ทำไมต้องซ่อน (ผ้าอนามัย)
“เดินไปซื้อแล้วถือโต้งๆ ให้คนเห็น มันผิดตรงไหน”
“ใครเป็นคนกำหนดว่าผ้าอนามัยเป็นสิ่งน่าเหนียมอาย ประจำเดือนก็ดูเป็นสิ่งสกปรก เรื่องนี้อยู่ในหัวเรามาตั้งแต่เด็ก สังคมรอบข้างสอนเราให้เก็บผ้าอนามัยเอาไว้ให้ลับตาคน เวลาเดินไปห้องน้ำก็ต้องซุกในกระเป๋ากระโปรงหรือหาถุงทึบใบเล็กมาใส่ให้มิดๆ นะ เพราะไม่อยากถูกเพื่อนแซวไปตลอดว่ายัยโกเต็กซ์” พส. ที่ไม่เอ่ยนามคนหนึ่งขอระบายความในใจ
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยหรอกนะ พส นส ทั่วโลกส่วนใหญ่ก็เผชิญเรื่องใกล้เคียงกัน บางประเทศผู้หญิงถึงกับไม่กล้าไปจ่ายเงินซื้อผ้าอนามัยที่เคาน์เตอร์ ตามร้านค้าเลยต้องมีกล่องไว้ให้หยอดเงินแบบแอบๆ (โถ) หรือเคยได้ยินมาว่าในญี่ปุ่นยุคนึง ถ้าไปซื้อผ้าอนามัยที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อ คนขายจะรีบใส่ในถุงกระดาษให้ทันทีเพื่อปกปิดไม่ให้ใครเห็นก่อน แล้วค่อยใส่ถุงพลาสติกซ้อนอีกชั้นรวมกับของอื่นๆ ที่ซื้อ
“ฟังดูเหมือนว่าการซ่อนสิ่งนี้ไม่น่าเป็นปัญหาอะไร เขาก็เป็นกันทั่วโลกนี่นา แต่ค่านิยมที่ว่าเรื่องประจำเดือนเป็นสิ่งสกปรก ทั้งที่เราเลือกไม่ได้ว่าจะไม่มี ทุกคนที่เกิดมาเป็นหญิงต้องมี และผ้าอนามัยก็เป็นของที่ต้องปกปิด หลบซ่อน ทำเหมือนว่ามันไม่มีอยู่จริง ทำให้ผู้หญิงอายที่จะซื้อของแบบนี้ใช้ นอกจากจะเป็นโลกทัศน์เชิงวัฒนธรรมที่แคบและไม่แฟร์กับผู้หญิงเอาซะเลย เราว่าการนิยามว่ามันเป็นเลือดเสีย เป็นสิ่งสกปรกที่เข้าใจยาก ทำให้เรารู้สึกเกลียดและกลัว ไม่กล้าหยิบขึ้นมาสนทนา ต้องเก็บไว้คุยกันแบบลับๆ ไม่ให้ผู้ชายหรือคนไม่สนิทได้ยิน ก็ยิ่งทำให้เราไม่เข้าใจมัน ยิ่งมีความรู้น้อย ยิ่งอยากผลักมันออกไปให้อยู่ซอกหลืบอับๆ ที่หมักหมม นั่นแหละที่มันจะนำไปสู่ความสกปรกและปัญหาเรื่องสุขภาพได้จริงๆ”
ที่ พส บ่นมายังไม่หมดนะ มายาคตินี้มันยังเป็นปัญหาที่มองได้ว่ากระทบไปถึงนโยบายรัฐหลายแห่งในโลก ที่ยังคงกำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องเสียภาษี (ไทยเราก็หนึ่งล่ะ เรื่องนี้ถ้าต้องพูดคือยาว) ทั้งที่มันคือสินค้าสุขอนามัยอย่างหนึ่งที่ควรเป็นสวัสดิการรัฐที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินด้วยซ้ำ สิ่งนี้บอกเราว่าแม้ทุกวันนี้จะมีคนลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้มากขึ้นขนาดไหน แต่ประวัติศาสตร์การเหยียดประจำเดือนและผ้าอนามัยก็ยังไม่หมดไปง่ายๆ
