ไม่เถียงเลยถ้าจะบอกว่า Tokyo olympic Games 2020 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพครั้งนี้อาจจะยังมีจุดบกพร่องให้ติ ตั้งแต่การจัดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนญี่ปุ่น ไม่สนคำครหาในยุคโควิด รวมถึงดราม่าเรื่องสิ่งแวดล้อม คนไร้บ้าน แมวจรจัด และในดีเทลอื่นๆ อีก แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งเราคิดว่าญี่ปุ่นทำได้ค่อนข้างดี คือความพยายามที่จะสื่อสารหัวใจของกีฬาโอลิมปิกที่มุ่ง ‘สร้างมนุษย์ที่ดีขึ้น’ ซึ่งในที่นี้คือการรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันไว้ให้ได้ ผ่านการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่การแข่งกันด้านศักยภาพร่างกายหรือการฝึกซ้อมเพื่อเอาชนะอย่างที่เคยเข้าใจ
‘ตามหลักการของโอลิมปิก การฝึกกีฬาถือเป็นสิทธิมนุษยชน บุคคลทุกคนต้องมีความเป็นไปได้ในการฝึกกีฬา โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ’ อ่านหลักการของโอลิมปิกจบแล้วรู้สึกว่า โอ้ โอลิมปิก ที่ผ่านมาเรามองเธอผิดไป
จดหมายเหตุว่าด้วย #สิทธิมนุษยชน ในโตเกียวโอลิมปิกส์ 2020 ที่เรารวบรวมมา 10 กว่าเรื่องราวนี้ แม้จะไม่สนุกเท่าภาพกีฬามันๆ ไม่เร้าใจเท่าดูไฮไลต์ช็อตทำคะแนนสวยๆ ไม่มีคนแพ้คนชนะ ไม่มีการทำลายสถิติ แต่ในช่วงเวลานี้ที่วิกฤตทำให้เศร้า ก็หวังว่าเรื่องเหล่านี้ที่บันทึกไว้ จะชวนให้เราๆ อิ่มอกอิ่มใจในมนุษย์กันขึ้นมาบ้างนะ
ทีมผู้ลี้ภัย 29 คน มากกว่าที่ริโอเกมส์เกือบสามเท่า
ทุกคนมีสิทธิ์ก้าวต่อไปในอาชีพ แม้ไร้สังกัดและเจ็บปวดจากการพลัดถิ่น
โอลิมปิกคือเกมการแข่งขันกันระหว่างทีมชาติ แต่ในพิธีเปิดโตเกียวโอลิมปิกส์ 2020 หลายคนต้องแปลกใจเมื่อทีมนักกีฬา 29 คนที่ออกมาเดินพาเหรดเป็นทีมแรกๆ ตามลำดับตัวอักษร กลับไม่ใช่ทีมชาติไหนเลย แต่พวกเขาคือ ‘นักกีฬาผู้ลี้ภัย’ ที่มารวมตัวกันเพื่อลงแข่งในนาม Refugee Olympic Team (EOR)
การมีทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยอยู่ในกีฬาระดับโลก สำคัญในแง่การให้ความสำคัญและเป็นกระบอกเสียงให้กับพวกเขามากๆ เพราะแม้ว่าเมื่อก่อนนักกีฬาที่เป็นผู้ลี้ภัยจะเข้าร่วมการแข่งโอลิมปิกได้ก็จริง แต่ก็ลงแข่งได้แค่ในฐานะนักกีฬาอิสระเท่านั้น ซึ่งเคสนี้เคยเกิดขึ้นกับนักวิ่งมาราธอนผู้ลี้ภัยชาวซูดานในลอนดอนเกมส์ 2012 ทำให้ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล โทมัส บาค ได้ฉุกคิด และสังเกตเห็นวิกฤตของผู้ลี้ภัยนับล้านทั่วโลก เลยตัดสินใจประกาศตั้งทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยขึ้นในปี 2015 และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ก็อนุมัติให้ทีมนี้ลงแข่งจริงที่ริโอเกมส์ 2016 ซึ่งในคราวแรกนั้นมีนักกีฬาผู้ลี้ภัยเข้าร่วมแค่ 10 คน ก่อนจะเพิ่มเป็น 29 คนในโตเกียวเกมส์นี้
ถึงจะไม่มีธงชาติ และต้องเชิญธงโอลิมปิกพร้อมบรรเลงเพลงโอลิมปิกเมื่อได้รับเหรียญรางวัล แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่าการที่เราได้รับรู้ว่านักกีฬาเหล่านี้ คือแรงบันดาลใจของกลุ่มคนกว่า 82 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ความขัดแย้ง ความยากจน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงจนหวาดหวั่นไม่อาจกลับบ้านเกิด ต้องกลายเป็นชนกลุ่มน้อย ต้องอพยพพลัดถิ่น และไร้ตัวตนบนแผนที่โลก แต่ถึงจะถูกบังคับให้มีชีวิตที่เจ็บปวด ก็ยังมีโอกาสก้าวหน้าและเดินต่อไปในอาชีพได้
โอลิมปิกใกล้จบ แม้เรายังไม่เห็นชัยชนะของนักกีฬาผู้ลี้ภัยเป็นเหรียญรางวัล แต่ก็มีนักกีฬาหลายคนที่โชว์ฟอร์มทั้งบนสนามและชีวิตจริงที่น่าประทับใจ ผู้ลี้ภัยที่เราอยากพูดถึงคือ นักเทควันโดหญิงชาวอิหร่าน Kimia Alizadeh ที่กล้าประกาศในปี 2020 ว่าจะย้ายไปอยู่ยุโรปเพราะไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของความ ‘หน้าซื่อใจคด การโกหก ความอยุติธรรม และการเยินยอ’ ในฐานะ ‘หนึ่งในผู้หญิงที่ถูกกดขี่หลายล้านคนในอิหร่าน’ ซึ่งความแซ่บนี้เองทำให้เธอกลายเป็นศัตรูของรัฐอิหร่าน ซึ่งคอยกีดกั้นไม่ให้เธอได้เป็นตัวแทนนักกีฬาของประเทศอื่นๆ แต่ในที่สุดเธอก็ได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยที่เยอรมนี ถูกเสนอชื่อให้มาอยู่ในทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยและลงแข่งตั้งแต่ริโอเกมส์ 2016
