Home —— The Conscious shopper

เตรียมบ้านและเตรียมใจ ก่อนถอยรถ EV คันใหม่

หลายคนที่เคยชินกับการขับรถไปเติมน้ำมันอาจรู้สึกว่าการเตรียมบ้านเพื่อติดตั้งจุดชาร์จไฟเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากกว่า แต่เหล่านี้คือการเปลี่ยนเพียงครั้งเดียวเพื่อการใช้งานระยะยาวและยั่งยืนกว่า ยิ่งในปีใหม่ที่รถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง พร้อมนโยบายสนับสนุนจากรัฐที่ทำให้คนอยากซื้อมากขึ้น แล้วเราต้องเตรียมบ้านรองรับรถประหยัดพลังงานนี้ยังไงล่ะ อาจเป็นคำถามที่รอคำตอบจากช่างไฟฟ้าอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราช่วยตระเตรียมบ้านและมีความรู้ช่วยเช็คความเหมาะสมได้ด้วย ย่อมดีกว่าแน่ๆ

ปล่อยมลพิษน้อยกว่า เงียบกว่า คิดถึงอนาคตมากกว่า

รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) คือยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ น้ำมัน หรือพลังงานอื่นที่มีการเผาไหม้ โดยอาศัยกลไกการเปลี่ยนแปลงพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้ในการขับเคลื่อนยานยนต์ เมื่อไม่มีกลไกซับซ้อนและการเผาไหม้เพื่อขับเคลื่อนแบบการใช้น้ำมันอย่างเก่า รถจึงเคลื่อนที่ได้เงียบกว่า ไม่มีไอเสียจากการเผาผลาญ แถมช่วยประหยัดค่าซ่อมบำรุงและค่าน้ำมันที่มีแต่จะสูงขึ้นทุกวัน จึงเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ใช้ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทั่วโลก บ้านยุคใหม่เลยต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการมีอยู่ของรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

วิธีเตรียมบ้านไว้ต้อนรับรถยนต์ไฟฟ้า

01 เช็คมิเตอร์ว่าไหวไหม ไม่ไหวอย่าฝืน

ก่อนอื่นต้องรู้ว่ามิเตอร์ไฟฟ้าที่เห็นตามบ้านมาจาก Kilowatt-hour Meter ซึ่งเครื่องวัดที่ให้หน่วยเป็นกิโลวัตต์นี้ได้จากการวัดปริมาณกำลังไฟฟ้า และมิเตอร์ที่ว่าไม่ได้มีแค่ประเภทเดียว แต่แบ่งตามลักษณะการใช้งาน เช่น บ้านสำหรับอยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ องค์กรไม่แสวงผลกำไร กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร แต่ละสถานที่มีขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่ต่างกัน

หากลดสเกลลงมาดูในระดับบ้านก็ยังแบ่งมิเตอร์ได้อีกหลายขนาด โดยการเลือกมิเตอร์ต้องอาศัยการคำนวณจำนวนสมาชิกในบ้านและจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน พูดอย่างง่ายได้ว่าขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าขึ้นอยู่กับขนาดของบ้าน จำนวนคนในบ้าน และปริมาณการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันและเผื่อไปยังอนาคตด้วย* บ้านอยู่อาศัยทั่วไป ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าประเภท Single-Phase 5(15)A หรือ Single-Phase 15(45)A เหล่านี้สามารถเช็คได้จากตัวเลขที่ระบุบนมิเตอร์ที่บ้าน โดยตัวเลขแรก หมายถึง ขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้ามีหน่วยเป็นแอมป์ ส่วนตัวเลขในวงเล็บ หมายถึง ความสามารถในการใช้ไฟฟ้าสูงสุดต่อเนื่องไม่เกินสามชั่วโมง ซึ่งไม่พอต่อการชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า 

การติดตั้ง EV Charger ในบ้านต้องใช้กระแสไฟมากขึ้น โดยมิเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ได้ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 30 แอมป์ หรือมาตรฐานที่การไฟฟ้าฯ แนะนำให้เปลี่ยนคือมิเตอร์ขนาด Single-Phase 30(100)A