“ภาพฝันของเรานะ อยากเห็นโฆษณาผ้าอนามัยไม่จำเป็นต้องมีพรีเซนเตอร์สาวเดินสดใสในทุ่งดอกไม้ ไม่ต้องแสร้งว่าเลือดเป็นหยดสีฟ้า เพราะชีวิตจริงเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เลือดประจำเดือนก็ควรจะเห็นได้ในหนังไม่ต่างกับเลือดในฉากชกต่อยของผู้ชาย เพื่อนสาวจะตะโกนถามหาผ้าอนามัยกันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกวันนี้เราก็ฝากผู้ชายซื้อผ้าอนามัยให้เรานะ เราทุกคนควรทำให้การมีประจำเดือนและใส่ผ้าอนามัยเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่จะต้องเซ็นเซอร์
“สำหรับเรา ผู้หญิงที่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่ได้ต้องดูโฉบเฉี่ยวหรือใส่ส้นสูง แต่คือผู้หญิงที่ไม่อายเรื่องประจำเดือน” พส. สะบัดบ๊อบทิ้งท้าย
ทำไมต้องซ่อน (กางเกงใน)
“แม่สอนให้ตากกางเกงในมิดชิด มิดจนขึ้นรา!”
“จริงๆ มันก็เป็นธรรมเนียมที่ส่งต่อกันในครอบครัวนั่นแหละ ยุคยายถือหนักมาก ผ้าผู้ชายกับเสื้อผ้าผู้หญิงห้ามปนกันเด็ดขาด ต้องแยกกะละมังไว้ซักเฉพาะกางเกงในกับผ้าถุง ห้ามเอาไปซักอย่างอื่น ของผู้หญิงห้ามตากสูงกว่าของผู้ชาย เอะอะอะไรบอกว่าของผู้หญิง ‘เป็นของต่ำ’ หมด พอมารุ่นแม่เริ่มใช้เครื่องซักผ้า ก็เริ่มหยวนๆ ซักปนกันได้ แต่ก็ยังต้องตากผ้ากระมิดกระเมี้ยนอยู่นะ กางเกงในเราต้องตากให้มิดชิด ไม่ให้ใครเห็น มิดจนบางทีกางเกงในขึ้นรา!” พส อีกคนโอดครวญถึงธรรมเนียมเหนียมอายในบ้าน จนกางเกงในไม่มีโอกาสได้เห็นเดือนเห็นตะวัน
“พอออกมาอยู่เอง เราก็ยังติดความกระมิดกระเมี้ยนมานะ ทำราวเล็กๆ ไว้ตากเฉพาะ ให้ระเบียงคอนโดช่วยบังสายตา แต่ก็ยังดีที่ได้โดนแดด คือถ้าถามว่าซ่อนทำไม เราก็ตอบไม่ได้ชัดๆ หรอก เหมือนถูกฝังหัวไปแล้วว่ามันไม่ควรให้ใครเห็น แต่ถ้าต้องเลือกจริงๆ เราก็ยอมประเจิดประเจ้อแต่กางเกงในสะอาด ใส่ได้อย่างสบายใจมากกว่านะ เพราะประเด็นสำคัญมันควรอยู่ที่ตรงนี้สิ”
พส บอกว่าแม้จะไม่เคยเจอกับตัวเอง แต่ก็ได้ยินเพื่อนที่แต่งงานแล้วบ่นให้ฟังบ้างว่าแม่สามีจุกจิกเรื่องนี้กว่าแม่ตัวเองอีก แค่เรื่องซักผ้า ตากผ้า ตากกางเกงใน ก็กลายเป็นสงครามเย็นในบ้านได้ เพราะ ‘ความเหมาะสม’ และสิ่งที่แต่ละบ้าน ‘ถือ’ มันหนักเบาไม่เท่ากัน บางบ้านบอกฉันซักผ้าให้ลูกชายฉันมาอย่างดี เธอจะมาโยนโครมๆ รวมกันลงเครื่องเลยไม่ได้ หรือบางบ้านก็ยังมองกางเกงในผู้หญิงเป็นของต่ำอยู่ไม่เสื่อมคลาย จนอยากถามดังๆ ว่านี่มัน พ.ศ. ไหนแล้ว!
