Play —— Bangkok PLAYlist

Bangkok Playlist ep.02: กรุงเทพฯ เมืองซึมๆ ของผู้พิการ (Feat. thisAble.me)

ถึงจะถอนหายใจเฮือกทุกครั้งเวลาต้องใช้ถนนหนทางหรือระบบขนส่งสาธารณะเพื่อสัญจรในเมืองนี้ แต่เราคงไม่ได้เหนื่อยอยู่คนเดียว เพราะเหล่ามนุษย์กรุงเทพฯ ผู้ใช้วีลแชร์และ ผู้พิการ อีกหลายกลุ่มน่าจะเหนื่อยมากกว่าเราเป็นสิบเท่า

หลายครั้งที่เราเปรียบพวกเขาเหมือนกับตัวละครในเกมเดอะซิมส์ ที่ดันถูกนำมาหยอดลงในเมืองที่ผู้เล่นมีสกิลการสร้างเมืองต่ำต้อย ชนิดที่ว่าสิ่งก่อสร้างหลายอย่างดูไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริงได้, อยู่ในเกมก็คงดูตลก แต่พอเมืองนี้ดันเป็นของจริงขึ้นมา เราคนทั่วไปหรือผู้พิการก็ขำไม่ออกเหมือนกันนะ

ไหนจะทางเท้ายับเยินหรือสะพานลอยสูงลิ่วท้าทายคนนั่งรถเข็น เบรลล์บล็อกสำหรับผู้พิการทางสายตาที่ติดแบบขอไปที หรือประเด็นลิฟต์เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะที่ผ่านมาแล้วเป็นสิบๆ ปีก็ไม่เห็นว่าจะมีดีขึ้นสักเท่าไหร่ นี่คือเรื่องในเมืองที่เราเห็นและอยู่กับมันมาจนชิน และต่อให้ไม่ได้รับผลกระทบจากเมืองบิดเบี้ยวนี้โดยตรง ก็เข้าใจได้ไม่ยากเลยว่ากลุ่มคนที่มีปัญหากับเรื่องนี้ เขาจะต้องการการเปลี่ยนแปลงมากขนาดไหน (แล้วก็น่าจะพอเข้าใจด้วยว่าพวกเขารอการเปลี่ยนแปลงนี้มานานแค่ไหนแล้ว)

เพราะหลักฐานความเละเทะพวกนี้มันเชื่อมโยงไปถึงสิทธิการใช้ชีวิตของกลุ่มคนพิการที่ไม่เคยถูกมองเห็นอย่างเท่าเทียมสักที

ไหนๆ ช่วงนี้เหล่าผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เขาก็กำลังอยู่ในช่วงฟังเสียงคนกรุงกันอย่างแข็งขัน นโยบายใหม่ๆ จึงอาจเป็นความหวังให้เมืองแห่งนี้ดีขึ้น เราเลยขอนัดแนะ หนู-นลัทพร ไกรฤกษ์, รัก-คชรักษ์ แก้วสุราช และ ฝน-พิชญา เตระจิตร กองบรรณาธิการจาก thisAble.me สื่อออนไลน์ที่พยายามสื่อสารเรื่องผู้พิการอย่างรอบด้าน มาคุยเรื่องความเป็นไปได้ในการสร้างเมืองเพื่อผู้พิการ จากมุมมองของผู้ทำงานในประเด็นนี้และในฐานะพลเมืองกรุงเทพฯ กันสักนิด 

แล้วลองมาหาคำตอบไปด้วยกันว่าจะมีสูตรโกงหรือนโยบายแบบไหนที่เราสามารถเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนเมืองนี้ให้เป็นเมืองที่คนพิการจะมีสิทธิมีเสียงขึ้นมาได้บ้าง

01 เส้นทาง (ที่บังคับให้ต้องเป็น) นักสู้

“ถ้าบอกว่าทุกวันนี้เราเดินทางโดยการให้พ่อมาส่งนี่จบเลยนะ” หนูเกริ่นพร้อมเสียงหัวเราะ หลังจากเราลองถามวิธีการเดินทางที่เธอใช้เป็นประจำทุกวันในฐานะผู้ใช้วีลแชร์

