Body —— The Conscious shopper

คุณเป็นนักช้อปสีไหน ใช่ Cyan Shopper หรือเปล่า?

เมื่อพูดถึงนักช้อป ภาพที่หลายคนมองเห็นในทันทีคงจะหนีไม่พ้นภาพของถุงช้อปปิ้งพะรุงพะรังสูงท่วมหัว และการจับจ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย แน่นอน แม้ว่าภาพลักษณ์ของนักช้อปในลักษณะนี้จะไม่ใช่เรื่องเกินจริง แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า การช้อปปิ้งจะต้องหมายถึงการคอยแต่จะซื้อๆๆ อย่างไม่ยั้งคิดเสมอไป

‘conscious shopping’ หรือ ‘การช้อปปิ้งอย่างมีสติ’ คือเทรนด์หนึ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลาย ที่ไม่ได้มองว่าพฤติกรรมการช้อปปิ้งจะต้องเท่ากับการใช้จ่ายอย่างไม่ยั้งคิดอีกต่อไป แต่นักช้อปเองก็ควรที่จะระมัดระวังและคิดให้รอบคอบก่อนที่จะซื้ออะไรสักอย่างหนึ่ง ‘การไม่ตัดสินใจซื้อสิ่งของชิ้นหนึ่งๆ ในทันที แต่เลือกจะถอยออกมาตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า เราจำเป็นจะต้องใช้ของชิ้นนี้จริงหรือเปล่า การพิจารณาวัตถุดิบที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการให้คำนึงถึงความโปร่งใสของกระบวนการผลิตสินค้า’ เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของ conscious shopping แทบทั้งนั้น

หนึ่งในเทรนด์ช้อปปิ้งอย่างมีสติที่นักช้อปตัวพ่อตัวแม่หลายคนกระโดดลงไปร่วมวงด้วย ยังรวมถึงแบรนด์ชื่อดังอีกหลายแบรนด์ยังหันมาให้ความสำคัญ เทรนด์ที่เรากำลังจะพูดถึงนี้คือ Cyan Shopper อ่านแล้วลองถามตัวเองกันดูว่าคุณเป็นนักช้อปสีไหน?

นักช้อปสีเขียวอมฟ้า ที่เป็นตัวแทนของป่าและท้องทะเล

ใครที่พอจะคุ้นเคยกับภาพวงล้อสีอยู่บ้างคงจะพอนึกออกว่า Cyan คือชื่อของสีที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสีเขียวกับสีฟ้า ที่บางคนก็เรียกว่าสีเขียวอมฟ้า ส่วนบางคนก็เรียกว่าสีฟ้าอมเขียว แต่คำถามคือ แล้วชื่อของสีมาเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการช้อปปิ้งได้อย่างไรกันล่ะ

คำตอบของมันไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด เพราะในขณะที่สีฟ้าคือตัวแทนของทะเล สีเขียวก็คือตัวแทนของป่า โดยที่ Cyan ซึ่งเป็นสีที่อยู่ตรงกลางก็ย่อมจะหมายถึงการผสมผสานกันระหว่างผืนป่าและท้องทะเลนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ความหมายของ Cyan Shopper ในฐานะการช็อปปิ้งอย่างมีสติจึงหมายถึง นักช้อปที่ก่อนจะตัดสินใจซื้ออะไร จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนเสมอว่า ของชิ้นดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อผืนป่าและท้องทะเลหรือเปล่า ไม่ว่าจะในส่วนของวัตถุดิบ หรือกระบวนการผลิต พูดให้ชัดขึ้นคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือเงื่อนไขสำคัญที่ Cyan Shopper จะใช้พิจารณาว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าใดๆ

ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า Cyan Shopper ไม่ได้เป็นเทรนด์ที่อยู่แค่ในหมู่นักช้อปกลุ่มเล็กๆ แต่กลับขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางกลุ่มนักช้อปเจน z (กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 1997 – 2012) ที่ไม่ได้ตัดสินใจซื้อสินค้าจากความสวยงาม หรือประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่กลับให้ความสำคัญอย่างเต็มที่กับประเด็นทางศีลธรรม และความโปร่งใสในการผลิตสินค้าของแบรนด์

แบรนด์แฟชั่นก็ต้องแคร์โลก เพื่อปรับตัวเข้าหา Cyan Shopper

เมื่อขนาดของนักช้อปเจน z มีแต่จะขยายขึ้นเรื่อยๆ ไม่แปลกที่แบรนด์ต่างๆ เลยหันมาให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการช้อปของลูกค้ากลุ่มนี้ หนึ่งในแบรนด์ที่ปรับตัวให้ตอบโจทย์กับ Cyan Shopper ได้อย่างรวดเร็วคือ Patagonia แบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์ชื่อดังที่นอกจากจะหันมาใช้วัตถุดิบรีไซเคิลแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ในการผลิตเสื้อผ้าใหม่ๆ ของแบรนด์แล้ว สินค้าของ Patagonia ทุกชิ้นยังมาพร้อมกับบริการซ่อมแซมตลอดชีพ ซึ่งช่วยให้คุณไม่ต้องคอยซื้อสินค้าใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ แม้ว่าสินค้าบางชิ้นของ Patagonia จะผลิตจากวัสดุซึ่งได้มาจากสัตว์ เช่น ขนแกะ แต่แบรนด์ก็ยืนยันชัดเจนว่า การที่ได้มาซึ่งขนแกะนั้นปราศจากกระบวนการทรมานสัตว์ โดยที่แกะทุกตัวก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