แม้ในโตเกียวโอลิมปิกส์เธอจะเอาชนะอดีตเพื่อนร่วมทีมอิหร่านมาได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศอีกเป็นครั้งที่สอง ความพ่ายแพ้ทำให้เธอยังคงตกเป็นเป้าของนักวิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย แต่สำหรับเรา เธอสมควรได้รับความเคารพทั้งในฐานะนักกีฬา ในฐานะผู้หญิง และในฐานะมนุษย์
เก็บตกประเด็นนี้อีกเล็กน้อยว่าในโตเกียวโอลิมปิกเกมส์ 2020 ยังมีนักกีฬาที่มาร่วมแข่งขัน แล้วตัดสินใจลี้ภัย ไม่กลับประเทศตัวเองเสียเลย เธอคือ Krystsina Tsimanouskaya นักวิ่งหญิงชาวเบลารุส ที่ถูกปลดจากทีมชาติเฉย เพราะไปวิพากษ์วิจารณ์ผู้ฝึกสอน แต่ทางการเบลารุสบอกว่าเธอถูกปลดออกจากทีมชาติเพราะสภาพจิตใจ ซึ่งคาดว่าการกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมนี้เกี่ยวข้องกับการที่รัฐปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ หลังการชนะเลือกตั้งอีกครั้งของประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก สิ่งนี้ทำให้เธอตัดสินใจของความช่วยเหลือจาก IOC และขอลี้ภัยไปอยู่โปแลนด์ทันที ขอปรบมือให้เอเนอร์จี้นี้ (โอลิมปิกหนหน้าอาจจะพบเธอในฐานะทีมผู้ลี้ภัยก็เป็นได้)
นักกีฬา LGBTQ+ ที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ มากกว่า 160 คน
มากที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิก
ทุกคนควรได้ภูมิใจในตัวตนและคนที่รัก และมีสิทธิที่จะแสดงออกอย่างเสรี
น่าตื่นเต้นที่ประเทศที่ถูกมองว่าเป็นชาตินิยมจ๋าและยังไม่เปิดเสรีเรื่องเพศแบบเต็มที่นักอย่างญี่ปุ่น เมื่อเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับโลก กลับกล้าชูประเด็น Unity in Diversity หรือหนึ่งเดียวในความหลากหลายขึ้นมาเป็นไฮไลต์ของงาน และก็พยายามยืนยันมันออกมาผ่านการเปลี่ยนธรรมเนียมหรือกติกาหลายๆ อย่างเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ที่เห็นชัดในพิธีเปิดคือการให้ผู้ถือธงในขบวนพาเหรดต้องเป็นทั้งชายและหญิงถือร่วมกัน มีการพยายามสร้างความสมดุลระหว่างจำนวนนักกีฬาหญิงและชายเป็นครั้งแรก โดยมีนักกีฬาหญิง 49% และชาย 51% และยังเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งแผนกเวชศาสตร์การกีฬาหญิงในศูนย์การแพทย์ในหมู่บ้านนักกีฬา เพื่อดูแลนักกีฬาหญิงโดยเฉพาะ และยังมีตัวแทนผู้หญิงเพิ่มในคณะกรรมการอีก 12 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 42% (และอื่นๆ อีก)
การที่วงการกีฬาโลกยอมรับตัวตนและความหลากหลายทางเพศ ก็สะท้อนให้เห็นอย่างโดดเด่นในโตเกียวเกมส์ครั้งนี้ด้วย สถิติใหม่ก็คือมีนักกีฬา LGBTQ+ ที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศของตนมากกว่า 160 คน เข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิก ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นมากจากจำนวน 56 คนที่ริโอเกมส์ และ 23 คนที่ลอนดอนเกมส์ และยังเป็นโอลิมปิกครั้งแรกที่มี Pride House พื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักกีฬา LGBTQ+ อีกด้วย โดยเป็นที่พักในหมู่บ้านนักกีฬา สำหรับนักกีฬา เพื่อน ครอบครัว และกลุ่มกองเชียร์ เพื่อให้พวกเขารู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
หนึ่งในนักกีฬา LGBTQ+ ที่สร้างปรากฏการณ์ในโตเกียวโอลิมปิกก็คือ นักกระโดดน้ำชายสัญชาติอังกฤษ Tom Daley ที่คว้าเหรียญทองครั้งแรกในชีวิตในการแข่งขันกระโดดน้ำชายคู่ 10 เมตร (คู่กับ Matty Lee) แต่ที่ทำให้เขาดังไปทั่วโลกไม่ใช่แค่ชัยชนะที่ได้มา แต่คือประโยคสัมภาษณ์หลังคว้าเหรียญทองที่ว่า
“I feel incredibly proud to say that I am a gay man and also an Olympic champion”