“ถ้าเป็นเส้นทางจากบ้านมาที่ทำงาน เราค่อนข้างคุ้นเคยอยู่แล้ว คือรู้ว่าไปแบบไหนถึงจะเวิร์กเพราะเราก็ลองมาทุกแบบแล้วล่ะ บ้านเราอยู่เอกมัย เราเคยลองทั้งออกจากบ้านเองแล้วเข็นรถมาทางฟุตบาตเพื่อที่จะขึ้นรถไฟฟ้า เสร็จแล้วมาเปลี่ยนลงรถไฟใต้ดินที่อโศก ลงสถานีห้วยขวาง ซึ่งวิธีนี้เราใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง ครึ่งชั่วโมงแรกเสียเวลาไปกับการเดินทางจากบ้านมาหน้าปากซอยที่มีระยะทาง 800 เมตร คือขึ้นลงฟุตบาต กุกๆ กักๆ หาคนช่วย ติดต้นไม้ไปเรื่อย”

จากการเดินทางด้วยวิธีการที่ค่อนข้างสมบุกสมบันและใช้เวลานานที่สุด หนูยังมีวิธีอื่นๆ ที่สะดวกมาขึ้นตามลำดับ ทั้งการให้ที่บ้านขับรถไปส่งที่รถไฟฟ้า ซึ่งจะประหยัดเวลาไปได้จนใช้เวลาเดินทางรวมหนึ่งชั่วโมง หรือหากให้ที่บ้านขับรถไปส่งถึงออฟฟิศ ระยะเวลาเดินทางทั้งหมดก็จะหดเหลือแค่ 30 นาทีเท่านั้น 

“เราลองมาหลายวิธีแล้ว จนพบว่าการที่เราต้องมาทำอะไรที่ใช้ฟุตบาตมันทำให้อะไรๆ ช้าลงเยอะเหมือนกัน” หนูสรุป

“เราต้องมาคอยรอว่ารถจะหยุดให้เราไหม จะมีคนคอยช่วยเราข้ามไปยังจุดต่างๆ หรือเปล่า ยิ่งถ้าเป็นที่อื่นที่ไม่เคยไปเลย เราว่าคนพิการทุกคนแหละ ต้องหาข้อมูลก่อนว่าที่ที่จะไปอยู่ตรงไหน ไปด้วยรถไฟฟ้าได้หรือเปล่า เดินต่อไปเองได้ไหม อย่างเราต้องเปิดกูเกิ้ลแมพแบบที่มันเดินจริงๆ ดูก่อนเลยนะ เพื่อให้รู้ว่าไปแล้วจะเจออะไรบ้าง บางทีสถานที่นั้นห่างจากรถไฟฟ้า 200 เมตรก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปได้ง่ายๆ นี่ ฟุตบาต 200 เมตรนั้นอาจจะมีสิ่งกีดขวางมากมายก็ได้ ถ้าดูแล้วคิดว่าโอเค เราถึงจะไป”

หลายคนอาจมองว่าใช้ฟุตบาตไม่ได้ก็ลองเดินทางด้วยวิธีอื่นสิ แต่นี่แหละคือปัญหา เมื่อเมืองไม่อำนวยความสะดวกคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ทางเลือกในการเดินทางของพวกเขาจึงมีไม่มากนัก

นั่นทำให้คนพิการจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องย้ายที่ทางเพื่อเขาหาโอกาสให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หนักกว่านั้นโอกาสหลายๆ อย่างในชีวิตของพวกเขายังอาจหล่นหายไปตามทางฟุตบาตขรุขระนั้นด้วย

ด้วยความที่การเดินทางในเมืองนี้มันยากมาก ถ้ามองถอยกลับไปอีก เราจะสังเกตว่าคนพิการในไทยเองไม่ได้มีโอกาสในการออกไปใช้ชีวิตมากขนาดนั้น เราจึงเห็นภาพคนพิการในสังคมค่อนข้างน้อย 

“และเมื่อเขาออกเดินทางไม่ได้ นั่นหมายความว่าการเข้าถึงอะไรๆ ที่จำเป็นก็ย่อมยากขึ้น การไปเรียน ไปโรงพยาบาล หรือการไปทำงานแทบจะเป็นปัญหากับผู้พิการทั้งหมด และปัญหาเหล่านี้มันก็เชื่อมโยงไปถึงปัญหาอื่นๆ เป็นห่วงโซ่อีก” รักเสริมในฐานะคนที่มองเห็นปัญหาแม้จะไม่ได้ใช้วีลแชร์

02 เมืองหลวงแห่งนี้ไม่มีคนพิการ?

