เข้าใจก่อนว่าแฟชั่นแบบไหนที่แฟร์กับเพื่อนร่วมโลก
#AnimalFriendlyFashion
การเติบโตของ Cruelty-Free Lifestyle ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เสื้อผ้าแฟชั่นหลายแบรนด์หันมามีจุดยืนที่แฟร์และใจดีกับสัตว์กันมากขึ้น นี่นับเป็นเรื่องราวดีๆ แต่ ‘คำศัพท์’ ที่แปะอยู่บนเสื้อผ้าเหล่านั้นก็ยังชวนให้เรามีคำถาม สับสนว่ามันต่างกันยังไง แล้วเราจะโดนเกมการตลาดแกงเข้าให้รึเปล่า
Vegan VS Cruelty-Free
Vegan เมื่อสินค้านั้นไม่ได้ทำจากสัตว์ หรือไม่ได้ส่วนใดของสัตว์มาเป็นส่วนผสมในการผลิต ส่วนใหญ่มักใช้ในสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า เครื่องประดับ และรองเท้า
Cruelty-Free เมื่อวิธีการผลิตหรือได้มาซึ่งสิ่งนั้นดีต่อสวัสดิภาพสัตว์ นั่นรวมไปถึงไม่มีการทดลองในสัตว์ หรือไม่มีการเลี้ยงดูที่ทรมาน ส่วนใหญ่มักใช้ในสินค้ากลุ่มบิวตี้และเครื่องสำอาง
ความกำกวมของนิยามนี้เอง คือเหตุผลที่โลกต้องการ super-conscious consumer หรือผู้บริโภคที่มีความรู้แบบเหนือชั้นไปกว่าการดูป้าย ยกตัวอย่างเช่น สินค้าบางอย่างอาจจะไม่ได้โกหกหรอกนะ แต่…
- Vegan แต่ทดลองกับสัตว์ หรือ Cruelty-Free แต่มีส่วนผสมจากสัตว์
- เสื้อยืดที่เขียนว่า Vegan อาจจะทำจาก 100% organic cotton มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ไม่ใช่การมาทำสิ่งใหม่แต่อย่างใด
- แทนที่จะเรียกว่าหนังเทียม ก็เรียกใหม่ว่า Vegan Leather แต่ก็ทำจากโพลีเอสเตอร์ที่สุดท้ายก็ทำลายสิ่งแวดล้อมไง
- ขาดความโปร่งใส แปะป้ายเคลมไว้แต่บอกไม่หมดทั้งกระบวนการ โดยเฉพาะกับไอเท็มแฟชั่นเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้บริโภคไม่ใส่ใจ
ถ้าเริ่มเก็ทไอเดียแล้ว ลงลึกไปดูกันต่อว่า กว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายแต่ละชิ้นที่เราสวมใส่ เหล่าสัตว์ต้องผ่านอะไรมา แล้วเรามีทางเลือกอะไรบ้าง
#Cloth
คบคนให้ดูหน้า ซื้อ ‘เสื้อผ้า’ ให้ดูเนื้อ
หนัง ของยากของวงการแฟชั่น และมักถูกเถียงว่าหนังวัว หนังแกะ หนัง (หาง) หมู หนังแพะ คือของเหลือ (by-product) จากโรงงานฆ่าสัตว์ แต่ประโยคนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรสัตว์อยู่ดีใช่ไหมล่ะ ที่จริงยังมีสัตว์กลุ่ม exotic อีกเพียบที่ถูกเลี้ยงเพื่อการถลกมาทำของหรูๆ โดยเฉพาะ อย่างเช่น งู จระเข้ กระเบน แถมกระบวนการของโรงงานผลิตหนังก็แย่กับสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ย้อม เคลือบ ล้าง มีทั้งสารพิษและการใช้น้ำอย่างมหาศาล นี่ยังไม่นับปัญหาที่ส่งผลต่อแรงงานอีกนะ
