ติดตามเรื่อง #คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก มาตั้งแต่เกิดกระแสไวรัลเมื่อปีก่อน คิดในใจไว้แล้วว่าเดี๋ยวต้องมีภาคต่อแหง แล้วก็มีซีซั่น 2 เกิดขึ้นจริงๆ (แบบเงียบเชียบ) เมื่อต้นเดือนสิงหานี้ รัฐบาลที่รักของเราเลื่อนกำหนดให้ยังนำเข้าเศษพลาสติกจากจีนต่อไปอีก 5 ปี จากเดิมที่ต้องหยุดนำเข้าในปีนี้ กลับลำไปเป็นค่อยๆ ลดนำเข้าไปจนถึงปี 2569 (เฮ้ย!) พร้อมบอกเหตุผลว่าเป็นเพราะแรงกดดันจากธุรกิจรีไซเคิลที่เรียกร้องว่าขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจีน (แหม!)
แต่เดี๋ยวก่อนพี่คะอย่าผิดจุด พี่เห็นไหมว่าปัญหาที่แท้อยู่ตรงไหน การที่พี่จะอุ้มชูธุรกิจรีไซเคิลนั้นไม่ผิด แต่ fact ที่เรารวบรวมจากหลายๆ แหล่งก็บอกเป็นเสียงเดียวว่า ทุกวันนี้ขยะพลาสติกในบ้านเรามี ‘มากเพียงพอ’ จนไม่จำเป็นต้องนำเข้า แถมการนำเข้าเศษพลาสติกเหมาโหลราคาถูกๆ แบบนี้ มันตัดตอนให้พี่ซาเล้งและร้านขายของเก่าที่คอยจัดการขยะในบ้านเราเขาไม่มีที่ยืน แล้วปัญหาก็มาตกที่ประชาชนอย่างเราๆ ที่อยากลดภาระให้สิ่งแวดล้อมใจจะขาด แต่ไม่รู้จะแยกขยะไปส่งให้ใคร จนสุดท้ายก็หมดใจในการล้างแยก ยอมใช้ชีวิตอยู่ในมลพิษทั้งจากกองขยะในประเทศที่ไร้การจัดการ และโรงงานรีไซเคิลที่ไร้การควบคุม
ซึ่งไม่ใช่ทุกคนนะที่จะอยากยอม เราเป็นหนึ่งในเสียงนั้น ที่เบื่อกับคำสัญญาที่กลับลำและเลื่อนลอย จากนี้ขอเรียกร้องมากกว่าแค่ #คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก อยากเป็นเสียงหนึ่งที่บอกว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ใช่แค่เรื่องเดียวเล็กๆ แต่คือภาพใหญ่ของการจัดการระบบขยะในประเทศ ซึ่งถ้ารัฐทำได้ เราก็พร้อมทำด้วย (อยู่แล้ว) และจะขอเป็นฝ่ายให้คำสัญญาเอง!
อยากชวนทุกคนมาลงมือทำด้วยการแชร์สิ่งที่ตัวเองทำ พร้อมแปะแฮชแท็ก เพื่อแสดงออก เรียกร้อง และบอกต่อไปให้ถึงรัฐ ว่านอกจากภาคประชาสังคมและสมาคมซาเล้งที่เขาเดือดร้อนจนต้องออกมาคัดค้าน ประชาชนตัวเล็กๆ อย่างเราก็มีสิ่งที่อยากได้ พวกเราพร้อมจะจัดการขยะพลาสติกตั้งนานแล้ว! แล้วรัฐล่ะ จัดการอะไรบ้างรึยังกับเรื่องใหญ่ขนาดนี้! เลิกอ้างว่าติดวิกฤตโควิดสักที เพราะสิ่งแวดล้อมก็วิกฤตไม่ต่าง และส่งผลต่อองค์รวมเช่นกัน
อีกครั้งแล้วสินะที่ต้อง #คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก
ย้อนไทม์ไลน์การนำเข้าเศษพลาสติกกันอีกครั้ง เรื่องมันเริ่มต้นที่ว่าเดิม ประเทศจีนเคยเป็นแหล่งของโรงงานรีไซเคิลของโลก ประเทศพัฒนาแล้วส่งขยะไปรีไซเคิลที่จีนต่อปีมหาศาล แต่จู่ๆ จีนก็คิดได้ว่าทำแบบนี้ต่อไปจะเจอปัญหาเรื่องการจัดการขยะและมลพิษในบ้านตัวเอง ปี 2560 จีนเลยเทจ้า! เลิกนำเข้าขยะ 24 ชนิดรวมทั้ง ‘เศษพลาสติก’ แบบเด็ดขาด ทีนี้เหล่าโรงงานรีไซเคิลต่างๆ (โดยเฉพาะจากจีนเอง) ก็เลยต้องย้ายมาปักหลักที่อาเซียน หนึ่งในนั้นก็คือไทยแลนด์ของเรา (ในยุคสมัยที่เลิฟกับจีนเป็นที่สุดซะด้วยซี)
ปี 2561 หายนะก็เกิดขึ้นแบบเงียบๆ จากเดิมที่ไทยนำเข้าเศษพลาสติกมาแค่หลักหมื่นต้นๆ ต่อปี อยู่ดีๆ ก็พบว่านำเข้าทะลุไป 5 แสนตัน ท่ามกลางข่าวที่ว่ากรมศุลกากรจับกุมการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกหลายรายที่สำแดงเท็จว่าเป็น ‘เศษพลาสติก’ พูดง่ายๆ ก็คือแอบสอดไส้ ‘ขยะพลาสติก’ กับ ‘ขยะอิเลกทรอนิกส์’ มาด้วยเนียนๆ
จากเคสฉาวโฉ่นั้นจึงผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง ‘คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ในปลายปี 2562 ที่ออกมาประกาศและ ‘ให้คำมั่นสัญญา’ ว่าจบเรื่องนี้ภายในกันยายนปี 2563 (ย้ำอีกครั้งว่า กันยายนปี 2563) หลังจากการเคลื่อนไหวของสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าและองค์กรภาคประชาสังคม 65 องค์กร
หลังกันยาปี 2563 ฮั่นแน่! ยังคงพบการนำเข้าเศษพลาสติกใน ‘ฟรีโซน’ (เขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี อาทิ นิคมฯ ลาดกระบัง นิคมฯ บางปู) ซึ่งมีกฎหมายควบคุมของตัวเองแยกต่างหาก ซึ่งโรงงานที่พบว่ามีการสอดไส้ขยะตอนช่วงปี 2561 ก็อยู่แถวบางปูเช่นกัน มันเอ๊ะยังไงๆ
ยังไม่หมดแค่นั้น กลุ่มโรงงานรีไซเคิลก็ออกมากดดันและเรียกร้องกระทรวงอุตสาหกรรมให้เปิดการนำเข้าเศษพลาสติกต่อเถอะ โดยอ้างว่าขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ ระบุด้วยนะว่าต้องการนำเข้าเศษพลาสติกถึง 685,190 ตันต่อปี ทั้งที่ก่อนปี 2560 มีการนำเข้าเฉลี่ยไม่เกิน 56,000 ตันต่อปี (ตัวเลขความต้องการมันงอกมาจากไหนนะ) ส่วนด้านสมาคมซาเล้งฯ และวงษ์พาณิชย์ได้ออกมาระบุว่ามี วัตถุดิบในประเทศอย่างเพียงพอนะเธอ ไม่ต้องนำเข้าก็ได้
ผลลัพธ์ล่าสุด ต้นปีที่ผ่านมา จังหวะที่พวกเราเริ่มจ้าละหวั่นกับวิกฤตโควิดระลอกล่าสุดและการบริหารจัดการวัคซีนที่ไร้ประสิทธิภาพนั้นเอง คณะอนุฯ ก็กลับลำคำสัญญาแบบโค้งหักศอก ปรับเปลี่ยนนโยบาย ‘ไม่ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกโดยเด็ดขาดแล้วจ้า’ แต่ ‘ตั้งเป้าที่จะห้ามนำเข้าในอีก 5 ปีแทนละกัน’ หรือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป ระหว่างนี้ ‘หยวนๆ’ ให้นำเข้าได้แต่ต้องลดสัดส่วนลงทุกปี ปีละ 20% ไปก่อน (อะอะอ้าว!)
ใครได้ประโยชน์จากการนำเข้ากันแน่?