“ธรรมเนียมไหนดีก็เก็บไว้ ธรรมเนียมไหนมันล้าสมัยไปก็อย่าไม่ถือมันเลย เราคิดว่าธรรมเนียมที่ดีงามมันควรเริ่มที่การไม่กดใครลงต่ำก่อนนะ”
ทำไมต้องซ่อน (บรา)
“ครูลงโทษด้วยการดีดสายเสื้อใน อายจนไม่อยากไปโรงเรียน”
จะด้วยระเบียบของเครื่องแบบที่ต้องเคร่งครัด จะด้วยห่วงใยไม่อยากให้นักเรียนตกอยู่ในอันตรายเพราะบรามันทะลุเสื้อนักเรียนบางๆ มาล่อตา หรือจะด้วยความสะใจของผู้คุมกฎ เรามักคุ้นเคยกับการทำโทษนักเรียนหญิงที่ไม่ได้ใส่เสื้อทับมาโรงเรียนอย่างขึงขังดุดันอยู่เสมอ
“จริงๆ ตอนเรียนเราก็ไม่เข้าใจเพื่อนที่ไม่ใส่เสื้อทับมานะ อยากโชว์เหรอ อยากต่อต้านครูเหรอ เราแค่คิดว่าไม่อยากมีปัญหา ให้ใส่ก็ใส่ แต่มันมีอยู่วันที่เรารีบมากจริงๆ จนลืมใส่เสื้อทับ ตอนเข้าแถว ครูเดินไล่ไปทีละคนแล้วมาหยุดที่เรา คนไม่เคยทำอะไรผิดระเบียบน่ะ มันชาไปทั้งตัว ยิ่งตอนเขาดึงสายเสื้อในข้างหลังเราจนตึงปล่อยให้มันดีดหลัง จริงๆ มันเจ็บแหละ แต่อายมากกว่า เพื่อนผู้ชายหันมามองแบบเราก็เป็นกับเขาด้วยเหรอ ตอนนั้นไม่รู้ว่าเราถูกเหมารวม หรือเราเองนั่นแหละที่คิดแบบนั้น แต่เราไม่อยากไปโรงเรียนอีกเป็นสัปดาห์ และไม่กล้าสบตากับครูคนนั้นอีกเลย”
นส คนนึงเล่าถึงบทลงโทษฝังใจ ก่อนจะหยิบข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ที่นักเรียนไม่ใส่เสื้อทับแล้วครูทำโทษด้วยการให้นักเรียนชายไปยืนจ้องหน้าอก นส บอกว่าดีใจที่คนเริ่มส่งเสียงว่าครูทำไม่ถูก ถ้าเทียบกับตัวเอง เธอยอมรับว่าเธอทำผิดกฎที่ตกลงกันไว้ เธอควรถูกลงโทษ แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีที่ทำให้อับอาย เพราะมันอดตั้งคำถามต่อไม่ได้ว่า สังคมเราอะไรนักหนากับยกทรงของผู้หญิง ภาระในการปกปิดมิดชิดเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเสมอ ถ้าไม่ทำเท่ากับอ่อย ในขณะที่ความหื่นของผู้ชายถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ ไม่เคยถูกลงโทษ ไม่เคยถูกทำให้อับอาย ไม่เคยถูกเข้มงวดกวดขันเหมือนอย่างที่ผู้หญิงโดน
นส บอกว่าเวลาบ่นเรื่องนี้ คนชอบบอกว่ามันเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่เธอมองว่านี่เป็นเรื่องเดียวกันกับการโทษเหยื่อที่ถูกข่มขืนว่าแต่งตัวยังไงนั่นแหละ!