- ทางเลือกที่คล้ายหนัง Cork Leather, Fruit Leather, Lab-Grown Leather, Mushroom Leather, Pineapple Leaf Fibre แต่ก็ต้องระวังคำว่า Vegan Leather ที่สุดท้ายก็ทำจาก PVC, PU หรือพลาสติกที่สร้างมลพิษกับสิ่งแวดล้อมอยู่ดี
วูล คือผ้าทอที่ใช้เส้นใยจากขนสัตว์ เรามักพบในแจ็กเก็ตโค้ตตัวแพง สูทหรูๆ ไปจนถึงผ้าพันคอ ถุงเท้า และหมวก เพราะมันให้ทั้งความอุ่น แต่ไม่เก็บทั้งความชื้นและฝุ่น ทว่าวิธีการได้มาของขนก็ยังทรมานสัตว์อยู่ดี กระต่ายแองโกร่าต้องโดนจับถอนขนทั้งเป็น แกะที่เลี้ยงเอาขนต้องโดนเลี้ยงแบบตัดหางเพื่อป้องกันเชื้อโรคและปรสิต เป็นต้น
- ทางเลือกที่ดีกว่า เราคนไทยไม่มีหน้าหนาว จริงๆ แล้วก็แทบไม่ต้องใช้เลย ถ้าต้องไปเมืองหนาว ลองหา Second-Hand Wool แต่ถ้าอยากจะใช้ของใหม่เอี่ยมอ่องต้องดูดีๆ ว่าเป็น Sustainable Wool จริงไหม
- ตรารับรองที่ควรมองหา KbT (Controlled Biological Animal Husbandry), GOTS (Global Organic Textile Standards), RWS (Responsible Wool Standard), NATURTEXTIL iVN CERTIFIED BEST
ไหม เส้นใยเงางามตัวแทนของความหรูหรา แต่พวกหนอนไหมคงไม่รู้สึกหรูหราด้วยแน่ๆ เพราะแทนที่มันจะได้ใช้ชีวิตหรูบนต้นหม่อน กินใบหม่อนให้สาใจ แล้วม้วนฟักตัวเองอยู่ในรังไหม ก่อนจะกลายร่างเป็นผีเสื้อ กลับต้องมาโดนมนุษย์ตัดตอนชีวิต จับเอารังพร้อมตัวเป็นๆ ไปต้มในน้ำเดือดเพื่อสาวเป็นเส้นไหมเงางาม ตายแล้วยังต้องไปผ่านสารพิษสารพัด
- ทางเลือกที่คล้ายไหม เมืองนอกยังพอมี Wild Silk ที่ไปจับรังไหมที่หนอนออกไปแล้วมาทำเส้นใย แต่มันหายากและน่าจะแพงเกินไป ถ้าต้องการผิวสัมผัสคล้ายๆ ไหม ลองดูเส้นใย lyocell / TENCEL ที่ผลิตจากเยื่อไม้ หรือ Citrus Fiber Silk น่าจะพอแทนกันไหว
เฟอร์ ขนนุ่มนิ่มประหนึ่งเอาขนสัตว์มาปกคลุมตัว มักอยู่บนโค้ต ปกคอเสื้อโค้ตแบบที่มีขน ผ้าพันคอขนนุ่มฟู ซึ่งการได้มันมาคือการต้องทำร้ายสัตว์ สัตว์ขนฟูเช่น มิงก์ ถูกเลี้ยงแบบทรมานในกรงเล็ก เจอกับความเครียด บ้างก็ถูกล่าหรือช็อตไฟฟ้า เพียงเพื่อมาเป็นของประดับบนเสื้อผ้า บางคนอาจจะคิดว่าขนบนปกเสื้อกันหนาวในตู้เสื้อผ้าของเรานั่นเป็นขนปลอม แต่ลองเช็กดีๆ คุณอาจเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมอันโหดร้ายนี้ก็ได้
- ทางเลือกที่คล้ายเฟอร์ Fake Fur จากใยกัญชง เช็กแบรนด์ Ethical Fur ได้ที่ Fur-Free Alliance หรือดีกว่านั้นก็คือเลิกใช้ เพราะมันไม่จำเป็น
