นิยาม Androgynous Fashion
การแต่งตัวที่ ‘ไม่บ่งบอก ไม่แปะป้าย’ ว่าหญิงหรือชาย
ขอเริ่มจากเข้าใจนิยามของคำว่า Androgyny ซึ่งในพจนานุกรมระบุไว้สองความหมาย ถ้าแปลในทางชีววิทยาจะหมายถึงคนที่ร่างกายมีส่วนผสมทั้ง Masculine (ความเป็นชาย) และ Feminine (ความเป็นหญิง) ในคนคนเดียว แต่ถ้าแปลกันตามนิยามในโลกแฟชั่น/ไลฟ์สไตล์ มันจะหมายถึงคนที่มีสไตล์การแต่งตัวหรือการแสดงออกแบบยากที่จะแยกแยะได้ว่าเป็น Masculine หรือ Feminine นั่นเอง ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศแต่อย่างใด
ไม่แปลกใจที่หลายปีที่ผ่านมานี้เราจะได้เห็นการแต่งตัวแบบ Androgynous ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในแอพติ๊กต่อก แต่มาจนถึงคนข้างๆ บ้านเราได้ แน่นอนว่ากระแสนี้จุดติดมาจากเหล่าคนดัง นักร้องอย่าง Harry Styles ที่แสดงออกเรื่อง Gender-Mixed ผ่านโททัลลุคสุดปัง นักแสดงอย่าง Jayden Smith (ลูกชายวิล สมิธ) ที่แต่งตัวสไตล์นี้เช่นกัน Ezra Miller กับชุดเดินพรมแดงที่ทั้งจัดเต็มและตราตรึง แรปเปอร์อย่าง A$AP Rocky ที่ทลายเส้นแบ่งในการเลือกใส่สร้อยคอหรือเครื่องประดับ รวมไปถึงนางแบบ LGBTQ+ อย่าง Cara Delevingne จนลุกลามมาถึงคนดังในบ้านเรา ที่โดดเด่นหน่อยก็คือ ต้นหน ตันติเวชกุล และเจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ
เหตุผลที่มันบูมในหมู่หนุ่มๆ มากกว่า เพราะ Hidden Agenda ของการเลือกแต่งตัวแบบนี้ คือการต่อต้านอุดมคติแบบลูกผู้ชายในช่วงหลายปีก่อนที่กลายเป็น toxic masculinity เกิดคำถามว่าจริงไหมที่ผู้ชายทุกคนต้องดูแม้นแมน? หรือต้องปฏิบัติตามบทบาททางเพศแบบดั้งเดิม?
มีการสำรวจรายงานว่า 56% ของผู้บริโภคที่เป็น Gen Z เลือกซื้อเสื้อผ้าแบบไม่สนเพศมากขึ้น โดยกว่า 80% ของผู้ชายที่ทำแบบสำรวจนี้เชื่อว่าเสื้อผ้าผู้ชายเปิดรับการออกแบบสไตล์ผู้หญิงมากขึ้น แถมชาว Gen Z จำนวนนับไม่ถ้วนยังหลงรักผู้ชายที่มี Fem Look โดยเฉพาะสาวๆ ที่ยอมรับว่าสไตล์ Androgynous มันเป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจที่ช่างเท่เหลือเกิน
Androgyny ไม่ใช่คำใหม่ แต่ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ
เราอาจจะคิดว่า Androgyny คือคำใหม่แห่งทศวรรษ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นคำนามที่ถูกใช้ครั้งแรกราวปี ค.ศ. 1850 ส่วนคำคุณศัพท์คำว่า Androgynous ถูกใช้ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งรับมาจากภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษโบราณอย่าง Androgyne ซึ่งรับมาจากภาษากรีกโบราณอีกทอดหนึ่ง andr- หมายถึง มนุษย์ และ gyne หมายถึง ผู้หญิง