ถึงจะเห็นปัญหาชัดเจนแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสรุปว่าอะไรคือต้นตอหลักที่ทำให้ผู้พิการไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้อย่างที่ควร ในเมื่อตอนนี้หลายปัญหาล้วนเกี่ยวพันกันจนหาจุดสิ้นสุดแทบไม่ได้ 

แต่ใช่ว่าจะไม่มีทางออก เพราะหนูเองเชื่อว่าหนึ่งในวิธีการที่จะทำให้ผู้พิการเข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น คือการทำทางเท้าให้ดี เพื่อเปิดพื้นที่ให้พวกเขาสามารถออกไปหาโอกาสได้ง่ายขึ้น – ง่ายๆ แค่นี้เอง

“เบื้องต้นเลยนะ ถ้า facility ดี ผู้พิการจะมีโอกาสได้ออกไปข้างนอกมากขึ้นแน่นอน อย่างตอนนี้โรงเรียนที่รับผู้พิการเข้าเรียนยังมีไม่มากก็จริง แต่อย่างน้อยมันจะมีคนที่สามารถออกไปแล้วบอกว่า ‘ฉันอยู่ตรงนี้นะ’ ได้มากขึ้น เมื่อโรงเรียนเริ่มเห็น โอกาสของพวกเราก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

“เราคิดว่าในจุดหนึ่งถ้าการเดินทางสะดวกสำหรับผู้พิการแล้ว ทำไมเรื่องโรงเรียนหรือที่ทำงานที่เคยไม่เอื้อ มันจะปรับไม่ได้ล่ะ ตอนนี้โรงเรียนก็คงคิดว่าจะทำดีๆ ไปทำไม ในเมื่อคนพิการเดินทางไปไม่ได้อยู่แล้ว เราเลยคิดว่าทุกอย่างมันต้องไปพร้อมกัน” 

หนูออกความเห็น ก่อนรักจะว่าต่อ

เพราะแบบนี้ทุกอย่างในบ้านเรามันเลยเฉพาะทางมาก เช่น ถ้าอยากได้โรงเรียนที่เอื้อต่อคนนั่งวีลแชร์ก็ต้องไปโรงเรียนเฉพาะของคนนั่งวีลแชร์เท่านั้น สิ่งนี้บีบให้คนพิการต้องไปอยู่รวมๆ กันในที่ที่หนึ่ง เหมือนเป็นอาณานิคมเลย ทั้งๆ ที่ความจริงเขาแค่พิการทางกายเอง แต่ในแง่สังคมเขาก็ยังต้องการเจอผู้คนเหมือนกันนะ

จากอาคารไร้ทางลาด ไปสู่ฟุตบาตยับเยิน สิ่งหนึ่งที่เราสรุปได้ก็คือปัญหา ‘คุณภาพชีวิต’ ที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถใช้เมืองได้เต็มศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น 

ยิ่งเมื่อเทียบกับสถิติล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งระบุว่า มีผู้พิการทั่วประเทศที่จดทะเบียนกับภาครัฐอยู่ทั้งหมด 2,102,384 คน ทั้งหมดนี้อยู่ในกรุงเทพฯ 98,030 คน ถึงจะเทียบเป็นสัดส่วนไม่เยอะมาก แต่นี่ก็ไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ ที่น่าสงสัยก็คือ ทำไมเราแทบไม่เคยเห็นกลุ่มคนที่มีจำนวนเหยียบแสนนี้ในเมืองเลย

