องคิดอีกแล้วว่าวันนี้จะกินอะไรวะ”
“คือแค่คิดงานก็เหนื่อยแล้ว ต้องคิดว่าจะวาดยังไง ใช้สีอะไร วางตรงไหน แล้วเราจะต้องมาคิดอีกเหรอว่าจะกินอะไร”
ถึงจะฟังดูเป็นเรื่องยิบย่อย แต่แตรบอกว่ามันคือ decision fatique หรือภาวะที่มีสิ่งที่ต้องตัดสินใจมากเกินไปจนประสิทธิภาพในการทำงานลดลง การลดๆ บางเรื่องที่ต้องตัดสินใจในแต่ละวันลงไปได้ ก็ทำให้สบายใจมากขึ้น
ในฐานะคนที่หมกมุ่นอยู่กับคำถาม “วันนี้กินอะไรดี” และคำตอบว่า “อะไรก็ได้” นั้นยากเกินไปเสมอ การทำ meal plan จึงฟังดูน่าสนสำหรับคนทำอาหารกินเอง (บ้าง) แต่ที่ดีไปกว่านั้น คือการแก้ปัญหาคลาสสิกอีกข้ออย่างการซื้อวัตถุดิบทำอาหารมาแล้วใช้ไม่หมด กลายเป็นซากอารยธรรมในตู้เย็น แถมบวกลบเป็นเงินออกมา แพงกว่าซื้อกินอีก!
“ถ้าเรารู้ว่าอาทิตย์นี้เราจะทำเมนูไหนบ้าง ก็มาบวกกันเราจะต้องซื้ออะไรเท่าไหร่ จะได้ไม่ต้องซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้หรือใช้นิดเดียวแล้วมันเน่า คือเมื่อก่อนแตรซื้อผักมาแล้วไม่ค่อยได้ใช้ เพราะไม่ค่อยชอบกินผัก เลยตั้งใจว่าถ้าซื้อมามันควรต้องใช้ให้หมด” แตรบอกหลักการที่เราพอนึกตามออก (ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง) แต่ความล้ำไปกว่านั้น คือแตรออกแบบ meal plan และ inventory วัตถุดิบในบ้านผ่านแอพฯ notion (หลายๆ คนอาจใช้แอพนี้ในการรันโปรเจกต์งานต่างๆ กับเพื่อนร่วมงาน แต่แตรใช้ทำทุกอย่าง ตั้งแต่คอนแทคลูกค้า ลิสต์หนังสือที่อ่านและอยากจะอ่าน วางแผนทริป ไปจนถึงแทรกเกอร์ในการออกกำลังกายจริงจัง!)
แตรชอบอยู่หน้าคอม (แม้งานจะหมกมุ่นอยู่หน้าจอก็ตาม) แต่ใครไม่ถนัดลากเข้าลากออกในโปรแกรม จะแพลนใส่กระดาษแปะหน้าตู้เย็นก็ได้ผลเหมือนกัน เพราะคอนเซปต์คือการคิดเมนูและวางแผนไปซื้อของมาตุนให้พอดีกันนั่นเอง
“เวลาแพลนว่าแต่ละมื้อจะกินอะไร คิดไว้ก่อนว่า ในวันเดียวกัน ถ้าไม่ซ้ำได้ก็ดี ถ้ากลางวันกินสุกี้ไก่ ตอนเย็นก็กินปลา”
รีแคปสั้นๆ สำหรับคนที่ยังนึกไม่ออกว่าการทำ meal plan คือยังไง ลองนึกย้อนไปสมัยทำตารางเรียนสมัยเด็กๆ ที่ต้องใส่วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ สังคม ลงไปในตารางแต่ละวัน นี่ก็คล้ายๆ กัน แค่แบ่งเป็นมื้อเช้า กลางวัน เย็น (ใครมีสแน็คระหว่างวัน หรือชอบเพิ่มมื้อดึกก็ตีตารางไว้ได้)
