“เราพอแล้วกับการผิดหวังในโรงเรียน เกรดตก คุณครูขึ้นเสียงใส่แบบไม่มีเหตุผล หลักสูตรที่เก่าครึ อยากตั้งคำถามก็ได้แค่ถาม บางครั้งแค่จะคิดตั้งคำถามก็ไม่ได้แล้ว เราพอแล้ว เราเสียใจมาหลายปีแล้วกับ ‘โรงเรียน’ “
ประโยคนี้อยู่ในสเตตัสที่ทำให้เราได้รู้จักแก้ว สเตตัสที่โพสต์ข้อความร่ายยาวพร้อมรูปถ่ายเอกสารหนึ่งแผ่น ที่จั่วหัวว่า ‘ใบลาออก’ มีเครื่องหมายติ๊กถูกที่ช่อง ‘ขอลาออกจากการเป็นนักเรียน’ ถูกแชร์ออกไปหลายพันครั้ง พร้อมเนื้อความอธิบายถึงเหตุผลที่ออกจากระบบการศึกษาไปหาทางเลือกการศึกษานอกระบบ พร้อมแบกความรับผิดชอบก้อนใหญ่ติดไปด้วย
ถ้ามองโดยคนนอก คงมีคำถามในใจว่าการตัดสินใจนี้ดีที่สุดแล้วหรือ แน่ใจได้อย่างไรว่าที่ตัดสินใจไปไม่ผลีผลาม ถึงแม้การตัดสินใจครั้งนี้ของแก้วยังอยู่ในกระบวนการเริ่มต้นเดินทาง แต่การได้พูดคุยกับแก้วครั้งนี้ เรากลับได้ยินเสียงของเยาวชนชัดขึ้น และความกล้าของเธอ คือเสียงสะท้อนปัญหาระบบการศึกษาไทยที่คนรุ่นใหม่กำลังต่อสู้ได้หลายข้อเลยทีเดียว
ความฝันที่ถูกพราก
“นี่รู้สึกว่า ชีวิตได้กลับมามีชีวิตตั้งแต่ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน”
ประโยคเกริ่นเปิดสเตตัสที่บอกว่าตอนนี้ แก้วสิ้นสุดหน้าที่การเป็น ‘นักเรียน’ ในโรงเรียนด้วยความสมัครใจแล้ว หลังเคลียร์ภาระในตำแหน่งสภานักเรียนและความรับผิดชอบแต่ละวิชาที่ค้างคา ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เทอม 2 จนหมดสิ้น และแน่ใจว่าตัวตนและอุดมการณ์บางอย่างของเธอเริ่มหายไปเพราะระบบการศึกษาที่ครอบไว้จนกระดิกตัวลำบาก
“คำว่า ‘ชีวิตที่มีชีวิต’ ที่แก้วเขียนออกไป ตอนที่เขียนเรารู้สึกว่า ชีวิตที่อยู่ในโรงเรียนแล้วเลือกได้น้อยมาก ต้องทำอะไรที่ตามระบบทุกอย่าง มันจะเรียกว่าใช้ชีวิตได้ยังไงในเมื่อเราไม่ได้เลือกเอง พออยู่ในโรงเรียนเรารู้สึกว่ามีสิทธิมีเสียงน้อยมากกับการที่ต้องเลือกสักอย่างให้ตัวเอง เพราะโรงเรียนมันมีวิชาเรียนค่อนข้างที่จะน้อย บางครั้งความฝันที่เรามี วิชาเหล่านั้นก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้
“ตอนแรกก็ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าต้องลาออกจากโรงเรียน แต่โรงเรียนพรากเวลาและความฝันเราไปจากเรา เรารู้สึกว่าวิชามันไม่หลากหลายและเราก็ไม่ได้เลือกเอง หรือในเรื่องของเวลาที่จับเราไปใส่ห้องสี่เหลี่ยมกินเวลาเราไปทั้งวัน มันไม่เห็นว่ามีทางอื่นที่เราเลือกได้ จะออกมา Home School ก็รู้สึกว่าไม่เหมาะกับเรา
“พอเราออกไปเห็นโลกข้างนอกจากการไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม แล้วกลับมามองที่โรงเรียน รู้สึกว่าอุดมการณ์บางอย่างของเราหายไปแล้ว เพราะความเป็นโรงเรียนมันกดทับเรา เราไม่รู้ว่าตัวเองจะเข้มแข็งพอไหมที่จะสู้กับระบบ กลัวว่าระบบนี้จะพรากทั้งเวลา ความเป็นตัวตน อุดมการณ์ และสิ่งที่เราคิดเราเชื่อไป”
