นมและเนยที่กินแล้วรู้สึกดี จึงมีมิติมากกว่ารสชาติหรือความหอมมัน แต่เป็นการได้รู้ว่าโปรดักต์ตรงหน้ามีความตั้งใจที่น่ารักอย่างการเลี้ยงดูน้องวัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่เบื้องหลัง รวมไปถึงความพยายามของฟาร์มบ้านภู ที่อยากจะช่วยให้คนกินเข้าใจถึงความสำคัญของสวัสดิภาพสัตว์ เพราะมันเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของคนต้นทางและคนปลายทางในแบบที่เราอาจคาดไม่ถึง
1
เลี้ยงเขาให้อยู่ดีแล้ว คนเลี้ยงก็ต้องอยู่ดีด้วย
“เราโตมากับฟาร์มนมของปู่และพ่อ สมัยก่อนเกษตรกรโคนมนิยมเลี้ยงแบบปล่อยให้เดินไปกินหญ้าตามพื้นที่ว่างๆ ละแวกบ้าน แต่ภายหลังรัฐมีนโยบายส่งเสริมให้เลี้ยงโคนมแบบยืนโรง ใช้พื้นที่น้อยๆ และใช้วิธีหาอาหารให้วัวกิน เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ปรับไปเลี้ยงระบบนั้นมากขึ้น แต่ว่าพ่อเราก็เลือกที่จะเลี้ยงปล่อยเหมือนเดิม มันดีในแง่ที่ไม่ต้องลงทุนทำโรงเรือน อย่างมากก็แค่ล้อมรั้ว ถางหญ้า ลงปุ๋ย ไม่ต้องไปซื้อฟางหรือหาอาหารให้วัวกินทุกมื้อเหมือนฟาร์มอื่นๆ”
ปูเล่าว่าเกษตรกรโคนมในยุคนั้นต้องพึ่งพากลไกรัฐตลอดเวลา ภาพปู่และพ่อเอานมไปเทเพื่อประท้วงขอขึ้นราคานมเป็นภาพที่เธอเห็นทุกๆ 5 ปี 10 ปี พอราคานมขึ้นทีหนึ่ง ปัจจัยการผลิตอย่างอาหารบางส่วนที่ฟาร์มเราต้องซื้อจากนายทุนก็ขึ้นราคาตาม วนลูปอยู่อย่างนั้น
“เรามองว่าวิธีการเลี้ยงแบบที่พ่อทำ ใช้ทรัพยากรไม่ค่อยคุ้มค่า ขณะเดียวกัน ฟาร์มอื่นๆ ก็ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เยอะมาก ขนาดฟาร์มพ่อเราปลูกหญ้าให้กิน แต่ค่าอาหารที่ซื้อเข้ามาเพิ่มก็กินต้นทุนเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ เราตั้งใจว่า ถ้าเราทำฟาร์มเอง เราอยากใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่เรามีให้เต็มที่ ได้งานในปริมาณมากขึ้นและคุณภาพดีขึ้น กำไรที่ได้มาต้องทำให้เราเลี้ยงตัวเองได้ ทุกอย่างต้องดีกว่าเดิม เราพบว่าเรื่องหลักๆ ที่เราต้องทำคือ หนึ่ง เราต้องพึ่งตัวเองให้ได้ และสอง ลดต้นทุนในการผลิตให้ได้มากที่สุด เพราะสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับกำไรโดยตรง
“ต้นทุนก้อนใหญ่อย่างค่าอาหารถูกตัดออกไป เราปลูกพืชอาหารสัตว์ลงบนพื้นที่ฟาร์ม ส่วนวัวทุกตัวก็ยังได้ใช้ชีวิตอิสระแบบเดิม เพราะวัวหากินเองได้ แล้วคนทำงานก็ไม่ต้องเหนื่อยกับการใช้เวลาหาอาหารให้วัว และการปล่อยให้วัวเดินออกกำลังมันช่วยลดโอกาสเจ็บป่วย ไม่ต้องจ่ายเงินไปกับการรักษา สำหรับเรามันคือวิธีการทำฟาร์มที่ยั่งยืน ทั้งยั่งยืนต่อเรา ยั่งยืนต่อสัตว์เรา และยั่งยืนกับสภาพแวดล้อม”
2
สวัสดิภาพสัตว์ คือการให้คุณภาพชีวิตที่ดีในยามที่ยังมีชีวิต
“จริงๆ แล้ว ถ้าอิงตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าการทำปศุสัตว์อินทรีย์ หรือเลี้ยงในเชิงอุตสาหกรรม มีหลักการสวัสดิภาพของสัตว์แต่ละชนิดกำหนดไว้อยู่แล้ว บริษัทที่ส่งออกผลผลิตต้องยึดหลักนี้ เพราะในต่างประเทศซีเรียสเรื่องนี้มาก”
