1
อดีตผู้เล่นตำแหน่ง ‘กองกลาง’ ในวงการหนังอิสระ
“คุณไม่จำเป็นจะต้องเป็นช่างภาพเพื่อเป็นกองหน้ายิงประตูเข้าทุกคนก็ได้ คุณอาจจะเป็นกองกลาง คุณอาจจะเป็นทีมอื่นก็ได้ เพียงแต่ว่าเรายังอยู่ในจิ๊กซอว์เดียวกันที่ต่อภาพใหญ่ทั้งหมด” ปิ่นตอบสิ่งนี้ เมื่อเราถามถึงตำแหน่งแห่งที่ของร้านหนังสือที่เขาเป็นเจ้าของ
ก่อนจะมาเป็นเจ้าของร้านหนังสือ หลังเรียนจบด้านโฆษณาและทำงานในสตูดิโอโฆษณาสักพัก ปิ่นก็ลาออกจากการนั่งทำงานในออฟฟิศมาคลุกคลีอยู่กับวงการหนังอิสระในหลากหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพเบื้องหลัง ทีมอาร์ต ทีมพร็อพ แต่ตำแหน่งที่มีส่วนสำคัญให้เขาเดินทางและพัฒนาตัวตนมากที่สุด คือการเป็นโลเคชั่นเมเนเจอร์ ที่มีหน้าที่คล้ายตำแหน่งกองกลางของทีมฟุตบอล
“ตอนทำโลเคชั่นเมเนเจอร์ ทุกอย่างมัน based on reseach อย่างตอนที่ทำหนังเรื่อง Pop Aye (2017) เรื่องเกี่ยวกับคนพาช้างกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ผู้กำกับเป็นคนสิงคโปร์ เคยมาอยู่เมืองไทย คือเขาเข้าใจความเป็นไทยระดับหนึ่ง รู้ว่าหมู่บ้านเลี้ยงช้างอยู่ที่สุรินทร์กับเชียงใหม่นะ แต่ในระหว่างการทำงานตรงนั้นมันเป็นการคุยกัน 2 ฝั่งระหว่าง management กับ artistic ซึ่งอาชีพโลเคชั่นเมเนเจอร์มันก็คือตำแหน่งที่มันโบ๋ อยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่งนี้
“เราได้ภาษาด้วย และด้วยความที่เราเป็นช่างภาพด้วย เราก็จะรู้ระดับหนึ่งว่าเราควรขาย visualize แบบไหนให้ผู้กำกับซื้อ ทีนี้ฝั่ง management ก็จะมาบอกว่า ถ้าไปถ่ายเชียงใหม่มันแพงนะ ต้นทุนทุกอย่างดับเบิ้ลหมดเลยเพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว ผู้กำกับก็ดีเบตกลับมาว่าถ้าไปสุรินทร์เมืองมันเป็นพื้นที่ราบ แต่เขาอยากได้ภูเขาด้วย เพราะฉะนั้นโจทย์ใหม่ก็เลยโผล่มาที่เราว่า ต้องหาอะไรที่อยู่ตรงกลางซึ่งกันและกัน อะไรแบบนี้”
งานที่ต้องเดินทางเพื่อไป scout หรือหาโลเกชั่น ช่วงปี 2014-2017 สำหรับปิ่นก็เหมือนทั้งได้เที่ยว ถ่ายรูป และยังมีของแถมเป็นเวลาที่ได้แวะไปคุ้ยหาหนังสือมือสองกลุ่มหายากหรือ dead stock ที่น่าสนใจ นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Vacilando
2
การ ‘เดินทาง’ แบบ Vacilando
Vacilando เป็นคำกริยาที่แปลกดีในภาษาสเปน ปิ่นบอกว่ามันแปลว่าการเดินทางแต่เป็นการเดินทางที่เชื่อว่าประสบการณ์การเดินทาง สำคัญกว่าการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางเฉพาะ ปิ่นตั้งใจเลือกเอาชื่อนี้มาใช้ในวันแรกที่ก่อตั้งร้านหนังสือในอินสตาแกรม เพราะคิดว่ามันตรงกับตัวเอง
If one is vacilando, he is going somewhere, but does not greatly care whether or not he gets there, although he has direction.
