Home —— ผลการทดลอง

ทดลองทำ Un-Shopping List (ได้จริงหรอ?)

ก็เพราะว่าสภาพบ้านเมืองมันเครียด มีตัวเลข new high ชวนกุมขมับทุกวัน จะขยับตัวออกนอกบ้านแก้เซ็งก็ทำไม่ได้ งานช้อปออนไลน์แก้เครียดแบบชั่วคราวเลยกลายเป็นหนึ่งในทางออกที่เราชอบเลี้ยวเข้าไป

การได้ของใหม่เข้าบ้านมันหายเครียดจริงแหละ แต่! ว่า! โอ้โห! รู้ตัวอีกที ตัวเลขเงินในบัญชีที่เหลือตอนสิ้นเดือนมันน้อยเสียจนอยากจะตีมือตัวเอง แถมขยะที่เกิดจากการขนส่งสิ่งเหล่านี้ก็เยอะ ชวนรู้สึกผิดต่อโลกซ้ำเข้าไปอีก

แล้วพอลองอดใจซื้อเฉยๆ ก็ดันไม่เวิร์ก (ให้อภัยจิตใจที่ไม่แข็งแกร่งของฉันด้วย) จนกระทั่งวันหนึ่งที่ไถเฟซบุ๊ก เจอรุ่นพี่ในแวดวงงานเขียนแชร์วิธีหยุดตัวเองจากการช้อปหนัก ด้วยการทำบัญชี Un-Shopping List จดยอดเงินสะสมของ ‘สิ่งที่เราไม่ซื้อ’ (โพสต์ต้นทางนี้เลย  https://bit.ly/3lgv4Nc) เป็นวิธีการใช้จิตวิทยากับตัวเองที่น่าสนใจตรงที่ ใช้ตัวเลขหรือยอดเงินที่เรากลั้นใจไม่จ่ายมาไดร์ฟ ยิ่งตัวเลขเพิ่มมากเท่าไหร่ ใจเราก็ฟูและภูมิใจกับการหยุดช้อปของตัวเองได้มากเท่านั้น

หลังจากลงมือทำ 1 เดือนเต็ม เราขอรีวิวสั้นๆ ตรงนี้เลยว่าวิธีนี้เวิร์กกับคนชอบกลิ่นเงินสุดๆ แถมยังช่วยให้เราเห็นหน้าตาของความโลภของตัวเองชัดเจนมากขึ้นด้วย พิสูจน์ด้วยผลการทดลองด้านล่างนี้เลย!

Un-Shopping List คืออะไร
แล้ว ‘ไม่ซื้อ’ นี่ ต้องไม่ซื้อขนาดไหน 

ถ้าพูดถึง Shopping List เชื่อว่าทุกคนเข้าใจอย่างแน่นอนว่ามันคือการจดสิ่งที่เราตั้งใจจะซื้อ (aka ตั้งใจว่าจะไปเสียตังค์) สำหรับเราแล้ว Un-Shopping List เปรียบเสมือนฝั่งตรงข้าม คือการลิสต์สิ่งที่เราไม่ซื้อ ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่เราเอาชนะความอยากและคิดทบทวนมาแล้วระดับหนึ่งว่า ‘ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อ’ หรือ ‘อดใจรอไหว ซื้อทีหลังก็ได้’

ส่วนวิธีการทำ Un-Shopping List นี้ไม่ยากเลย แค่บิดจากการจดสิ่งที่จะซื้อเป็นการจดสิ่งที่เราตัดใจไม่ซื้อลงไปเท่านั้น ตามด้วยการจดราคาของสินค้าจริง พอครบกรอบเวลาที่กำหนดไว้ 1 เดือน เราค่อยมารวบยอดสรุปเพื่อชื่นชมภารกิจหยุดช้อปของตัวเอง