จากนั้น ก็ลิสต์เมนูที่อยากกินใส่ลงไป มื้อไหนจะลงมือทำเอง มื้อไหนสั่งมากิน มื้อไหนออกไปกินนอกบ้านบ้าง แล้วไอ้ที่จะทำเองนั้น ต้องใช้วัตถุดิบอะไร อะไรมีติดตู้เย็นอยู่แล้ว อะไรต้องไปซื้อมาเก็บไว้ ซึ่งนั่นคือหัวใจหลักของการทำแผนกินไม่ให้เหลือ เพราะการรู้ว่าเราจะทำอะไรกินบ้าง และซื้อมาพอดีใช้ โอกาสเหลือก็น้อยกว่านึกอยากจะกินอะไรก็ไปซื้อมาทีละมื้อ
“ไม่จำเป็นต้องวางไว้ทุกมื้อก็ได้ บางมื้อแตรก็ว่างเอาไว้เผื่ออยากสั่งอะไรมากินหรือจะออกไปกินข้างนอกกัน หรือเสาร์อาทิตย์เราต้องไปอยู่บ้านพ่อแม่แฟน เขาจะทำอะไรกินเราก็กินด้วย” แผนที่ดีควรมีช่องไว้ให้ขยับบ้าง
ถามเคล็ดลับผู้จัด แตรบอกว่าก็ต้องดูทั้งความเหมาะสม ความสดของวัตถุดิบ เช่นอะไรเหี่ยวเฉาหรือเสียไวก็ต้องรีบทำกินตั้งแต่มื้อแรกๆ แต่วิธีกันเบื่อและทำให้ได้สารอาหารครบถ้วน คือการกินให้หลากหลายสักหน่อยในหนึ่งวัน
“แตรว่าเรื่องกินมันสำคัญนะ การกินส่งผลต่อร่างกายเรามากกว่าการออกกำลังกายอีก อาหารการกินมันจึงเป็นเรื่องที่เราควรจะใส่ใจนะ” แตรย้ำ และยืนยันว่าอาหารหลากหลาย สลับสับเปลี่ยนวัตถุดิบในแต่ละมื้อ ก็ทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์ที่แตกต่าง ดีกว่ารับจากเมนูเดิมๆ โปรตีนเดิม ไขมันเดิม หรือแป้งแบบเดียว
“ไม่ชอบกินผัก เลยพยายามโยนผักอะไรก็ได้ใส่สมูทตี้
ผักโขม แรดิช โหระพา แตงกวา ฯลฯ ถ้ารู้ว่าอะไรเก็บไว้ทำกับข้าวกินไม่ทันแน่ๆ ก็จะหั่นใส่ฟรีซไว้ปั่นเลย”
“ปัญหาของแตรคือฟรีซเซอร์ตู้เย็นคอนโดฯ มันเล็ก เวลาได้วัตถุดิบอะไรมา แตรจะแบ่งเป็นพอร์ชั่นแล้วฟรีซไว้ เช่น ได้แตงกวามา แล้วรู้สึกว่ากินไม่ทันแน่เลย จะหั่นเป็นชิ้นๆ แล้วแช่ ไว้กินเป็นสมูตตี้แทน” จากที่ไม่ชอบกินผัก แต่ถ้าโยนใส่โถปั่นให้เบลนด์ไปกับนม เนยถั่ว หรือผลไม้รสอร่อย ผักขมๆ ขื่นๆ ก็อร่อยขึ้นมา แถมยังดีต่อลำไส้คนธาตุแข็งอย่างแตรด้วย
“หลักการคืออะไรที่เรากินได้ ก็โยนใส่สมูตตี้ได้แหละ โหระพาก็ใส่ได้ ผักใบๆ บางทีแตรก็ใส่ แรดิชก็ใส่ มันกินไม่หมด ฟรีซไว้แล้วก็ใส่เพิ่มเข้าไปได้ มันก็เป็นเมนูที่โอเคดีนะ ผักโขมไม่จำเป็นต้องผัดหรือกินกับสลัด เปลี่ยนรูปไปได้” แตรอธิบายยิ้มๆ เมื่อเราถามว่ามีผักอะไรที่ลองโยนไปปั่นแล้วบ้าง
“ตู้เย็นที่คอนโดมันเล็ก วันไหนที่ไม่พอ จะทำอาหารหม้อใหญ่ๆ เก็บไว้กินหลายๆ วัน ผักเหี่ยวๆ รีบเอาไปทำซุปเลย”
“แตรเริ่มทำอาหารตอนอยู่เมืองนอก ที่เมลเบิร์นอาหารแพง คนที่โน่นจะทำอาหารไปกินเองกันตอนกลางวัน ตอนแตรทำงาน ห้าโมงเลิก ห้าโมงครึ่งก็ถึงบ้านแล้ว มีเวลาทำกับข้าวเยอะ” แตรเล่า ก่อนที่เราจะยิ้มแห้งพร้อมกันว่าถ้าเป็นกรุงเทพฯ สองทุ่มยังไม่ถึงบ้าน จะเหลือแรงที่ไหนทำอาหารกินเอง!