ไม่ว่าจะเป็นคนตาบอด หูหนวก หรือใครก็ตาม ล้วนได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ทั้งนั้น อย่างเบรลล์ที่บล็อกติดมั่วจนมันใช้จริงไม่ได้ มันก็ทำให้คนตาบอดปฏิเสธที่จะใช้เมืองเหมือนกัน แล้วมันก็จะมีคนที่ถามตลอดว่าทำไมคนตาบอดไม่ใช้เบรลล์บล็อก เราก็อยากจะบอกเหมือนกันนะว่าก็มันใช้ไม่ได้ไง มันไม่ใช่แค่เขามาติดให้แล้วมันจบ แต่การติดเบรลล์บล็อกต้องอาศัยพื้นที่ที่กว้างพอ ไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่ใช่จะไปวางตรงไหนก็ได้ 

“ก่อนหน้ามันมีกระแสเรื่องหมานำทางคนตาบอดใช่ไหม บางคนคิดก็คิดว่าหมานำทางอาจมาแก้ปัญหาในเมืองนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เลย ทรายกับลูเธอร์เคยบอกเราว่าการมีแค่หมาตัวเดียวมันไม่พอ อาคารต่างๆ ก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย พื้นที่ทางเดินก็ต้องดี ไม่มีป้ายมาเกะกะ ไม่มีสิ่งกีดขวาง เพราะบางทีหมาลอดได้ แต่คนที่มองไม่เห็นผ่านไปไม่ได้ก็มี สุดท้ายทรายยังบอกเลยว่าเวลาไปข้างนอกก็ต้องมีทั้งทราย ลูเธอร์ แล้วก็แม่ทรายมานำทางอีกทีหนึ่ง เราเลยคิดว่าจริงๆ เรื่องนี้มันต้องทำงานกันหลายส่วนมาก ทั้งนโยบาย ความเข้าใจคน แล้วก็เรื่องการจัดการพื้นที่” หนูอธิบาย 

ฝนสะท้อนให้เราฟังจากการศึกษาว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ออกแบบมาเพื่อเน้นให้สัญจรด้วยรถยนต์เป็นหลัก นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมการออกแบบทางเท้าที่ควรมีมาตรฐานความกว้างอย่างน้อย 1.5 เมตร (ซึ่งในเมืองที่เน้นให้เดินจริงจังทางเท้าอาจกว้างถึง 3 เมตร) ถึงไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ในประเทศไทย

“เราว่าหลายคนรู้นะว่าทางเท้ามันควรมีความกว้างอย่างน้อย 1.5 เมตร แต่คนอาจจะไม่เห็นภาพว่าพอมีเท่านั้นแล้วยังไง ในเมื่อเราอาจจะเดินกันแค่หนึ่งกระเบื้อง เจอแอ่งน้ำก็กระโดดข้ามไปได้ แต่อย่าลืมนะว่าในสังคมยังมีคนอีกมากมายที่กระโดดข้ามไม่ได้ ขึ้นบันไดก็ได้เลย หรือแม้แต่ข้ามทางม้าลายเองยังไม่ได้เลย” รักออกความเห็นต่อ

03 เงิน 800 บาทแก้ปัญหาทุกเรื่องไม่ได้

เพื่อให้ใช้เมืองได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น สิ่งที่กลุ่มคนพิการต้องแลกมาจึงเป็นราคาที่จ่ายมากกว่า ในเมื่อใช้ฟุตบาตไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนไปนั่งรถ ในเมื่อขึ้นรถเมล์ไม่ไหวก็ต้องเปลี่ยนไปใช้บีทีเอส เอ็มอาร์ที หรือในบางสถานที่แท็กซี่ก็อาจเป็นทางเลือกเดียวที่พวกเขามี

“เอาง่ายๆ ในเมืองนี้ยังมีกลุ่มออทิสติกหรือกลุ่มดาวน์ซินโดรมที่หลายคนอาจมองว่าเขาก็น่าจะเดินทางปกติได้นี่น่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่มันก็ยังมีเรื่องตามมาอีกนะ เช่น ถ้าเขาขึ้นรถเมล์ไปแล้วจะไปเจอชะตากรรมอะไรบนรถ เขาจะข้ามถนนอย่างปล่อยภัยได้ไหม สุดท้ายเขาก็มีทางเลือกแค่การนั่งแท็กซี่หรือเรียกรถมารับอยู่ดี” รักอธิบาย