อีกหนึ่งสิ่งที่แก้วรู้สึกว่าเสียไปพร้อมกับความฝันคือ ‘เวลา’ ที่ควรเอาไปใช้กับความชอบของตัวเอง เวลาในห้องเรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็น นิยามความสำเร็จทางการศึกษาที่เน้นด้านวิชาการมากจนเกินไป ต้องเรียนตามวิชาที่เลี่ยงไม่ได้ คาบว่างแค่ 50 นาทีช่วงพักไม่สามารถต่อยอดความฝันของเด็กคนหนึ่งให้เดินหน้าในทุกวันได้
“เรารู้สึกว่าแต่ละคนมีความชอบของตัวเองอยู่แล้ว เขาโตมาขนาดนี้เขาก็อาจเห็นอะไรมามากระดับหนึ่งแล้ว ถ้าเขาจะมีความฝันหรือต้องเลือกที่ทำอะไรสักอย่างหนึ่งก็ควรมีเวลาไปขลุกกับตรงนั้น ไปดูให้เห็นว่า เขาชอบมันจริงๆ หรือเปล่า
“ก่อนหน้านี้เราฝันอยากเป็นนักท่องเที่ยว พอออกมาแล้ว ตอนนี้เราก็ยังไม่ชัวร์เหมือนกันว่าฝันนั้นยังอยู่ไหม แต่ที่เห็นชัดเลยเราได้มีเวลาอยู่กับมัน ค้นหา เรียนรู้มันได้มากขึ้นไปอีกว่า ว่ามันใช่ความฝันเราจริงๆ หรือเปล่า ตรวจสอบตัวเองจากหนังที่ดู หนังสือที่อ่าน เพลงที่ฟัง ตอบให้ได้ว่าความคิดเราเป็นยังไง ทัศนคติเราเป็นยังไง เราจะได้เห็นความเป็นตัวเองมากขึ้น”
เพราะความหวังหรือความฝันของแต่ละคนสำคัญมากพอที่ต้องหวงแหน พูดในมุมผู้ใหญ่อย่างเรา หากจะให้เล่าความฝันจริงจังก็คิดนานอยู่ เพราะไม่รู้ทำหล่นหายไปเมื่อไร จะเรียกว่าเข้าข้างแก้วก็ได้ที่เราก็อยากให้คนวัยเด็กได้ใช้ชีวิตไปพร้อมกับความฝันที่วาดไว้ให้เต็มที่เหมือนกัน
ความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าของการศึกษา
โลกในโรงเรียนอาจเทียบเป็นสถานที่จำลองของโลกจริงในสังคมใหญ่ ปัญหาในโรงเรียนกับปัญหาในสังคมเลยเป็นก้อนเดียวแค่คนละขนาด ความผิดหวังของระบบการศึกษาในโรงเรียนที่แก้วเจอ ไม่ได้มีแค่เรื่องเวลาหรือวิชาเรียนแต่รวมถึงปัญหาทั่วไปที่ถูกระบบตั้งใจครอบไว้ด้วยเหมือนกัน
“เรามีคำว่า ‘โรงเรียน’ ไว้ให้คนหลายพันคนมาอยู่ร่วมกัน เราเห็นว่าตรงนี้มันคือความหลากหลาย ทั้งความคิดความเชื่อ ความฝัน หลากหลายทั้งประสบการณ์ที่คนเรียนรู้จากกันได้ตรงนี้ แต่ว่าโรงเรียนกับไม่เห็นว่าตรงนี้มันเป็นประโยชน์ที่จะใช้จากเด็กตรงนี้ได้เท่าที่ควรเลย เด็กไม่ได้อะไรจากการอยู่รวมกันขนาดนั้น”
ดูเหมือนระบบการศึกษาพยายามจะเปลี่ยนเด็กที่หลากหลายให้กลายเป็นเฉดสีเดียวกัน อาจเพราะจะได้ควบคุมคนให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบ แต่ในขณะเดียวกันระหว่างทางนั้น เด็กแต่ละคนอาจจะทำสิ่งสำคัญหล่นหายไปก็ได้
“เราเคยเป็นสภานักเรียน บางครั้งก็คล้อยตามพริวิเลจ ไปใช้ห้องสภานักเรียนนอนแต่ไม่ได้ใช้ทำงานจริงๆ พอมีอำนาจอยู่ในมือ ทำไมเราลืมมองเห็นความเท่าเทียมได้ขนาดนี้ เราไม่อยากเป็นคนแบบนั้น เลยยอมแลกทุกอย่างก่อนที่เราจะกลายเป็นคนอื่น”
ถ้ามองในสังคมใหญ่ปัจจุบัน ปัญหาคนที่มีอำนาจล้นมือและหลงระเริงจนลืมตัวมีให้เห็นทุกวัน นี่อาจเป็นหนึ่งในผลผลิตผิดพลาดของการศึกษา หรือหากมองอีกมุมการศึกษาอาจทำหน้าที่เต็มที่แล้ว แค่แพ้ให้กับความโลภในตัวคนอย่างราบคาบ แต่อย่างน้อยเราก็ดีใจที่แก้วรู้สึกตัวไวและไหวออกมาจากจุดนั้นได้ทัน นี่เป็นอีกหนึ่งความผิดหวังของระบบที่แก้วเจอ ที่ทำให้แก้วขอเลือกทางเดินใหม่ที่ขอเดินออกมานั่งมองระบบในจุดที่ไกลที่สุด