พอใช้คำว่า ‘สิ่งที่ไม่ซื้อ’ เชื่อว่าหลายคนแถวนี้อาจจะช็อกๆ ว่าต้องไปสุดทาง ไม่ซื้อทุกอย่างเลยมั้ยแก ต้องบอกก่อนว่ามันยืดหยุ่นได้นะ เพราะนัยของการทำลิสต์นี้ คือการไม่จ่ายเงินซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็น และยืดเวลาในการตัดสินใจซื้อออกไป เท่ากับว่าถ้าเราอยากซื้อเพราะมันจำเป็นจริงๆ (ต้องใช้เดี๋ยวนั้น) เราซื้อได้ แต่พอเราคิดหนักกับการซื้อในแต่ละครั้งมากขึ้น เราจะมองเห็นคุณค่าของของชิ้นนั้นมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างเราเป็นคนที่ทำอาหารกินเองเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เราจะไม่ตัดใจซื้อคือเรื่องวัตถุดิบอาหาร ลองคิดดูว่าถ้าให้กลั้นใจไม่ซื้อของอร่อย งานนี้ดีกรีความเครียดสูงปรี๊ดกว่าเดิมแน่ๆ อะไรที่เซฟใจตัวเองอยู่ก็ควรรักษามันไว้นะ

ผลการทดลองทำ Un-Shopping List ครั้งแรก

ด้วยความที่เป็นคนตามใจตัวเองมากๆ อยู่แล้ว 1 เดือนที่ตั้งปณิธานอยากเก็บเงินและกลั้นใจไม่ซื้อของใหม่เลยนี่ยากเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ปัญหาที่เจอคือ แม้ว่าบางสิ่งเราตัดใจไม่ซื้อได้ในวันแรกๆ แต่ถ้าเวลาผ่านไปความอยากก้อนนั้นยังติดหนึบอยู่ในใจ งานเสียตังค์ซื้อของก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน (ซึ่งชิ้นไหนที่เราซื้อ เราจะเอาปากกามาขีดทิ้งทีหลัง) แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นการทดลองครั้งแรก ประคับประคองภารกิจนี้ให้จบเดือนได้อย่างสวยงามก็นับว่าน่าภูมิใจแล้วแหละ

สรุปผลการทำ Un-Shopping List:
เมื่อเห็นตัวเลขรวม ก็ต้องชมตัวเองว่าเก่งเหมือนกัน

เมื่อมองดูยอดเงินที่เราไม่จ่ายสะสม พร้อมๆ กับการเหลียวมองยอดเงินที่เหลือค้างในบัญชี ต้องบอกเลยว่าเราประทับใจตัวเองมากเหมือนกัน แถมการได้เห็นยอดเงินที่เราไม่จ่ายสะสมเติบโตขึ้น ในเดือนต่อไปเราจะอยากเห็นตัวเลขนี้ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ อีก ก็เลยนำมาซึ่งการสานต่อปณิธานในเดือนที่ 2 และเดือนต่อๆ ไป (ฉันจะทำจนกว่าได้เงินเก็บหลักแสน มีตังค์บินออกจากประเทศ!) 

และพอเดือนนี้เราคิดเรื่องการซื้อมากๆ กลายเป็นว่าเราเริ่มชินกับการคิดก่อนซื้อ ไม่ตามใจตัวเองเก่งเท่าเดิม หรือบางชิ้นที่เราใช้เวลาตัดใจเกือบ 2 วีค (ซึ่งสิ่งนั้นคือหม้อต้มกาแฟ) แล้วพอวันที่ตัดใจไม่เอาได้จริงๆ ความรู้สึกมันเหมือนเอาชนะใจตัวเองได้ยังไงยังงั้น 

ส่วนของที่เราตบะแตกอดใจซื้อไม่ไหวในภายหลัง ส่วนตัวเราไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นความพ่ายแพ้อะไรเท่าไหร่ แค่ต้องเตือนตัวเองไว้เสมอว่า ซื้อมาแล้วก็ต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุดก็เท่านั้นเอง

ได้เข้าใจหน้าตาของกิเลสตัวเองมากขึ้น

ถึงตัวเลขเงินสะสมรวมจากลิสต์จะเวอร์เกินเงินเดือนที่ได้จากงานประจำมากไปหน่อย แต่มันก็ทำให้เราเข้าใจว่า จริงๆ แล้วเราก็เป็นพวกรสนิยมเกินเงินเดือนเหมือนกันนี่ (ขออนุญาตหัวเราะใส่ตัวเอง) หลังจากมองเห็นความซื้อเก่งของตัวเองแล้ว ลิสต์นี้ยังบอกด้วยว่าสิ่งของที่เราชอบซื้อมีหมวดอะไรบ้าง อย่างของเรา หมวดที่ชอบช้อปเกือบครึ่งเป็นของในครัว คราวหน้าอยากได้อะไรในหมวดนี้ เราคงต้องกลั่นกรองมากเป็นพิเศษ เพราะดูทรงจะเป็นหมวดที่ดูดเงินเราเก่งใช่เล่นเลย