ประโยคนี้เองที่ทำให้เขากลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ แฟนกีฬาทั่วโลกต้องหันไปทำความรู้จัก และได้รู้ว่าทอมเป็นที่สนใจในแวดวงป๊อปคัลเจอร์มาก่อนหน้าที่จะคว้าชัยแล้ว ไลฟ์สไตล์ของเขาเป็นที่สนใจอย่างมากวัดจากช่องยูทูบที่มีผู้ติดตามเกือบล้าน ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะเขาเป็นสามีของ Dustin Lance Black นักเขียนบทฮอลลีวู้ด หรือการมีลูกด้วยกัน 1 คนของพวกเขา (หรืองานอดิเรกที่ชอบถักนิตติ้ง) แต่เป็นเพราะการเป็นนักกีฬาดาวรุ่งที่กล้าออกมาเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งทำให้สังคมจับตามองและคาดหวัง ซึ่งมันก็ยิ่งทำให้เขามุ่งมั่นฝึกซ้อมเพื่อมาพิสูจน์ตัวเองในโอลิมปิกครั้งนี้ ทอมยังปิดท้ายการให้สัมภาษณ์ด้วยการพูดถึงชาว LGBTQ+ ว่าหากแม้จะรู้สึกโดดเดี่ยว คุณจะไม่ได้อยู่เพียงลำพัง คุณสามารถประสบความสำเร็จได้แบบทอมเช่นกัน
ความคิดของเขาน่าประทับใจและชวนจดจำไม่แพ้ภาพถักนิตติ้งริมสนามเลย
และเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้ ‘ทรานส์เจนเดอร์’ เข้าร่วมการแข่งขันได้
กีฬาควรเป็นพื้นที่ของทุกคน ไม่เว้นแม้คนข้ามเพศ
ไม่ใช่แค่ยอมรับ LGBTQ+ นะ แต่โตเกียวโอลิมปิกเกมส์ 2020 ยังเปิดกว้างมาถึงขั้นที่เราได้เห็นทรานส์เจนเดอร์เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก และเธอผู้ถูกบันทึกว่าเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์นั้นคือ Laurel Hubbard นักยกน้ำหนักหญิงทรานส์ทีมชาตินิวซีแลนด์ ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงรองแชมป์โลกยกน้ำหนักหญิงรุ่น 90 Kg. เมื่อปี 2017 ครั้งนี้เธอเป็นนักกีฬาข้ามเพศคนแรกที่เปิดเผยตัวตนและได้ลงแข่งขันในประเภทกีฬาที่ต่างเพศกับเพศโดยกำเนิด
ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ความพยายามในการยกน้ำหนัก 120 และ 125 กิโลกรัมของเธอล้มเหลวทั้งสองครั้ง แต่ถ้าย้อนไปมองเส้นทางกว่าจะมาถึงจุดนี้ของเธอ เราพูดไม่ได้เลยว่าเธอพ่ายแพ้
ฮับบาร์ดเคยเป็นนักยกน้ำหนักชายดาวรุ่งเจ้าของสถิติระดับประเทศที่ทำน้ำหนักรวมได้ 300 Kg. ก่อนจะตัดสินใจเลิกเล่นในปี 2001 เมื่ออายุ 23 ปี หลังจากนั้น 12 ปีถัดมาเธอก็คัมเอาต์เป็นทรานส์และคัมแบ็กมาสู่วงการยกน้ำหนัก นับตั้งแต่กลับมาเธอคว้าเหรียญทองระดับนานาชาติมามากถึง 7 เหรียญ เธอเคยคิดว่าอาชีพการงานจบลงเมื่อบาดเจ็บที่ข้อศอกเมื่อปี 2018 แต่ก็ยังกลับมาได้อีกในปี 2019 และจบที่อันดับที่ 6 ในการแข่งขันชิงแชมป์โลก และตอนนี้ในวัย 43 ปี เธอเป็นนักยกที่อายุมากเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์โอลิมปิก
แน่นอน การที่เธอถูก IOC นิวซีแลนด์เลือกมาลงโอลิมปิก ท่ามกลางเสียงชื่นชมว่าเป็นการเปิดประตูให้เกิดบนสนทนาเรื่องการไม่แบ่งแยก แต่ก็ย่อมมีเสียงคัดค้านและการถกเถียงของนักวิจารณ์รวมทั้งนักกีฬาบางคนเช่นกัน ว่ามันแฟร์จริงไหม ฮับบาร์ดมีข้อได้เปรียบหรือเปล่าในเรื่องร่างกาย
เอาจริงๆ IOC อนุญาตให้นักกีฬาข้ามเพศเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกตั้งแต่ปี 2004 และในปี 2015 ก็มีการปรับข้อกำหนดให้นักกีฬาหญิงทรานส์ลงแข่งขันกีฬาหญิงได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องประกาศอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองมาแล้วอย่างน้อย 4 ปี และต้องรักษาระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนให้ต่ำกว่า 10 นาโนโมลต่อลิตร (ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของผู้ชายทั่วไปอยู่ระหว่าง 10-30) มาเป็นเวลา 12 เดือน นั่นทำให้ฮับบาร์ดต้องใช้ยาระงับฮอร์โมนเพื่อลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งแปลว่าเบื้องหลังของการลดเส้นแบ่งแยกที่ฟังดูงดงามนี้ มันก็ไม่ได้ง่ายดายเหมือนกัน
“I’m also for women (born as women) having equal rights in sport.” แต่หากคือเจตนารมณ์ที่ฮับบาร์ดเคยให้สัมภาษณ์ไว้ เราว่ามันก็คุ้มที่จะแลก
นักกีฬาอายุน้อยที่สุดในโตเกียวโอลิมปิก วัย 12 ปี เติบโตมาในประเทศที่มีสงครามกลางเมืองอย่างซีเรีย