ก้าวพ้นเซฟโซน ตั้งตนบนทางเลือกใหม่
ทางเลือกใหม่ของแก้วคือการไปสอบเทียบวุฒิ GED (General Educational Development) คือ หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนในระดับมัธยมปลาย (High School) ของสหรัฐอเมริกา ที่กระทรวงศึกษาธิการให้เท่ากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ม.6) ของไทย โดยจะต้องสอบ 4 วิชา หากสอบผ่านทั้งหมดสามารถนำผลสอบ GED ไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีข้อกำหนดในการรับสมัครเทียบวุฒิ GED ที่ต่างกันไป ซึ่งต้องเช็กมหาวิทยาลัยที่จะเปิดรับด้วย
“ช่วงที่เราอยู่ ม.3 คาบเกี่ยว ม.4 เป็นช่วงที่เราได้เดินทางบ่อย ออกไปค่ายบ่อยมาก แล้วเรารู้แล้วว่า เราชอบออกไปอยู่นอกโรงเรียนมากกว่า ชอบไปเรียนรู้สักคมข้างนอก ช่วงนั้นเราก็เรียนไปด้วยความที่เรารู้อยู่แล้วว่าโรงเรียนไม่ได้ตอบโจทย์เรา เราโชคดีมากๆ ที่มีเพื่อนคนนึงที่เขารู้ว่ามันมีระบบ GED นี้อยู่ ลาออกไปเลยก็ได้ แล้วค่อยไปสอบเทียบ เราก็เลยไปศึกษาเกี่ยวกับ GED แล้วก็เห็นว่ามันตรงกับไลฟ์สไตล์เราและวิถีชีวิตที่เราอยากใช้
“ตอนที่ตัดสินใจลาออก เรารู้แล้วว่าทางข้างหน้าต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด เหมือนเราก้าวออกจากเซฟโซน ไม่มีวุฒิ ม.6 ให้เราแล้ว แต่เราได้มีเวลาอยู่กับสิ่งที่เราอยากทำ มีเวลาเรียนรู้สิ่งที่สนใจด้วยตัวเอง ตรงกับชีวิตที่เราอยากใช้ ทางเลือกของเราคือสอบเทียบวุฒิ GED เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยคณะที่เราอยากเรียน เราก็ต้องทำงานหนักมากกับตัวเอง”
หลักสูตรนี้สามารถเรียนในโรงเรียนแล้วไปสอบเทียบระหว่างเรียนก็ได้ แต่สำหรับแก้วรู้สึกว่ามันหนักไป เลยตัดสินใจทุ่มเทให้กับการศึกษานอกระบบอย่างเดียว ซึ่งระบบนี้ยังเหมาะกับคนที่อยากเข้ามหาวิทยาลัยก่อนเพื่อน เพราะการสอบ GED ผ่าน หมายถึงจบระดับชั้นมัธยมปลาย หรือคนที่กลับมาจาก Exchange Program ไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ตอน ม.5 เมื่อกลับมาแล้วต้องการเรียน ม.6 พร้อมเพื่อนๆ แต่โรงเรียนไม่อนุญาต (และไม่อยากไปเรียนกับน้องๆ) และคนที่เรียน Home School ก็สามารถสอบเทียบวุฒิได้
“อีกอย่างต้นทุนของการศึกษา GED มันน้อยกว่าที่โรงเรียนเยอะมาก เพราะถ้าเราเรียนต่อมันอีก ตั้ง 2 ปีเลย ถ้าเป็น GED แล้ว แค่ไปสอบ 4 วิชา วิชาละประมาณ 2,000 กว่าบาท ไปสอบตอนไหนก็ได้ อยากจบเร็วก็ไปสอบเร็วได้”
แก้ววางแผนไว้ว่าจะกลับเข้าไปในระบบอีกครั้งในระดับอุดมศึกษา ในตอนนั้นคิดว่าตัวตนและความคิดพร้อมที่จะสู้ในระบบใหม่อีกครั้ง แต่นั่นก็ยังเป็นแผนการในอนาคตที่แก้ววางไว้ หากแก้วค้นเจอตัวตนของตัวเองรูปแบบใหม่ อาจมีทางเลือกให้ตัดสินใจอีกหน
ถึงเวลาคุยกับครอบครัวให้เข้าใจ