ในเมื่อบ้านเรามีเศษพลาสติก (ที่ควรจัดการ) มากพออยู่แล้ว
คำถามนี้น่าหาคำตอบ เพราะเท่าที่ดูจากการผ่อนปรนก็รู้เลยนะคะว่ารัฐฟังเสียงใครมากกว่ากัน เสียงจากฝั่งโรงงานรีไซเคิลและภาคอุตสาหกรรมที่อ้างว่าต้องการเศษพลาสติกมากมายระดับ 6 แสนกว่าตันต่อปี (มากกว่าตัวเลขนำเข้าเดิมแบบมากๆ) มันกำลังบ่งบอกว่าบ้านเรามีโรงงานรีไซเคิลเศษพลาสติกผุดขึ้นมามากมายแค่ไหนกัน มันแอบมีการสอดไส้อยู่ในการนำเข้าอีกรึเปล่า โรงงานเหล่านั้นมีการควบคุมมลพิษจากรัฐบ้างไหม แล้วบ้านเราควรจะกลายเป็นแหล่งเทขยะของโลกจริงหรือ
ขณะที่เสียงอีกด้านหนึ่งของกลุ่มซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ผู้เป็นตัวละครสำคัญมากๆ ในการจัดการขยะพลาสติกและขยะอื่นๆ ในบ้านเรา (ผู้ลงมือทำในสิ่งที่รัฐไม่ได้ทำนั่นเอง) กลับเป็นเสียงที่รัฐไม่ได้ยิน การนำเข้าเศษพลาสติกแบบเหมาโหลราคาถูกๆ จากต่างประเทศ รังแต่จะทำให้ราคาขยะในประเทศของเราเองตกต่ำลงเรื่อยๆ พอโรงงานรีไซเคิลเลิกซื้อเศษพลาสติกไทย (อ้างว่าเศษพลาสติกบ้านเราสกปรก) หันไปซื้อแต่ของนำเข้าถูกๆ ก็ทำให้ร้านขายเศษพลาสติกอยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนการจัดการสูง แต่ราคาต่ำ ส่วนพี่ซาเล้งก็อยู่ยากตามไปด้วย เมื่อร้านไม่อยากรับซื้อ ราคาก็ตก คนก็ไม่อยากแยกเพราะมันขายไม่ได้ราคา พี่ๆ เขาก็หาวัตถุดิบได้น้อยและรายได้น้อยลงไปอีก
ถอยออกมามองภาพนี้ดีๆ คนที่เสียประโยชน์ที่สุดไม่ใช่ใคร แต่คือประชาชน (อีกแล้วค่า) ที่ต้องอยู่ในประเทศที่รัฐไม่แยแสขยะในบ้านตัวเองเลย แทนที่จะหาวิธีจัดการขยะในประเทศให้ดีพอ แล้วเปลี่ยนให้มันมีมูลค่า อุ้มคนในวงจรให้อยู่ได้ ดั๊นไปนำเข้าขยะเข้ามาเพิ่ม ส่งให้โรงงานรีไซเคิลของนายทุนต่างชาติที่ปล่อยมลพิษเพิ่มให้บ้านเราเสียอีก วันดีคืนดีก็มาบอกให้ประชาชนทิ้งขยะให้ลงถัง ออกนโยบายเลิกใช้ถุง เดี๋ยวค่ะพี่ พวกเราไปไกลกว่านั้นแล้ว!