ทำไมต้องซ่อน (บุหรี่)
“ก็พ่อบอกว่าผู้หญิงสูบบุหรี่มันดูไม่งาม”
“ขอโทษนะ น้องโอเคมั้ยถ้าพี่ขอสูบบุหรี่ตรงนี้” หลัง พส เอ่ย เราพยักหน้าหงึกหงัก จัดเลยค่ะพี่ เพราะโลเกชั่นที่เรานัดเจอกันเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้สุบบุหรี่ได้
“พี่ว่าเดี๋ยวนี้การที่ผู้หญิงคีบบุหรี่อย่างเปิดเผยกลายเป็นเรื่องที่ปกติของสังคมไปแล้วล่ะ จากการที่คนตระหนักเรื่องความเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นของที่พี่ใช้เพื่อผ่อนคลายความเครียดอย่างเจ้านี่” พส ทำท่าชูบุหรี่พร้อมควันโขมง “เป็นสิ่งที่คนที่บ้านไม่ชอบใจสุดๆ ไปเลย”
ส่วนหนึ่งก็เพราะความจริงที่ว่าควันบุหรี่มีพิษต่อทั้งคนสูบและคนข้างๆ ที่สูด และอีกส่วนคือความคิดความเชื่อที่ฝังลึกในใจของคุณพ่อ
“ตอนพ่อจับได้ว่าพี่มีบุหรี่ในครอบครอง หูย บ้านเกือบแตก เขาบอกว่าเป็นลูกผู้หญิงสูบบุหรี่มันดูไม่งาม ผู้หญิงดีๆ เขาไม่สูบกัน ตอนนั้นพี่โกรธมากเพราะพี่ว่าพี่เป็นคนที่คิดดีทำดีกับคนอื่นระดับหนึ่ง ที่ผ่านมาก็ไม่เคยทำให้พ่อแม่เดือดร้อน แต่แค่สูบบุหรี่ก็โดนตัดสินง่ายๆ เลย แถมคนที่พูดเป็นพ่อเราด้วย เจ็บใจมาก
“พอพี่อารมณ์เย็นลง แม่ก็เดินมาบอกว่าเมื่อก่อนพ่อเขาก็เคยสูบบุหรี่จัดอยู่เหมือนกัน แต่ตัดสินใจเลิกขาดเพราะกลัวลูกๆ ได้รับอันตรายจากควัน พี่หัวเราะลั่นเลย เขาคงเป็นห่วงสุขภาพเราด้วยส่วนหนึ่ง แต่เลือกวิธีพูดผิดเท่านั้น และที่เขาเลือกที่จะพูดว่าผู้หญิงสูบบุหรี่เป็นผู้หญิงไม่ดีนี่ มันน่าจะเพราะสังคมหรือคำโฆษณาสมัยก่อนหลอมรวมให้คิดแบบนั้น”
ย้อนกลับไปหาต้นตอ หนึ่งในนั้นคงมาจากโครงการรณรงค์ ‘หญิงไทยไม่สูบบุหรี่’ ที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน และการจำกัดว่าผู้หญิงต้องอยู่บ้าน มีคุณสมบัติเป็นแม่บ้านแม่เรือน เรียบร้อย นิ่มนวล ไม่กินเหล้าสูบบุหรี่ ไม่ข้องเกี่ยวกับอบายมุขใดๆ กรอบ ‘ผู้หญิงในอุดมคติ’ ทั้งหมดนี้เกิดจากสังคมชายเป็นใหญ่ทั้งนั้น
“แต่เอาเถอะ อยากจะเป็นผู้หญิงแบบไหนก็เป็นไปเลยอย่าได้แคร์ แต่เราก็ต้องรู้จักประนีประนอมกับคนอื่น คิดถึงใจเขาใจเราด้วย อย่างเรื่องบุหรี่กับที่บ้าน ตอนกลับบ้านพี่ก็จะงดสูบเพราะไม่อยากเหนื่อยขึ้นเวทีเถียงกับพ่อ และไม่แน่ สักวันหนึ่งพี่อาจจะอยากเลิกบุหรี่ด้วยเหตุผลเดียวกับพ่อก็ได้ ลางสังหรณ์พ่อลูกมันบอกแบบนั้นนะ” เธอบี้ก้นบุหรี่กับที่เขี่ยและส่งยิ้มทิ้งท้าย