- จากหนังสือ Travel with Charlie ของ John Steinbeck
การเดินเล่นไปในฐานะเจ้าของร้านหนังสือของปิ่น เริ่มจากเป็นร้าน selected bookshop เล็กๆ ในอินสตาแกรมที่ขายหนังสือภาพถ่ายมือสอง แล้วค่อยขยับไปสู่หนังสือภาพถ่ายมือหนึ่ง จุดเปลี่ยนสำคัญคือการได้รับคำชวนให้ไปออกบูธเล็กๆ ในงาน Bangkok Art Book Fair ในปี 2017
ในงานแฟร์นั้น ปิ่นผลิตหนังสือทำมือเล่มเล็กที่รวบรวมภาพถ่ายและข้อมูลจากการ scout พื้นที่จังหวัดเลย พร้อมหอบสต็อกหนังสือภาพถ่ายหายากที่ตัวเองสะสมไปขายด้วย ปิ่นใช้วิธีครูพักลักจำสกิล curator ของอังกฤษ อัจฉริยะโสภณ ศิลปินบูธข้างๆ ที่รอให้ลูกค้าคนนั้นพลิกหนังสือไปจนถึงหน้าที่ 4 แล้วค่อยเสนอขายด้วยการเล่าด้วยความเข้าใจของตัวเอง จนกลายเป็นคาแรกเตอร์การขายของปิ่นในเวลาต่อมา
“สกิลขายเก่งอะไรทั้งหมดทั้งมวล มันมาจากประสบการณ์ทั้งหมด 10 ปีที่เราอยู่มาทั้งงานศิลปะ งานล่าม งานข่าว งานหนัง เป็นโลเคชั่นเมเนเจอร์ เป็นตากล้องภาพนิ่ง รวมถึงการขายงานลูกค้าด้วยครับ แต่จุดเปลี่ยนคือ Art Book Fair นั่นคือประสบการณ์การขายที่เราได้เจอกับลูกค้าจริงๆ จบงานนั้นก็ขายหมด จนได้เงินเก็บมาก้อนหนึ่ง”
และอีกหนึ่งสิ่งที่ได้มาจากเวิร์กชอปในงานแฟร์นั้น คือการสลายเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่าง photobook กับ art book
“photobook ก็อยู่ในแขนงของ artist book เหมือนกัน เพียงแค่อยู่ในรูปแบบของหนังสือ มันก็มีการร้อยเรียงเรื่องราวเหมือนกับ appreciation ทั่วไปเวลาเราดูภาพยนตร์ เพียงแต่ว่าเราเป็นคนกำหนดเวลาตัวเองตอนอยู่หน้ากระดาษ ว่าเราจะดูหน้านี้นานแค่ไหนก็ได้ เราจะเห็นสังเกตอะไรก็ได้ เราจะอ่านมันยังไงก็ได้”
“มันมีการ reading image อีกอย่างหนึ่งเหมือนกันในภาษาของช่างภาพ ที่ทำให้เราต้องมาศึกษาว่า ตัวช่างภาพทำไมถึงเสนอเรื่องแบบนี้ขึ้นมา หรือตัวสำนักพิมพ์บางสำนักพิมพ์เขาก็จะมีหมวดหมู่ว่าฉันจะทำแบบนี้เท่านั้น หรือตัวรูปเล่มบางทีก็จะมีดีไซน์ที่เราต้องทำความเข้าใจกับมัน เช่น ปั๊มจม ปั๊มนูน เข้าเล่มเป็นหีบเพลง เป็นต้น มันก็คือความคิดสร้างสรรค์ที่ based on idea หรือบริบทของแต่ละคนที่ตั้งใจจะนำเสนอด้วยเหมือนกัน”
จากประสบการณ์ส่วนตัวของปิ่นที่เป็นคนชอบถ่ายภาพ และสะสมหนังสือภาพถ่ายของศิลปิน บวกกับได้คุยแลกเปลี่ยนกับลูกค้าหลังจากทำร้านออนไลน์มาหลายปี ก็พบว่าในมุมของคนเสพศิลปะ เหตุผลที่ยังมีคนต้องการหนังสือภาพถ่าย เพราะมันคืองานศิลปะในรูปแบบที่จับต้องได้มากกว่า art piece บนผนังขาวที่คนทั่วไปไม่อาจครอบครอง
