#BreakTheBias หยุดอคติที่มีต่อผู้หญิง
จากจุดเริ่มต้นของขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ผู้หญิงพึงมีของคนงานกว่า 15,000 ชีวิตในมหานครนิวยอร์ก ราวปี 1908 ที่ว่าด้วยเรื่องอันเป็นพื้นฐานของวันนี้ อย่างการลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง การเพิ่มค่าแรง และสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิง ต่อมาแนวคิดนี้ถูกนำเสนออีกครั้งในที่ประชุมนานาชาติของผู้หญิงทำงาน โดย คลารา เซทคิน นักการเมืองผู้สนับสนุนสิทธิสตรีชาวเยอรมัน ในปี 1910 จนได้รับความเห็นชอบในที่ประชุม และมีการเฉลิมฉลองวันสตรีสากล (International Women’s Day หรือ IWD) เป็นครั้งแรกในปีถัดไป
ถึงวันนี้ เป็นเวลา 111 ปีแล้วสำหรับการเฉลิมฉลองวันสตรีสากล โดยปีนี้ UN Woman มาพร้อมธีมเรื่องความยั่งยืนที่ผนวกเข้าไปด้วยอย่าง ‘Gender equality today for a sustainable tomorrow’ (สร้างความเท่าเทียมทางเพศวันนี้ เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน) ว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผู้คน เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ยังขาดความเท่าเทียมเป็นสิ่งพื้นฐาน ปัญหาต่างๆ จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้น และความยั่งยืนที่ว่าก็คงมาไม่ถึงอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ยังพ่วงแคมเปญ #BreakTheBias ที่ต้องการสื่อสารเรื่องอคติทางเพศในหลากหลายแง่มุม และชวนทุกคนมามีส่วนร่วมได้ด้วยการแชร์ประสบการณ์พร้อมติดแฮชแท็กนี้เพื่อส่งเสียงออกไปให้ดัง
ความเสมอภาค เริ่มต้นที่ (งาน) บ้าน
ชวนย้อนมาดูในระดับของครอบครัว ไม่ว่าโลกตะวันออกหรือโลกตะวันตก พบว่าเรื่องเล็กๆ อย่างการทำงานบ้านกลับกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาชีวิตคู่ เพราะงานบ้านไม่ใช่แค่เรื่องการทำความสะอาดบ้าน แต่แฝงไปด้วยเรื่องสิทธิและหน้าที่ ความไม่เท่าเทียมและอคติทางเพศอย่างประเด็นที่ว่างานบ้านเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น โดยผู้ชายอาจจะไม่มาหยิบจับกวาดถู หรือไม่ถือเป็นหน้าที่จริงจังด้วยซ้ำ
ขณะเดียวกัน ผู้คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับ Gender Equality ในงานบ้าน และเกิดคดีฟ้องหย่าโดยมี ‘งานบ้าน’ เป็นชนวนอยู่มากมาย
สำนักข่าว BBC รายงานว่าศาลในกรุงปักกิ่งพิพากษาให้ชายคนหนึ่งต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูเดือนละ 20,000 หยวน (ราว 100,000 บาท) และเงินชดเชยจำนวนเงิน 50,000 หยวน (ราว 250,000 บาท) ให้กับอดีตภรรยา เพื่อเป็นการชดเชยค่าทำงานบ้านตลอดระยะเวลาห้าปีที่อยู่ด้วยกัน ฝ่ายภรรยาร้องเรียนต่อศาลว่าเธอต้องดูแลลูกไปด้วย ทำงานบ้านไปด้วย ขณะที่อดีตสามีไม่เคยมีส่วนร่วมเลย
คดีนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งฉบับใหม่ในประเทศจีนที่เพิ่งมีผลบังคับในปีที่ผ่านมานี้เอง เมื่อคู่สมรสมีสิทธิได้รับค่าชดเชยในการหย่าร้าง หากเขาหรือเธอมีความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูบุตร การดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการช่วยเหลือคู่ชีวิตในการทำงาน นับเป็นแนวโน้มที่ดีในการสร้างความเสมอภาคให้คู่สมรส
พร้อมกันนั้น สถานการณ์ของโควิด 19 ก็ได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมด้วยเหมือนกัน เมื่อคู่รักต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำให้ผู้ชายพอจะเห็นว่างานบ้านมันมีมากกว่าที่ตัวเองคิด แถมต้องใช้เวลาและสกิลไม่น้อย ทำให้เหล่าพ่อบ้านเริ่มหันมาหยิบจับไม้กวาดไม้ถูกับเขาบ้าง เพื่อแบ่งเบางานบ้านแบบร่วมด้วยช่วยกันทำ เพราะงานบ้านไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป
Gadget ไหนที่ช่วยทุ่นแรงพ่อบ้านได้
เข้าใจว่าทำ (งานบ้าน) ไหว แต่ถ้ามีตัวช่วยล้ำๆ ก็สามารถตอบโจทย์ให้ผู้ชายสนุกกับการทำงานบ้านมากขึ้นด้วย ชวนมองหาอุปกรณ์ทุ่นแรงให้เป็นของขวัญคุณพ่อบ้าน ลงทุนสักหน่อย แลกมาด้วยการประหยัดแรงและเวลาได้
- พ่อบ้านสายคลีน ให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นช่วยเก็บฝุ่น
- พ่อบ้านสายปรุง ให้เครื่องล้างจานช่วยคืนความเงาวับ
- พ่อบ้านสายซัก ให้เครื่องอบผ้า ร่นระยะการรอ แห้งได้ทุกฤดูกาล
- พ่อบ้านสายเนี้ยบ ให้เตารีดไอน้ำรีดเรียบสมใจ
[Conscious Tips by ili U]
เคล็ดลับแบ่งงานบ้านแบบ gender-fair ทั้งครอบครัว
- นำงานบ้านที่มีทั้งหมดมากางดูเพื่อคุยกันให้เห็นภาพรวม
- คุยกันว่าใครเหมาะทำส่วนไหน เพราะอะไร รู้สึกขัดข้องตรงไหน
- แบ่งงานกันทำตามที่คุยไว้
- กำหนดเวลาเอาไว้คร่าวๆ ก่อนแยกย้ายกันไปทำ เพื่อให้เสร็จเรียบร้อยในเวลาไล่เลี่ยกัน จะได้มาพักผ่อนแบบพร้อมหน้าพร้อมตา
- แบ่งงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกทำ คอยดูอยู่ใกล้บ้างห่างบ้าง และสอนให้ลูกรับรู้และเข้าใจเรื่อง gender-fair ไปด้วยผ่านการทำงานบ้าน
อ้างอิงข้อมูล:
www.bbc.com/thai/international-56256752
www.unwomen.org/en/news-stories/announcement/2021/12/international-womens-day-2022-gender-equality-today-for-a-sustainable-tomorrow
www.bbc.com/news/world-asia-china-56178510
Read More:
ทำไมต้องตัดใจจากเขา เอ้ย ของ ให้เป็น?
ชวนเรียนรู้กระบวนการบอกเลิก บอกเล่า และบอกแลก ของเคยรัก ในเวิร์กช็อป Barter System Club: Pre-loved Talk & Trade
#จับฉลากของขวัญเคยรัก หมายเลข 3 | เจ้าของเก่า: เต้
ของขวัญเคยรักปริศนาหมายเลข 3 ที่จะนำจับฉลากของขวัญเคยรัก ที่ใครได้ไปก็ได้ใช้แน่นอน!
เราจะทำตามสัญญา ถ้าหยุดนำเข้าเศษพลาสติก
ตะโกนบอกรัฐว่าคนตัวเล็กๆ พร้อมจัดการขยะพลาสติกตั้งนานแล้ว!