สหภาพยุโรปได้บัญญัติสวัสดิภาพของสัตว์เป็นตัวบทกฎหมายไว้ว่า สัตว์ต้องได้กินอาหารที่ดี ได้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม ยามเจ็บป่วยก็ต้องได้รับการรักษา สภาพแวดล้อมรอบตัวต้องไม่ทำให้มันจมอยู่กับความเครียดและความกลัว และข้อสุดท้ายคือ มีสิทธิ์แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของตัวเอง
สวัสดิภาพสัตว์ ไม่ใช่การเลี้ยงสัตว์แบบปล่อย หรือการทำฟาร์มแบบอินทรีย์ ความหมายของมันคือการให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับสัตว์
“อย่างในฟาร์มอุตสาหกรรมจะกำหนดอยู่แล้วว่า มันควรมีพื้นที่อย่างน้อยเท่านี้ ห้ามอยู่แบบเบียดกัน อาหารการกินต้องสมบูรณ์ อย่างในโรงเชือดต่างๆ ก็มีข้อกำหนดของสวัสดิภาพสัตว์ครอบไว้ คือก่อนเชือดต้องทำให้มันสงบ ต้องไม่ปล่อยให้มันตายอย่างทรมาน ซึ่งช่วงหลังๆ นี้ กรมปศุสัตว์บ้านเราก็ค่อนข้างเข้มงวดกับโรงเชือดนะ เพราะการทำให้สัตว์รู้สึกทรมานก่อนตายส่งผลต่อคุณภาพของเนื้อโดยตรง”
2
เรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ของวัวเหมือนกับคนน่ะแหละ
ผลิตภัณฑ์นมเนยจากฟาร์มบ้านภู เป็นที่ยอมรับว่ามีคุณภาพดี อร่อย และมีเอกลักษณ์ความหอมมันของตัวเอง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการพัฒนาสายพันธุ์วัวที่ปูทุ่มเทเวลาเกือบ 10 ปี และปัจจัยสำคัญ อย่างการดูแลเอาใจใส่วัวทุกตัวให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี
“เรามองสวัสดิภาพของวัวเหมือนกับคนเลย มันคือการให้ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต อาจต่างกันตรงที่วัวไม่ต้องการเครื่องนุ่งห่ม อย่างเรื่องแรก อาหารที่ให้ควรเป็นอาหารที่วัวกินตามธรรมชาติ นี่คือเหตุผลสำคัญที่เราให้วัวกินหญ้าสดตลอด ปัจจุบันนี้ หญ้าไม่ใช่สิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ แล้ว เพราะเป้าหมายของฟาร์มเน้นที่ปริมาณผลผลิต สิ่งที่วัวได้กินจึงกลายเป็นหัวอาหาร ที่มีส่วนผสมของปลาป่น กากถั่วเหลือง กากปาล์ม เป็นต้น ที่เป็น by product จากอุตสาหกรรมอาหาร คำถามคือ สิ่งเหล่านี้เป็นอาหารในธรรมชาติของวัวหรือเปล่า”
ไม่ คือคำตอบที่หลุดออกจากปากเราทันที
“ถูกต้อง แต่ที่เขาให้กินเพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโปรตีนและไขมัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในน้ำนมดิบ อย่างกากปาล์ม เป็นอาหารไขมันสูง วัวต้องกินเข้าไปเพื่อผลิตน้ำนมที่มีค่าไขมันสูง ถ้าคิดแบบยั่งยืนจริงๆ สวัสดิภาพที่วัวควรจะได้ คือเขาต้องมีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งอาหารที่วัวกินย่อมส่งผลต่อสุขภาพเขาโดยตรง”
เมื่อวัวได้รับโภชนาการที่ไม่เหมาะสม หรือกินอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นกับมันก็คล้ายกับคนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคขาดสารอาหาร โรคไตที่เกิดขึ้นจากการกินกากถั่วเหลืองที่มีโซเดียมในปริมาณสูง รวมทั้งความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบสืบพันธุ์ ซึ่งแน่นอนว่ามีผลทำให้วัวไม่สามารถตั้งท้องและผลิตน้ำนมได้ เมื่อหมดประโยชน์แล้ว บางฟาร์มก็เลือกส่งต่อมันไปให้กับโรงเชือด
3