“เราชอบภาพถ่ายของศิลปิน แต่หลายครั้งเราเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมันไม่ได้ สมมติว่ามีศิลปินที่เราชอบได้แสดงงานในแกลลอรี่ แต่ราคามันเกินเอื้อม และเราไม่มีพื้นที่ในบ้านมากพอจะซื้อปริ้นต์ใหญ่ๆ เก็บ พอมันกลายเป็น book form เราสามารถซื้อมันเก็บได้ ดิสเพลย์บนเช้ลฟ์ว่าเรามีหนังสือคนนี้อยู่ในบ้านได้ คือ photobook มันเป็นได้ทั้ง art piece ของช่างภาพศิลปะ แล้วมันก็โชว์ไลฟ์สไตล์ของคนซื้อด้วย เรารู้สึกว่ามันเข้าถึงได้มากกว่า”
ปิ่นแอบกระซิบว่า ขนาดเป็นรูปแบบของหนังสือที่ราคาถูกกว่ามาก หลายเล่มก็ยังแตะหลักพัน จึงยังมีลูกค้าที่ขอผ่อนได้ไหม ขอลดราคาได้ไหมอยู่เลย
“อีกอย่างคือ exhibition มันมาแล้วก็ไป แต่ book stay forever สมมติว่านิทรรศการจัดที่เมืองนอก คนส่วนใหญ่คงไปดูไม่ได้ แต่ถ้าทำหนังสือด้วย หนังสือจะ distribute ได้ทั่วโลก หนังสือก็เลยพิเศษตรงนี้”
3
ลงสนามร้านหนังสือ ในฐานะผู้เล่นตำแหน่ง ‘กองกลาง’
“บ้านเรายังไม่มี Photobook Library พอทำร้านมาถึงประมาณปีที่ 2 ปีที่ 3 เริ่มตกตะกอนว่า เออว่ะ สิ่งที่เราทำอยู่เหมือนกำลังทำระบบนิเวศให้มันครบวงจร ไม่งั้นทุกคนจะต้องไปรอคุ้ยร้านหนังสือมือสอง แล้วเสี่ยงโชคเหรอ เพื่อจะเจอหนังสือภาพถ่ายเล่มหนึ่ง
“วงการภาพถ่ายมันมีพื้นที่แบบนี้น้อยกว่าวงการอื่นๆ อย่างละครเวทีก็มีโรงละครโรงเล็กให้ได้ดูได้ชมเรื่อยๆ แต่แกลลอรี่ภาพถ่ายมันมีน้อยกว่า อีเวนต์ในการมาเจอกันมันเลยน้อยกว่ามาก มันอาจจะเคยมีคลับกลุ่ม street photo มีการจัด photo trip ไปเดินถ่ายรูปร่วมกัน หลังจากนั้นเริ่มมีพี่ๆ ที่ทำเว็บไซต์ให้ความรู้ มันมี virtual space กับ physical space เกิดขึ้นมา แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันก็ยังสัดส่วนน้อยกว่าศาสตร์อื่นๆ ทั้งหมดเลย”
ปี 2019 physical space ของวงการหนังสือภาพถ่ายแห่งแรกที่ปิ่นทำและใช้พื้นที่ร่วมกับ โย-กิตติพล สรัคคานนท์ คือที่ Books & Belongings ซึ่งนอกจากจะเอาหนังสือไปวาง ยังมีการจัดธีมและอีเวนต์ทอล์กเล็กๆ ตาม catagories ของหนังสือภาพถ่าย แต่ทำไปได้แค่ 3-4 เดือนก็ต้องเจอกับโควิดที่ทำให้ทุกฝ่ายเอียงกะเท่เร่ ต้องพับโปรเจกต์กันไปก่อน ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในสถานที่แห่งใหม่ บนตึกแถว 3 ชั้นใกล้กับวงเวียน 22 กรกฎา ที่เรานั่งคุยกันอยู่