ทำไมต้องซ่อน (แฟน)
“เราอยากอยู่ก่อนแต่ง แต่แม่อยากให้แต่งก่อนอยู่”
“ชีวิตคู่มันละเอียดอ่อนนะ การจะเข้าใจมนุษย์อีกคนแล้วต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันทุกวันมันไม่ง่าย ถ้าไม่อยู่ด้วยกันจะไม่รู้เลยว่าคนนี้มีนิสัยแบบนี้ ทั้งข้อเสียที่ต่างฝ่ายต่างแก้ยาก เธอนอนกรนฉันจะหลับได้ไง ทำไมไม่ช่วยทำงานบ้านเลย หรืออะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น การลองมาอยู่ด้วยกันมันเลยเหมือนทดลองความสัมพันธ์ หลายคู่แต่งงานกันไปแล้วอยู่ด้วยกันไม่ได้ กลายเป็นว่าต้องอดทน ไม่กล้าหย่าให้เสียประวัติ เราว่ามันทุกข์เกินไป” พส เล่าอย่างใจเย็น ในฐานะผู้เคยผ่านสถานการณ์โดนบังคับให้แต่งก่อนอยู่ แต่ก็ไม่ยอมทำตาม
การ ‘อยู่ก่อนแต่ง’ ของคู่รักยุคนี้เลยเป็นเหมือนแบบฝึกหัดก่อนใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน แต่ใช่ว่าทุกคู่จะเลือกทางนี้ได้ง่ายๆ เพราะถ้าเลือกแล้วฝ่ายที่ถูกมองว่าเสียหายหนักก็คือผู้หญิงและมักจะมีปัญหากับพ่อแม่ ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะโตและมีวุฒิภาวะขนาดไหน ไม้บรรทัดความดีงามของสังคมไทยก็ยังเป็นไม้อันเก่ากึ้กที่วัดว่าผู้หญิงที่ดีไม่ควรชิงสุกก่อนห่าม จะอยู่ด้วยกันก็ควร ‘แต่งก่อนอยู่’ เกิดเป็นลูกก็ต้องทำอะไรให้ถูกต้อง พ่อแม่จะได้ไม่โดนชาวบ้านนินทา คนเสียหายไม่ได้มีเพียงลูกสาวที่เสียความบริสุทธิ์ก่อนแต่งงานนะ แต่พ่อแม่จะขายหน้าไปด้วย
เพราะอย่างนี้ ผู้หญิงหลายคนที่เรารู้จักจึงยังเลือกปิดบังการ ‘อยู่ด้วยกันกับแฟน’ จากครอบครัว ไม่ว่าจะระดับเกรงใจไม่กล้าพูดให้ชัดเจนว่าอยู่ด้วยกัน หรือหนักระดับไม่บอกดีกว่ากลัวเขารับไม่ได้ บางคนที่ยังอยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ แม้จะบอกที่บ้านว่ามีแฟนเป็นตัวเป็นตน แต่จะไปค้างบ้านแฟนสักที ก็ยังต้องงัดข้ออ้างค้างบ้านเพื่อนมาบอก
“เราว่าการแต่งก่อนอยู่ในอดีตก็มีเหตุผลที่ดีเพื่อปกป้องผู้หญิงไม่ให้เสียหาย แต่ถ้ามันกลายเป็นว่าการอยู่ก่อนแต่งทำให้เรากลายเป็นผู้หญิงมีตำหนิก็อาจจะไม่สมเหตุสมผลในยุคนี้เท่าไหร่ เพราะที่จริงมันไม่ควรมีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบในชีวิตคู่ด้วยซ้ำ อย่าลืมว่าในอนาคตเขาไม่ได้มารับผิดชอบความสัมพันธ์ของเรา ถ้าเราเลือกเอง ผลเป็นอย่างไรเราก็รับผิดชอบเอง