ดาวน์ เสื้อพัฟเฟอร์สไตล์ outdoor ยัดไส้นุ่มอุ่น บางแบรนด์ม้วนพับเป็นเล็กๆ ได้ด้วย ราคาก็จับต้องได้ ทำให้พวกเราล้วนตกเป็นเหยื่อในการบริโภคได้ง่าย ที่แท้มันคือการยัดไส้เสื้อผ้าด้วยขนเป็ด ขนห่าน ที่มีคุณสมบัติเบา เหมือนเดิมคือถูกอ้างว่าเป็นของเหลือจากโรงงาน แต่ก็คือการจับถอนขนทั้งเป็นอยู่ดี
- ทางเลือกที่ดีกว่า Responsible Down Standard ก็พอมีให้มองหาอยู่บ้างในแบรนด์ Patagonia, H&M, North Face, Fjallraven
- ตรารับรองที่ควรมองหา Responsible Down Standard (RDS), The Global Traceable Down Standard (TDS), MicroMax, TCS Down Free, Primaloft, Thinsulate
#Bag #Shoes
รักสัตว์ ให้เท่าๆ กับที่รักกระเป๋า รักรองเท้า
ดูตัวว่าไม่ทำร้ายสัตว์แล้ว อย่าลืมหัวนอนและปลายเท้าของเราด้วย เพราะส่วนใหญ่มันผลิตจากหนัง (ที่ทนทาน) เช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่เราเล่าไปข้างบน แต่ด้วยความที่มันเป็นกระเป๋าและรองเท้า ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องมีไว้สับเปลี่ยนเยอะขนาดนั้น เราเลยควรมีกฎเหล็กประจำใจในการเลือกซื้อว่า
- เลือกใช้สิ่งที่คุณภาพดี กระเป๋าที่ทนมือ รองเท้าที่ทนเท้า และแน่นอนว่ารูป สีสัน ที่เราจะทนใจใช้ไปนานๆ ได้ 10 ปี เลิกซื้อสองสิ่งนี้แบบง่ายๆ แต่ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน
- ถ้าต้องการหนัง ซื้อมือสอง แต่ก็มีข้อควรระวังเล็กน้อย สำหรับกระเป๋ามือสอง ต้องเช็กซิป ตะเข็บ หูหิ้ว และสายสะพายให้ถ้วนถี่ ส่วนรองเท้ามือสอง ควรซื้อจากร้านที่เราลองไซส์ได้ หรือร้านออนไลน์ที่เปลี่ยนคืนได้ถ้าไม่พอดี
- ซ่อมได้ เรียนรู้ที่จะซ่อมกระเป๋าและรองเท้า ปัญหาคลาสสิกคือบางทีรองเท้าเล็กไปนิด ลองยัดถุงเท้าใหญ่ๆ เข้าไปในรองเท้าแล้วเปิดไดร์เป่าลมร้อนทิ้งไว้ข้ามคืน หรือถ้ากระเป๋าพัง ให้มองหาช่างซ่อมรองเท้า เพราะส่วนใหญ่ใช้สกิลและอุปกรณ์ใกล้เคียงกัน
- ซื้อวัสดุทางเลือก กระเป๋าจากวัสดุรีไซเคิล เช่น ยางรถยนต์ ผ้าใบเก่า ฯลฯ ก็มีให้เลือกในท้องตลาด รองเท้าวีแกนจากพืช ยาง sustainable cotton หรือแม้กระทั่งรองเท้าผ้าใบจากขวดพลาสติกล้ำๆ เขาก็ทำออกมากันได้แล้ว
- ระวังวีแกนไม่จริง เช็กด้วยว่ากระเป๋าหรือรองเท้านั้นๆ ใช้กาวที่ทำจากกระดูกสัตว์หรือเปล่า หรือการใช้หนังวีแกนที่ทำจากพลาสติก PVC / PU ซึ่งกระบวนการผลิตสร้างมลพิษและยังย่อยสลายยากอีก ก็ไม่ใช่คำตอบ