ใช่ว่าคนพิการทุกคนจะสามารถจ่ายเงินให้กับค่าเดินทางราคาสูงลิ่วนี่ไหว ในเมื่อเบี้ยยังชีพคนพิการยังให้เพียงแค่ 800 บาทต่อเดือน สำหรับคนบางกลุ่ม เงินที่ได้มานี้ยังต้องแบ่งไปใช้สำหรับค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในชีวิตประจำวันด้วย

“สำหรับเรา 800 บาทอาจจะกินชาบูก็หมดแล้ว แต่กับคนอีกหลายคนที่เขาไม่ได้มีงาน มีอาชีพล่ะ” หนูตั้งคำถาม

เราว่าปัญหานี้มันอยู่ที่ฐานคิดเลย เหมือนตอนนี้ทุกอย่างมันถูกคิดขึ้นมาจากความคิดว่าต้องการสงเคราะห์กัน เหมือนแค่ให้ก็พอแต่ลืมไปว่าให้แล้วยังไงต่อ ชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร ใช้ชีวิตได้จริงไหม 

“ถ้าเขาคิดว่าคนพิการก็เป็นคนที่มีส่วนร่วมกับสังคมได้ ไปกินชาบูกับเพื่อนได้ อยากออกไปดูหนังกับเพื่อนเหมือนกัน เราไม่ได้อยากนอนอยู่บ้านเฉยๆ นะ ถ้ามันถูกตั้งต้นว่าคนพิการก็ควรมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากับคนอื่นแบบนี้ เราว่ามันคงไม่เป็นเบี้ยเลี้ยงที่ตั้งต้นแค่ 800 บาทหรอก”

“จริงๆ จะพูดว่าเราอยากได้เบี้ยเลี้ยงเพิ่มขึ้นก็ไม่ถูก เพราะมันก็อยู่ที่สภาพหรือบริบทของสังคมด้วย บางประเทศที่คนพิการออกสู่สังคมได้ ไปเรียนได้ ไปทำงานได้ เบี้ยคนพิการเขาก็ไม่ได้สูงนะ มันก็ปรับเปลี่ยนไปตามรายได้และสภาพของคนพิการ หรือจริงๆ มันอาจจะไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของเงินสนับสนุนก็ได้ คนพิการรุนแรงอาจจะมีคนมาช่วยดูแล หรือถ้าเขาพอขับรถได้ก็ช่วยสนับสนุนรถ ซึ่งบ้านเราตอนนี้มันเหมือน ฉันเป็นภาครัฐที่ดีนะ ฉันให้สวัสดิการถ้วนหน้า แต่ถ้วนหน้าคือ 800 บาท ทั้งๆ ที่บางคนมีความจำเป็นต้องใช้มากกว่านั้นเยอะ” 

04 ระวังสิ้นสุดทาง (วีลแชร์) เคลื่อน

ทีมงาน thisAble.me ลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า มากกว่าการพยายามสงเคราะห์คนพิการให้ดูน่าสงสารด้วยการแจกเงิน สิ่งที่ภาครัฐควรทำน่าจะเป็นการออกนโยบายที่ดี ซึ่งช่วยส่งเสริมให้คนพิการออกไปใช้ชีวิตได้อย่างอิสระมากกว่า 

“จะมีสกายวอล์กหรือสะพานลอยก็มีได้ แต่เราว่าสิ่งนั้นควรเป็นแค่ตัวเลือก คือถ้าคุณอยากขึ้นสกายวอล์กก็ไปเลย แต่ว่าทางพื้นฐานอย่างฟุตบาตหรือทางม้าลายก็ควรทำให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยด้วย” หนูออกความเห็น 

เพราะบางครั้งแม้อาคารสถานที่หลายแห่งจะมีทางลาด หรือลิฟต์เกาะบันไดคอยให้บริการผู้พิการ แต่เมื่อถึงเวลาต้องใช้งานจริง ผู้พิการกลับไม่สามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ด้วยตัวเองได้ หลายครั้งต้องติดต่อยามประจำสถานที่กันวุ่นวายจนเสียเวลาเพิ่มไปอีกหลายนาที

“ถามหน่อยว่าฉันมีเวลามากกว่าคนอื่นหรอ” หนูว่าติดตลก

“เราเดินขึ้นบันได 10 วินาที แต่คนพิการต้องรอยามมาเปิดลิฟต์เกาะบันไดครึ่งชั่วโมง” รักเสริม