ทุกคนสามารถที่จะเอาชนะอุปสรรคได้
ประเด็นเรื่องอายุไม่ได้เปิดกว้างในทุกชนิดกีฬา หนึ่งในกีฬาที่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องอายุก็คือปิงปอง ซึ่งสาวน้อยนักปิงปองที่อายุน้อยที่สุดในโตเกียวโอลิมปิกเกมส์นี้ มีชื่อว่า Hend Zaza วัย 12 ปี แม้เธอจะไม่ใช่นักกีฬาที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิก แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้หนักๆ คือเธอเป็นตัวแทนทีมชาติของประเทศที่มีสงครามกลางเมืองอย่างซีเรีย
ซาซ่าอาจจะเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์ มีไอดอลเป็นแชมป์โอลิมปิก 3 สมัย และฝันว่าจะได้เป็นทนายความหรือเภสัชกรในอนาคต แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความทะเยอทะยานในการเล่นกีฬาต้องยกให้เธอเลย ซาซ่าเล่นปิงปองมาตั้งแต่ 5 ขวบ กลายเป็นแชมป์ระดับประเทศอย่างรวดเร็วในทุกกลุ่มอายุอย่างซีเรีย แต่สโมสรท้องถิ่นของเธอในเมืองฮามา (เมืองที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและการโจมตีของผู้ก่อการร้าย) มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่ดี เธอต้องฝึกบนพื้นที่ไม่ดี โต๊ะก็ไม่พร้อม ต้องซ้อมท่ามกลางเสียงปืนใหญ่ แถมบางครั้งก็ต้องเจอกระแสไฟฟ้าติดๆ ดับๆ แต่ก็ไม่ยอมให้สิ่งนั้นหยุดเธอคว้าความสำเร็จในเวทีโลก เธอเอาชนะการแข่งรอบคัดเลือกโอลิมปิกเอเชียตะวันตกในจอร์แดนได้เมื่อต้นปี และคว้าตำแหน่งตัวแทนเข้าแข่งขันที่โตเกียว 2020 ได้ในที่สุด โดยได้เป็นผู้เชิญธงของซีเรียอีกด้วย
“We want to show that even though we are in the middle of the war, we must do something”
นี่คือคำที่เธอให้สัมภาษณ์หลังแพ้ไปอย่างน่าเสียดายในการแข่งรอบแรกในโอลิมปิก เธอบอกว่าไม่เสียใจเลย และถือว่านี่คือความสำเร็จด้วยซ้ำ เพราะการได้เอาชนะอุปสรรคในประเทศ พาตัวเองมาแข่งกับ Liu Jia นักกีฬาปิงปองจากออสเตรียวัย 39 ที่เข้ามาถึงโอลิมปิกได้ถึง 6 ครั้งและเคยคว้าแชมป์ยุโรปในปี 2005 (สี่ปีก่อนที่ซาซ่าจะเกิด) ก็ถือว่าเป็นแมตช์ประวัติศาสตร์ของชีวิตเธอแล้ว
นักกีฬาอายุน้อยที่น่าสนใจในปีนี้ อีกคนหนึ่งที่เราเห็นฟอร์มของเธอคือ Momoji Nishiya นักกีฬาสเกตบอร์ดหญิงทีมชาติญี่ปุ่น ที่แม้อายุแค่ 13 ปี และแม้ว่านี่คือปีแรกที่สเกตบอร์ดถูกบรรจุเป็นกีฬาใหม่ในโอลิมปิก แต่สาวน้อยคนนี้ก็คว้าเหรียญทองมาได้
มองเรื่องอายุในมุมตรงข้ามบ้าง แม้ว่าจะอายุมากก็ไม่เป็นอุปสรรคหรือข้อห้ามในการบางชนิดกีฬาเช่นกัน เราได้เห็นภาพประทับใจมากมาย ไม่ว่าจะจากนักกีฬาที่อายุมากที่สุดในโตเกียวโอลิมปิก Mary Hanna นักกีฬาขี่ม้าจากออสเตรเลียวัย 66 ปี ซึ่งนี่คือการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่หกของเธอ Oksana Chusovitina นักยิมนาสติกอุซเบกิสถานวัย 46 ปีที่ร่วมแข่งโอลิมปิกมาแล้ว 8 สมัย ซึ่งเธอประกาศรีไทร์ในสนามแข่งขันท่ามกลางเสียงปรบมือให้กำลังใจ หรือแม้กระทั่งนักกีฬาไทยอย่าง เศวต เศรษฐาภรณ์ นักกีฬายิ่งเป้าบินไทยที่ได้ร่วมแข่งโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในชีวิตตอนวัย 58 ปี ถึงจะไม่ได้เหรียญทอง แต่เห็นภาพตอนแข่งแล้วก็แอบน้ำตารื้นภูมิใจไปด้วย
3 เหรียญทองของนักยิงธนูหญิง ที่เอาชนะและก้าวข้ามอคติเรื่องทรงผมและการเหยียดเพศ
ทุกคนควรตัดสินใจได้ด้วยตนเองเกี่ยวกับร่างกายของตน
An San คือนักยิงธนูหญิงชาวเกาหลีใต้วัย 20 ปี ที่ควรจะได้รับแต่คำชื่นชมหลังคว้า 2 เหรียญทองประเภททีมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 แต่สถานการณ์กลับกลายเป็นว่า เธอกลายเป็นประเด็นถกเถียงบนโลกออนไลน์ เมื่อมีโพสต์ในออนไลน์ที่บอกว่า ‘ผู้หญิงที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสตรีและตัดผมสั้น มีโอกาส 90% ที่จะเป็นเฟมินิสต์’ และผมสั้นของเธอกลายเป็นเป้าดราม่าในกลุ่มชายเกาหลี ที่ไม่พอใจ และบอกว่าเธอทำผมเหมือนผู้ชาย บ้างก็ไปหนักถึงขั้นเรียกร้องให้เธอออกมาขอโทษ และเรียกร้องให้ริบเหรียญรางวัล โอ้โห นี่เราอยู่ในโลกแบบไหนกันเนี่ย!