สิ่งที่น่ารักที่สุดคือการได้หันไปมองสิ่งที่ตัวเองมีอยู่

เคล็ดลับที่ทำให้เราตัดใจเก่งมากขึ้น ขอแชร์ไว้ตรงนี้เลยว่า มันคือการหันกลับไปมองสิ่งที่เรามีอยู่แล้วที่บ้าน อย่างหม้อ 2 ยี่ห้อที่เรานิมิตว่าอยากจะซื้อ ในความเป็นจริงฟังก์ชั่นของมันแทบจะ ‘เท่ากับ’ หม้อเหล็กหล่อที่เราใช้อยู่ประจำอยู่แล้ว การที่คิดว่าเราอยากใช้น้องให้คุ้มกับที่เกิดมาก่อน มันช่วยให้เราฮึด กลั้นใจไม่ซื้อหม้อใบใหม่ได้แบบฉลุย หรืออย่างอุปกรณ์ชงกาแฟที่ปกติก็มีใช้ชงกาแฟทุกวันอยู่แล้ว หากของเก่าที่สภาพดีอยู่จะต้องตกกระป๋องเพียงแค่ความอยากได้อยากมีชั่วครู่ เอาเข้าจริงๆ นี่ก็น่าเจ็บใจอยู่นะเออ (เปิดโหมดคิดแทนที่ดริปกาแฟ)

อีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบสุดๆ จากการทดลองนี้คือ วันที่สกินแคร์หมดเกลี้ยง ใจหนึ่งก็อยากซื้อใหม่ แต่ใจหนึ่งก็อยากกลั้นใจไม่ซื้อ และกลับไปรื้อตู้ว่ามีอะไรที่ลืมใช้บ้างมั้ย กลายเป็นว่าเราค้นเจอเทสเตอร์สกินแคร์ที่ได้ฟรีมาจำนวนมาก สิ่งที่เราลืมไปแล้วว่ามีกลับช่วยต่อชีวิตและเซฟเงินเราได้อีก 1-2 เดือน รู้สึกขอบคุณอาการเอะใจที่เกิดขึ้นวันนั้นจริงๆ

จะว่าไปแล้ว การทำ Un-Shopping List พาเราไปไกลกว่าแค่การเซฟเงินในกระเป๋าหรือลดภาระหนี้บัตรเครดิต เพราะมันช่วยให้เราลดการบริโภคของตัวเองลงไปด้วย แม้กรอบเวลาหนึ่งเดือนอาจจะดูสั้นและลดการบริโภคได้เพียงนิดเดียวเท่านั้น แต่ถ้าหากมนุษย์วัตถุนิยมอย่างเรารู้จักการยับยั้งชั่งใจจนกลายเป็นนิสัยได้ เชื่อเถอะว่า เราจะกลายเป็นคนที่น่ารักกับโลกได้มากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้แน่นอน

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Home วิธีทำ

เราจะทำตามสัญญา ถ้าหยุดนำเข้าเศษพลาสติก

ตะโกนบอกรัฐว่าคนตัวเล็กๆ พร้อมจัดการขยะพลาสติกตั้งนานแล้ว!

Home

HOW TO REGIFT | ชุบชีวิตของขวัญชิ้นใหม่ไปปาร์ตี้ #จับฉลากของขวัญเคยรัก

สำรวจทุกซอกทุกมุมในบ้าน ค้นของมา #จับฉลากของขวัญเคยรัก ไปด้วยกัน!

Home วิธีทำ

ชวนมาสร้าง new normal ที่เราจะ ‘ใช้ซ้ำ’ ได้เป็นปกติ

วิธีอยู่อย่างสะอาด ปลอดภัย และใช้ซ้ำให้ได้ ในยุคที่เชื้อโรคเยอะแถมขยะแยะ