เรื่องเล่าของผักโลคอลไทย
ภูทับเบิก
เหล่าผักที่เรียงรายให้ได้เลือกอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต หนึ่งในนั้นเชื่อว่าหลายคนต้องคุ้นตากับแบรนด์ ‘ภูทับเบิก’ ในเรื่องความสด สะอาด และปลอดภัย ที่ปลูกโดยเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มาเริ่มจากอาการแพ้สารเคมีและความเจ็บป่ายของเกษตรกร ทำให้พวกเขาเปลี่ยนมาปลูกผักแบบอินทรีย์ โดยมีตัวกลางคือสหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำหน้าที่ผู้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกและตรวจสอบสารเคมีทุกครั้ง ก่อนส่งต่อผักเหล่านั้นไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต
นอกจากผักภูทับเบิกจะใช้ปุ๋ยคอกขี้ไก่ที่หมักเองในการปลูกแล้ว ยังเลือกใช้สมุนไพรกลิ่นฉุนอย่างสะเดา บอระเพ็ด สาบเสือ ตะไคร้ ข่า กระเทียม มาตำละเอียด ละลายน้ำ และต้มเอาไว้เพื่อใช้ฉีดพ่นช่วยไล่แมลงให้พ้นจากแปลงผัก
ผักปลอดภัยจากภูทับเบิก เช่น มะเขือเทศราชินี ดอกหอม ต้นหอมญี่ปุ่น ฟักทองญี่ปุ่น และกลุ่มผักสลัดอย่างผักแก้ว บัตเตอร์เฮด คอส กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค และอีกมากมาย
โครงการหลวง
ไม่มากก็น้อยคงต้องเคยหยิบผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงกลับบ้านด้วยกันทั้งนั้น เพราะสินค้าในโครงการครอบคลุมไปทั้งผัก เห็ด สมุนไพร ชา กาแฟ ผลไม้ อาหารแปรรูป ดอกไม้กินได้ รวมไปถึงเครื่องอุปโภคจากเครื่องสำอาง
‘ผักโครงการหลวง’ ดำเนินงานโดยมูลนิธิโครงการหลวง (Royal Project Foundation) จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยต้องการสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับเกษตรกร รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น โดยผักภายใต้แบรนด์นี้ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากระบบ GAP (ผลผลิตของเกษตรกร) GMP (หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต) และ HACCP (ควบคุมคุณภาพความปลอดภัย) ของโรงงานแปรรูป รวมถึงเว็บไซต์ของมูลนิธิโครงการหลวงยังมีข้อมูลเรื่องลักษณะ สรรพคุณ พร้อมแนะนำฤดูกาลของผักแต่ละประเภท สร้างความเข้าใจให้คนกินอย่างเราด้วย นอกจากจะเป็นหลังบ้านคอยซัพพอร์ตเกษตรกรแล้ว ยังสร้างช่องทางจัดจำหน่ายให้สอดรับกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคด้วยการมีร้านค้าออนไลน์ มีหน้าร้านของแบรนด์ และวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต
ผักจากโครงการหลวง เช่น กระเจี๊ยบเขียว กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ข้าวโพด ซูกินี ถั่วแขก บล็อกโคลี่ บีทรูท มะเขือเทศ พริก พืชตระกูลฟัก และอีกมากมาย
ซำสูง
ซำสูง คือผักปลอดสารพิษจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น เป็นแบรนด์โลคอลไทยที่พูดได้เต็มปากว่าทั้งผู้นำชุมชนและชาวบ้านมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ความรู้สึกว่าทุกคนเป็นเจ้าของนี้ได้กลายเป็นหัวใจหลักของการทำแบรนด์ โดยโลโก้ตัวอักษรยึกยือสีขาวที่เขียนว่า ซำสูง บนพื้นหลังสีเขียวคือลายมือของชาวบ้านสูงอายุท่านหนึ่งในอำเภอ ที่ได้รับการคัดเลือกผ่านการโหวตจากชาวบ้านด้วยกันเอง ส่วนชื่อซำสูงมาจากสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ปลูกที่มีแหล่งน้ำใต้ดินขนาดใหญ่คอยเอื้อให้การเพาะปลูกดำเนินไปได้ด้วยดี ‘ซำ’ ในทีนี้จึงหมายถึง น้ำซับหรือน้ำที่ออกมามาก
