ในฐานะคนที่ไปสุดในทุกด้าน (ยกตัวอย่างเช่น ชอบเมาก็ดองเหล้าเอง เป็นต้น) ความรู้สึกผิดของเราเลยไม่ได้จำกัดอยู่ที่ ไม่ยอมทิ้งเพราะเสียดายของที่เคยเสียเงินซื้อเท่านั้น แต่มันไปไกลถึงความตั้งใจที่ไม่อยากเพิ่มปริมาณขยะอาหารให้กับโลกใบนี้
เพราะในกรอบเวลาหนึ่งปี คนไทยร่วมใจกันทิ้งขยะอาหารราว 27.4 ล้านตัน เฉลี่ยต่อหัวคือ 254 กิโลกรัมต่อปีเลยทีเดียว
ซึ่งถ้าขยะอาหารไม่ถูกจัดการด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ปัญหาเน่าเสียที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนให้กับชั้นบรรยากาศ ขยายวงกว้างไปสู่ภาวะโลกร้อนต่อไปเรื่อยๆ บ๊วยค้างโหลที่เราตัดใจทิ้งทุกปีอาจจะมีวาระสุดท้ายแบบนั้น ดังนั้นจะรักการดื่มแค่ไหน ก็ไม่ควรสร้างภาระให้โลก นี่แหละปณิธานในใจของคนขี้เมาแบบเรา
ถ้าความรู้สึกผิดเริ่มก่อตัวขึ้นในใจใครบางคนแถวนี้แล้ว หันไปมองน้องบ๊วยค้างโหลที่เก็บอยู่ในตู้ครัว หยิบออกมา แล้วสนุกไปกับการชุบชีวิตน้องเป็นของอร่อยดีกว่า
แยมบ๊วย
คู่ขาขนมปังปิ้งและกาแฟยามเช้า
เวลาที่ใช้: 15 นาที
หลังจากสถาปนาตัวเองเป็นคนรักการกินขนมปังกับกาแฟคู่กันทุกเช้า จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี สกิลที่ได้เพิ่มขึ้นมาจากแพสชั่นที่ว่า คือการแปรรูปผลไม้ที่ตัวเองชอบกินเป็นแยมโฮมเมด นอกจากจะทำให้การกินขนมปังในทุกๆ วันของเราน่าตื่นเต้นและปลอดภัยกับตัวเอง (เพราะไร้สารกันบูดและสารเติมแต่งอาหารใดๆ) มากขึ้นแล้ว ยังช่วยต่อชีวิตให้กับผลไม้ที่ตัวเองทานไม่หมดในวันก่อนๆ ในคราวเดียวกันอีกด้วย
ส่วนผสม :
- ลูกบ๊วย, น้ำตาลทราย, และน้ำเลมอน
วิธีปรุง :
- หั่นครึ่งลูกบ๊วย เอาเมล็ดด้านในออก
- ใส่เนื้อบ๊วย น้ำตาลทราย และน้ำเลมอน 2 ช้อนโต๊ะ ลงในหม้อ
- เปิดไฟกลางและค่อยๆ เคี่ยวจนน้ำตาลละลาย ระหว่างนี้ให้ชิมรสไปด้วย ถ้าชอบแยมที่หนักหวานให้เติมน้ำตาลเพิ่มได้นะ
- เมื่อส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันและเหนียวข้น ให้ปิดไฟ พักไว้ให้เย็นตัวก่อนตักใส่ขวด
กาดอกจันตัวใหญ่ๆ: เราใช้ปริมาณน้ำตาลเพียงหนึ่งส่วนสามของน้ำหนักเนื้อบ๊วย เพราะตัวบ๊วยค้างโหลเป็นบ๊วยเหลืองสุก คาแรกเตอร์ค่อนข้างหวานฉ่ำและหอมกว่าบ๊วยสีเขียว การใช้น้ำตาลของเราเลยเบามือจากสูตรแยมทั่วไป ส่วนใครที่ใช้บ๊วยที่ออกเปรี้ยวมาทำแยม ระหว่างเคี่ยวให้ลองเติมเกลือเพื่อตัดรสชาติลงไปด้วยนิดหน่อย (ขอย้ำว่านิดเดียวเท่านั้น) รับรองว่าอร่อยเหาะ
บ๊วยโซดา
ชุ่มฉ่ำหัวใจในวันอากาศร้อนระอุ
เวลาที่ใช้: 5 นาที
ตามระเบียบของออฟฟิศที่เอื้อให้เราเวิร์กฟอร์มโฮมได้ในบางวัน ความสุขตอนอยู่บ้านอย่างหนึ่งของเราคือการหาเครื่องดื่มอร่อยๆ และกรึ่มๆ แกล้มระหว่างการทำงาน (แต่ไม่ได้อู้งานนะพูดไว้ตรงนี้) การรังสรรเครื่องดื่มจากลูกบ๊วยเหลือๆ นี่ตอบโจทย์เรื่องความประหยัด และยุ่งยากน้อยที่สุดแล้ว
ส่วนผสม:
- ลูกบ๊วย, น้ำผึ้ง, น้ำแข็ง, โซดา, และเกลือหิมาลายัน
วิธีปรุง:
- นำลูกบ๊วยดอง 3-4 ลูกมาบี้ หรือถ้าใครไม่ชอบเทกซ์เจอร์เนื้อบ๊วยเละๆ จริงๆ แค่เอาเมล็ดออกก็พอแล้วนะ