“เราไม่อยากทำร้านหนังสือเพื่อขายช่างภาพอย่างเดียว เราต้องทำอะไรที่มันเกิด conversation ขายนักวาดภาพประกอบได้ ขายนักเขียนได้ ขายนักวิชาการได้ ขายแขนงอื่นๆ เพื่อให้เกิดกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และเกิด community ที่แข็งแรงขึ้นด้วย เหตุผลที่เราหันมาสู่ physical space ก็น่าจะเป็นอย่างนี้ครับ คือเราอยากคุยกับคนอื่นที่ไม่ใช่ช่างภาพแล้ว”
4
‘เซลส์แมน’ มือวางอันดับหนึ่ง
แล้วเอากลยุทธ์อะไร มาทำให้ร้านอยู่รอด – เราถามคำถามสำคัญที่ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าจะต้องถาม กับเจ้าของร้านหนังสือที่วันนี้เลือกอาชีพทำร้านหนังสือเป็นหลัก และเลี้ยงตัวได้แบบไม่ขาดทุนแล้ว แถมยังเพิ่มค่าเช่าที่ทำร้านมาอีก
“ไม่รู้ดิ ผมคิดเสมอว่าลูกค้าของเราอิ่มตัวตลอด แล้วเราต้องขยายกลุ่มเป้าหมายเราให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ขยายในฐานะทางมาร์เก็ตติ้งกับขยายในฐานะ appreciation มันมี 2 แง่นี้อยู่ เพราะมันกลับไปที่จุดเดิมว่าตอนที่เราเป็นเด็ก ที่เราซื้ออะไรพวกนี้ไม่ได้ มันไม่มีใครมาอธิบายให้เราฟังด้วย และมันไม่มีพื้นที่ ให้แค่ไปนั่งเปิดดูสบายใจๆ มันยังไม่มีเลย เรารู้สึกว่าเราทำตรงนี้ขึ้นมาก็ได้ มันเลยมีบางส่วนที่เหมือนห้องสมุด อ๋อเล่มนี้ไม่ขายครับ
“จริงๆ มันอาจจะทำให้ลูกค้ารำคาญ แต่เราอยากคุยกับคุณว่าทำไมคุณสนใจเล่มนี้ แล้วก็จะแลกเปลี่ยน conversation ไปต่อ และนำเสนอว่าถ้าเล่มนี้ไม่ขาย เล่มอื่นๆ ที่เขาทำตามมาที่เราหาได้ เราขายคุณได้นะ แต่เล่มนี้ขายไม่ได้จริงๆ เพราะกลับไปข้อเดิมว่าเราไม่มี photobook library เราไม่มี archive ที่เลือก selection นำเสนอชุดภาพถ่ายอะไรแบบนี้เลย
“อีกอย่างคือธุรกิจ selected book เราต้องเว้นระยะให้ลูกค้าไปฟูมฟักเงินตัวเองก่อนด้วย เพราะมันแพง เราจะมาเสนอเล่มใหม่ให้เขาทุกเดือนๆ เราเจ็บเขาก็เจ็บ เราต้องปล่อยให้เขาฟูมฟักไปก่อน นี่คือเหตุผลที่เราต้องมีลูกค้าหลายกลุ่ม สมมติมกราเอาหนังสือ street photo มาแล้ว กุมภาเราต้องเปลี่ยนเอาสิ่งที่เราชอบเข้ามา มีนาลูกค้ากลุ่มแรกมีเวลาฟูมฟักแล้ว ก็กลับมาซื้อเราได้ มันก็เป็น cycle