ความแน่วแน่ในการตัดสินใจและเหตุผลที่อธิบายความต้องการของตัวเองแบบชัดเจน ทำให้ครอบครัวของแก้วยอมรับกับการตัดสินใจได้ ดูเหมือนจะได้มาง่ายๆ แต่เป็นการยอมรับที่แก้วได้มาด้วยความพยายามและทำงานหนักกับตัวเองเต็มที่
“คนจะชอบคิดว่าพ่อกับแม่สปอยล์เรา แต่ตลอด 17 ปีที่อยู่กันมา เขาไม่ได้ให้อำนาจการตัดสินใจทุกเรื่อง แต่ว่าเรื่องนี้เราดีใจนะที่เขายอมเรา เพราะเราสู้ เราหาข้อมูลเยอะมากเพื่อไปไฝว้กับเขาให้เราได้ออกจากตรงนี้ ถ้าเขาตอบมาว่าไม่ให้ออก เราก็คงหาวิธีอื่นคุยกับเขาอยู่ดี เพราะตรงนี้คือเรื่องของเรา มันคือจุดเปลี่ยนชีวิตเราเลย
“เราหาข้อมูลมาแน่นมากเพื่อไปคุยกับครอบครัว ทั้งแผนการชีวิตหลังออกมา มหาวิทยาลัยที่จะเข้า ไปอธิบายให้เขาเข้าใจ ซึ่งมันไม่ง่ายเลย และตอนตัดสินใจไปเซ็นใบลาออกจริงๆ ระหว่างนั้นเขาก็ถามบ่อยมากว่าจะออกจริงๆ เหรอ มั่นใจไหม
“เราก็ไม่ใช่คนที่จะสนิทกับที่บ้าน ไม่ได้พูดทุกเรื่องให้เขาฟัง แต่วันนั้นเราคุยกับพ่อ ล็อกตาเขา ถามว่าเชื่อใจเราหรือเปล่า แล้วพ่อเชื่อมั่นในเราไหม เขาคงเห็นสายตาจริงจังของเราเขาก็เลย โอเค เราก็ดีใจที่เราได้เลือก อย่างน้อยเลยทางชีวิตตรงนี้ที่มันเป็นเรื่องที่เราควรได้เลือกเองอยู่แล้ว”
ผลของการตัดสินใจของแก้วไม่ใช่แค่ครอบครัวที่ยอมรับ แต่คุณครูที่โรงเรียนที่มาอวยพรให้ทางเดินใหม่ไม่มีอุปสรรค หรือเพื่อนๆ ที่คอยให้กำลังใจและฝากฝังให้แก้วสู้ต่อไปในทางตัวเอง แต่ดูเหมือนจะมีเพียงคุณป้าข้างๆ บ้านที่แอบค้านการตัดสินใจของแก้วอยู่หน่อยๆ ความน่ารักคือแก้วพยายามอธิบายให้ฟังอย่างตั้งใจ เหตุผลของการลาออกจากโรงเรียนในสายตาผู้ใหญ่ก็ดูจะเป็นแง่ลบอยู่เสมอ สิ่งที่แก้วพยายามอธิบายเพื่ออยากให้เขารู้ว่ามีมุมอื่นด้วย
แก้วเล่าให้ฟังว่าคุณแม่ให้เวลาใช้ชีวิตต่อจากนี้ 5 ปี เป็นทั้งเวลาเตรียมความพร้อมด้านการเงินของครอบครัวเพื่อส่งแก้วเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่รองรับ GED ซึ่งเข้าได้แค่บางคณะส่วนมากเป็นคณะนานาชาติ ซึ่งใช้ค่าเทอมสูง และเป็นทั้งเวลาเตรียมพร้อมสำหรับแก้วเอง ในการเตรียมชีวิตเพื่อเรียนต่อในคณะที่อยากเรียนต่อไป
ชีวิตที่ไม่มีหน้าที่เป็น ‘นักเรียน’
“พอออกมาจากการเป็นนักเรียน เราคือคนที่ต้องอยู่ในสังคม เราไม่ใช่นักเรียนแต่เราคือวัยเรียนรู้ เราได้เห็นตัวเองว่าตัวเองได้กลับมาเป็นคน ได้กลับมามีชีวิตมากขึ้น เราได้เห็นความเป็นคนในหลายมิติ ทั้งความคิด ความเชื่อ ชาติพันธุ์ แต่เราคือคนในสังคมเหมือนกัน เราเห็นจากการลองไปทำโปรเจ็กต์เพื่อสังคม เรามีเพื่อนต่างวัยเยอะมาก ทุกคนเรียนรู้จากกัน ทุกคนเท่าเทียมกัน”
พูดได้เต็มปากว่าแก้วเป็นเด็กกิจกรรมนอกห้องเรียนตัวยง หนึ่งในข้อดีของการออกไปเห็นโลกข้างนอกคือได้เห็นธรรมชาติความแตกต่าง บรรทัดฐานของความเท่าเทียม และมีมิติอื่นให้ได้เรียนรู้อยู่รอบตัว
