ปิกนิก ครั้งนี้พิเศษตรงที่ว่า เราจะพยายามใช้พลาสติกแบบ Single-Use ให้น้อยที่สุด หยิบขวดน้ำ แก้วน้ำ ช้อนส้อม ตะเกียบของตัวเองมาใช้ หอบหิ้วกล่องไปใส่อาหารที่ร้าน ทำได้ไหมไม่รู้ รู้แต่ว่าความตั้งใจคูณร้อยแน่ๆ
วันนี้ (ถ้าฝนไม่ตก) เตรียมเมนูโปรดใส่กล่องใส่ปิ่นโต ไปปูเสื่อฉลองวันปิกนิกสากลกัน ใครที่ลอง ปิกนิก แบบ Zero Waste แชร์มาเล่าให้เราฟังได้นะ
เรื่องเล่าชาวไอแอลไอยู: เช้าวัน ปิกนิก ไลน์กรุ๊ปไอแอลไอเด้งมาว่า “ฉันหลงในสวนจ้า อยู่ตรงไหนกัน” ด้วยความที่สวนรถไฟกว้างใหญ่มากๆ กว่าจะหากันเจอกินเวลาไปครึ่งชั่วโมง หรือนี่จะเป็นหนึ่งในความสนุกของการฉลองวันปิกนิกสากล ใครจะรู้!
กว่าจะหากันเจอก็ใกล้จะเป็นมื้อกลางวันเต็มที เมนูแรกที่ชวนหิว คือเหล่าติ่มซำ ที่หิ้วมาโดย คุณสลิลา บี
คุณสลิลา บีเล่าว่า ได้เตรียม ‘ปิ่นโต’ ไปยื่นให้ร้านใส่จีบกุ้ง ฮะเก๋า ที่เลือกปิ่นโตเพราะสามารถแยกได้หลายเมนูเหมือนลังนึ่งของร้านติ่มซำ สามารถนำปิ่นโตไปใส่อาหารที่ร้านได้เลยไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก ได้เตรียมกล่องไปใส่หมั่นโถว และเตรียมกล่องจิ๋วให้ที่ร้านใส่จิ๊กโฉ่วกับพริกน้ำส้ม ก่อนใช้ผ้าห่อกันความร้อนแถมเพิ่มความน่ารัก
ที่คุณสลิลาเลือก ‘ร้านฮ่อเจี๊ยะ’ เพราะเป็นร้านติ่มซำใกล้บ้าน อยู่ในตึกแถวห้องเดียวที่เอาใจช่วยตั้งแต่เปิดร้าน (เปิดช่วงโควิด เลยกลัวจะไม่รอด) มาถึงตอนนี้ร้านน่าจะอยู่ตัวแล้ว เราดีใจด้วย เพราะติ่มซำอร่อยจริง!
ย้อนไปตอนเช้าก่อนมาเจอกัน เหมือนทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งมีข้อความในไลน์กรุ๊ปจากคุณสลิลาเด้งมาว่า “กลิ่นจิ๊กโฉ่วอบอวลเผื่อแผ่คนรอบข้างแล้ว” สันนิษฐานว่าจิ๊กโฉ่วหกบนรถไฟฟ้าแน่ๆ ถึงกล่องใส่จิ๊กโฉ่วจะผ่านการห่อผ้ามาอย่างสวยงาม แต่กล่องพลาสติกจิ๋วดันปิดไม่สนิท ทำให้จิ๊กโฉ่วหกเลอะเทอะตั้งแต่ก้าวออกมาจากร้าน แต่คุณสลิลาเขาสู้พาน้องจิ๊กโฉ่วมาถึงจุดปิกนิกของไอแอลไอได้ ปรบมือให้คุณเขาค่ะทุกคน!
พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง: ไม่มี
ขยะย่อยสลายได้: กระดาษรองหมั่นโถว
ต่อกันกับเมนูอาหารคาวสุดอร่อยจากภูเก็ต (แต่ซื้อที่กรุงเทพฯ) ที่หิ้วมา โดย คุณตะเกียบ!