หมดห่วงเรื่องกินแล้ว ที่อยู่อาศัยก็ต้องทำให้วัวและคนเลี้ยงอุ่นใจด้วย
“การเลี้ยงวัวแบบปล่อย ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบเดิมของปู่และพ่อเป็นแบบนี้ ก่อนหน้านี้เราเคยฝึกงานในฟาร์มโคนมใหญ่ๆ ในราชบุรีมาก่อน ที่นั่นเขาไม่ได้เลี้ยงแบบปล่อยเหมือนบ้านเรา สิ่งที่เราเห็นคือ วัวยืนโรงป่วยบ่อยเพราะวัวไม่ได้เดิน พอร่างกายไม่แข็งแรง นานวันเข้าก็เริ่มมีปัญหาอื่นๆ ตามมาให้จัดการอีก”
การเลี้ยงแบบยืนโรง แม้จะมีข้อดีในเรื่องการจัดการที่ง่าย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยสุขภาพของวัวที่ค่อยๆ เสื่อมถอย เพราะวัวไม่มีสิทธิ์เดินเหินอย่างอิสระ ฟาร์มบ้านภูจึงให้สิทธิ์เหล่านั้นกับวัวของตัวเองอย่างเต็มที่
วัวเป็นสัตว์ที่นอนบนทุ่งหญ้า ควรอยู่ในที่ๆ โปร่ง โล่ง สบาย การนอนบนพื้นที่ชื้นแฉะบ่อยๆ จะทำให้วัวเสี่ยงเป็นโรคเต้านมอักเสบ เพราะหัวนมถูกับพื้น แม้ร่างกายจะมีกลไกในการปิดหัวนมอยู่ แต่ว่ายังมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าไปปนเปื้อนได้ หรือการที่ตัววัวมีกลิ่นเหม็นสาบ สิ่งนี้ก็ส่งผลต่อคุณภาพของนมเหมือนกัน
“พอวัวเราไม่ได้ยืนโรง นอกจากจะไม่มีปัญหาสุขภาพจุกจิกให้จัดการแล้ว เราเองก็ไม่ต้องจัดการกับขี้วัว เวลาวัวเดินไปข้างนอก ขี้ของวัวก็เหมือนเป็นการให้ปุ๋ยกับแปลงหญ้าไปโดยปริยาย ไม่เกิดการหมักหมมของกลิ่น ไม่รบกวนชาวบ้านที่อยู่ข้างเคียง”
4
คนต้องการสิทธิในการรักษาฉันใด วัวเองก็ต้องการฉันนั้น
หนึ่งในเรื่องชวนปวดหัวของวงการออร์แกนิก คือการที่ผู้บริโภคบางกลุ่ม พยายามโฟกัสเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ เพราะไม่อยากเสี่ยงรับสารตกค้างที่อาจมากับผลผลิตจากสัตว์ตัวนั้น ทว่าสิ่งที่ปูพยายามสื่อสารมาตลอดคือ การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ใช่เรื่องผิด เพราะชีวิตสัตว์ที่ป่วยก็สำคัญไม่แพ้กัน
“จริงๆ ในข้อกำหนดเขาบอกให้ใช้ได้ แต่มีข้อแม้ในการใช้ คือหนึ่ง เราต้องรักษาสัตว์ที่ป่วยด้วยวิธีธรรมชาติก่อน ถ้าไม่เวิร์กก็ค่อยใช้การรักษาแผนปัจจุบัน ซึ่งถ้ามีการใช้ยา ยาแต่ละตัวจะมีระยะหยุดยาเพื่อป้องกันสารตกค้าง ในข้อกำหนดของนมออร์แกนิก เราต้องทิ้งระยะเวลาหลังใช้ยา 2 เท่าของระยะที่ยาชนิดนั้นกำหนด เช่น ถ้าเว้น 7 วัน ฟาร์มออร์แกนิกต้องเว้นอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งลูกวัวก็ต้องห้ามกินนมของแม่วัว และนมที่รีดได้ในระหว่างนั้นต้องทิ้งทั้งหมด หลังจากนั้นเราถึงจะใช้นมของวัวตัวนั้นได้ หรือถ้ามีการใช้ยาเกิน 2 ครั้งใน 1 ปี เจ้าของฟาร์มจะต้องเอาสัตว์ออกจากระบบ ให้มันไปอยู่ข้างนอกเพื่อคลีนร่างกาย 1-2 ปี แล้วค่อยกลับมาใหม่
“วัวพูดไม่ได้ กว่าจะรู้ว่าวัวป่วยคือมักจะใกล้ตายแล้ว ซึ่งสิ่งที่เราควรทำคือรีบรักษา อย่าปล่อยให้ตาย การที่คนบางกลุ่มบอกว่า ไม่ได้ ห้ามรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เรารู้สึกว่าเขาเห็นแก่ตัวเกินไปหน่อย เพราะโรคบางโรคจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาชีวิตของวัวไว้ เราแคร์คุณภาพชีวิตของวัว เราถึงกล้าที่จะบอกว่าเราใช้ยา แต่ในความเป็นจริง เราแทบจะไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลย เพราะวัวเราไม่ค่อยป่วย”
