Home —— ผลการทดลอง

ทดลองเว้นระยะห่างกับ ‘ทิชชู่’ 1 เดือน

คุณหยิบทิชชู่กี่แผ่นต่อครั้ง? เราหยิบทิชชู่ 4 แผ่นต่อครั้ง และไม่ได้รู้สึกว่าเยอะเลยจนกระทั่งสังเกตการซื้อของเข้าบ้านของตัวเอง พบว่ามีจำนวนทิชชู่ที่ซื้อมาเยอะกว่าของกินเสียอีก ถึงกับต้องถามตัวเองว่านี่เราใช้เยอะไปหรือเปล่า กลายเป็นมนุษย์เสพติดทิชชู่แล้วใช่ไหมนะ

ทิชชู่ที่เรารักและชอบใจจะต้องสีขาวสะอาด ต้องหนา ต้องเหนียวนุ่ม แต่สัมผัสนุ่มสบายที่เราเสพติดเกิดขึ้นแค่ชั่วครู่เท่านั้น ก่อนที่ทิชชู่ขาวสุดสะอาดจะกลายร่างเป็นขยะติดเชื้อภายในเสี้ยวนาที เป็นวงจรความสบายใจที่แสนสั้น หมดสิทธิ์ใช้ซ้ำหรือนำกลับมารีไซเคิล หากเป็นทิชชู่ที่หนามากอาจทับถมจนย่อยสลายยากไปอุดตันท่อน้ำอีก หรือทิชชู่เปี่ยมเชื้อโรคของเราก็กลายเป็นขยะอันตรายในช่วงโควิดได้อีก พอคิดดีๆ การใช้ชีวิตประจำวันของเราก็ส่งผลกระทบต่อรอบข้างจนเป็นเรื่องใหญ่อยู่เหมือนกัน 

เราเลิกใช้ไม่ได้หรอกบอกตรงนี้เลย แต่จะลดและเลือกใช้ทิชชู่ยังไงให้รู้สึกว่าไม่ใจร้ายกับสิ่งแวดล้อมมากไป เลยรับภารกิจจากตัวเองตั้งปณิธานหาญกล้าว่าจะเว้นระยะกับทิชชู่ไป 1 เดือน จะทำได้ไหมทำได้หรือเปล่า รอลุ้นกันต่อในบทความนี้เลย ในบทความมีทริกการใช้ทิชชู่ง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้มาฝากด้วยนะ

ใช้ทิชชู่มาตั้งนาน ทำไมเกิดอยากจะลดขึ้นมา?

1-2-3-4 นี่คือจำนวนการหยิบทิชชู่ต่อครั้งพร้อมจังหวะมือที่เคยชิน ผลาญทิชชู่ต่อครั้งขนาดนี้จะไม่ให้ซื้อถี่ยังไงไหว เริ่มเอ๊ะในตัวเองตอนลิสต์ของที่จะไปซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะทุกครั้งจะต้องมีรายการทิชชู่ติดเข้าไปตลอด ที่เราใช้ทิชชู่เยอะขนาดนี้ เพราะเรารู้สึก ‘สะอาด’ หรือจริงๆ เราใช้เพื่อเอาความ ‘สบายใจ’ มากกว่ากันแน่ การได้ใช้ทิชชู่หนา นุ่ม ไม่เป็นขุยเป็นความสบายใจที่เกิดขึ้นไม่กี่นาทีก็ต้องโยนลงถังขยะแล้ว แบบนี้เรียกเสพติดทิชชู่หรือเปล่านะ 

เมื่อไม่นานมานี้ อ่านเจอมาว่าเจ้าทิชชู่เวอร์ชั่นเหนียวหนานุ่มที่เราเสพติดมันสร้างปัญหาให้โลกไม่น้อยเลย ถ้าทิ้งลงชักโครกก็ย่อยสลายยาก ถึงจะเปื่อยยุ่ยได้แต่ก็ใช้เวลานานกว่าทิชชู่ทั่วไป และมีโอกาสรวมกันจนทำให้ท่อตันมาหลายบ้าน หรือลุกลามไปอุดตันในท่อน้ำใต้ดินจนอาจเป็นสาเหตุน้ำท่วมได้! ถึงแม้ว่าการทิ้งทิชชู่ชักโครกจะถูกต้องด้านอนามัยมากกว่าทิ้งลงถุงหรือถังขยะ (อย่างที่เราเห็นเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น) เพราะไม่ก่อให้เกิดเชื้อโรคสะสม แต่บ้านเราไม่ได้มีนโยบายหรือการรณรงค์ให้ทิ้งทิชชู่แบบนี้เท่าไหร่