แนวคิดเรื่อง ‘แอนโดรจีนี’ ก็ต้องย้อนกลับไปในยุคแรกสุดในสมัยกรีกโบราณเช่นกัน ตำนานเล่าเรื่องของเทพเฮอร์มาโฟรดิทัส (Hermaphroditus) และเทพซัลมาซิส (Salmacis) ซึ่งเป็นเทพชาย-หญิงสององค์ที่หลอมรวมเป็นสิ่งมีชีวิตอมตะตัวเดียว และเป็นกรอบอ้างอิงที่ใช้ในวัฒนธรรมตะวันตกมานานหลายศตวรรษ สุดท้ายคำนี้กลายเป็นที่มาคำศัพท์ในทางชีววิทยา ‘Hermaphrodite’ ที่หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่มีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งสองเพศในตัวเดียว
นอกจากวงการชีววิทยา แนวคิดของ ‘แอนโดรจีนี’ ยังเป็นหัวข้อที่แข็งแกร่ง แต่ละเอียดอ่อน ที่อยู่ในการถกเถียงของหลากหลายวงการ ทั้งตำราสาขาดาราศาสตร์ อยู่ในตำนานเชิงเทววิทยาของคริสเตียน อยู่ในวงการปรัชญา และอยู่ในวงการศิลปะ ถ้าลองไปย้อนดูภาพวาดหลายชิ้นจากยุคเรอเนสซองส์ จะสังเกตได้ว่าหลายภาพจะมีตัวละครที่มักไม่ใช่ชายหรือหญิง หรือเป็นทั้งชายและหญิงด้วยนะ แต่เมื่อโลกวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ คำนี้จึงถูกนำมาใช้ในวงการที่แพร่หลายมากขึ้นและถูกสร้างนิยามใหม่อีกครั้ง โดยดีไซเนอร์หญิงผู้เป็นตำนานแห่งวงการแฟชั่น!
Androgyny ครั้งแรกในโลกของแฟชั่น
อิสรภาพของผู้หญิง ผ่านการสวมใส่กางเกงแบบผู้ชาย
คุณแม่แห่งวงการแฟชั่นอย่าง Coco Chanel คือคนที่ทำให้ Androgynous Fashion เป็นที่รู้จักอีกครั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อย่างที่รู้กันว่าเธอคือไอดอลของแนวคิดเฟมินิสต์ (แม้ว่าเธอจะปฏิเสธก็เถอะนะ) เพราะเป็นดีไซเนอร์คนแรกที่ตัดเย็บกางเกงให้ผู้หญิงใส่ มันคือก้าวแรกแห่งความอิสระของผู้หญิง ในขณะที่ยุคนั้นสาวๆ ยังถูกสังคมบังคับให้ใส่คอร์เซ็ตรัดติ้ว ผ้าลูกไม้ และกระโปรงพะรุงพะรังแบบวิคตอเรียนอยู่เลย
การใส่กางเกงสนับสนุนการก้าวเดินแบบกระฉับกระเฉงของผู้หญิง และส่งผลให้สาวๆ แต่งตัวแบบผู้ชายกันมากขึ้น ลามไปไกลถึงดาราดังในฮอลลีวูดในยุค 30s อย่าง Katherine Hepburn และ Marlene Dietrich ที่ท้าทายกรอบธรรมเนียมดั้งเดิมด้วยการสวมใส่ชุดสูทกางเกงที่ออกแบบมาเพื่อพวกเธอ จนทำให้นักแสดงดาราหญิงอีกหลายๆ คนใส่สูทที่ดูแมนๆ แบบนี้ตามกัน เสียดายที่พวกเธอไม่ได้รับรู้ว่ายุคนี้สาวๆ เขากลับมาอินกับสูทโคร่งแบบผู้ชายกันอีกรอบแล้วนะ
แม้สาวๆ จะถูกจับบทบาทของความเป็นแม่บ้านมายัดใส่มืออีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ชายชาตรีต้องใส่ชุดทหารไปออกรบ แต่จังหวะนั้นเหล่าเฟมินิสต์ก็พากันแสดงออกด้วยการสลัดผ้ากันเปื้อน เกิดเป็นแฟชั่นสไตล์ Unisex แม้กระทั่ง Yves Saint Laurent ก็ทวงคืนอิสรภาพให้ผู้หญิงผ่านการออกแบบชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิงเป็นครั้งแรก
มูฟเมนต์ในเวฟช่วงปี 60s-70s ที่เปลี่ยนแปลงมุมมองต่อภาพลักษณ์ของผู้หญิงและผู้ชายไปโดยสิ้นเชิง ไม่ได้มีแค่ในวงการแฟชั่น แต่อีกฟากหนึ่งมันก็บูมเหมือนระเบิดเปรี้ยงปร้างอยู่ในวงการดนตรี
Androgyny แบบไอคอนสายดนตรี
ผู้ชายแต่งตัวจัดจ้านคือเท่ เลื่อนไหล ไม่แคร์เพศ!