“เราชอบเป็นกระบวนกร ชอบจัดค่าย ชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ทำให้เราเห็นโลกกว้างมากขึ้น พาเราไปเรียนรู้ประเด็นต่างๆ อีกมากมายที่สังคมเราต้องมี ทำให้เราได้เรียนรู้เยอะมาก ทั้งวิชาชีวิตและวิธีที่เราจะอยู่ในสังคมใหญ่ ได้เรียนรู้ตรงนี้เยอะกว่าในโรงเรียนอีก สิ่งที่ทำให้เราชอบในการทำกิจกรรมตรงนี้คือ เราชอบคุยกับคน ชอบเรียนรู้คน พอออกไปเจอข้างนอก มันทำให้เราเห็นความหลากหลายของสังคม สอนให้เราเป็นคนที่เคารพความหลากหลายของคนได้ดีมาก เรารู้สึกว่าตรงนี้มันสำคัญและโรงเรียนไม่ได้ให้ตรงนี้เรา
“ตอนนี้เราทำโครงการสื่อสารเรื่องฝายกั้นน้ำ ในโครงการของ Common School และก็ทำเพจ สัตว์ไรนิ. กับเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นคนใต้ ในเพจจะสื่อสารเรื่องของสัตว์ทุกชนิด ตอนนี้กำลังทำโปรเจ็กต์สำรวจลำน้ำ เก็บความหลากหลายของระบบนิเวศโดยใช้นักสืบสายน้ำมาช่วย”
เมื่อการศึกษาในระบบไม่ตอบความฝัน จึงต้องตัดสินใจหาทางเลือกใหม่แต่การได้มาบางสิ่งยอมต้องสละบางสิ่ง แก้วก็เหมือนกัน
“การเอาตัวเองออกมามันคือการเซฟตัวเอง เราออกมาก่อนดีกว่า ก่อนที่เราจะกลายเป็นคนอื่นไปมากกว่านี้ พอออกมาแล้วก็รู้สึกเสียใจ ที่เราเองเป็นคนชอบอยู่ในสังคม ชอบอยู่กับเพื่อนเยอะๆ เราต้องออกมา โดยที่เราไม่เจอหน้าเพื่อนอีกแล้ว ก็รู้สึกเสียใจตรงนี้ มันจะรู้สึกคล้ายกับว่าเราเอาตัวรอดเองคนเดียวหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ตั้งใจที่จะออกมาเพื่อที่จะอยู่เหนือพวกคุณ เราไม่ได้อยากบลัฟอะไรเลย เราแค่กลัวว่าตอนนั้นเราจะเสียตัวเองไปแล้ว ถ้าเราออกมาข้างนอกแล้วช่วยอะไรคุณได้ เราสัญญาว่าเราจะช่วยเลย”
อนาคตของชาติกับทางเลือกอันน้อยนิด
“การแข่งขันในโรงเรียนเยอะมาก จบแล้วก็ยังต้องออกมาแข่งขันกันอีก ตัวเลือกทางอาชีพเรามันน้อยมากจนกรอบมันเหลือแค่ข้าราชการ แพทย์ ทำไมประเทศและระบบการศึกษาถึงไม่มีช้อยส์ให้เรา ทั้งๆ ที่มันก็มี และทำไมเราเพิ่งรู้ทางเลือกเอาตอนนี้ มันดูหมดหวังและน่าหดหู่มาก”
ปัญหาการแพ้คัดออกยังเห็นได้ชัดในระบบการศึกษาไทย ป้ายไวนิลแผ่นใหญ่ที่โฆษณานักเรียนที่ติดมหาวิทยาลัยดังหรือป้ายประกาศกลุ่มเด็กเรียนเก่งของโรงเรียน ที่กำลังพูดถึงความสำเร็จของเด็กเฉพาะกลุ่ม แต่หลงลืมเด็กอีกหลุ่มใหญ่ที่อาจมีกำลังทรัพย์กำลังใจไม่พอแข่งขันไปถึงจุดนั้น นอกจากปัญหาการเหลื่อมล้ำที่เจอ ยังทำให้คนที่รู้สึกแพ้ในระบบเสียความภูมิใจในตัวเองไปแล้วไม่รู้กี่คน
ผลผลิตของระบบจากโรงเรียนควรจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้จบมาพร้อมความฝัน ความหวัง อุดมการณ์บางอย่างติดตัว ส่วนระบบที่ผลิตคนเพื่อป้อนตลาดแรงงานแต่ขาดแรงบันดาลใจอาจไม่เวิร์กแล้ว เมื่อระบบของสังคมไม่ได้ซัพพอร์ตความฝันของเด็กขนาดนั้น จึงไม่แปลกที่เด็กจะเริ่มตั้งคำถามเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า
“ตอนที่เราออกไปทำค่า ทำโครงการ ตั้งแต่เริ่มการเดินทางก็สอนเราหลายอย่างมาก ตั้งแต่เราได้เห็นว่ารถมันติดมากแค่ไหน แค่เริ่มต้นคุณภาพการเดินทางก็ไม่ดีแล้ว ถ้าสังคมที่เราอยู่มีรัฐสวัสดิการที่ดีกว่านี้ เราก็คงได้เดินทางง่ายกว่านี้
“เราใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนนานมาก มันก็ทำให้ชีวิตเรามีแต่โรงเรียน จนทำให้เขาลืมไปว่าเราไม่ได้มีหน้าที่เป็นนักเรียน ระบบอาจจะดีกับบางคน แต่มีอีกหลายคนที่รู้สึกไม่เหมาะแต่ลาออกไม่ได้ ตอนออกมาเพื่อนบอกว่าให้ใช้ชีวิตเผื่อด้วย เขาต้องรู้สึกว่าไม่ได้ใช้ชีวิตแค่ไหน เลยเสียใจที่ระบบไม่ได้ทำร้ายแค่เรา แต่ทำร้ายเพื่อนเราด้วย ทำร้ายคนที่เรารักไปหลายคนมาก มันพรากความฝัน พรากเวลา
“การยอมรับและมีความหวังอันริบหรี่ว่า จบ ม.6 สักทีเถอะ อยากออกไปแล้ว มันดูหดหู่นะ มันเลือกไม่ได้จริงๆ เพราะระบบมันครอบเรา จนเราลืมไปแล้วว่ามันมีทางเลือกอื่น และเราเลือกได้”
เพราะทุกคนมีเงื่อนไขในการใช้ชีวิตต่างกัน การออกจากระบบเลยอาจไม่ใช่ทางออกที่เวิร์กสำหรับทุกคน แก้วเล่าว่ามีรุ่นน้องมาขอคำแนะนำเยอะ จนต้องพยายามบอกคนอื่นว่าการลาออกไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดนะ แต่เป็นทางที่เหมาะกับแก้วที่สุด ก่อนตัดสินใจอย่าลืมประเมินตัวเองดีๆ
แพสชั่นที่หายไปของนักเรียนไทยตอนนี้
ทั้งสถานการณ์โรคระบาดและการจัดการของรัฐที่ล้มเหลวที่ทำให้ปัญหาของระบบการศึกษาที่เคยถูกกลบไว้ โผล่มาให้เห็นในหลายจุด ทั้งแพสชั่นในหัวที่อยากสานต่อก็ยังยาก หรือการเรียนออนไลน์ที่ชวนให้เด็กเฉา จนหลายคนรู้สึกว่าจะตั้งใจเรียนแค่ไหนก็ดูไม่เห็นอนาคต
“จริงๆ ตั้งแต่เด็กจนโตเราไม่เคยเรียนออนไลน์เลย เพิ่งเคยเรียนออนไลน์ตอนช่วงโควิดมา คุณครูจะมีวิธีการเรียนที่ต่างกันออกไป บางคนก็ติดต่อเพื่อนที่อยู่สายชั้นและฝากเพื่อนส่งต่อลิงก์ให้ จะมี Google Classroom มีคุณครูเป็นเจ้าของ Supject ก็จะมีลิงก์งานไปแปะไว้และให้เด็กโหลดไปทำ และส่งเข้ามาในนี้ บางคนก็มีลิงก์ zoom หรือ google meet
“การเรียนออนไลน์เหมือนจะมีเวลามากขึ้น แต่ภาระงานที่ต้องทำมันก็หนักอยู่ดี ส่วนใหญ่ครูจะเน้นดูงานที่เราส่ง บางทีครูก็ไม่ได้มาสอนแต่เราได้คะแนนวิชานั้น ก็งงอยู่เหมือนกันว่าได้มาได้ยังไง หรือส่งลิงก์ที่คนอื่นสอนมาให้เราเรียนรู้ มันไม่ต่างจากที่เราเรียนรู้เองเลย เลยเห็นว่าการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมาหลายอย่างยังไม่เมกเซนส์ บางอย่างเราเรียนรู้เองก็ได้นี่”
กระแสเรียกร้องให้หยุดเรียน 1 ปี เริ่มเกิดขึ้นพร้อมการเสนอความคิดเห็นหลากหลายฝั่ง เพราะความเครียดสะสม ท้อแท้ เหนื่อยล้า สิ้นหวัง ทั้งครูและนักเรียนในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองย่ำแย่แบบนี้ ทั้งปัญหาการเข้าถึงการเรียนการสอนทางไกลไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกเหมือนตัดขาดจากระบบ อีกมุมหนึ่งก็เหมือนยิ่งเสียเวลาเข้าไปอีก ทั้งความยากของภาควิชาปฎิบัติที่จะยากขึ้นสำหรับการเรียนออนไลน์
รวมถึงการประโคมการบ้านมหาศาลจนเด็กต้องขอลดการบ้านลงหน่อย จำนวนเวลาหน้าจอที่เด็กต้องนั่งนิ่งๆ มากเกินไป หรือการสอบออนไลน์ที่ต้องตั้งกล้องหลายๆ มุมเหมือนอยู่ในเรียลลิตี้โชว์ เหมือนกำลังสะท้อนว่าระบบการศึกษามีสิ่งที่ต้องการจากเด็กมากกว่าสิ่งที่จะให้ จนทำให้เด็กต้องตามใจระบบเพื่อให้ตัวเองได้รับการยินยอมให้ผ่าน แต่จบมาก็ไม่รู้ว่าตัวเองคือใคร เพราะตามใจระบบจนหลงลืมตัวเองไปแล้ว