เมื่อได้ฟังทีมงานทุกคนเราก็เริ่มมาคิดได้ว่าหรือจริงๆ แล้วนโยบายการทำงานของประเทศนี้อาจจะหลงลืมว่ามีคนพิการอยู่ในเมืองนี้ไปแล้วก็เป็นได้

เราว่ามันคิดในแง่ของเงินค่อนข้างเยอะ เพราะการทำอะไรพวกนี้เขาก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น เขาเลยอาจจะคิดว่าคนพิการไม่มาใช้อยู่แล้ว จะทำไปทำไม กฎหมายบ้านเราก็ไม่ได้แข็งแรง ไม่สามารถเอาผิดใครได้เลย” ฝนออกความเห็นจากประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับกลุ่มผู้พิการต่างๆ

“เคยมีคนพูดว่า พรบ. คนพิการบ้านเราดีเท่ากับที่ญี่ปุ่นเลยนะ ซึ่งมันก็ขนาดนั้นจริงๆ แหละ เพราะมันเขียนมาจากการอิงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ไง มันล้อกันมาเลย แบบนี้มันจะไม่ดีได้ยังไงล่ะ แต่ในแง่ของการบังคับใช้มันคนละเรื่องเลยนะ เพราะสุดท้ายทุกอย่างมันเป็นเหมือนคำแนะนำมากกว่า คือคุณจะไม่ทำก็ไม่ผิด ไม่มีใครเอาผิดได้

ดังนั้นต่อให้คุณมีกฎหมายดีแค่ไหน แต่ถ้าคุณบังคับใช้ไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก เราอยากให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังมากขึ้นนะ เพื่อจะได้ลองดูว่ากฎหมายที่คุณออกมามันเวิร์กหรือไม่เวิร์กยังไง ถ้ามันยังครอบคลุมไม่พอ จะลองออกนโยบายกันใหม่ก็ได้

“จริงๆ การสร้างเมืองที่คนพิการสามารถมีส่วนร่วมได้มันเป็นเรื่องที่จินตนาการยากมากเลยนะ แต่เราคิดว่าถ้าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ คนพิการคงถูกมองในฐานะพลเมืองที่มีศักดิ์ศรีในสังคมได้ ไม่ใช่เป็นแค่เครื่องมือของความดีหรือการทำให้รัฐดูดีหรอก” หนูกล่าวอย่างมีความหวัง

ที่แน่ๆ ถ้าภาครัฐมองคนพิการเป็นคนคนหนึ่งในสังคม พวกเขาเหล่านั้นคงไม่ต้องต่อสู้กับการใช้เมืองมากขนาดนี้ ยิ่งตอนนี้นโยบายส่วนใหญ่ยังไม่ครอบคลุมไปถึงการทำงานของภาคเอกชน ทำให้เวลาผู้พิการจะเดินทางเข้าออกอาคารต่างๆ แต่ละทีเลยมีอุปสรรคมากมาย ชนิดที่หนูแชร์ว่าบางทีเธอก็ต้องไปใช้ลิฟต์ขนของเพราะไม่มีทางเข้าอาคารดีๆ แบบคนอื่นเขา

“เรื่องการให้คุณค่าคนพิการหรือการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพวกนี้ เมื่อรัฐมองว่าคนพิการก็เป็นคนหนึ่งคนที่มีคุณภาพ เป็นคนที่ควรดูแลใส่ใจไม่ต่างจากคนกลุ่มอื่น มันจะต่างจากการมองว่าเป็นการทำงานเพื่อ CSR มากเลย