คุณตะเกียบหิ้ว ‘ปิ่นโต’ สามชั้นไปใส่หมูฮ้อง 1 ชั้น ใส่ห่อหมก 2 ชั้น ห่อหมกห่อด้วยใบตองกลัดไม้กลัด ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกทั้ง 2 เมนู มิชชั่นคอมพลีทไปหนึ่ง
ร้านนี้ชื่อ ‘ร้านห่อหมกภูเก็ต ทุ่งสองห้อง’ คุณตะเกียบพราวด์ลี่พรีเซนต์ว่า เจ้าของร้านมาจากจังหวัดภูเก็ต ทำอาหารแบบโฮมเมดที่ทำในบ้านวางขายหน้าบ้านของแท้ อาหารขึ้นชื่อ คือหมูฮ้อง หมูชิ้นโตมาพร้อมน้ำซุปพะโล้เข้มข้นหอมคาราเมล และห่อหมกปลาทะเล รสชาติถึงเครื่อง เนื้อเนียนเหมือนคัสตาร์ดพุดดิ้ง!
การปิกนิกแบบตั้งโจทย์ให้นำอาหารร้านอร่อยแถวบ้านมากินด้วยกัน ทำให้ได้ลองร้านดีเจ้าดังที่อยู่ไกลเราแต่ใกล้เพื่อน โอกาสนี้แหละให้เพื่อนซื้อมาให้ลองชิมได้ สุดท้ายนี้ขอการันตีว่าหมูฮ้องและห่อหมกร้านนี้เด็ดจริงค่ะ!
พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง: ไม่มี
ขยะย่อยสลายได้: ใบตอง, ไม้กลัด
ร้านส้มตำรถเข็นอีกหนึ่งร้านใกล้บ้าน คุณใหม่ รัชดาภรณ์ ที่คุณเขาบอกว่า ยังไงก็ต้องลองให้ได้!
ไส้อั่วรสแซ่บกับหมูขมิ้นเนื้อนุ่มถูกบรรจุอยู่ในกล่อง เป็นกล่องสำหรับใส่อาหารที่คุณใหม่ยื่นให้คุณป้าที่ร้านส้มตำร้านนี้ แต่ทว่าได้ถุงพลาสติกใส่ข้าวเหนียวมา 1 ถุง (คุณป้าบรรจุไว้เสร็จสรรพตั้งแต่เช้าแล้ว) ไม่เป็นไร เดี๋ยวกินเสร็จค่อยนำถุงมาล้างเก็บรวมไว้ก่อนได้
ร้านที่คุณใหม่เลือกมาเป็นร้านส้มตำรถเข็นร้านเล็กๆ ในซอยสายลม รู้จักกันในชื่อว่า ‘ร้านส้มตำเหนือ’ ไม่มีเพจเฟซบุ๊กให้ตาม มีแค่เบอร์โทรและโลเกชั่น เป็นร้านรถเข็นที่ขายมากว่า 30 ปี นอกจากขายอาหารเหนือแล้ว ยังขายส้มตำด้วยแต่เป็นรสชาติแบบคนเหนือๆ ที่ไม่เผ็ดเกิน ไม่แซ่บไป รสชาติกลางๆ และสะอาด ชาวออฟฟิศแถวซอยสายลมจะเรียกร้านนี้ว่า ‘ส้มตำบุฟเฟ่ต์’ เพราะตอนกลางวันคนมากินที่ร้านเยอะมาก จนร้านทำไม่ทัน เลยเตรียมของไว้ให้ลูกค้ามาตักเอาไปทานได้แบบเร็วๆ อิ่มจุก
ดีใจที่ได้รู้จักร้านโลคอลร้านเล็กๆ อีกหนึ่งร้าน ที่มีไส้อั่วและหมูขมิ้นที่แซ่บสะเด็ด!
พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง: ถุงใส่ข้าวเหนียว
ขยะย่อยสลายได้: ไม่มี
มาถึงเมนูอาหารหวานประจำฤดูร้อน จากร้านในตำนานที่ใกล้บ้าน คุณมดแดง
‘มะม่วงเขาไม่ปอกให้จ้า มีใครยังไม่ออกจากบ้านติดมีดมาบ้างป่าว’ คุณมดแดงขอความช่วยเหลือแต่เช้าในไลน์กรุ๊ป แต่โชคดีที่มีคนหยิบมีดติดมาด้วย มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีเหลืองลูกใหญ่ของมดแดงใส่มาในกระเป๋า Tote Bag มาพร้อมทัพเพอร์แวร์แบบแก้วให้ร้านใส่ข้าวเหนียวให้ เผื่อนำข้าวเหนียวไปอุ่นได้ และเตรียมกล่องเล็กๆ ไปอีกชิ้นสำหรับใส่น้ำกะทิ
ร้านที่คุณมดแดงเลือกมา ชื่อร้าน ‘ข้าวเหนียวนายแว่น’ เป็นร้านข้าวเหนียวมะม่วงที่เคลมว่าเป็นเจ้าเก่าเจ้าเดียวในบางขุนนนท์ ฤดูร้อนมาเยือนเมื่อไหร่ทางร้านก็จะขนมะม่วงสุกพันธุ์น้ำดอกไม้ หรืออกร่องออกมาขายพร้อมข้าวเหนียวมูนที่ทำสดใหม่ ไม่มีค้างคืน รสหวาน มัน เค็มนิดๆ ของข้าวเหนียว กินกับมะม่วงรสหวาน สดชื่นมากๆ อาหารจะอร่อยที่สุดต้องอาหารตามฤดูกาลของมันนี่แหละ เป็นความฟินอย่างนึงที่ต้องนำมาแบ่งปันกับเพื่อนๆ
พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง: ไม่มี
ขยะย่อยสลายได้: ไม่มี
ชิฟฟ่อนมะพร้าวอ่อนร้านนี้ อยากกินมานานแล้ว ขอบคุณ คุณจิราภรณ์ ที่หิ้วมาค่ะ!