“พวกเราโตมาในสังคมที่หยิบยื่นหน้าที่นักเรียนให้เรา เราจะได้ยินคำว่า เป็นเด็กมีหน้าที่เรียน เราก็ตั้งคำถามว่า เลิกเรียนมาเราไม่ได้เป็นลูกที่ซัพพอร์ตพ่อแม่เหรอ เราไม่ได้มีหน้าที่เพื่อนที่คอยประโลมหัวใจเพื่อนเหรอ เราไม่ใช่คนที่มีสิทธิมีเสียงต้องขับเคลื่อนสังคมที่ตัวเองอยู่ให้ดีขึ้นเหรอ มีอีกหลายมิติเลยที่ไม่ใช่แค่โรงเรียน แต่คำว่าโรงเรียนและระบบ มันดึงเวลาเราเกือบ 10 ชั่วโมงให้ไปจมอยู่ตรงนั้น”
ภาพการศึกษาในฝันที่อยากเลือกได้
การศึกษาที่ให้เวลาเด็กเพื่อไปใช้กับความฝัน อาจฟังดูเป็นไปได้ยาก แต่อย่าลืมว่าความฝันและความหวังเป็นเหมือนจุดยืนในชีวิตคนให้ก้าวต่อ ไม่ว่าจะช่วงวัยไหนการรักษาความฝันและความหวังไว้เป็นสิ่งสำคัญ
“ถ้าเราออกแบบการศึกษาได้ เราจะปรับระบบที่ให้อิสระกับผู้เรียน มีวิชาที่เลือกได้และลดเวลาเรียนลง ให้เด็กใช้เวลาตรงนี้เพื่อเรียนรู้พื้นฐานในการต่อยอดอาชีพ และใช้เวลาที่เหลือเพื่อต่อยอดความฝันที่หลากหลาย ไม่ให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เราต้องอยู่ทั้งวัน เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่แค่เป็นนักเรียนนะ เรามีหน้าที่เป็นคนคนหนึ่งที่ต้องอยู่ในสังคมด้วย”
“อย่างฟินแลนด์ที่ใช้เวลาในโรงเรียนน้อยมาก แค่ 4-5 ชั่วโมงเอง/วัน กับเราใช้เวลาเกือบ 10 ชม/วัน อยู่ในโรงเรียน เด็กเรียนไม่กี่วิชาและกลับบ้านไปพัฒนาทักษะอื่น เราก็ทำได้ ถ้าโรงเรียนให้อิสระเรามากขึ้น”
เพราะเด็กไม่ได้มีหน้าที่แค่เรียน การที่เด็กตระหนักได้ว่าเขาคือคนหนึ่งในสังคมมีสิทธิมีเสียงเท่ากับผู้ใหญ่ มีสิทธิในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะกับเขาด้วยตัวเอง เด็กแค่อายุน้อยกว่าผู้ใหญ่เท่านั้น แต่สิทธิทุกอย่างที่เขาทำได้เท่าๆ กับผู้ใหญ่หมด
เสียงของเยาวชนและการรับฟังของผู้ใหญ่ในสังคม
ปัญหาฝังรากลึกของระบบการศึกษาไทยในรั้วโรงเรียนที่เยาวชนหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนว่า พวกเขาจะไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจนิยมและเผด็จการอีกต่อไป ทั้งผูกโบว์ขาว ในแฮชแท็ก #โบว์ขาวต้านเผด็จการ ที่แสดงออกถึงหัวใจบริสุทธิ์และอุดมการณ์ของเยาวชน ชูสามนิ้ว ที่แสดงถึงเสรีภาพ สันติภาพ และภราดรภาพในโรงเรียน อีกหลายแคมเปญที่ออกมาเพื่อเรียกร้องให้คนในสังคมได้ยินเสียงของพวกเขาบ้าง รวมถึงพยายามให้ผู้ใหญ่ที่บริหารรู้ว่า ตอนนี้นักเรียนต้องเจอปัญหาอะไรอยู่
“การเรียกร้องของเยาวชนหลายๆ กลุ่มในตอนนี้ เสียงมันดังมากแล้วนะ แต่คนบริหารไม่ฟัง อยากให้เขาฟังเราบ้าง กลับมาถามว่าระบบมีปัญหาจริงไหม เราเห็นว่าควรมีตรงกลางร่วมกัน รู้สึกว่ามันใจร้ายไปที่จะทิ้งเราให้อยู่กับระบบที่เขาเชื่อว่ามันจะดีที่สุดสำหรับเรา แต่คนที่อยู่ในกรอบนั้นไม่ได้รู้สึกแบบนั้น
