สวน+สาธารณะ ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิต

สวนสาธารณะมีความสำคัญต่อการพัฒนาเมือง ต่อวิถีชีวิตและจิตใจของผู้คนไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะการเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้ชาวเมืองในวันหยุด มีไว้เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้คน อีกทั้งมิติเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และจิตวิทยาที่เราอยากชวนคุยต่อไป
แต่ก่อนจะไปถึงสวนสาธารณะ ขอชวนสำรวจ ‘พื้นที่สีเขียว’ ในเมืองกรุงกันก่อน เมื่อกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรประมาณ 7 ตารางเมตรต่อคน (อ้างอิงจากสำนักงานสวนสาธารณะ ปี 2021) ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) แนะนำไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราควรจะไปให้ถึงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร หากลองหยิบเมืองอื่นขึ้นมาเปรียบเพื่อเทียบให้เห็นภาพอีกหน่อย ไม่ใกล้ไม่ไกลอย่างสิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียว 56 ตารางเมตรต่อคน เมืองแถบยุโรปอย่างเบอร์ลินมี 24 ตารางเมตรต่อคน และปารีส 13 ตารางเมตรต่อคน จะเห็นว่าของเรายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็น
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจลำดับถัดมาคือตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะพื้นที่สวนสาธารณะ แต่หมายรวมถึงพื้นที่สีเขียวอื่นๆ เช่น เกาะกลางถนน สวนหย่อมในหมู่บ้าน หรือสถานที่บางแห่งที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการเข้าถึงของผู้คน จึงต้องแยกระหว่างพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะ
สวนที่ดีคือพื้นที่สีเขียวที่ ‘เข้าถึงได้ง่าย’

จริงอยู่ว่ากรุงเทพฯ มีนโยบายจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เมื่อ Greener Bangkok 2030 หรือโครงการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองอย่างยั่งยืน โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีเป้าหมายจะเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร 10 ตารางเมตร/คน ให้ได้ภายในปี 2030 แต่ก็ต้องชวนคิดกันต่อไปว่าพื้นที่สีเขียวเหล่านั้นนับรวมความสามารถในการเข้าถึงของประชากรเอาไว้แล้วหรือยัง เมื่อสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง จำกัดการเข้าถึงบางอย่าง หรือมีระยะทางไกลเกินจะเดินไปได้ ทำให้โอกาสในการเข้าถึงพื้นที่เหล่านั้นลดลง หรืออาจไม่สามารถเข้าถึงได้เลยด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ยังนับว่าเป็นแนวโน้มที่ดีของการพัฒนาเมือง เพียงแต่ต้องทำอย่างไรให้ผู้คนสามารถเข้าถึงและเกิดประโยชน์ต่อคนในเมืองจริงๆ สอดคล้องกับความต้องการและใช้งานได้จริงๆ เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามและชวนคิดกันต่อไป
ป่าในเมือง กับมิติที่ดีต่อหัวใจ