ตั้งสติจากข่าวแล้วถอยออกมามองโลกดีๆ ก็จะเห็นว่า เรื่องของอัน ซาน สะท้อนภาพของโลกในปัจจุบันที่เราอยู่นี่แหละ ว่าถึงแม้จะวิวัฒน์กันมาไกล แต่ในบางกลุ่มคนในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ก็ยังสะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ยังถูกเอามาใช้สร้างอคติซึ่งกันและกันอยู่บนโลกวันนี้ ทั้งที่มนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องร่างกายตัวเองไม่ใช่เหรอ (แปลเป็นภาษาพูดก็คือ ฉันตัดผมสั้นก็ไม่ได้ไปหนักหัวใครนะจ๊ะ นอกจากหัวฉันเอง)
โชคดีที่สปิริตของอัน ซาน แข็งแกร่งมากพอที่จะโนสนทุกคอมเมนต์ที่แสดงความเกลียดชังและเหยียดเพศ ในวันที่เธอคว้าเหรียญทองที่ 3 ในประเภทบุคคล เธอยังคงโบกธงเกาหลีใต้เพื่อยืนยันกับโลกว่าเธอเป็นนักธนูเกาหลีใต้คนแรกที่คว้า 3 เหรียญทองในเกมเดียว ท่ามกลางปรากฏการณ์สนับสนุนเธอจากผู้หญิงในเกาหลีใต้ ที่พากันแสดงออกว่าอยู่ข้างเธอนะด้วยการโพสต์รูปผมสั้นลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งปังไม่แพ้กระแส #MeToo ที่ผ่านมา บรรดาโลกเก่าจ๋าควรรู้ตัวได้แล้วว่าถึงเวลาต้องปรับแนวคิดเสียที
เหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ของนักยิมนาสติกชาติพันธุ์ เชื้อสายม้ง-อเมริกัน
ทุกคนมีสิทธิที่จะมีวัฒนธรรมของตนเอง
นาทีนี้คนไทยน่าจะรู้จัก Sunisa Lee นักยิมนาสติกวัย 18 เชื้อสายม้ง-อเมริกันคนแรกที่คว้าเหรียญทองในประเภทรวมอุปกรณ์หญิง เธอดังไปทั่วโลกเพียงชั่วข้ามคืน หลังจากก้าวขึ้นมาทำหน้าที่เพื่อทีมชาติอเมริกาทดแทนรุ่นพี่อย่าง Simon Biles ตัวเก็งที่ถอนตัวออกไปจากการแข่งขันกลางคัน และเธอก็เอาชนะมันมาได้สำเร็จจริงๆ
‘I didn’t think I would ever be here’ คือสิ่งที่เธอคิดมาตลอด เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับม้ง-อเมริกันอย่างเธอ ที่จะก้าวมาเป็นนักกีฬาทีมชาติสหรัฐฯ เพราะความเป็นชาติพันธุ์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
สุนิสาเกิดและเติบโตในชุมชนม้งขนาดใหญ่ในรัฐมินเนโซต้า โดยแม่ของเธอเป็นชาวม้ง ส่วนพ่อบุญธรรมที่เลี้ยงเธอมาตั้งแต่ 2 ขวบเป็นชาวม้ง-อเมริกัน ทั้งสองเกิดที่ประเทศลาวในยุคสงครามเวียดนาม สมัยนั้นกลุ่มชาติพันธุ์ม้งต้องเสียสละชีวิตเข้าร่วมรบกับทหารอเมริกัน มีชาวม้งหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิต ครอบครัวของทั้งพ่อและแม่ของสุนิสาเคยหนีมาอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะอพยพไปตั้งรกรากที่รัฐมินเนโซต้า สหรัฐอเมริกา และให้กำเนิดลูกสาวที่รักในการกระโดดตีลังกาโลดโผนตั้งแต่เด็กๆ จนแม่ของเธอต้องตัดสินใจส่งเธอไปเรียนยิมนาสติกแบบจริงจัง โดยไม่คาดคิดว่าลูกสาวจะกลายเป็นนักกีฬาทีมชาติ และมีโอกาสเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกในวันนี้
สุนิสาเคยคิดจะล้มเลิกการเล่นกีฬาของเธอ เมื่อพ่อของเธอประสบอุบัติเหตุจนเป็นอัมพาต ทำให้ไปดูการฝึกซ้อมและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิดได้เหมือนเก่า แถมในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น โควิด-19 ก็ทำให้โอลิมปิกเลื่อน โรงยิมที่เธอใช้ซ้อมประจำก็ปิด ส่วนลุงและป้าที่ปกติจะคอยดูแลขาและเท้าของเธอเวลาบาดเจ็บก็กลับต้องเสียชีวิตลงเพราะโรคระบาดนี้ แต่สุดท้ายเหตุผลในการล้มเลิกก็ไม่หนักแน่นเท่าการฝึกซ้อมที่เธอแลกมา สุนิสาตัดสินใจว่าเป้าหมายของการมาโอลิมปิกครั้งนี้ เธอจะคว้าเหรียญเงินมาให้ได้!