เราจะไม่ปล่อยให้พี่ๆ ซาเล้งออกมาเรียกร้องลำพัง
อย่าดูถูกแอคชั่นของพวกเราค่ะ ที่บอกว่าพวกเราไปไกล อยากให้รัฐลองไปมองดูว่ามีคนจำนวนมากแค่ไหนที่กำลังแยกขยะในบ้านของตัวเองแล้วส่งให้ภาคเอกชนจัดการต่อ (เสิร์ชดูเองเถิดที่กลุ่มพันธมิตรแยกขยะต่างๆ เช่น ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป / Greenery Challenge / KongGreenGreen) แม้เราจะทำกันในเงื่อนไขปลายทางที่จำกัด และแม้มันจะยากที่ต้องทำไปพร้อมๆ วิกฤตโควิด อาจจะเพอร์เฟกต์บ้าง ไม่เพอร์เฟกต์บ้าง แต่พวกเราก็ทำอยู่นะ และเราก็ไม่ได้มองข้ามแก่นของปัญหา ว่าบ้านเราขาดการจัดการขยะที่ดีและเป็นระบบจากรัฐนั่นเอง
ขอตะโกนบอกรัฐด้วยคนว่า
เราพร้อมจะทำตามสัญญา
ถ้ารัฐทำสิ่งต่อไปนี้…
ข้อ 1
ใครบอกว่าขยะพลาสติกบ้านเราไม่มากพอก็บ้าแล้ว ถ้าดูข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงสิบปี (พ.ศ. 2552-2561) นอกจากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดจะเพิ่มขึ้น จาก 24.11 ล้านตัน เป็น 27.93 ล้านตัน ปริมาณขยะพลาสติกก็เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2561 คิดเป็น 12% ของขยะมูลฝอย หรือประมาณ 2 ล้านตัน โดย 1.2 ล้านตันเป็นถุงพลาสติก ที่เหลือเป็นพลาสติกชนิดอื่นๆ เช่น กล่อง ถาด ขวด ฝาจุก แถมข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยยังประเมินว่าวิกฤต COVID-19 จะทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 15% จาก เฉลี่ยวันละ 5,500 ตัน/วัน เป็น 6,300 ตัน/วัน มันก็ควรเป็นหน้าที่ของรัฐหรือเปล่าที่ต้องจัดการสร้างระบบและนำขยะในประเทศตัวเองไปเข้าระบบรีไซเคิล แต่ที่ผ่านมารัฐกลับปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชน พี่ซาเล้ง และเอกชน รับผิดชอบกันเอง
ใครบอกว่าขยะพลาสติกบ้านเราสกปรก พูดแบบนี้คนแยกขยะตัวเล็กๆ อย่างเราก็เคืองเหมือนกัน เพราะเรื่องนี้พวกเราก็รู้และพยายามล้างให้สะอาดและแยกให้ได้มากที่สุดก่อนไปถึงมือพี่ซาเล้งหรือเอกชนต่างๆ เพราะเราอยากช่วยลดภาระต้นทุนในการจัดการของร้านขายเศษพลาสติกได้อีกทอด แต่นี่เราแยกพลาสติกกันอยู่ดีๆ พี่ซาเล้งไม่รับซื้อเหมือนเก่า เพราะราคามันตก อันนี้มันก็ไม่แฟร์เลยนะ
ถ้ารัฐ ‘หยุดนำเข้าเศษพลาสติกให้จบในปี 2564 นี้
หันมาใช้เศษพลาสติกในประเทศแทน
แล้วพาผู้ซื้อกับผู้ขายเศษพลาสติกในไทยมาเจอกัน’
เราสัญญาจะแยกขยะพลาสติกในบ้านดีๆ ส่งให้พี่ซาเล้งทุกเดือน
ข้อ 2
เอาจริงๆ เวลาแยกขยะอิเลกทรอนิกส์ทีไร ปัญหาคลาสสิกคือมันหาที่ทิ้งยากมากในประเทศนี้ ซึ่งคนที่รับไปจัดการส่วนใหญ่คือเอกชน และแม้จะมีหน่วยงานรัฐที่ประกาศรับขยะกลุ่มนี้ ก็ไม่เคยเห็นนโยบายจัดการ e-waste ที่เอาจริงเอาจังหรือภาพการจัดการขยะเหล่านี้จริงๆ ของรัฐเลย
ในฐานะคนที่พยายามแยกขยะ e-waste พอรู้ว่าการนำเข้าเศษพลาสติกกับเม็ดพลาสติกแอบหมกเม็ดนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์มาในประเทศเราด้วย (หรือบางทีก็มาในรูปแบบเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง) ก็ยิ่งเซ็งมากๆ เพราะมันแปลว่ารัฐไม่เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าเท่าที่ควรเป็น สิ่งที่ควรทำคือเพิ่มบทลงโทษคนที่สำแดงเท็จ และเผยแพร่ความคืบหน้าของการจับกุมคดีเหล่านี้ให้ใหญ่ไม่แพ้ข่าวแมสอื่นๆ ด้วยซ้ำ