อย่าเพิ่งตัดจบพับแผนทำอาหารกินเองเพราะคุณภาพชีวิตบ้านเราไม่ค่อยเอื้อ เพราะยังมีอีกวิธีคือการทำอาหารหม้อใหญ่ๆ ไว้กินหลายวัน เหมาะสำหรับคนไม่ได้มีเวลาขนาดนั้น แล้วก็แบ่งกินหลายๆ มื้อในหนึ่งสัปดาห์ (ถ้าไม่ต้องกินติดๆ กันทุกมื้อก็ไม่น่าเบื่อขั้นนั้นหรอก!)
“ถ้าสุดท้ายไม่รอด เราเอาผักที่เรากินไม่ทันมาทำเป็นปุ๋ยในถังหมักที่ระเบียงคอนโดฯ แทน”
แม้จะทำทุกวิถีทาง ทั้งวางแผน ทั้งโยนใส่สมูทตี้ ทั้งเก็บผักเหี่ยวๆ ใกล้วาระสุดท้ายไปลงหม้อซุป แต่ผักที่ยังกินไม่ทัน (หรือเศษที่ตัดแต่งตอนทำครัว) ก็ยังมีเส้นทางสู่สุคติอย่างถังหมักขยะเศษอาหาร ที่แตรหามาวางไว้ที่ระเบียงคอนโดฯ เพื่อจัดการ food waste ปลายทางให้กลายเป็นปุ๋ยต้นไม้ที่ปลูกอยู่
“สวนแตรก็ไม่ได้งอกงามมากนะ” แตรออกตัวพร้อมหัวเราะ “มันก็เล็กๆ แต่เราเอนจอยที่ได้ทำน่ะ ได้เห็นว่าของในความรับผิดชอบเรามันถูกจัดการเรียบร้อย อย่างพวกเครื่องปรุงที่ได้มาเวลาสั่งอาหารมากิน ซองน้ำตาลแตรก็จะเอามาเทใส่ถังหมัก ก็เป็นตัวเร่งปุ๋ยได้”
“พยายามจะใช้อะไรให้มันคุ้มที่สุด ไม่อยากให้มันสูญเปล่า อาหารต้องกินให้หมดนะ พลาสติกในบ้านต้องส่งไปรีไซเคิลนะ อาจจะเสียเวลาหรือเปลืองสตางค์เพิ่มขึ้นบ้าง แต่เรายอมจ่าย เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา”
“ขี้งกมั้งคะ” แตรตอบคำถามว่าจริงจังเรื่องการจัดการขยะอาหาร เลยรวมไปจนถึงขยะต่างๆ ในบ้านเพราะอะไร
“แตรไม่อยากให้เหลือ คือไม่ได้จริงจังมากหรอก เรียกว่า conscious แล้วกัน คือถ้าเรามีพลาสติกจากการสั่งข้าว เราควรจะล้างสะอาดแล้วส่งไปรีไซเคิลนะ กล่องนมล้างแล้วแพ็คไปส่งที่ไหนได้ พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ รวมไปส่งไปรษณีย์ได้นะ เราแค่ทำ ไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนต้องมาทำด้วยกันถึงจะเห็นผล แต่เราทำแล้วเราก็สบายใจว่าสิ่งที่อยู่กับเรามันมีที่ไปนะ”
แน่นอน เราต่างรู้ว่ามีอีกเยอะปัจจัยที่เราจะจัดการขยะยุ่บยั่บได้ดีกว่านี้ (โดยเฉพาะรัฐมนตรีผู้ดูแลสิ่งแวดล้อม จะเทคแอคชั่นเรื่องนี้จริงจังกว่าการไล่คนออกจากป่า!) แต่เท่าที่มีและเท่าที่จะดีกับเรา มาลองเริ่มต้นจัดการมื้ออาหารให้ไม่เหลือกันดูสักตั้งไหมล่ะ
อย่างน้อยอาหารที่ถูกผลิตขึ้นมา จะไม่ถูกทิ้งไปเปล่าๆ เพราะแค่เราจัดการไม่ดี
Read More:
#สายซับเจ๊ ชวนซัพพอร์ตอาหารร้านเจ๊ๆ แห่งสามย่าน
ยังจัดทริป ‘เมื่อวานเจ๊ทานอะไร’ ไม่ได้ แต่อุดหนุนเจ๊ทางเดลิเวอรี่ก่อนได้
อย่ากินเราเลย เรามีรสเศร้า
ถ้ายังเลิกกินเนื้อสัตว์ไม่ได้ ก็งดเมนูทำร้ายสัตว์เกินเบอร์เถอะ
รีวิวสินค้าป้ายเหลือง ที่ทั้งถูกและดีต่อโลก!
ตามล่าอาหารใกล้หมดอายุ ที่ราคาดีต่อกระเป๋าตังค์และยังดีต่อโลก