“แต่ยุคนี้ความสัมพันธ์แบบอยู่ก่อนแต่งถูกยอมรับมากขึ้นนะ ทั้งฝั่งพ่อแม่และฝั่งคู่รัก อย่างพ่อแม่เรา สุดท้ายพอเรายังดูแลเขาในฐานะลูกได้เหมือนเดิม ไม่มีอะไรที่ทำให้เขาเดือดร้อน เขาก็ดูเปิดใจ ยอมรับมากขึ้น เราก็เข้าใจเขานะเพราะการใช้ชีวิตคู่ในยุคเขามันก็ต่างจากเราจริงๆ ส่วนฝั่งคู่รัก เราคิดว่าคนยุคนี้แต่งงานกันช้าลง เพราะอยากมีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่อยากรีบผูกมัด แล้วยิ่งการแต่งงานมีลูกในยุคเศรษฐกิจและสังคมแบบนี้ จะเลี้ยงเขาให้ดียังไง ไม่ใช่ว่าไม่มั่นใจในคู่ของเรานะ แค่เรายังไม่พร้อมในหลายๆ เรื่องเท่านั้นเอง”
ทำไมต้องซ่อน (เซ็กซ์ทอย)
“คนที่ไม่เข้าใจก็มองว่าหมกมุ่น แต่แก..มันแค่ของเล่นชิ้นหนึ่งปะ”
“เมื่อก่อนเราแทบจะไม่อะไรกับเซ็กซ์ทอยเลย อย่างเรื่องการช่วยตัวเองก็ไม่สน คือไม่ได้แอนตี้ แต่ไม่เข้าใจมากกว่าว่า Sexual Desire คืออะไร คืออาจจะมีแต่ไม่รู้ตัวทำนองนั้น พอคิดๆ ดูแล้วก็ตลกร้ายเหมือนกันที่วิชาเพศศึกษาที่ร่ำเรียนกันมาตั้งหลายปี ไม่ช่วยให้เราเข้าใจแก่นของ Sexual Well-being เลย เท่าที่จำได้ก็มีแต่เรื่องการคุมกำเนิด ไม่ก็อย่ามีเซ็กซ์ก่อนแต่งงานนะจ๊ะสาวๆ แต่ไม่เคยบอกว่าการเข้าใจสิ่งนี้มันสำคัญกับชีวิตเราในระยะยาวยังไง”
พส เล่าความหมายของ Sexual Well-being หรือสุขภาวะทางเพศแบบกระชับๆ ว่ามันคือการที่คนคนหนึ่งมีชีวิตทางเพศที่เป็นสุขและปลอดภัย โดยมีส่วนประกอบสำคัญคือทุกคนล้วนมีอิสระในการแสดงออกทางเพศ และมีอิสระที่จะมีความสุขกับเซ็กซ์ที่เคารพสิทธิของตัวเองและผู้อื่น และที่ต้องกาดอกจันคือ สุขภาวะทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของการมีสุขภาพที่ดี ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและการมีชีวิตที่ยืนยาว
“ตอนอายุ 20 ต้นๆ เราเพิ่งมารู้ว่าเราสอบตกเรื่องการรู้จักร่างกายตัวเอง คาบเกี่ยวกับช่วง gap year ที่อังกฤษแล้วได้เจอกับแฟนคนแรก ซึ่งเขาเป็นคนเปิดโลกเซ็กซ์ทอยให้ ตอนแรกก็เออๆ ตื่นเต้นดีนะ แต่ความมหัศจรรย์คือระหว่างที่เรียนรู้การใช้งานของเล่นเหล่านั้น เราเองก็ได้ทำความเข้าใจกับความต้องการและรู้จักร่างกายตัวเองมากขึ้นด้วย คำว่า ‘ตายละนี่ฉันไปอยู่ไหนมาวะเนี่ย’ ผุดขึ้นมาในหัวเลยตอนนั้น