“อย่างความเป็นกฎระเบียบที่ลิดรอนสิทธิของเรา เช่น ทรงผม เขาบอกให้เราตัดผมสั้น โดยใช้ข้ออ้างในเรื่องของกฎโรงเรียน หากทำตามกฎตรงนี้ไม่ได้ ออกไปข้างนอกจะไปอยู่ใต้กฎหมายใหญ่ๆ ได้ยังไง ทั้งๆ ที่ข้างนอกเขากำลังพูดกันเรื่องเสรีทรงผมกันอยู่เลย เรารู้สึกว่าโรงเรียนยังไม่ปรับตามทั้งยุคสมัยและผู้เรียน”
แก้วหมายถึงแคมเปญ #เลิกบังคับหรือจับตัด ที่พูดถึงกฎในเรื่องของทรงผมที่ยังลิดรอนสิทธิของนักเรียน ในร่างกายของพวกเขา ที่ไม่ได้หมายถึงแค่เด็กอยากตัดผมแต่งตัวตามใจ แต่มันสะท้อนถึงการปิดกั้นความคิดต่างและตั้งคำถาม
“เสียงของเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องตอนนี้ เรารู้แหละว่าถึงคนที่บริหาร แต่เราก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาไม่ยอมฟัง คนที่เป็นคนเรียนเองจริงๆ สังคมและการเมืองที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ บางครั้งก็ทำให้ความฝันเราไม่แน่นอนอยู่เหมือนกัน แล้วเราก็รู้สึกโกรธการจัดการของรัฐบาลมาก ว่ามีสิทธิอะไรที่จะมาทำให้คนคนหนึ่ง รู้สึกไม่มั่นคงกับตัวเองได้ขนาดนี้
“เราเป็นเด็ก อายุสิบกว่า ทั้งที่เราจะมีชีวิตตามวัยของเรา เรียนรู้ แต่กลับต้องนั่งคิดว่า ความมั่นคงในชีวิตของเราจะเป็นยังไงต่อไป แทนที่เราจะได้สนุกกับการเรียนรู้ของเรามากกว่านี้ เรากลับมาต้องรู้สึกไม่มั่นคงกับประเทศและตัวเอง”
ปัญหาของระบบการศึกษาที่ควรมีเพื่อผู้เรียนจริงๆ กลับปั้นคนให้เข้ายุคอุตสาหกรรมดั้งเดิม แทนที่ระบบการศึกษาที่ควรจะชูความฝันความหวังของพวกเขา กลับพรากอนาคตที่ดีของพวกเขาไปแทน เลยไม่แปลกใจที่เห็นแฮชแท็ก #เอาชีวิตวัยรุ่นของเราคืนมา ในโซเชียลมีเดีย อ่านแล้วก็รู้สึกเศร้าที่เห็นความพยายามในการใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นที่ควรจะเบิกบานกลับต้องอยู่ในยุคที่มืดมนที่สุด ยิ่งการมาถึงของโควิด-19 ที่เหมือนหลายปัญหาถูกเปิดออก เพราะการจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาลและหลายหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ หวังเพียงว่าเยาวชนไทยยังจะมีพลังก้าวข้ามความบิดเบี้ยวในปัจจุบัน เพื่อส่องสว่างในอนาคตได้อีกครั้ง
บทสรุปการทางเลือกใหม่ของแก้วครั้งนี้จะจัดอยู่ในหมวดไหนของความสำเร็จในการศึกษา ขึ้นอยู่กับว่าคุณนิยามความสำเร็จสูงสุดของการศึกษาไว้ตรงไหน ทั้งหมดนี้คือการเดินทางของแก้วที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ขอเป็นกำลังใจให้แก้วให้ตามฝันและเป็นตัวเองได้อย่างที่ตั้งใจ และอยากบอกว่าขอฝากใช้ชีวิตเผื่อเราด้วยอีกคน
Read More:
เข้าใจกัญฯ ไว้ เพราะเรื่องนี้มีมากกว่าเมา
รู้จักกัญชาแบบเคลียร์ๆ ไม่ใช่สายเขียวก็มีสิทธิ์อินได้
เรื่องตบแต่ง เมื่อฉันจัดงานแต่งงานแบบเอาใจโลก
ทดลองจัดงานแต่งงานแบบเอาใจโลก แต่ก็ต้องดูใจตัวเองไปด้วย
ครอบครัวที่รัก และ___________
ครอบครัวที่ต้องเติมคำในช่องว่าง และความรักที่มีแต่…เสมอ