‘มีชาเอิร์ลเกรย์น้ำผึ้งแบบชงติดขมมาหน่อย กะให้ละลายน้ำแข็ง 1 ขวดจ้า’ ทุกคนมีขวดน้ำส่วนตัวของตัวเองมาอยู่แล้ว สามารถเทชาเอิร์ลเกรย์กินกันได้เลย คุณจิราภรณ์ชงชามาพร้อมกับชิฟฟ่อนมะพร้าวอ่อนที่มาในกล่องกระดาษมี 2 รสชาติ คือใบเตยกับวนิลา มีจานกาบหมากสำหรับใครเอาไปใส่อาหารเพิ่ม
ชิฟฟ่อนมะพร้าวอ่อนที่คุณจิราภรณ์เลือกมาก็ไม่ใช่เล่นๆ มาจาก ‘ร้าน Putta Organic’ ที่ใช้มะพร้าวออร์แกนิกจากบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ได้สนับสนุนพี่ๆ เกษตรกรอีกทาง แถมทางร้านยังใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค เพราะขนมทุกอย่างในร้านไม่ใส่สารกันเสียเลย
ช่วงปิกนิก พวกเรากินชิฟฟ่อนทั้ง 2 กล่องนี้ ไม่หมดเลยเก็บไว้กินช่วงเย็นกันได้อีก และสุดท้ายก็ไม่เหลือเลยสักชิ้น เพราะอร่อยมากๆ!
พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง: กล่องกระดาษ, จานกาบหมาก
ขยะย่อยสลายได้: พลาสติกใสบนฝากล่อง
ขนมไทยก็เอามาปิกนิกได้ แถมน่ารักด้วย หิ้วมาโดย ฉันเอง
ว่าจะแวะซื้อขนมไทยช่วงเช้าก่อนไปปิกนิก แต่ดูเวลาแล้วไม่น่าทันเพราะเรานัดกันไปถึงสวน 10.00 น. (นัดเช้าเพราะกลัวฝนถล่มช่วงเย็น) แต่ร้านขนมไทยเปิด 9.30 น. เลยจำเป็นต้องซื้อไว้ตอนเย็นก่อนวันนัด พ่อค้าถามว่า “ซื้อไปกินวันนี้เลยหรือเปล่า ถ้ากินพรุ่งนี้ต้องแช่เย็นก่อนนะ” พลางหยิบขนมหม้อแกง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมที่ต้องแช่เย็นใส่ให้ในกล่อง และหยิบขนมที่ไม่ต้องแช่เย็น (นั่นคือขนมชั้นหลากสี) ห่อใบตองกลัดไม้กลัด และกำชับว่า “ขนมชั้นไม่ต้องแช่ตู้เย็นนะ วางผึ่งไว้ข้างนอก แต่ใบตองจะเหี่ยวเร็วมากเลยนะ ไม่เป็นไรใช่ไหม” เราล่ะชอบความใส่ใจนี้สุดๆ และก็ตามภาพ ใบตองเหี่ยวไม่เป็นรูปทรงสวย แต่ขนมชั้นข้างในยังอร่อยเหมือนเดิม
ร้านนี้คือ ‘ร้านขนมไทย แม่เจ็ง ตลาดพลู’ เป็นร้านขนมไทย ร้านเล็กๆ คูหาเดียว บนถนนเทอดไท โด่งดังเรื่องขนมไทยมานานกว่า 60 ปี ทำขนมใหม่แบบวันต่อวัน ไม่มีการเก็บไว้ค้างคืน ขนมขายดีสุดๆ จะเป็น ขนมชั้นใบเตยที่เหนียวนุ่มและหอมควันเทียน ที่ห่อใส่ใบตองไว้พร้อมขาย ใครอยากชิมขนมไทยที่หลากหลายไปตั้งแต่เช้านะ เพราะมาตอนเย็นแล้วขนมหมดไปหลายอย่างเลย
พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง: ไม่มี
ขยะย่อยสลายได้: ใบตอง, ไม้กลัด
ปิดมื้อกันอย่างอิ่มหนำ อร่อยทุกเมนูแบบอยากกินซ้ำ และขอปิกนิกทุกวันเลยได้ไหม