แถมความหลากหลายของกระดาษที่ทิชชู่ในบ้านเราก็เน้นเรื่องสัมผัสสบายมากกว่าย่อยสลาย ทิชชู่ก็เลยกลายเป็นขยะที่ถูกส่งไปเผาหรือฝังกลบ

หลายคนอาจคิดว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวทิชชู่ก็ย่อยสลายไปเองได้ แต่อีกปัญหาที่เกิดจากขยะทิชชู่ในช่วงนี้ คือการที่มันกลายเป็นขยะติดเชื้อที่อาจมีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ การใช้แล้วทิ้งรวมกับขยะอื่นอาจสร้างภาระให้พี่ๆ พนักงานเก็บขยะที่ต้องคลุกคลีอยู่กับขยะติดเชื้อตลอดเวลา เรื่องนี้เราอาจแพนิคไปหน่อย แต่ก็ทำให้เราอยากลดการใช้และใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เลยรับภารกิจจากตัวเองเว้นห่างทิชชู่สัก 1 เดือน ให้มันรู้กันสักตั้ง!

ผลการทดลอง 1 เดือน

week 1: ยาก! อยากยอมแพ้ คนคูลๆ ที่มั่นใจได้หายไปแล้ว นี่เราติดทิชชู่ขนาดนี้เลยหรอ ทำไมการลดการใช้ถึงยากกว่าที่คิด ยังเคยชินจังหวะการหยิบแบบเดิมเพราะรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะสะอาดเท่าการใช้ทิชชู่เยอะๆ เลยสู้กับตัวเองต่อโดยการหาผ้าเช็ดแล้วแห้งไวจำนวน 2 ผืน มาวางแทนตำแหน่งทิชชู่ หยิบกล่องทิชชู่ออกไปไกลการเอื้อมถึง ใช้ผ้าเช็ดน้ำหก คราบเปื้อนต่างๆ แทน ปัญหาต่อมาที่เกิดคือ เพิ่งรู้ว่าตัวเองขี้เกียจซักผ้า จะต้องหาวิธีมาสู้กับผ้าอีก!

week 2: สังเกตตัวเองต่อพบว่า ไม่สามารถฝืนใจใช้ผ้าที่เช็ดคราบสกปรกได้เกิน 3 ครั้ง เพราะติดนิสัยใช้แล้วต้องทิ้งเลยจะสะอาดที่สุด เลยเกิดปรากฏการณ์ผ้างอกจาก 2 เป็น 4 เช็ดปุ๊บวางกองปั๊บ ไม่ได้ซัก จนต้องกลับไปง้อทิชชู่เพราะไม่มีผ้าใช้แล้ว การซักหลายครั้งต่อวันมันต้องใช้ความขยันเยอะมากซึ่งเรามีไม่พอ เลยเจอวิธีซักผ้าพร้อมล้างจานตอนเย็นแทน ซักตอนเย็นแล้วตากตอนเช้าเอามาใช้ต่อ เวิร์ก!

week 3: สายตายังมองหาทิชชู่อยู่ตลอดเวลาที่ทำน้ำหกเลอะเทอะ ด้วยความที่ย้ายกล่องทิชชู่ไปไกลเกินเอื้อมเลยยากต่อการหยิบ ตัวเลือกแรกที่มือเอื้อมถึงคือผ้า ถ้ามีผ้าทุกระยะการเอื้อม คนขี้เกียจลุกเดินอย่างเราก็จะเลือกผ้าก่อนแน่ๆ เลยไปหยิบผ้ามากระจายตามจุดที่เรานั่งบ่อยๆ ให้เห็นง่ายและหยิบใช้ได้ก่อนสายตาจะกวาดไปเจอทิชชู่ วิธีนี้ก็เวิร์ก!

week 4: วีคสุดท้ายนี้ดูเหมือนเราจะสนิทกับผ้าขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดตอนทำน้ำหกแล้วสมองสั่งให้มือคว้าผ้าเป็นอย่างแรก ถึงตาจะเหลือบไปหาทิชชู่ก็เถอะ เป็นความรู้สึกที่แปลกเพราะเราไม่เคยคิดแบบนี้มาก่อน ดีใจนะ ถึงแม้ว่าจะเลิกใช้ไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาทิชชู่ก็ไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกอีกต่อไป จากการลองผิดลองถูกกับตัวเอง 1 เดือนเต็ม เลยมีทริกง่ายๆ มาฝากทุกคนด้วย

ทดลองลดทิชชู่ในครัว
วางผ้าให้ใกล้มือ วางทิชชู่ให้ไกลเกินเอื้อม!