ถึงจะเกิดไม่ทัน แต่หลายคนน่าจะเคยเห็นการแต่งตัวของ Elvis Presley ในยุค 50s ว่ากันน่าจะเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่แสดงให้โลกเห็นว่าแฟชั่นของผู้ชายไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อและปรับแต่งให้เหมาะกับผู้ชายโดยเฉพาะได้
ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือปรากฏการณ์นกยูงตัวผู้รำแพนหางในยุค 60s หรือ The Peacock Revolution ที่เกิดขึ้นเมื่อเหล่าศิลปินนักดนตรีชายสุดเท่แห่งยุคอย่าง David Bowie และ Jimi Hendrix พากันแต่งตัวจัดเต็มและจัดจ้านไม่แพ้ผู้หญิง ทั้งเสื้อสีสันลวดลาย ผ้ามันเลื่อมพลิ้วไหว คอระบาย รวมถึงการแต่งหน้าแต่งตากรีดอายไลเนอร์ นิยามของคำว่าเท่บนสไตล์ของศิลปินไอคอนแห่งวงการดนตรียุคนี้ได้สร้างเวทีให้ผู้ชายในยุค 70s และ 80s ได้เดินตามรอยพวกเขาต่อมา เลื่อมคริสตัลและขนนกบนเสื้อผ้าของ Elton John (ดูได้ในหนังเรื่อง Rocketman) คือตัวอย่างของการได้รับอิทธิพลต่อในยุคถัดมา
การฉีกขนบของการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสุดแสนอ่อนหวานของร็อกเกอร์ที่สาวกรี๊ดสลบอย่าง Prince คืออีกก้าวของแฟชั่น ที่ไม่มีเรื่องรสนิยมทางเพศมาเกี่ยวข้องอีกต่อไป แต่มันยิ่งใหญ่กว่านั้น เช่นกันกับ Kurt Cobain วง Nirvana ในยุค 90s ศิลปินหนุ่มผมยาวที่มักกรีดอายไลเนอร์และแต่งตัวในชุดเดรส เขาเป็นคนสำคัญในยุคของการปฏิวัติกรันจ์หรือที่เรียกว่า the grunge revolution
พอเห็นความแซ่บของการต่อต้าน toxic masculinity แล้วหรือยังล่ะ!