“ที่อังกฤษการขายและการใช้เซ็กซ์ทอยเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างถูกกฎหมายและทัศนคติของสังคมเขาค่อนข้างบวก แต่พอต้องเก็บของกลับบ้านมันก็เริ่มมีความลังเลปนกังวลเกิดขึ้น คือหนึ่ง การใช้เซ็กซ์ทอยในบ้านเราเป็นเรื่องที่ยังผิดกฎหมาย และสอง ยังมีคนจำนวนมากมองว่าเซ็กซ์ทอยเป็นของใช้สำหรับคนหมกมุ่นเรื่องเพศ หรือหนักข้อขึ้นมาหน่อยคือตีตราว่าเราป่วย คือเราไม่แน่ใจว่าวันหนึ่งถ้าพ่อแม่เปิดห้องมาแล้วเจอสิ่งนี้วางอยู่เขาจะช็อกมั้ยนะ ทุกวันนี้ก็พยายามเก็บน้องให้มิดชิด และโชคดีที่เขาไม่ค่อยยุ่งกับพัสดุที่ส่งมาหาเราที่บ้าน (หัวเราะ) ถ้าต้องมีช็อตที่เขาจ๊ะเอ๋เห็นของพวกนี้ เราว่าเราก็โตมากแล้ว คงพูดคุยกันด้วยเหตุผลได้นะ”
พส บอกว่าทุกวันนี้เธอแฮปปี้ที่ของเล่นเหล่านี้ช่วยให้เธอจัดการกับความต้องการของตัวเองได้อย่างปลอดภัยและเฮลท์ตี้กับใจ แต่มุมเดียวกันก็รู้สึกหดหู่ใจที่ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนรอบตัวยังรู้สึกอับอายกับความต้องการของตัวเอง ทั้งๆ ที่เรื่องเซ็กซ์หรือการช่วยตัวเองมันคือเรื่องธรรมชาติที่สุดจะธรรมดาของมนุษย์
“เราอยาก empower คนในสังคมและผู้หญิงด้วยกันว่าเราลืมเรื่องความเหนียมอายอะไรพวกนี้ไปบ้างได้มั้ย คือเราไม่รู้ว่าค่านิยมหรือสังคมรักเราจริงหรือเปล่า แต่การที่เรารักตัวเองมันเป็นเรื่องที่จริงกว่ามากๆ เลย ดังนั้นเรามีสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองยิ้มได้มีความสุข แต่คำว่าอะไรก็ได้ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ทำให้ตัวเองหรือคนอื่นเดือดร้อนนะ
“สำหรับเราแล้วเซ็กซ์ทอยไม่ได้เป็นของเล่นสำหรับคนเซ็กซ์จัดอย่างที่ใครบางคนมอง หรือถ้าบอกว่าเราเซ็กซ์จัดจริงๆ คำถามคือถ้าเราไม่ได้ไปละเมิดอะไรเขา แล้วเขาจะเดือดร้อนกับความสุขของเราทำไมล่ะ”
Read More:
แด่ผู้สูญหายที่ไม่อาจกลับมา
อะไรบ้างที่หายไป พร้อมการถูกบังคับสูญหาย
เข้าใจกัญฯ ไว้ เพราะเรื่องนี้มีมากกว่าเมา
รู้จักกัญชาแบบเคลียร์ๆ ไม่ใช่สายเขียวก็มีสิทธิ์อินได้
เข้าใจ ‘เฟม’ มากขึ้น ผ่าน 4 หนังสือเฟมินิสต์น่าอ่าน
ทำความเข้าใจว่าเฟมินิสต์คืออะไร จำเป็นต่อสังคมแค่ไหน ผ่านหนังสือน่าสนใจที่เราแนะนำ