เราต่างรู้อยู่แล้วว่าต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียวช่วยดูดซับมลภาวะในอากาศ ช่วยลดอุณหภูมิของเมืองได้ด้วยการให้ร่มเงาพื้นผิวที่ดูดซับความร้อน และยังให้ความเย็นจากกระบวนการระเหยคายน้ำ นอกจากนี้ต้นไม้ยังทำหน้าที่คล้ายเครื่องปรับและกรองอากาศธรรมชาติคอยดูดซับคาร์บอนได้ออกไซด์เอาไว้และปล่อยออกซิเจนออกมาให้เราสูด แถมยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับความยั่งยืนทางทางระบบนิเวศของชุมชน ไม่ว่าคนหรือสัตว์
นอกจากจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและช่วยสร้างเสริมสุขภาพของคนในเมืองแล้ว สวนสาธารณะยังมีมิติในเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คน เมื่อโอกาสได้พบหน้าหรือพูดคุยกันระหว่างคนกับคนที่ไม่รู้จักกันเป็นไปได้ยากยิ่งในเมืองใหญ่ พื้นที่สาธารณะเลยมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดโอกาสเหล่านี้ ช่วยกระตุ้นปฏิสัมพันธ์ของชุมชนและคนในสังคมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่างจากสวนในหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมที่มีลักษณะเป็นชุมชนปิดและมีเพียงสมาชิกในพื้นที่เดียวกันเท่านั้นที่มีโอกาสเจอกัน เมื่อความหลากหลายลดลง ความแตกต่างระหว่างชนชั้นเพิ่มขึ้น ยังส่งผลกระทบไปเป็นทอดๆ ต่อระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาเมือง ไปจนถึงวิถีชีวิตด้วย
จึงแน่นอนว่าสวนสาธารณะที่ดีและเข้าถึงได้รวมถึงพื้นที่สีเขียวมีผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้คน ส่งผลต่อความเป็นอยู่และสุขภาพจิตใจที่ดีของผู้คนด้วย (รวมถึงปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การศึกษา การจ้างงาน สถานภาพสมรส) ลองจินตนาการตามได้ไม่ยากว่าวันที่รู้สึกเหนื่อยล้าจากการงาน แต่ละแวกใกล้บ้านในระยะเดินถึงมีสวนสาธารณะดีๆ สักแหล่งให้ได้นั่งพักรับอากาศ มองไปเห็นแต่ความร่มรื่นของต้นไม้ ย่อมต้องดีต่อใจกว่าการไม่มีสถานที่แบบนี้แน่
ชวนคนกรุงฯ บำบัดใจ ด้วยการออกไปปิกนิกในสวน
เวลานี้กรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะหลายแห่งที่อยากชวนไปเช็คอินหย่อนใจแบบที่ไม่จำเป็นต้องมาในลุคนักวิ่งเสมอไป แต่รองรับความต้องการที่หลากหลายกว่านั้นจะเดินเล่นถ่ายรูป ชวนกันมาปิกนิก ปูผ้าอ่านหนังสือ จิบกาแฟ กินขนม นั่งวาดรูป หรือเดินดูต้นไม้ พักผ่อนแบบเว้นระยะห่างได้ อากาศถ่ายเทสะดวกด้วย เรามี 3 สวนสาธารณะที่อยากแนะนำ
สวนป่าเบญจกิติ

สวนที่สร้างจากพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม โดยมีโจทย์คือต้องเป็นป่าในเมือง ซึ่งหมายถึงการมีระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันเอง และอยากช่วยบรรเทาปัญหามลภาวะในเมือง แบ่งโซนรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย ประกอบด้วยทางเดินชมธรรมชาติ ลู่วิ่ง และทางจักรยาน พื้นที่ทางธรรมชาติ ทางเดินไม้กระดานริมน้ำ (Boardwalk) อาคารกีฬาในร่ม อาคารพิพิธภัณฑ์ ความน่าสนใจคือต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์กว่าแปดพันต้น บึงน้ำขนาดใหญ่ และการออกแบบทางลาดที่ได้มาตรฐาน Universal Design พร้อมรองรับผู้พิการและผู้สูงวัย แถมมีจุดเชื่อมสกายวอล์กให้เดินไปสู่สวนลุมพินีได้ด้วย
กิจกรรมแนะนำ เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เดินเล่นถ่ายรูป ปิกนิก
เปิดทุกวัน 05:00-21:00
การเดินทาง รถยนต์ รถประจำทาง BTS สถานีอโศก / MRT สถานีสุขุมวิท
อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ป่าในเมืองบนพื้นที่กว่า 30 ของถนนบรรทัดทองแห่งนี้เปิดให้บริการมาพักใหญ่แล้ว แต่เราก็ยังอยากแนะนำอยู่ ด้วยความเป็นสวนชุมชนที่ตั้งอยู่กลางเมือง การเดินทางค่อนข้างสะดวก มีลานจอดรถ หรือจะใช้บริการขนส่งมวลชนก็มีให้เลือกหลากหลาย แถมถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยร้านรวงทั้งเก่าใหม่ และเหมาะแก่การเดินเท้าเอามากๆ พื้นที่ภายในนอกจากจะรองรับนักวิ่งนักเดิน ยังมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยมีที่นั่งก่อขึ้นเป็นรูปครึ่งวงกลม เว้นพื้นที่ไว้สำหรับการบรรยายหรือทำกิจกรรมกลุ่ม และมีที่โล่งกว้างหลายมุมที่เหมาะชวนกันมานั่งปิกนิกจิบกาแฟหรืออ่านหนังสือได้สบายๆ
กิจกรรมแนะนำ เดิน วิ่ง เดินเล่นถ่ายรูป ปิกนิก จัดกิจกรรมห้องเรียนกลางแจ้ง
เปิดทุกวัน 06:00-20:00
การเดินทาง รถยนต์ รถประจำทาง BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ / MRT สถานีสามย่าน
สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา

สวนสาธารณะที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงพื้นที่ทางสัญจรบนโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าที่ถูกปล่อยร้างกว่า 30 ปี กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่เชื่อมต่อฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี แม้จะเป็นเส้นทางเดินลอยฟ้าที่ยังมีความยาวไม่มากนัก แต่ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เดินเท้าได้ โดยการนำร่องปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เดินสัญจรรอบเกาะรัตนโกสินทร์ รวมถึงพื้นที่ฝั่งธนบุรี ด้วยทางเชื่อมระยะทาง 1 กิโลเมตร เพื่อเดินต่อไปยังพื้นที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ ได้มากกว่า 200 จุด ที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ และไฮไลต์คือจุดชมวิว 360 องศา กลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่ควรค่าแก่การมาลองสักครั้ง
กิจกรรมแนะนำ เดิน วิ่ง ปิกนิก ชมวิว 360 องศาของกรุงเทพฯ
เปิดทุกวัน 05:00-20:00
การเดินทาง รถประจำทาง เรือด่วนเจ้าพระยา (เรือด่วนธงสีส้ม) และเรือประจำทาง (แบบธรรมดา ไม่มีธง) MRT สถานีสนามไชย
[Conscious Tips by ili U]

low-waste picnic ปิกนิกในสวนยังไงให้ขยะน้อยที่สุด
- เตรียมอาหารจากวัตถุดิบที่ค้างในตู้เย็น ไม่ต้องซื้อใหม่แบบจัดเต็มทุกครั้ง
- ลองซื้อของกินเล่นที่ร้านค้าปราศจากแพ็คเกจดูบ้างสิ
- ใช้อุปกรณ์การกินแบบเก็บกลับไปล้างที่บ้านได้
- พกของกินไปแบบเท่าที่กินไหว ไม่ต้องเผื่อให้เหลือกลับ
- เตรียมถุงขยะสำหรับเก็บและแยกไปทิ้งให้ถูกที่ (แต่ถ้าไม่มีขยะเลยจะดีกว่ามากๆ)
Read More:

แชร์วิธีเช็คอินโรงแรมสีเขียว เที่ยวนี้ขอเฟรนด์ลี่กับโลกด้วย
ชวนเป็นนักท่องเที่ยวใส่ใจโลก ตอบรับกับที่หลายโรงแรมเริ่มมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

ตามหาที่นั่งทำงาน สะดวก ถูกและดี ในกรุงเทพฯ มีอยู่จริงปะ?
ถ้าอยากออกไปทำงานนอกบ้าน จะไปนั่งที่ไหนได้บ้างนะ

ไลฟ์สตรีมดีที่ดูแก้เหงาได้ทั้งวัน
แนะนำไลฟ์สตรีมไว้ดูแก้เหงา ที่มีประโยชน์ และดูสดไปพร้อมๆ กันได้