เหรียญทองที่เกินคาดหวังของสุนิสายิ่งใหญ่สำหรับชาติพันธุ์ม้งมาก เพราะนี่คือกีฬาที่ต้องใช้ต้นทุนสูงหลายพันเหรียญต่อปี มันจึงเป็นกีฬาที่ไกลตัวมากๆ สำหรับผู้ลี้ภัยรุ่นแรกๆ อย่างพ่อแม่ของเธอ ความภาคภูมิใจนี้ไม่เพียงบอกว่าชาวม้งสามารถเติบโตและอยู่รอดได้ในอเมริกา แต่ยังสื่อสารกับโลกด้วยว่าท่ามกลางการเหยียดเชื้อชาติและเลือกปฏิบัติต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในกรณี #StopAsianHate พวกเขาก็เป็นชาวอเมริกันที่มีสิทธิก้าวหน้าในอาชีพและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเองเช่นกัน
การตัดสินใจถอนตัวเพื่อดูแลจิตใจ ของนักยิมนาสติกความหวังเหรียญทอง
ทุกคนมีสิทธิที่จะปกป้องสภาพจิตใจของตัวเอง
ที่ผ่านมาวงการกีฬามักจะโฟกัสไปที่ความสามารถ ศักยภาพ และสุขภาพกายของนักกีฬา แต่ละเลยประเด็นของ ‘สุขภาพใจ’ นักกีฬาน้อยคนนักที่จะกล้าซื่อสัตย์กับจิตใจของตัวเองและตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันระดับโลก แต่ไม่ใช่กับ Simone Biles นักยิมนาสติกหญิงซูเปอร์สตาร์ทีมชาติสหรัฐ ที่ลงแข่งขันถึง 6 ประเภทและถูกคาดหวังอย่างมากในโอลิมปิกครั้งนี้ เธอเท่และกล้ามากที่เลือกทิ้งเดิมพันที่ว่า หากเธอคว้าเหรียญทองได้ทั้งหมด จะได้รับยกย่องว่าเป็นนักยิมนาสติกที่เก่งกาจที่สุดตลอดกาล เพื่อปกป้องสุขภาพจิตใจของตัวเอง
“I have to focus on my mental health and not jeopardize my health and wellbeing”
ไบลส์เสียน้ำตาระหว่างให้สัมภาษณ์หลังการตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันประเภททีมแบบกลางคัน ก่อนจะทยอยถอนตัวในอีก 4 ประเภทรายการ ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอเครียดและรู้สึกประหม่าอย่างแปลกประหลาดจนไม่สามารถจะลงแข่ง จนเราตั้งข้อสงสัยว่าชีวิตของเธออาจเผชิญกับอะไรที่หนักหนามาแน่ๆ
แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ไบลส์มีวัยเด็กที่เติบโตมากับแม่ที่มีปัญหาเรื่องการใช้สารเสพติด จนเธอต้องไปอยู่บ้านอุปถัมภ์และนั่นก็ทำให้เธอได้รู้จักกับยิมนาสติก ด้วยพรสวรรค์ที่เตะตาโค้ชทำให้เธอได้ฝึกฝนและตระเวนแข่งขันตั้งแต่ 8 ขวบ ติดทีมชาติสหรัฐฯ ชุดเยาวชน ก่อนจะขยับขึ้นไปและคว้าชัยมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นดาวรุ่งแห่งวงการ ปี 2015 ซิโมน ไบลส์ ก็ครองแชมป์โลกบุคคลรวมอุปกรณ์เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ทำให้ยอดรวมเหรียญรางวัลในศึกชิงแชมป์โลกของเธอกลายเป็น 14 เหรียญ เป็นตัวเลขสูงสุดในประวัติศาสตร์ของนักยิมนาสติกอเมริกัน จากนั้นก็ไม่มีอะไรฉุดเธออยู่ เธอยังประสบความสำเร็จและคว้าเหรียญทองรัวๆ ในริโอเกมส์ 2016
แต่เบื้องหลังความสำเร็จที่งดงามของเธอ วงการยิมสหรัฐฯ ก็เกิดเรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่ เมื่อมีการเปิดโปงว่า แลร์รี่ นาสซาร์ แพทย์ประจำทีมชาติก่อเหตุคุกคามทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเหยื่อนับร้อยราย ซึ่งไบลส์ก็ยอมรับในเดือนมกราคมปี 2018 ว่าเธอเองก็ตกเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน โดยเคสนี้ทำให้เกิดประเด็นรุนแรงว่าสมาคมปิดหูปิดตาต่อประเด็นนี้ จนอเมริกาต้องล้างบางฝ่ายบริหารให้สิ้นซาก