ตำแหน่งการวางสำคัญมาก! โดยทั่วไปอะไรใกล้มืออยู่ในระยะเอื้อมถึงเราจะหยิบสิ่งนั้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้นอยากให้ตัวเองเลือกสิ่งไหนวางสิ่งนั้นไว้ใกล้มือซะ พื้นที่ที่เราใช้ทิชชู่เปลืองที่สุดคือ ในครัว เริ่มที่จุดล้างจานซึ่งเราติดนิสัยใช้ทิชชู่เช็ดมือทุกครั้งที่ล้างจาน ล้างมือเสร็จ สุดจะเปลือง อย่างที่บอกว่าการวางผ้าไว้ใกล้ๆ ช่วยได้มาก ให้ตัวเลือกแรกเป็นผ้าก่อนทิชชู่ 

ที่สำคัญควรเลือกผ้าให้เหมาะกับการใช้งานควรเป็นผ้าที่ซับน้ำได้ดี แห้งเร็ว เก็บเศษฝุ่นได้ หรือถ้าซับคราบน้ำมันได้ก็จะดี จากการลองผิดลองถูกเลือกผ้าที่ไม่ตรงกับการใช้งาน ทำให้การหยิบผ้ามาเช็ดเต็มไปด้วยความหงุดหงิดเพราะผ้าไม่ซับน้ำ ผ้าแห้งช้า เลยขออนุญาตตัวเองซื้อผ้าผืนใหม่และแต่งตั้งผืนเก่าให้ทำหน้าที่เช็ดฝุ่นแทน การเลือกผ้าที่เหมาะมือจะช่วยให้เราหยิบผ้ามาเช็ดด้วยความมั่นใจในความสะอาดได้ดีกว่ามาก

ทดลองลดทิชชู่ในครัว
ใช้เช็ดพื้นผิวทั่วไป ใช้ทิชชู่จากเยื่อกระดาษรีไซเคิลดีกว่า

การเลือกประเภททิชชู่ให้เหมาะสมกับความต้องการใช้งานคือสิ่งจำเป็นมากๆ หากเช็ดแค่พื้นผิวที่เปรอะเปื้อนทั่วไปเลือกใช้ทิชชู่จากเยื่อกระดาษรีไซเคิลดีกว่า เพราะ ทิชชู่สีขาวจั๊วะทั่วไปผลิตจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ (Virgin Pulp) ต้องตัดต้นไม้จำนวนมหาศาลเพื่อใช้เยื่อไม้และได้ทิชชู่จำนวนไม่มาก นอกจากนั้นยังต้องใช้สารเคมีฟอกสีให้ขาวที่ดีไม่ดีอาจรั่วไหลลงไปในแหล่งน้ำได้ ส่วน ทิชชู่จากเยื่อกระดาษรีไซเคิล (Secondary Pulp) จะทำจากกระดาษใช้แล้ว เช่น กระดาษเอสี่ กระดาษนิตยสาร กระดาษสีน้ำตาลจากกระดาษลัง กระดาษหนังสือพิมพ์ ฯลฯ นำมาผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อและอบผ่านความร้อนกว่า 200 องศาเซลเซียส ที่เราเคยเห็นเป็นกระดาษสีน้ำตาลหรือกระดาษสีขาวตุ่นๆ นั่นแหละ 

มีตัวเลขที่น่าตกใจจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ หรือ United States Environmental Protection Agency (EPA) บอกว่า หากใช้กระดาษที่ทำจากเยื่อเวียนใช้ใหม่ 1 ตัน จะช่วยต้นไม้ได้ 17 ต้น ประหยัดน้ำ 26,500 ลิตร ประหยัดไฟฟ้า 4 ล้านวัตต์ ลดการใช้น้ำมัน 378 ลิตร และลดมลพิษทางอากาศ 27.5 กิโลกรัม เลยทีเดียว