“ถ้าผมนำเสนอช่างภาพคนนี้ 10 เล่ม ก็จะมีแฟนคลับ 10 คนมาซื้อ แล้วคนที่ 11 คือใคร แล้วทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงไม่สามารถ communicate กับคนที่ทำงานสาขาอื่นๆ ได้ ก็เลยรู้สึกว่าถ้ามี physical space แล้วจัดกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง เราสามารถแนะนำสิ่งเหล่านี้ไปสู่คนอื่นๆ ได้ คือเราพยายามจะเป็น photo พลัสอะไรสักอย่างเสมอ เพื่อเอาคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามา แล้วก็ physical space ที่ผมไปป๊อบอัพผ่านๆ มามันก็คือไปสำรวจลูกค้าในหลายๆ แขนงเช่นกัน“
ระหว่างที่ทำแค่ร้านหนังสือออนไลน์อย่างเดียว ปิ่นก็ขยันพาร้านออกมาเจอผู้คนบนโลกออฟไลน์แบบไม่ขาด ทั้งขยันออกร้านตามงานแฟร์ ขยันเดินทางไปบรรยายเรื่องหนังสือภาพถ่าย ขยันไปเวิร์กชอปตามมหาวิทยาลัยในจังหวัดใหญ่ต่างๆ และทุกครั้ง ปิ่นจะไม่ได้ไปตัวเปล่า แต่พกพากระเป๋าเดินทางขนาดกลาง 1 ใบ ที่บรรจุความรู้อยู่ในนั้น
“วิธี ‘อ่านภาพถ่าย’ มันอาจจะมีสอนในมหาวิทยาลัย แต่มันก็คือแกรมม่า ถูกผิดแล้วจบ ไม่ได้มาลงดีเทลว่าคุณสามารถอ่านแล้วเห็นเป็นอื่นได้ไหม คุณสามารถแลกเปลี่ยนความคิดได้ไหม สำหรับเรา พื้นที่ของการอ่านภาพถ่ายมันคือการที่ฉันเห็นสิ่งนี้ ฉันเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของฉันแบบนี้ แล้วคุณล่ะเป็นยังไง
“งานเซลส์แมนของผมเลยมีสองมุม คือการให้ทำคนอ่านเข้าใจ appreciation หรือสุนทรียะของหนังสือนั้น กับการสร้าง knowledge เราต้องสอนให้เด็กหรือคนที่ทำงานด้านภาพถ่ายรู้ว่าควรสื่อสารไปสู่ผู้อ่านยังไงด้วย เหมือนเราเป็นตัวกลางที่เข้าใจทั้งผู้สร้างและผู้เสพ”
ช่วง: แนะนำหนังสือหน่อยค่ะ
ไหนๆ ก็อยู่ตรงหน้าเซลส์แมนแห่งวงการภาพถ่าย เลยอยากให้ปิ่นเลือกหนังสือสักเล่ม ที่เหมาะกับคนในวงการถ่ายภาพสักหน่อย
“เล่มนี้ละกัน ON PHOTOGRAPHS ของ David Campany มันแนะนำให้เห็นกว้างๆ ว่าภาพถ่ายแต่ละภาพสำคัญอย่างไร เหตุผลที่ช่างภาพถ่ายมัน ไม่ใช่แค่เพราะวินาทีนั้นเกิดเหตุการณ์ภาพถ่ายทางข่าวขึ้น แต่จะมีกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งพอเราอ่านแล้วรู้สึกว่า เออ ความรู้จากเล่มนี้มันทำให้เกิดการ set standard ขึ้นว่าไม่ได้มีแค่คำว่าถูกหรือผิด ดีจริงงามจริงหรือไม่ดีไม่งามอย่างไร ทุกอย่างมันคือการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน คุณจะซื้อคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ได้ แต่คุณมี argument ไหม”
แล้วมีหนังสือภาพถ่ายหมวดการเมืองเด็ดๆ บ้างไหม