“นึกสภาพว่าคนพิการคนนั้นเป็นลูกค้าชั้นหนึ่ง รัฐหรือเอกชนจะกล้าทรีตเขาแย่แบบนี้ไหม เพราะตอนนี้มันยังมีการทรีตต่างกันแบบนี้อยู่ ทำไมเวลาเราทำคอนเทนต์คนจะชอบพูดว่า ‘มันมีทางเข้าห้างฯ ตรงนั้นนะ’ ‘คุณก็ไปอ้อมตรงนั้นสิ’ ‘เข็นไปตรงนู่นสิ’ ‘นี่คุณพยายามสร้างคอนเทนต์หรอ’ แต่เราว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน คือเราเดินเข้าทางนี้ได้ แล้วทำไมคนพิการจะเดินเข้าไม่ได้ล่ะ ทำไมเขาต้องไปแอบอ้อมหลังตึก ทำไมต้องไปขึ้นลิฟต์ขนขยะ ทำไมต้องไปไกลกว่าคนอื่น เรางงมากเลยนะ” รักเล่าต่อ

เราไม่รู้ว่าจะต้องให้คนพิการเสียโอกาสในชีวิตไปอีกกี่คน คือเราพูดจริงๆ นะ เราเสียดายเวลามาก เราสงสารคนพิการที่เกิดมาที่นี่มากๆ ที่ต้องมาเสียเวลาชีวิต บางคนเสียไปแล้วทั้งชีวิต กับการที่เขาไม่สามารถไปไหนได้ ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ ไม่สามารถมีชีวิตที่ตัวเองอยากจะเป็นได้ แล้วสิ่งเหล่านี้มันย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว หรือแม้แต่จะเยียวยายังไม่ได้เลย ดังนั้นมันควรจะเห็นความจริงจังและความจริงใจในการทำสิ่งนี้ได้แล้ว ไม่ใช่โวยทีก็ไปทำที

“เราเพิ่งไปโวยว่าหน้าปากซอยห้วยขวางมีเสากันมอเตอร์ไซค์บนฟุตบาตซึ่งมันขวางทางวีลแชร์ บอกเสร็จเขาก็ไปเอาออกให้นะ แต่แล้วที่อื่นล่ะ คือเราต้องไปโวยทุกอันเลยหรอเขาถึงจะมาทำ สิ่งเหล่านี้มันเอาเวลาจากเราไปเยอะมาก และเราว่ามันไม่ควรมีคนพิการคนไหนต้องมาเสียเวลาชีวิตไปกับเรื่องแบบนี้อีกแล้ว แล้วมันเป็นเวลาที่คุณทดแทนให้เขาไม่ได้ด้วยซ้ำ” หนูกล่าว ก่อนรักจะออกความเห็นว่า

“เวลาที่คุณบอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คำถามคือ คุณพาคนเหล่านั้นไปยังไง เดินไปด้วยกัน แบกขึ้นหลัง หรือลากขาไป เราว่ามันเป็นอย่างหลังนะ คือถ้าเขามองว่าคนพิการทุกคนควรได้รับความใส่ใจ พื้นที่สาธารณะทุกที่ก็ควรจะเข้าถึงได้ มันควรมีการประเมินว่าทางขึ้นนี้มันควรมีทางลาดบ้างนะ รถไฟฟ้าควรมีสกายวอล์กหรือมีลิฟต์ที่ใช้ได้จริงนะ ไม่ต้องมาคิดแทนว่าเขาพิการแล้วเขาจะไม่อยากออกไปไหน”

05 เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก และเราอาจหลงลืมไปแล้วนั่นก็คือในเมืองนี้ไม่ได้มีแค่ผู้พิการประเภทที่ต้องใช้วีลแชร์หรือคนตาบอดที่ต้องใช้บล็อกเบรลล์เท่านั้นที่ประสบปัญหากับการใช้เมือง เหมือนอย่างที่รักบอกว่า

เราทุกคนไม่ได้สมบูรณ์เท่ากันหรอก และแต่ละคนล้วนมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตที่ต่างกันเสมอ

กลุ่มคนพิการและผู้ป่วยที่อาจพบอุปสรรคกับเมืองจึงเป็นจักรวาลที่ทั้งใหญ่และหลากหลาย ยกตัวอย่างคร่าวๆ ในเมืองนี้ยังมีทั้งกลุ่มคนออทิสติก กลุ่มคนตาบอดสี กลุ่มผู้ป่วยพาร์คินสันที่มีอาการสั่นยามอยู่นอกบ้าน หรือกลุ่มคนที่มีภาวะโฟเบียซึ่งเป็นหวาดกลัวอะไรบางอย่าง นี่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ภาครัฐจะออกนโยบายซึ่งตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่มได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ 