Androgyny ฉบับปี 2021
ทุกคนเปล่งประกายได้ โดยไม่ต้องระบุเพศ
ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน Androgynous Fashion เจิดจรัสในโลกแฟชั่นฝั่งตะวันตกในนิยามที่เปิดรับความหลากหลาย ทั้งนายแบบนางแบบบนรันเวย์ระดับ Fashion Week ที่แต่งตัวแบบไร้เพศหรือข้ามเพศ แบรนด์เสื้อผ้าที่ออกแบบเสื้อผ้าสไตล์ Unisex กันมามากมายไม่เว้นแม้เสื้อผ้าแนวสตรีท
แต่ถึงอย่างนั้นแฟชั่นไร้เพศก็ยังถูกเข้าใจหรือนำไปใช้ผิดๆ อยู่บ้าง เคลียร์กันตรงนี้ว่าแฟชั่นไร้เพศ ‘ไม่ได้บ่งบอก Gender Spectrum’ นั่นหมายความว่าไม่ว่าคุณมีรสนิยมหรือเพศสภาพแบบไหนก็ใส่ได้ ไม่ได้บ่งบอกว่าคนใส่เสื้อผ้าแบบนี้จะต้องเป็น LGBTQ+ เสมอไป ไม่ว่าใครก็หันมาแต่งตัวแบบนี้ได้ทั้งนั้น
แฟชั่นไร้เพศ ‘ไม่เท่ากับ Unisex Fashion’ แบบเป๊ะๆ เพราะคำนี้คือคำที่เหล่าแบรนด์มักใช้เวลาออกแบบเสื้อผ้ามาโดยเฉพาะเพื่อให้ใส่ได้ทั้งชายและหญิง แต่ Androgynous Fashion มีความหมายกว้างกว่านั้น นั่นคือการเลือกหยิบเสื้อผ้าอะไรที่ตัวเองชอบมาใส่ก็ได้ โดยไม่ต้องสนใจว่ามันเป็นเสื้อผ้าของเพศไหน ต่อให้คุณเป็นผู้ชายแต่ถ้าเจอรองเท้าส้นสูงในแผนกผู้หญิงที่ใส่แล้วมั่นใจก็จบ!
สไตล์การแต่งตัวแบบ Androgynous Fashion ‘สนับสนุนแนวคิด Body Positive’ หรือการรักร่างกายของตัวเองโดยไม่เอาอุดมคติด้านความงามของสังคมมาเป็นข้อจำกัด เหล่าคนดังที่เลือกแต่งตัวแบบไร้เพศในวันนี้ส่วนใหญ่ก็ได้รับการยอมรับในสังคม นั่นแปลว่า เราทุกคนสามารถที่จะดูดีในแบบของตัวเองได้เช่นกัน
ทำไมเราต้องใส่ใจ Androgynous Fashion
เราเล่าเรื่องนี้ในฐานะคนที่ไม่ใช่เป็นสายแฟชั่นจ๋า และไม่ได้จะบอกว่าลุกขึ้นมาเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวกันเถอะ แต่อยากชวนกันมา ‘มองเห็น’ ปรากฏการณ์บวกๆ ในสังคม วันไหนเห็นเพื่อนข้างบ้านเปลี่ยนสไตล์มาแต่งตัวแบบ Androgynous Fashion ก็ไม่ต้องงงใจ ไม่ต้องด่วนตัดสิน และถ้าเป็นไปได้ก็ส่งยิ้มให้กันสักหนึ่งที
เราคิดว่าข้อดีของการแต่งตัวแบบไร้เพศ นอกจากจะสะท้อนเรื่องการยอมรับความหลากหลายทั้งทางเพศและรูปลักษณ์ ยังช่วยเพิ่มทางเลือกในการแชร์ตู้เสื้อผ้าร่วมกันของทุกคน โอกาสหน้าว่าจะลองแชร์ตู้เสื้อผ้ากับคนบ้านเดียวกันดู น่าจะช่วยให้งดความอยากช้อปเสื้อผ้าใหม่ไปได้ระยะนึงเลยล่ะ
อ้างอิง
Read More:
Freedom of Choice ในฮิญาบ ที่เราและโลกก็ควรเข้าใจ ด้วยความเคารพ
ไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหน ก็ควรเคารพในศรัทธาที่แตกต่างกัน
มนุษยสัมพันธ์ 03: คุยกับ Younglek เรื่องความสบายของนม บรา ชั้นใน ที่คล้ายๆ กับการได้ประกาศอิสรภาพเล็กๆ
เล็ก-ภัทรสิริ อภิชิต เจ้าของแบรนด์ชุดชั้นในที่ชื่อ Younglek Under
บันทึกสถิติงดซื้อเสื้อใหม่ 2019-2020
บันทึกความฟูและเฟลของนักช้อปกลับใจ งดซื้อเสื้อใหม่ 2 ปี!