“เรามีสอดแทรกอยู่เสมอครับ เราเป็นสเปซ เราก็ต้องนำเสนอชุดความคิด ชุดความรู้อะไรแบบนี้ไปด้วย นี่ไงครับ Hongkong is beautiful, isn’t it? กับอีกเล่มที่มาคู่กัน คือคนทำเป็นช่างภาพอิสระชาวฮ่องกง ที่ตั้งคำถามว่า เอ๊ะ ที่คนจีนชอบมาเที่ยวฮ่องกง เพราะมึงเห็นประเทศกูเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตัวเองหรือเปล่า แล้ววิถีของ tourist photography คือไปเพื่อถึงจุดหมายแล้วถ่ายรูปกลับมาเป็นที่ระลึก เลยตั้งข้อสงสัยว่า แล้วนักท่องเที่ยวจีน react อย่างไรกับสเปซนี้ที่อังกฤษคืนให้กับจีน คือมันเป็นการเสียดสีที่ได้ความรู้ทางด้าน political ไปด้วย มันคือภาษาภาพอย่างหนึ่งที่คุณจะเล่าอย่างนี้ก็ได้”
ก่อนกลับแบบได้หนังสือติดตัวกลับบ้าน เราถามทิ้งท้ายไปว่าแล้วสโลแกนที่แทบจะเป็นจุดเด่นที่สุดในร้าน มาจากไหน
“สโลแกนนี้จริงๆ ไม่ใช่เราคิดครับ มันเป็นมูฟเมนต์ที่เกิดขึ้นที่สำนักพิมพ์ที่เนเธอร์แลนด์และยุโรปเมื่อช่วงโควิดปีที่แล้ว ข้อความนี้เป็นการ anti สายส่งระดับหนึ่งว่าสมมติคุณอยู่ใกล้ๆ ร้านหนังสืออิสระที่ไหน คุณก็ไปซื้อที่นั่นสิ Read Books, Buy Books, Buy Local แล้วมันก็สอดคล้องกับเราตรงที่ว่า local book store เราน้อยมาก น้อยจนน้อยถึงที่สุดเลย ถ้าจำไม่ผิดเหมือนว่าโปสเตอร์นี้เขาแจกฟรีนะ แต่ค่าขนส่งมัน 900 บาท เราก็ยอมที่จะอิมพอร์ตสิ่งนี้มาเพื่อเอาอุดมการณ์นี้มาวางไว้ที่นี่ ว่าสนับสนุนกันสิ เราร้านใกล้ๆ บ้านคุณนะ”
ถึงตรงนี้แล้ว จะไม่แวะไปหยิบจับ สนับสนุน หรือสร้างบทสนทนากับปิ่นสักหน่อยเหรอ เริ่มจากไปกดไลก์หรือฟอลโล่ว์ได้ที่ @Vacilando Bookshop เป็นอันดับแรก สนใจเล่มไหนก็ DM ไปคุยกับเขาก็แล้วกัน
- Vacilando Bookshop ฉบับ physical space
- เปิด: วันพฤหัส-วันอาทิตย์ 13.00 – 19.00 น.
- พิกัด: ชั้นสองของ Arai Arai แถววงเวียน 22 กรกฎา
- Map: https://goo.gl/maps/m8KgARPAwdfk5RPv6
ภาพถ่าย: ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์
Read More:
ไลฟ์สตรีมดีที่ดูแก้เหงาได้ทั้งวัน
แนะนำไลฟ์สตรีมไว้ดูแก้เหงา ที่มีประโยชน์ และดูสดไปพร้อมๆ กันได้
สุ่มอ่าน (ความใน) ใจ จากลูกทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้!
สุ่มอ่านเสียงจากผู้เข้าร่วมทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ ที่เขียนแปะผนังไว้ให้ชาวไอแอลไอยู
เปิดรับสมัครเดินทัวร์ย่าน 'ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ Ver 2.0'
ทัวร์สุ่มเส้นทางเดินย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ให้แบบเซอร์ไพรส์ พร้อมสุ่มแก๊งเพื่อนใหม่ให้ตาม Personality Test!