มาดูในฝั่งของทะเลกันบ้าง หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทะเลโดยตรงย่อมจะหนีไม่พ้นชุดว่ายน้ำ โดยที่หลายๆ แบรนด์ก็หันมาผลิตชุดว่ายน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น Vitamin A Swim แบรนด์ชุดว่ายน้ำจากแคลิฟอร์เนียที่ผลิตชุดว่ายน้ำของแบรนด์จากพลาสติกรีไซเคิลจากขยะในท้องทะเล หรือ Sézane แบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสที่นอกจากจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเรื่องแพคเกจจิ้งของแบรนด์ซึ่งรีไซเคิลได้ง่ายและผลิตจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

[Conscious Tips by ili U]  

นักช้อปสีเขียวอมฟ้า ต้องมองหาสัญลักษณ์อะไรบ้าง

ถึงตรงนี้บางคนอาจสงสัยว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสินค้าที่เรากำลังจะซื้ออยู่นี้จะไม่ทำอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม คำตอบก็คือ ครั้งต่อไปที่คุณจะช้อปสินค้าสักชิ้นหนึ่ง ให้ลองสังเกตุที่ฉลาก หรือตราสัญลักษณ์ของสินค้าชิ้นนั้นๆ ดูสิ หากคุณพบสัญลักษณ์เหล่านี้ก็มั่นใจได้เลยว่า สินค้าชิ้นนี้สามารถซื้อได้อย่างสบายใจ

Reef Friendly

สัญลักษณ์ที่ยืนยันว่า สินค้าชิ้นจะไม่ทำอันตรายปะการังและบรรดาสิ่งมีชีวิตทางทะเลอย่างแน่นอน โดยการที่สินค้าชิ้นหนึ่งๆ จะได้ตราสัญลักษณ์นี้มาจะต้องพิสูจน์ว่า วัตถุดิบในสินค้านั้นปลอดจากสารเคมีอย่าง Oxybenzone, Octinoxate และ Octocrylene ซึ่งเป็นอันตรายต่อปะการังนั่นเอง

Vegan Certification

สัญลักษณ์ครอบจักรวาลที่จะช่วยยืนยันว่า สินค้าชิ้นดังกล่าวนอกจากจะปราศจากวัตถุดิบใดๆ ซึ่งผลิตมาจากสัตว์แล้ว กระบวนการในการผลิตสินค้าชิ้นนี้ยังไม่มีการทรมานสัตว์เกิดขึ้นอีกด้วย เพราะฉะนั้นหากคุณพบสัญลักษณ์นี้บนสินค้าชิ้นใดก็สบายใจได้เลยว่า สินค้าชิ้นดังกล่าวถูกผลิตอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมแล้วนั่นเอง

Eco Friendly

อีกสัญลักษณ์หนึ่งที่จะช่วยรับประกันว่า สินค้าที่คุณกำลังจะซื้อผลิตจากวัตถุดิบและกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตจากวัตถุดิบที่ง่ายต่อการรีไซเคิล ย่อยสลายได้ง่าย และปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีและสารพิษที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ

Contributor

นักศึกษาปริญญาโทสาขาสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ใช้ชีวิตอยู่เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และนครศรีธรรมราช

graphic designer

Freelance Graphic Designer ชอบการทำเลย์เอาต์หนังสือและงานกระดาษ รักการเก็บสะสมพืช และมีแมวในการดูแลหนึ่งหน่วย

Read More:

Body วิธีทำ

ฮาวทูไม่ทิ้ง แต่เก็บยีนส์เก่ามาซ่อมด้วยการเย็บ

เก็บยีนส์เก่าที่ขาดมาซ่อมแบบ visible mending

Body สาระสำคัญ

I Need Some Body Positivity ทำไมต้อง ‘ดูดี’ ทั้งที่ก็ต้องอยู่แต่ในบ้าน

วิธีเอาใจออกห่างไวรัสด้วยการหันมาดูแลตัวเอง ทั้ง ‘ข้างนอก’ (body) และ ‘ข้างใน’ (mind)

Body จากผู้ใช้จริง

ขอเป็นมือที่สอง!

มารู้จักจักรวาลร้านเสื้อมือสอง แล้วลองไปช้อปตามสไตล์