- เติมน้ำผึ้งลงไป (ถ้าไม่ชอบหวานลัดขั้นตอนนี้ได้เลย)
- เติมโซดา คนให้ส่วนผสมเข้ากัน และตามด้วยน้ำแข็งก้อนที่เตรียมไว้
- ท็อปด้านบนด้วยเกลือหิมาลายัน เพิ่มเทกซ์เจอร์ให้กับเครื่องดื่มเปรี้ยวหวานแก้วนี้
กาดอกจันตัวใหญ่ๆ: นอกจากเราจะเพิ่มมิติทางรสชาติให้กับเครื่องดื่มแก้วนี้ด้วยเกลือแล้ว ในวันที่มีโทนิกวอเตอร์ติดตู้เย็น เราจะเปลี่ยนมาใช้โทนิกแทนโซดา หรือถ้าไม่ชอบรสขมของโทนิกเพียวๆ ให้ใช้สองอย่างผสมกัน บ๊วยโซดาของเราจะมีรสแปลกใหม่ขึ้น ค่อยๆ ชิม ค่อยๆ ปรับ เดี๋ยวก็เจอรสชาติที่ใช่สำหรับตัวเองนะ
ไก่อบบ๊วยเลมอน
ปิดท้ายวันด้วยมื้อค่ำแบบสวยๆ และไม่บ๊วย
เวลาที่ใช้: 45 นาที
เปลี่ยนลูกบ๊วยค้างโหลเป็นของหวานและเครื่องดื่มไปแล้ว เมนูสุดท้ายเราขอแอดวานซ์ขึ้นมาอีกนิดด้วยการทำเป็นของคาวดูบ้าง ดูผ่านๆ รูปลักษณ์ภายนอกกับเทกซ์เจอร์เละๆ ของลูกบ๊วยค่อนข้างคล้ายกับมะนาวดอง เลยเดาว่าน่าจะพอไปได้กับเมนูนึ่งมะนาว แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ตัวคนเดียวในคอนโด เครื่องไม้เครื่องมือที่มีจำกัดเลยไม่ค่อยเอื้อสักเท่าไหร่ (แต่ถ้าใครอยากแซงหน้าลองเมนูนึ่ง ส่งผลการทดลองมาอวดกันได้นะ) เลยขอเลือกเมนูง่ายๆ อย่างอกไก่อบ ที่โยนทุกอย่างเข้าเตาร้อนๆ แล้วออกมาอร่อยเลยเป็นบทสรุป
ส่วนผสม:
- อกไก่, กระเทียมสับ, น้ำมันมะกอก, เลมอน, ลูกบ๊วย, โรสแมรี่, เกลือ, และพริกไทยดำ
วิธีปรุง:
- ผสมกระเทียมสับ น้ำมันมะกอก โรสแมรี่ เกลือ พริกไทย น้ำเลมอน เข้ากับเนื้อบ๊วยจากลูกบ๊วย 3-4 ลูก
- คลุกเคล้าอกไก่กับส่วนผสมที่เตรียมไว้ ระหว่างนี้วอร์มเตาอบที่ 180 องศา 10-15 นาที
- วางอกไก่ลงบนถาดอบ ตามด้วยเลมอนหั่นบาง
- อบที่อุณหภูมิ 180 องศา 25 นาที หรือจนอกไก่สุกได้ที่
กาดอกจันตัวใหญ่ๆ: ดูเหมือนว่าเมนูนี้อาจจะเหมาะกับคนใจเย็นหน่อย แต่เชื่อเถอะว่าผลลัพท์ที่ได้นั้นมหัศจรรย์จนคนข้างๆ หรือคนที่บ้านต้องร้องขอชิมดูสักคำ ถ้าเนื้ออกไก่แห้งไปสำหรับใครบางคน สามารถปรับใช้กับเนื้อฉ่ำๆ ส่วนอื่นได้ หรือลองปรับสูตรใช้กับเนื้อหมู หรือเนื้อปลาก็ดูเข้าท่าดีเหมือนกัน
มาถึงตรงนี้ น้องบ๊วยฤดูกาลที่แล้วคงจะยิ้มแก้มปริและยอมปล่อยให้เรามูฟออนสู่บ๊วยฤดูกาลใหม่แล้วเรียบร้อย ส่วนตัวเราเองก็ยืดอกภูมิใจกับการเข้าครัวที่ใช้วัตถุดิบได้คุ้มค่า คุ้มราคามากที่สุดครั้งนี้ได้เลย ที่สำคัญ อย่าลืมใช้ความตั้งใจนี้กับวัตถุดิบอื่นๆ ด้วยนะ เพราะมันทั้งช่วยลดขยะอาหารที่เกิดจากการบริโภคของเรา แถมยังช่วยเซฟเงินในกระเป๋าเราได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะ
Read More:
อย่าหลอ(ด)กฉันเลย!
หลอดที่บอกว่าย่อยได้ แท้จริงอาจหลอกกันก็ได้
คุยกับ ‘ฟาร์มบ้านภู’ ฟาร์มโคนมที่แฮปปี้ได้ เมื่อวัวทุกตัวได้อยู่ดีกินดี
ชวน 'ปู-สรรพศิรินทร์ ทรัพย์อนันต์' เจ้าของฟาร์มโคนมอินทรีย์จากลพบุรี คุยเรื่องสวัสดิภาพของวัวที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตคนต้นทางและปลายทาง
#สายซับเจ๊ ชวนซัพพอร์ตอาหารร้านเจ๊ๆ แห่งสามย่าน
ยังจัดทริป ‘เมื่อวานเจ๊ทานอะไร’ ไม่ได้ แต่อุดหนุนเจ๊ทางเดลิเวอรี่ก่อนได้