เราช่วยกันเก็บรวมขยะที่ย่อยสลายได้มารวมกัน เหล่าใบตอง ไม้กลัด จานกาบหมาก เปลือกและเม็ดมะม่วงที่ปอกไว้ เก็บรวมกันใส่กล่อง รวมไปทิ้งถังขยะสำหรับทิ้งขยะย่อยสลาย หรือถ้าที่บ้านมีที่ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารก็โยนลงไปโลด
กล่องอาหาร ช้อนส้อม ที่เตรียมกันมาก็เก็บกลับไปล้างใช้ซ้ำได้อีกเรื่อยๆ สำหรับถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งก็เก็บกลับไปล้างเช่นกัน ล้างเสร็จผึ่งให้แห้ง เก็บรวมกันเยอะๆ แล้วส่งไป N15 Technology ฝากไปเผาเป็นขยะเชื้อเพลิงได้
ที่เรามาปิกนิกแบบ Zero Waste ครั้งนี้ไม่ใช่การไม่ใช้พลาสติกเลย เป็นการเลี่ยงการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเท่าที่ทำได้ ถ้าเผลอรับพลาสติกมาก็เอามาใช้ซ้ำหลายๆ ครั้ง หรือจะเก็บรวมกันส่งต่อไปรีไซเคิลหรือเผาเป็นเชื้อเพลิงก็ได้ เพราะเราไม่รู้เลยว่าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ปลายทางมันจะไปสิ้นสุดตรงไหนหรือจะถูกลมพัดไปไกลจนกลายเป็นขยะในทะเลหรือเปล่า ทางเลือกที่ใช้พลาสติกใช้ซ้ำเลยสบายใจกว่า
วันนี้ เก่งมากทุกคน!
ถึงแม้จะเริ่มต้นได้ติดๆ ขัดๆ เล็กน้อย แต่การปิกนิกแบบ Zero Waste ของเราวันนี้ให้คะแนนเต็มไปเลยสิบเต็มสิบ (แค่คะแนนความพยายามก็เจ็ดคะแนนแล้ว) ปิกนิกครั้งต่อไปเรารู้แล้วว่าต้องเตรียมอะไรไปเพิ่ม คิดใหม่ในใจไว้ที่อยากซื้อมาให้ทุกคนได้ชิมกัน วางแพลนไว้ด้วยว่าจะเป็นปูเสื่อปิกนิกที่สวนสาธารณะใกล้ออฟฟิศให้ครบทุกสวน (ถึงแม้ว่ายังไม่ได้ปรึกษาเพื่อนร่วมงานก็ตาม 555)
ป.ล. หน้าฝนแบบนี้ เสื่อที่เลือกมาปูปิกนิกสำคัญนะ ผืนหญ้าบางจุดมีน้ำค้างหรือความชื้นเยอะ ควรใช้เสื่อหนาๆ หน่อย ปิกนิกครั้งนี้เราใช้เสื้อ 2 ผืน ปูต่อกัน ใช้เสื่อพับโนเนมแต่ผืนใหญ่ ยังใช้งานได้ดี และเสื่อ PDM เป็นเสื่อที่ทอจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หนา นิ่ม ทนทานสุดๆ
อ่านคอนเทนต์หมวด Play เพิ่มที่นี่
Read More:
รีวิวแอปฯ เพื่อกายใจแบบไม่มีแอ๊บ
เข้าสู่วิถีสุขภาพและ mindfulness จากที่บ้านด้วยแอปพลิเคชันในมือถือ
ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ Ver 2.0 มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง?
ทัวร์สุ่มกลับมาอีกครั้ง จะแตกต่างจากทัวร์ครั้งแรกตรงไหนบ้าง มาดูกัน!
‘ตามล่า’ หนังสือที่อยากได้จากร้านมือสอง
ทดลองช้อปหนังสือมือสองแบบมีมิชชั่น (ไม่) อิมพอสซิเบิ้ล