ทดลองลดทิชชู่ในห้องน้ำ
เอาทิชชู่เช็ดมือออกไป เอาผ้านุ่มฟูแห้งไวมาแทน

คนติดทิชชู่อย่างเราใช้ทิชชู่ในห้องน้ำ 2 แบบ แบบแผ่นไว้เช็ดมือและแบบม้วนไว้เช็ดก้น เลยคิดว่าจะลดการใช้แบบแผ่นออกและใช้ผ้านุ่มฟูแห้งไวมาแทน สำรองผ้าเช็ดมือผืนใหม่ไว้ในห้องน้ำเสมอ เอาออกมาซักทุกสัปดาห์ การเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้เราไม่รู้สึกฝืนใจเลย เพราะตอนเช็ดมือเราแทบไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าเช็ดกับอะไร คิดแค่ผลลัพธ์ว่ามือต้องแห้ง ฉะนั้นการใช้ทิชชู่เลยไม่จำเป็นอีกต่อไปเพราะผ้าเช็ดมือก็ทำหน้าที่ได้ดีแถมนุ่มฟูน่าสัมผัสกว่ามาก ส่วนทิชชู่สำหรับเช็ดก้นตอนถ่ายหนักเบา ลองสังเกตตัวเองว่าปริมาณการใช้กี่แผ่น ใช้มากไปหรือเปล่า หากลองลดสักแผ่นแล้วถ้ายังใช้งานได้ปกติ วิธีการค่อยๆ ลดไปก็ไม่แย่น้า

ผลการทดลอง
ไม่ใช่แค่ลดได้ แต่ยังทำให้เลือกซื้อทิชชู่เก่งขึ้น

เลือกทิชชู่ใช้ในห้องน้ำที่มีฉลากยืนยันว่าทิ้งลงชักโครกได้ จะได้ไม่อุดตัน

โดยหลักการแล้วกระดาษกลุ่มนี้ต้องย่อยสลายง่าย เพื่อว่าเมื่อใช้เช็ดหลังการขับถ่ายหนักเบาแล้วทิ้งลงชักโครกได้เลย เช่น ในประเทศญี่ปุ่นหรือในยุโรปส่วนใหญ่จะให้ทิ้งทิชชู่ลงชักโครก แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่ยังคงต้องทิ้งทิชชู่ลงในถังขยะเพราะระบบบำบัดน้ำเสียยังไม่ค่อยอำนวยรวมถึงไทยด้วย ในขณะเดียวกันทิชชู่หลายๆ ยี่ห้อในบ้านเราส่วนใหญ่จะคำนึงถึงความเหนียวนุ่มมากกว่าย่อยสลายง่าย ทำให้มีทิชชู่ที่ไม่สามารถทิ้งลงชักโครกได้หลายประเภท เช่น ทิชชู่เหนียวหนานุ่ม ทิชชู่เช็ดหน้า ทิชชู่เปียก เป็นต้น แต่ในปัจจุบันเริ่มเห็นว่ามีหลายยี่ห้อที่ยืนยันว่าสามารถทิ้งลงชักโครกได้ ลองพลิกหาฉลากกำกับหรือไม่แน่ใจลองทักไปถามแบรนด์โดยตรงก็ได้นะ ในกรณีที่ระบบชักโครกของบ้านหรือบางคอนโดไม่รองรับการทิ้งทิชชู่ลงชักโครก เพราะอุดตันแล้วจะเรื่องใหญ่ ใช้วิธีแยกทิ้งใส่ถุงใสเพื่อให้เห็นชัด พี่ๆ พนักงานเก็บขยะจะได้ไม่ต้องเปิดและเขียนกำกับถุงไว้ด้วยว่า ‘ขยะติดเชื้อ’ อาจดีกว่า

เลือกทิชชู่ม้วนไร้แกนลดขยะกระดาษ ไม่ต้องหนานุ่มมากจะย่อยสลายง่าย

ประโยชน์หลักๆ ของทิชชู่ไร้แกนคือ ไร้ขยะกระดาษจากแกนและได้ความยาวของทิชชู่ที่มากขึ้นใช้ได้เยอะขึ้น ที่ต้องมีแกนทิชชู่ก็เพราะต้องแขวนกับตะขอในห้องน้ำแต่จริงๆ ไม่มีแกนก็สามารถแขวนได้เช่นกัน ถึงทิชชู่ไร้แกนยังหาซื้อยากในซูเปอร์ฯ บ้านเรา แต่เห็นว่าหลายยี่ห้อที่ขายก็มีให้สั่งออนไลน์ด้วยนะ ลองเลือกยี่ห้อที่บางหน่อยย่อยสลายง่ายๆ ด้วยก็จะดีเลย

เลือกซื้อทิชชู่จากเยื่อกระดาษรีไซเคิลไว้ก่อน เช็ดได้สะอาดเหมือนกัน

ทิชชู่จากเยื่อรีไซเคิลผ่านการทำฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว สามารถใช้ได้อย่างสบายใจ  อยากให้เป็นตัวเลือกแรกก่อนจะหยิบทิชชู่สีขาว เพราะการผลิตทิชชู่สีขาวไม่ได้ใช้แค่เยื่อไม้บริสุทธิ์จากต้นไม้เท่านั้นยังต้องใช้พลังงานน้ำ สารเคมีในกระบวนการฟอกกระดาษให้ขาว ถ้าหลุดรอดออกไปเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแน่ๆ 