แต่เรื่องราวโหดร้ายยังไม่จบ ในช่วงเวลาเตรียมตัวสู่โตเกียวโอลิมปิก พี่ชายของไบลส์ถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรม ซึ่งเข้าใจเลยว่าปัญหานอกสนามนี้หนักหนาพอจะให้เธอเสียการทรงตัวในชีวิต แต่เธอก็แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและหันกลับมาทรงตัวในอาชีพนักกีฬาต่อได้ ซึ่งนับว่าแกร่งมากๆ
การถอนตัวเพื่อปกป้องจิตใจของนักกีฬาซูเปอร์สตาร์ของไบลส์ ไม่ใช่ครั้งแรกของวงการกีฬา เพราะก่อนหน้านี้ Naomi Osaka นักเทนนิสซูเปอร์สตาร์ชาวญี่ปุ่นก็ถอนตัวจากการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม เฟรนช์ โอเพ่น 2021 และออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสุขภาพจิตและอาการซึมเศร้าที่เธอต้องเผชิญ เช่นเดียวกันกับ Michael Phelps อดีตนักว่ายน้ำเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 28 เหรียญจากโอลิมปิก 5 สมัยที่ออกมาให้กำลังใจไบลส์ เพราะตัวเขาเองก็เผชิญปัญหาสุขภาพจิตและเคยคิดถึงขั้นอยากจบชีวิตลง โดยเรื่องราวด้านมืดในใจของเขาถูกสะท้อนออกมาในสารคดีของ HBO ที่มีชื่อว่า The Weight of Gold
ถึงจะถอนตัวไปเกือบหมด แต่สุดท้ายไบลส์ก็ฮึดกลับมายิ้มสดใสในการลงแข่งขันแบบเดี่ยวในอุปกรณ์บาร์ทรงตัว จนคว้าเหรียญทองแดงได้ แต่สิ่งที่เธอสื่อสารออกมามันยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก เพราะมันคือการทำให้โลกหันมาตั้งคำถามกับวงการกีฬาถึงระบบการฝึกซ้อมที่มุ่งเน้นชัยชนะ แต่กลับละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ คือ ‘จิตใจ’
ชุดเต็มตัวคลุมถึงข้อเท้าของทีมยิมนาสติกหญิงเยอรมัน บรรทัดฐานใหม่ของชุดยิมนาสติกทางเลือก
ทุกคนมีสิทธิที่จะสวมใส่เพื่อปกปิด และปกป้องความมั่นใจของตัวเอง
ในขณะที่เรื่องราวการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในวงการยิมนาสติกกำลังคุกกรุ่น ทีมนักยิมนาสติกสาวชาติเยอรมันก็เปิดตัวลงแข่งในชุดสุดปัง ด้วยชุดแนบเนื้อแขนยาว-ขายาวแบบเต็มตัว แทนที่จะใส่ชุดยิมนาสติกรัดรูปและเว้าขาสูงสไตล์บิกินี่อย่างที่เคยใส่กันมา
ที่ผ่านมา IOC ยอมให้ใส่ชุดเต็มตัวได้ในกรณีที่นักกีฬามีข้อกำหนดด้านศาสนา หรือมีประจำเดือนในขณะแข่งขัน แต่ปีนี้เสียงเรียกร้องจากทีมนักยิมนาสติกหญิงเยอรมันถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงควรมีเสรีภาพในการเลือกสวมใส่ชุดที่มั่นใจในการแข่งขันได้ และต่อต้านการทำให้นักกีฬาหญิงเป็นวัตถุทางเพศผ่านเครื่องแต่งกายที่ล่อแหลม
Sarah Voss หนึ่งในนักยิมนาสติกเยอรมันวัย 21 ปีที่เลือกใส่ชุดเต็มตัวในการแข่งขันนี้ เธอให้สัมภาษณ์ว่าสิ่งที่เธอทำไม่ได้ต้องการจะบอกให้ทุกคนหันมาใส่ชุดแบบเต็มตัวเหมือนกัน แต่นักกีฬาทุกคนควรจะได้ใส่ชุดที่พวกเขาต้องการจะใส่ และรู้สึกว่าปลอดภัย นี่เป็นสิ่งที่ควรจะทำได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเธอจะใส่ชุดแบบนี้เสมอไปหรอกนะ
เหตุผลที่เธอและเพื่อนร่วมทีมต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะรู้ว่ามีนักกีฬาเด็กจำนวนมากที่รู้สึกไม่ปลอดภัยในการสวมใส่ชุดแบบนี้ เพราะอย่างที่รู้กันว่าเวลาแข่งมันต้องมีการแยกขาหรือกระโดดฉีกขาแทบตลอดเวลา บางครั้งชุดก็ไม่ปิด หรือชุดมันก็เลื่อนทำให้พะวงกับรูปร่าง ซึ่งบางทีสิ่งนี้มันทำลายสมาธิในการแข่งขันของนักกีฬาหญิง เด็กสาวหลายๆ คนเลิกเล่นกีฬานี้ไปเพราะต้องสวมชุดขาเว้าที่ไม่มั่นใจ ทั้งที่พวกเธอมีพรสวรรค์ทางด้านนี้
มากไปกว่าความมั่นใจในการแข่งขัน ในฐานะผู้หญิง พวกเธอต้องการแสดงจุดยืนเพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในกีฬาด้วยเช่นกัน