*สูตรการคำนวณ

กำลังวัตต์ (Watt หน่วยของกำลังไฟฟ้าบนฉลากของเครื่องใช้ไฟฟ้า) หารด้วยโวลต์ (Volt หน่วยขนาดแรงดันไฟฟ้าในประเทศไทยคือ 220V) จะได้ค่าแอมป์ (Amp หน่วยของปริมาณกระแสไฟที่ไหลผ่านตัวนำหรือสายไฟ) คูณจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้น แล้วนำทั้งหมดมาบวกกัน คูณด้วยปริมาณไฟฟ้าที่อาจใช้เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วยตัวเลข 1.25 อีกทีจะได้ค่าเพื่อเทียบดูความเหมาะสมของขนาดมิเตอร์ที่บ้านได้

02 ระบบไฟ ใหญ่พอหรือเปล่า

เพิ่มขนาดมิเตอร์แล้ว ที่ต้องเปลี่ยนตามมาคือ ขนาดสายไฟฟ้า (สายเมนเข้าอาคาร) ต้องเปลี่ยนให้เป็น 25 ตร.มม. และ MCB (Main Circuit Breaker) ต้องมีขนาดสูงสุดไม่เกิน 100 แอมป์ ใจความสำคัญคือขนาดของ มิเตอร์ สายไฟ และ MCB สามส่วนนี้จำเป็นต้องสัมพันธ์กันเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น

ต่อมาคือ ตู้ควบคุมไฟฟ้า หรือ MDB (Main Distribution Board) ลองมองหาช่องว่างสำรองสำหรับติดตั้ง Circuit Breaker เพราะการชาร์จไฟรถยนต์จะแยกวงจรกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ถ้าตู้ควบคุมไฟฟ้าไม่มีช่องว่างเหลือแล้ว ให้เพิ่มตู้ควบคุมย่อยสำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอีกหนึ่งตู้เข้าไปด้วย

03 ถ้าไฟรั่ว เราต้องรอด

เมื่อเกิดการใช้ไฟเกินพอดี เหตุไฟฟ้าลัดวงจร หรือเหตุการณ์ธรรมชาติอย่างฟ้าผ่า อาจนำมาซึ่งการเกิดไฟดูดแก่ผู้ใช้หรือเจ้าของบ้าน โดยเราจะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าบ้านเราติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ารั่ว หรือ RCD (Residual Current Devices) เอาไว้มั้ย โดยเครื่องป้องกันไฟฟ้ารั่วตามมาตรฐานต้องมีพิกัดขนาดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่เกิน 30 mA ต้องตัดไฟได้ภายในระยะเวลาเพียง 0.04 วินาที เมื่อมีไฟรั่วขนาด 5 เท่าของพิกัด (150 mA) แต่ถ้าตัวชาร์จรถยนต์ที่จะติดตั้งมีระบบตัดไฟอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องติดตั้ง RCD เพิ่ม 

04 เข้ามาเลย พร้อมชาร์จ!

EV Socket Outlet หรือเต้ารับสำหรับเสียบสายชาร์ตต้องเป็นชนิดสามรู และมีสายต่อลงดิน ทนต่อกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16 แอมป์ (หรืออาจเป็นเต้ารับสำหรับงานอุตสาหกรรม) โดยรูปแบบอาจปรับเปลี่ยนตามประเภทรุ่นของรถยนต์ที่ใช้ แบ่งเป็น Type 1 สำหรับรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ Type 2 สำหรับรถยนต์แบรนด์ยุโรป และ Type GB/T สำหรับรถยนต์แบรนด์จีน

ชวนเช็คทุกจุดให้ชัวร์แล้วติดต่อไปที่ช่างไฟที่มีความเชี่ยวชาญ / การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA Call Center 1129 / การไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ได้เลย (มีค่าธรรมเนียมการตรวจสอบและติดตั้ง)