ที่ต้องระวังคือทิชชู่ขาวส่วนใหญ่จะมีตราสัญลักษณ์รับรองว่ามาจากต้นไม้ที่ปลูกอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค เช่น FSC, PEFC, Rainforest Alliance Certified, NSF Sustainability Certified และอื่นๆ แต่หลังๆ มานี้มีการเปิดเผยว่าหลายอุตสาหกรรมใหญ่ที่ได้การรับรองความยั่งยืน แต่ก็ไม่ทำตามข้อตกลงและยังทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยการตัดป่าเกินความจำเป็น ทำให้เกิดกระแสต่อต้านเรื่องการฟอกเขียวระบบนิเวศ เกิดข้อถกเถียงเรื่องความยั่งยืนของการผลิตสินค้าในหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งตั้งคำถามกันว่านี่คือการผลักภาระให้ผู้บริโภคหรือเปล่า แต่ก็ยังมีบางอุตสาหกรรมที่ยังดำเนินไปด้วยความซื่อสัตย์และทำตามข้อตกลงอยู่จริงๆ ผู้บริโภคอย่างเราอาจหวังได้แค่ว่าจะมีมาตรฐานที่เข้มงวดในอุตสาหกรรมนี้อีกครั้ง

เลือกทิชชู่เปียกที่มีเส้นใยธรรมชาติและออร์แกนิกจะย่อยสลายได้ง่ายกว่า

หลังจากที่เรารู้ว่าทิชชู่เปียกต้องใช้เวลานานกว่า 100 ปี ในการย่อยสลายซึ่งไม่ต่างจากขยะพลาสติกชิ้นหนึ่งเลย ที่ย่อยสลายยากเพราะทิชชู่เปียกมีเส้นใยพลาสติกประเภทโพลีเอสเตอร์ผสมอยู่ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ควรทิ้งลงชักโครกเพราะอุดตันท่อแน่นอน บางคนจึงเลือกใช้ ‘ทิชชู่ซักได้’ ใช้ซ้ำได้ 3-4 ครั้ง ที่ซักได้เพราะมีคุณสมบัติคล้ายทิชชู่เปียกที่มีส่วนผสมของพลาสติก การซักทิชชู่แบบนี้อาจมีไมโครพลาสติกแยกร่างไหลไปตามแหล่งน้ำได้ คำแนะนำแบบเด็ดขาดคือควรเลิกใช้ แต่ถ้าขาดไม่ได้ การเลือกใช้ทิชชู่เปียกที่มีเส้นใยธรรมชาติประกอบด้วยจะช่วยให้ย่อยสลายได้ง่ายกว่า หรือถ้าเลือกใช้ทิชชู่ธรรมดาแทนได้ก็จะดีกว่ามากเลย

เพิ่มเวลาสำหรับการยืนเลือกทิชชู่นานกว่าเดิมสักหน่อย พลิกดูคุณสมบัติของกระดาษทิชชู่ที่รักหน่อยว่าย่อยสลายได้มากขนาดไหนแล้วเลือกให้ตรงกับการใช้งาน ลองซื้อให้น้อยลงก่อนก็ได้นะ แล้วหาผ้าที่เข้ามือมาวางไว้ใกล้ๆ พอทิชชู่หมด ผ้าจะได้เป็นตัวเลือกแรกที่เอื้อมถึงยังไงล่ะ

Content Creator

#นักเขียน #จบครูศิลปะ กำลังไล่อ่านหนังสือที่ซื้อมาให้หมดทุกเล่ม

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Home สาระสำคัญ

waste from home แยกตัวมาเวิร์กที่บ้านแล้ว อย่าลืมแยกขยะที่บ้านด้วยนะ!

แยกตัวมาเวิร์กฟรอมโฮมแบบนี้ ลองมาแยกขยะที่บ้านกันด้วยสิ

Home วิธีทำ

ชวนมาสร้าง new normal ที่เราจะ ‘ใช้ซ้ำ’ ได้เป็นปกติ

วิธีอยู่อย่างสะอาด ปลอดภัย และใช้ซ้ำให้ได้ ในยุคที่เชื้อโรคเยอะแถมขยะแยะ

Home

บอกเลิกมันง่าย แต่ตัดใจทิ้ง ‘ของเคยรัก’ ยังไงถามหน่อย

คำตอบรออยู่ใน Barter System Club: Pre-loved Talk & Trade เวิร์กช็อปบอกเลิก บอกเล่า และบอกแลก ‘ของเคยรัก’