เกษตรกรใช้ปุ๋ยหมักและสารชีวภาพจากหอยเชอร์รี่ เศษอาหาร อ้อย มันสำปะหลัง ผลไม้สุกที่ทำใช้เอง และได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนด้วย พร้อมกันนั้นยังมีโรงคัดแยกและบรรจุผลิตภัณฑ์ ที่ดำเนินงานโดยกลุ่มสหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ อำเภอซำสูง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของชาวบ้านในอำเภอ โดยมีเป้าหมายว่าต้องการเป็นแหล่งพืชผักปลอดสารพิษเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนในจังหวัดและกรุงเทพฯ
ผักอร่อยจากซำสูง เช่น ถั่วฝักยาว คะน้า ผักบุ้ง มะเขือเทศ ต้นหอม มะเขือพวง
เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)
ผักจากที่นี่ปลูกด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ ดำเนินงานโดยมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)ยามยาก สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ปลูกผักด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิค โดยทางแบรนด์ระบุไว้ว่า ‘ทุกการสนับสนุนผ่านการจับจ่ายสินค้าเท่ากับคุณได้เป็นหนึ่งเดียวกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ในการฟูมฟักให้ชุมชนเกิดการพึ่งพาตัวเอง เติบโต ก้าวเดิน และโบยบินไปในอนาคต เพื่อคุณภาพชีวิตที่เข็มแข็ง มั่นคงและยั่งยืน’
แม้ผักเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) จะยังไม่ได้การรับรอง แต่กำลังอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าออร์แกนิกตามระบบมาตรฐาน ซึ่งคงต้องรออีกนิดเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค
ผักเด่นจากเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เช่น มันเทศ ผักคอส ต้นอ่อนทานตะวัน สะระแหน่ คะน้า กวางตุ้ง
อุดหนุนผักโลคอล ดีอย่างไร
- รู้แหล่งที่มา
คนกินผักอย่างเราควรต้องรู้จักแหล่งปลูกผักที่เรากินด้วย ปลูกในพื้นที่ไหน เกษตรกรหรือตัวกลางรับซื้อคือใคร ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากองค์กรใด เหล่านี้มีความจำเป็นต่อการกินอย่างปลอดภัย และรับรู้ว่าเงินที่จ่ายนั้นไปถึงมือของใครบ้าง เป็นการสนับสนุนเกษตรกรแท้จริงหรือไม่ อย่างไร
- สด อร่อย ตามฤดูกาล
ผักที่ปลูกตรงตามฤดูกาลนอกจากจะมีรสชาติดีที่สุดในช่วงเวลานั้นๆ เพราะเป็นการปลูกแบบหมุนเวียนทำให้สมดุลของอาหารในดินไม่ถูกดึงออกไป คนกินยังไม่ต้องเสี่ยงกับสารตกค้างของการใช้สารเคมีในการปลูก ถ้าเราเลือกกินผักในถูกฤดูกาลยังเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรไม่ต้องพยายามปลูกผักนอกฤดูตามความต้องการของตลาดที่ต้องการผักไม่กี่ประเภท การปลูกวนลูปเดิมซ้ำๆ ทำให้เกิดตัวกำเนิดโรคและศัตรูพืช
[Conscious Tips by ili U]
วิธีเลือกซื้อผัก (ปลอดภัย) อย่างเข้าใจ
ผักที่เห็นในซูเปอร์มาร์เก็ตสร้างความงุนงงสงสัยให้คนซื้ออยู่บ่อยครั้ง ชวนทำความเข้าใจเรื่องผักปลอดภัยและตราต่างๆ พร้อมเทคนิคล้างผักด้วย
01 เลือกผักจากการปลูก
- ผักอนามัย
- ผักที่มีตรารับรอง GAP โดยกรมวิชาการเกษตร
- ปลูกแบบใช้สารเคมี แต่ในปริมาณที่เหมาะสม
- อาจไม่ปลอดภัยจาก GMOs ปุ๋ย และสารเคมีตกค้าง