พิธีเปิดที่ไร้ผู้ชมในสนาม แต่ใส่ใจ ‘ความเป็นมนุษย์’
ทุกคนมีสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน
เก็บตกความเป็นมนุษย์อีกสักเล็กน้อย ที่โตเกียวโอลิมปิกพยายามสร้างและใส่มาในรายละเอียดให้โลกได้รับชม (ถึงแม้ว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นจะต่อต้านการจัดโอลิมปิกกันรุนแรงมาก ก็กัดฟันสู้) ไม่ว่าจะเป็น การเลือกคนที่ไม่ใช่นักกีฬาอย่าง แพทย์และพยาบาล มาร่วมวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก เพื่อเชิดชูการเสียสละของพวกเขาในยุคโควิด-19 / การให้นักกีฬาลูกครึ่งที่มีประเด็นเรื่องสภาพจิตใจอย่างนาโอมิ โอซากะ มาเป็นผู้จุดคบเพลิง / กฎใหม่ในการเชิญธงที่ต้องมีทั้งเพศชายและหญิงถือด้วยกัน (ซึ่งอาจจะดูประดักประเดิดเล็กน้อย) / การยอมให้นักกีฬาใส่ชุดประจำชาติมาเดินขบวนพาเหรด ซึ่งนักกีฬาเทควันโดประเทศตองกาที่เลือกใส่ชุดพื้นเมืองพร้อมทาตัวมันเลื่อม ก็สร้างเสียงฮือฮาได้จริงๆ / ความเข้มข้นของการต่อต้านนักดนตรีชื่อดังอย่าง Cornelius เรื่องอดีตที่เคยบูลลี่คนพิการ ทำให้เขาต้องลาออกจากทีมแต่งเพลงหลักของโอลิมปิกครั้งนี้ ด้วยเสียงคัดค้านของผู้คนว่าไม่เหมาะสม! / ฯลฯ
แม้จะเป็นพิธีเปิดที่เงียบเหงาร้างไร้ผู้ชมในสนาม แต่สำหรับเราแค่นี้ก็คือการส่งเสียงเพื่อความเป็นมนุษย์ที่ดังกึกก้องแล้ว เพราะการใส่ใจรายละเอียดเรื่องความเป็นมนุษย์นี่แหละ น่าชื่นชมและขอปรบมือให้จากหน้าจอทีวีที่บ้าน
“เราไม่ได้เป็นแค่นักกีฬา ที่สุดแล้วเราก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง”
ก่อนที่โตเกียวโอลิมปิกจะปิดฉาก เราเรียนรู้ว่าการนั่งดูกีฬาให้อะไรเราได้มากกว่าแค่ความสนุก การต่อสู้ หรือรู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย ถ้าหลับตาข้างนึงลืมเรื่องผลประโยชน์ ทั้งเรื่องการเมือง เงินทองและอำนาจไป ก็จะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของกีฬา
ยิ่งในช่วงเวลาที่บ้านเมืองชวนหดหู่จนไม่รู้จะเอาใจไปวางไว้ตรงไหนแบบนี้ การได้เห็นว่ากีฬาอันดับหนึ่งของโลกให้คุณค่าต่อ ‘ความเป็นมนุษย์’ มากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายก้าว นอกจากจะเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ทำให้มีรอยยิ้มและความหวังขึ้นมา ก็อยากให้ประเทศไทยของเรามองเห็นและก้าวตามโลกให้ทันว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ คือพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศจริงๆ
กีฬาโอลิมปิก โลกของนักกีฬา สุดท้ายแล้วมันก็แค่จำลองโลกในชีวิตจริงมาให้เราเห็นแจ่มแจ้งขึ้นเท่านั้นแหละ
อ้างอิง
- https://olympics.com
- https://www.dw.com
- https://www.bbc.com
- https://www.japantimes.co.jp
- https://www.theguardian.com/sport
- https://www.sdgmove.com
- https://www.bbc.com
- https://olympics.com
- https://www.scmp.com/sport
- https://thepeople.co
- https://edition.cnn.com
- https://stadiumth.com/
- https://www.bbc.com/sport
Read More:
ตามพ่อแม่ไปดู ว่าทำไมสวนลุมถึงเป็น Third Place ของสูงวัย
แชร์โล Third Place ของผู้สูงวัย เขาไปทำอะไรที่สวนลุมทั้งวัน
Play-lists พาใจไปเที่ยวเล่น ในวันที่ต้องอยู่บ้าน
รวมลิสต์สิ่งบันเทิงใจ ในวันที่ไวรัสไม่เป็นใจให้บันเทิงนอกบ้าน
รีวิวแอปฯ เพื่อกายใจแบบไม่มีแอ๊บ
เข้าสู่วิถีสุขภาพและ mindfulness จากที่บ้านด้วยแอปพลิเคชันในมือถือ