อีกเรื่องคือการลงทุนอุตสาหกรรมรีไซเคิลจากต่างประเทศที่ใช้บ้านเราเป็นฐาน (เข้ามาแปรรูปเศษพลาสติกที่นำเข้าแล้วส่งออก) การลงทุนแบบนี้สร้างความไม่เป็นธรรมแบบเห็นๆ เลย กระทรวงอุตสาหกรรมควรทบทวนนโยบายดีๆ
ถ้ารัฐ ‘เลิกหนุนโรงงานรีไซเคิลที่ไม่เป็นธรรม
ขยันตรวจสอบว่ามีขยะแฝงมาในการนำเข้าเม็ดพลาสติกรึเปล่า
และมีระบบจัดการ e-waste จริงๆ สักที’
เราสัญญาจะแยกขยะอิเลกทรอนิกส์ รวบรวมให้รัฐจัดการ
ข้อ 3
ข้อสุดท้ายนี้ อยากบอกว่าวิธีแก้ปัญหาขยะและนโยบายที่รัฐทำ มันยังไม่ใช่อ้ะ! ที่ผ่านมาประชาชนแยกขยะเองก็แล้ว ลดใช้ถุง (ตามนโยบายที่รัฐคิดว่าดี) ก็แล้ว แต่รัฐไม่ทำอะไรให้เราบ้างเลย ลองดูหลายๆ ประเทศที่เขามีเป้าหมายขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้นโยบาย BCG (Bio-economy, Circular Economy, Green Economy) เหมือนๆ กับเรา ก็ต้องเริ่มตั้งต้นที่การสร้างระบบที่ดีพอไปควบคู่กับการออกกฎหมายที่สอดคล้องกันทั้งนั้น
ยกตัวอย่างนะ เวียดนามกับมาเลเซียมีกฎหมายให้ประชาชนแยกขยะ สิงคโปร์และญี่ปุ่นมีกฎหมายให้ผู้ผลิตรับผิดชอบขยะ (EPR) จีนมีกฎหมายห้ามและควบคุมพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง กฎหมายส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว และกฎหมายห้ามนำเข้าส่งออกขยะ ส่วนเยอรมันนี่ไปไกลถึงขั้นกฎหมายเก็บค่าขยะตามปริมาณเลยเอ้า! ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ เริ่มต้นจากการที่รัฐมีระบบจัดการขยะที่ดีมารองรับนั่นเอง ไม่ใช่การโทษประชาชน หรือโยนให้เอกชนไปซะหมด
ถ้ารัฐ ‘สร้างระบบจัดการขยะที่ดี
พัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศ
มีกฎหมายควบคุมมลพิษและกากของเสียที่เข้มงวด
และออกกฎหมายแยกขยะจริงจัง’
เราสัญญาจะทำตามกฎหมาย ไม่งอแงอยู่แล้ว
ไม่ได้มาคัดค้านดื้อๆ แต่อยากบอกว่าเรา
‘พร้อมจะลุยมานานแล้ว’
ถ้าคุณคือประชาชนที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วไม่โอเคกับการนำเข้าเศษพลาสติก และไม่โอเคกับการจัดการขยะของรัฐยิ่งกว่า (เหมือนกับเรา) อยากชวนมาส่งเสียงตะโกนบอกรัฐดังๆ ไปด้วยกัน รูปที่คุณเห็นเหล่านี้คือภาพแยกขยะพลาสติกแบบสมัครเล่นของทีมไอแอลไอ ใครที่แยกอยู่เหมือนกัน ก็อย่าลืมแชร์คอนเทนต์นี้ แล้วถ่ายรูปแยกขยะไปอวดรัฐว่า
“พวกเราทำแล้ว รัฐล่ะทำหรือยัง?”
ชวนอวดรูปแยกขยะพลาสติกที่บ้าน แล้วติด 2 แฮชแท็ก
#บอกรัฐว่าเราพร้อม
#คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก
Read More:
บันทึก 7 วันไม่อันตราย เพราะไม่ใช้ถุงพลาสติก
บันทึกการรับและไม่รับถุงพลาสติกจากร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตตลอด 7 วัน
ทดลองพกถุงก๊อบแก๊บไปใช้ซ้ำในชีวิตประจำวัน (ฉบับคนขี้ลืม)
อยากรียูสถุงก๊อบแก๊บ แต่ลืมเอามาทุกที ก็ต้องหาวิธีแก้กันหน่อย
ป้ายยาและรีวิวแก้วกาแฟเทกอะเวย์แบบมนุษย์วัตถุนิยม (และไม่มีโฆษณาเข้า)
ป้ายยาและรีวิวแก้วกาแฟด้วยประสบการณ์การใช้งานจริง