ตั้ง EV Charger ตรงไหนในบ้านดี

การติดตั้งจุดชาร์จไม่ใช่ว่าตั้งตรงไหนก็ได้ที่สายไฟไปถึง เนื่องจากมีระยะเหมาะสมของมันอยู่ 

  • ห่างได้ แต่อย่าเกิน 5 เมตร 

จากจุดติดตั้งเครื่องชาร์จไปถึงจุดจอดรถไม่ควรเกิน 5 เมตร เนื่องจากสายชาร์จ EV Charger ทั่วไปมีความยาวไม่เกิน 7 เมตรเท่านั้น ลองนึกถึงการเติมน้ำมันแบบที่เราคุ้นเคยก็ได้ ถ้าระยะไกลไป สายก็ไปไม่ถึงตัวรถ หรือหากต้องใช้การดึงบ่อยเข้าก็คงไม่ดีกับสายชาร์จแน่ 

  • เดินไฟอย่าไกลตู้

เลือกพิกัดติดตั้งจุดชาร์จที่สามารถเดินสายไฟไปได้ไม่ไกลจากตู้ควบคุมไฟฟ้า นอกจากช่างจะทำงานสะดวก ประหยัดเวลาแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟด้วย 

  • โปรดชาร์จใต้หลังคา 

อย่างสุดท้ายที่ต้องไม่ลืมคือจุดชาร์จควรอยู่ในร่มหรือเป็นบริเวณที่มีหลังคา เพราะถึง EV Charger จะมีระบบกันน้ำในตัว แต่คงไม่เหมาะกับการตากแดดตากฝนทั้งวันทั้งคืน ยังไงก็ควรถนอมไว้ให้ดีเพื่อการใช้งานที่ยาวนานขึ้นด้วย

[Conscious Tips by ili U] 

EV Charger Point นอกบ้าน มีที่ไหนพร้อมให้เราเข้าชาร์จบ้าง

MEA EV Charger 

จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงให้บริการในพื้นที่ของสำนักงานการไฟฟ้าหลายเขตใกล้บ้าน สามารถเช็คจุดบริการได้ที่แอปพลิเคชั่น MEA EV (มีค่าบริการ) 

PEA VOLTA

จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 ภาคของไทย สามารถเช็คจุดบริการได้ที่แอปพลิเคชั่น PEA VOLTA (มีค่าบริการ)

EV STATION

จุดชาร์จที่ให้บริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อรองรับวิถีใหม่ในการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าของกลุ่มลูกค้าในเครือเซ็นทรัล สถานีตั้งอยู่ที่ เซ็นทรัลชิดลม บริเวณลานจอดรถชั้น B และ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี บริเวณลาดจอดรถชั้น B1

Contributor

อดีตกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปัจจุบันรับจ้างเขียนเป็นการเลี้ยงชีพ

graphic designer

Freelance Graphic Designer ชอบการทำเลย์เอาต์หนังสือและงานกระดาษ รักการเก็บสะสมพืช และมีแมวในการดูแลหนึ่งหน่วย

Read More:

Home ผลการทดลอง

ทดลองพกถุงก๊อบแก๊บไปใช้ซ้ำในชีวิตประจำวัน (ฉบับคนขี้ลืม)

อยากรียูสถุงก๊อบแก๊บ แต่ลืมเอามาทุกที ก็ต้องหาวิธีแก้กันหน่อย

Home วิธีทำ

ชวนมาสร้าง new normal ที่เราจะ ‘ใช้ซ้ำ’ ได้เป็นปกติ

วิธีอยู่อย่างสะอาด ปลอดภัย และใช้ซ้ำให้ได้ ในยุคที่เชื้อโรคเยอะแถมขยะแยะ

Home

ทำไมต้องตัดใจจากเขา เอ้ย ของ ให้เป็น?

ชวนเรียนรู้กระบวนการบอกเลิก บอกเล่า และบอกแลก ของเคยรัก ในเวิร์กช็อป Barter System Club: Pre-loved Talk & Trade