- ผักปลอดภัย
- ผักที่มีตรารับรองคุณภาพระบบตรวจสอบสารพิษ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- ปลูกแบบใช้สารเคมี แต่ในปริมาณที่เหมาะสม
- อาจไม่ปลอดภัยจาก GMOs ปุ๋ย และสารเคมีตกค้าง
- ผักปลอดสารพิษ
- ผักที่ผ่านระบบ PGS (ระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่น) โดยชุมชนผู้ผลิตมีส่วนร่วม
- ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี แต่ไม่ทุกขั้นตอน
- ไม่มีระบบการจัดการและการตรวจสอบย้อนหลัง
- ผักออร์แกนิก (อินทรีย์)
- ผักที่ปลูกด้วยวัสดุจากธรรมชาติ และปลูกแบบปลอดสารเคมีทุกขั้นตอน รับรองโดยเกษตรอินทรีย์ PGS มกอช. และ มกท. (IFOAM)
- ปลอดภัยจาก GMOs ปุ๋ย และสารเคมีตกค้าง
02 เลือกผักจากตรารับรอง
- สัญลักษณ์ตัว Q สีเขียว ตรารับรอง GAP (Good Agriculture Practices–การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม) ตรวจสอบและรับรองโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นไปที่วิธีการผลิตของเกษตรกร สามารถใช้สารเคมีได้ แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
- สัญลักษณ์รูปผักกาดขาว ตรารับรองคุณภาพระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักผลไม้สด โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นการรับรองที่ปลายทางว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ผ่านระบบการสุ่มตรวจสอบสารพิษตกค้างที่ได้มาตรฐาน
- Organic Thailand ตรารับรองมาตรฐานการทำเกษตรอินทรีย์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เช่นกัน แต่มีความเข้มงวดมากกว่าการรับรองในระบบ GAP
- IFOAM ตรารับรองเกษตรอินทรีย์ ตามมาตรฐานของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) ตรวจสอบและรับรองโดยสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
03 เลือกล้างผักให้ถูกวิธี
ผักมีรูที่หลายคนเข้าใจว่าดี เพราะคิดว่าแปลได้ว่าไม่มียาฆ่าแมลง ซึ่งอาจเป็นความไม่เข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะบางครั้งรูของผักอาจเกิดจากการฉีดยาฆ่าแมลงหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันได้ คนกินอย่างเราจึงต้องล้างผักให้สะอาดทุกครั้ง โดยมีวิธีล้างผักสดลดสารเคมีใน 3 ขั้นตอน ดังนี้
- ล้างผักด้วยการเปิดน้ำไหลผ่าน คลี่ก้านใบ ใช้มือถูทำความสะอาดได้
- แช่ผักในน้ำสะอาด 5 นาที / แช่ในน้ำส้มสายชู 10 นาที
- ล้างผักด้วยน้ำสะอาดโดยการเปิดน้ำให้ไหลผ่านอีกรอบ
อ้างอิงข้อมูล:
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)
สหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ อำเภอซำสูง
มูลนิธิโครงการหลวง
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)ยามยาก
เซ็นทรัลทำ
www.komchadluek.net/kom-lifestyle/164849
www.greenery.org/articles/info-organicveg
www.thaipan.org
https://themomentum.co/vegetable-labels/
Read More:
ก่อนมูฟออนสู่บ๊วยโหลใหม่ เปลี่ยนบ๊วยค้างโหลยังไงให้ไม่บ๊วย
3 เมนูเคลียร์บ๊วยค้างโหลจากฤดูดองเหล้าบ๊วยปีก่อน
อย่ากินเราเลย เรามีรสเศร้า
ถ้ายังเลิกกินเนื้อสัตว์ไม่ได้ ก็งดเมนูทำร้ายสัตว์เกินเบอร์เถอะ
ว่างนัก เลยทดลองหมักอาหารกินเอง
ผลการทดลองทำกินจิหมักๆ และเหล้าบ๊วยดองๆ ของคน WFH