5
ผลผลิตจากฟาร์มนมเล็กๆ ที่เลี้ยงวัวด้วยความตั้งใจเต็มเปี่ยม
ปีนี้เป็นปีที่ 13 ของฟาร์มบ้านภู ปูบอกเราว่าธุรกิจของเธอเพิ่งจะนิ่งจริงๆ ก็เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานี่เอง
“10 ปีก่อนหน้านั้นเป็นช่วงเวลาของการเตรียมฟาร์ม พอเราตั้งใจอยากทำนมคุณภาพ เน้นทำเนย ทำชีส เลยต้องใช้สายพันธุ์วัวที่ให้น้ำนมที่มีโปรตีนและไขมันสูง ซึ่งเราเริ่มตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์เอง คือเอาน้ำเชื้อนำเข้ามาผสม และรอให้วัวโต เจเนอร์เรชั่นที่ 3 ถึงจะได้แม่วัวที่ให้น้ำนมดิบคุณภาพดี
“ถ้าเปรียบเทียบนมเนยจากแต่ละแหล่ง คำตอบอาจจะไม่ใช่การบอกว่าที่ไหน ‘ดีกว่า’ สำหรับเรานมเนยจากแต่ละที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เพราะหนึ่ง แต่ละฟาร์มใช้สายพันธุ์วัวที่แตกต่างกัน สอง นมแต่ละที่คุณภาพไม่เหมือนกันแน่ๆ แม้ว่าจะเป็นวัวสายพันธุ์เดียวกัน เพราะสภาพภูมิศาสตร์และแร่ธาตุในดินแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น สารอาหารที่อยู่ในหญ้าที่วัวกินจึงต่างกันไปด้วย”
6
ถ้าอยากได้โปรดักต์คุณภาพดี สวัสดิภาพของสัตว์เป็นเรื่องที่ควรแคร์
“อย่างที่บอกว่าบริษัทใหญ่ๆ เขามีมาตรฐานสวัสดิภาพของสัตว์อยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่สื่อสารมันออกมา เพราะว่าผู้บริโภคในประเทศไม่ได้สนใจ แต่เรามองว่า
ถ้าผู้บริโภคสนใจเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ มันจะทำให้คนต้นทางตัวเล็กๆ สามารถทำงานคุณภาพจริงๆ ได้ยั่งยืนมากกว่า
“เราพูดแบบนั้นได้ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา ถ้าเราไม่พยายามสื่อสารกับลูกค้าในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์หรือการทำฟาร์มแบบยั่งยืน ฟาร์มบ้านภูอาจจะมาไม่ถึงตรงนี้ก็ได้ พอสารมันไปถึงคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มันทำให้เราขายของได้ มีเงิน มีกำลังใจกลับมาทำงานและดูแลวัวของเราต่อ ขณะเดียวกัน เราก็ต้องทำให้ลูกค้าเขาเห็นว่า การที่เขาสนับสนุนฟาร์มของเรา เขาก็ได้ของคุณภาพดีเป็นการตอบแทน มันวิน-วินกันทั้งสองฝ่ายนะ”
การที่สัตว์ในฟาร์มต่างๆ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้จริงๆ ย่อมต้องอาศัยความใส่ใจของคนที่เป็นเจ้าของสัตว์เหล่านั้น ทว่าในโลกของความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นและอยู่แบบยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อ เจ้าของฟาร์มคนนั้นมั่นใจได้ว่า ในปลายทางข้างหน้ายังมีผู้บริโภคที่เห็นคุณค่า รอซัพพอร์ตความตั้งใจที่น่ารักของพวกเขาอยู่
Read More:
ทดลองเข้าครัวทำอาหารเช้ากินเอง!
บันทึกการทำอาหารเช้า 7 วันแบบคนไม่ถนัดทำอาหาร แต่ก็อยากกินดีและอยากลองทำอาหาร
ว่างนัก เลยทดลองหมักอาหารกินเอง
ผลการทดลองทำกินจิหมักๆ และเหล้าบ๊วยดองๆ ของคน WFH
Stay (and Cook) at Home เมนูกักตัวอยู่บ้านยอดฮิตของคนทั่วโลก
รวมเมนูฮิตจากวาระเก็บตัวของคนทั่วโลก