การรักสัตว์โลกให้เท่ากับรักกระเป๋าและรองเท้า เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวกันหน่อยแหละ แต่อย่าลืมว่าของเหล่านี้เป็นสิ่งชั่วคราว โดยเฉพาะพวกรองเท้ากีฬาที่หลายคนมักจะซื้อมาแล้วก็ใส่มันแป๊ปเดียวจนต้องขายมือสองต่อ ส่วนพวกกระเป๋าปลอมที่ก็อปแบรนด์ดัง ยิ่งไม่ควรอุดหนุนเพราะอุตสาหกรรมการผลิตของมันนั้นก็สกปรก (ต่อสัตว์ สังคม และสิ่งแวดล้อม) ไม่ต่างกับวิธีคิดเลย
#Jewelry
คนจะงาม งามน้ำใจ ใช่เครื่องประดับ…
ขึ้นชื่อแล้วว่าคือของประดับ เราจึงควรเลือกมันได้ง่ายกว่ากลุ่มของใช้จำเป็นอย่างเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับชิ้นไหนที่ได้มาจากการทำร้ายสัตว์ ใจร้ายกับสัตว์ หรือขโมยจากสัตว์มาก็เลิกใช้ซะ แล้วไปประดับอะไรที่ดีกว่าเลยไหม
เครื่อง (ที่ไม่ควร) ประดับ จำนวนมากทำจากอวัยวะสัตว์ป่า ซึ่งนั่นหมายถึงการไปตัด ไปล่า หรือไปจับตายมาเลย ที่พบบ่อยๆ คืองาช้าง เปลือกหอย กระ (กระดองเต่า) และปะการัง บางคนอาจคิดว่างั้นฉันไปซื้อเพชร เงิน ทอง คงไม่ผิดอะไร คิดผิดแล้วเพราะถึงมันจะไม่ได้มาจากการทำร้ายสัตว์ แต่อาจข้องเกี่ยวกับแรงงานไม่เป็นธรรม อุตสาหกรรมสร้างมลพิษ หรือไม่ก็ธุรกิจสีเทาข้ามชาติอยู่ดี
เครื่อง (ควร) ประดับ แน่นอนว่ามือสองคือทางเลือกแรกที่เราบอกเสมอ กลุ่มเครื่องประดับมือสอง เราอาจได้แรร์ไอเท็มแบรนด์เนมรุ่นวินเทจมาครอบครองก็เป็นได้ แถมถ้ารักษาดีๆ น่าจะขายต่อได้ราคาอีกต่างหาก หรือจะลองมองหาเครื่องประดับจากวัสดุรีไซเคิล เดี๋ยวนี้เริ่มมีแบรนด์ยั่งยืนให้เลือกมากขึ้นแล้ว อย่างที่ไอแอลไอยูเองก็เคยแนะนำไว้ในเพจนะ
#WearItKind
เปิดตู้เสื้อผ้า ถึงเวลาที่สายแฟ ขอแฟร์กับสัตว์
เข้าใจทุกอย่างแล้ว สิ่งสำคัญของ #AnimalFriendlyFashion ก็คือการลงมือทำ เริ่มต้นจากการเปิดตู้เสื้อผ้าตัวเองออกมาพิจารณา ตัวไหนซื้อมาแล้ว เผลอใจร้ายกับสัตว์ไปแล้ว ก็ใช้มันให้คุ้มที่สุด ถ้าไม่ใส่แล้ว ก็หาวิธีส่งต่อให้มันได้ #Reuse มีวงจรชีวิตคุ้มค่ากับการที่น้องๆ ต้องทรมาน
อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ไม่แพ้กัน คือการส่งเสียงดังๆ บอกแบรนด์ว่าพวกเราผู้บริโภค อดรนทนไม่ไหวกับการกระทำของพวกคุณแล้วนะ เมื่อไหร่ที่รู้ว่าแบรนด์แฟชั่น เขาทำอะไรละเมิดสวัสดิภาพสัตว์ ก็จัดการด้วยพลังของ # ในช่องทางโซเชียลมีเดียได้เลย (แบบที่ #SaveRalph ทำได้เมื่อต้นปี)
ส่วนการซื้อเสื้อผ้าครั้งหน้า โปรดเห็นหน้าสัตว์ลอยมา ก่อนตัดสินใจ
อ้างอิง
Read More:
ฮาวทูไม่ทิ้ง แต่เก็บยีนส์เก่ามาซ่อมด้วยการเย็บ
เก็บยีนส์เก่าที่ขาดมาซ่อมแบบ visible mending
First (NO) Bra REMAKE
หยิบเสื้อเก่ามาโมใหม่ ให้โนบราได้แบบไม่โป๊
ฝาก ‘รอยเท้า’ เอาไว้!
รองเท้าคู่โปรด ฝากรอยเท้า (คาร์บอน) ไว้ให้โลกแค่ไหน