แต่สิ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้คือการทำความเข้าใจความหลากหลายของประชากรในเมือง และค่อยๆ ปรับเมืองนี้ให้รองรับความหลากหลายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“สุดท้ายทุกคนก็เผชิญปัญหาเหมือนกันแหละ การที่มีเมืองแย่แบบนี้ เราเดินๆ อยู่ยังขาแพลงได้เลย” รักกล่าว

แล้วในฐานะคนเมืองที่ยังคงต้องออกไปใช้เมืองอยู่ทุกวัน นโยบายเกี่ยวกับเมืองที่ทีมงาน thisAble.me อยากเห็นมากที่สุดคืออะไร-เราสงสัย

“เราอยากให้เมืองนี้มีพื้นที่สนับสนุนเรื่อง mental health มากขึ้น” ฝนออกความเห็น

“สำหรับเรามันคือเรื่องการศึกษา เราอยากให้คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทุกอย่าง นั้นหมายถึงว่าเมืองจะต้องอำนวยความสะดวกให้เขาไปเรียนที่ไหนก็ได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ใช่ต้องไปเรียนที่โรงเรียนสอนคนพิการอย่างเดียว” รักเสนอต่อ ก่อนที่หนูจะปิดท้ายว่า

“เราเป็นคนนั่งวีลแชร์ใช่ไหม ความมุ่งมั่นของเราคือเราอยากเห็นประเทศนี้มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเดินทาง และต่อการใช้พื้นที่สาธารณะ เพราะถ้ามีเรื่องนี้เกิดขึ้น เราคงมีส่วนร่วมกับสังคมได้มากขึ้น คงมีโอกาสได้เจอคนนู่นคนนี้มากขึ้น แล้วก็ได้ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นอีกเยอะเลย”

Bangkok Playlist ep.1 : ไม่อยากเริ่มต้นใหม่กับคันเดิม (Feat. แวน mayday)


เดอะ ซึมส์ ภาค Street Fighter เกมต่อสู้บนท้องถนนของคนพิการ

Ft. thisAble.Me

ขอต้อนรับผู้เล่นทุกคนเข้าสู่เดอะซึมส์ ซิตี้ เมืองจำลองหน้าตาคุ้นๆ ที่จะผลักดันให้ทุกคนกลายเป็นนักสู้ ไม่เว้นแม้ผู้พิการ!

อย่างที่รู้ว่า การออกแบบพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นปัญหากับผู้ใช้ถนนหนทางอยู่ไม่น้อย และปัญหาที่ว่าอาจเป็นเรื่องใหญ่แบบคูณ 2 เมื่อผู้ใช้จริงเหล่านั้นเป็นกลุ่มผู้พิการซึ่งไม่สามารถก้าวหลบหลีกความเละเทะบนฟุตบาตได้โดยง่าย และไม่มีทางเลือกมากนักในการมองหาบันไดหรือลิฟต์ที่ใช้งานสะดวกเหมือนผู้ใช้เมืองกลุ่มอื่น

และที่ตลกร้ายยิ่งกว่า คือแม้การออกแบบและจัดการเมืองหลายๆ อย่างก็ดูเหมือนจะคิดถึงผู้พิการอยู่ก็จริง แต่เมื่อต้องไปใช้จริงนี่สิ ทำไมมันถึงออกมาเป็นแบบนี้ก็ไม่รู้ แถมจะกดสูตรโกงหนีด่านเหล่านี้ไปก็ไม่ได้

ก่อนจะกด press start เข้าสู่เกมตะลุยด่านใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครด้วยมุมมองของผู้พิการดูบ้าง เราจึงชวนทีมงาน thisAble.me 3 ชีวิต กองบรรณาธิการสื่อออนไลน์ที่ทำคอนเทนต์ส่งเสียงแทนผู้พิการซึ่งเป็นตัวละครกลุ่มสำคัญในเมืองซึมส์ๆ แห่งนี้ ให้พวกเขามาช่วยกันวิเคราะห์การสร้างเมืองในเซิร์ฟเวอร์ของผู้เล่นที่มีชื่อว่า ‘ภาครัฐและภาคเอกชน’ ไปด้วยกัน ว่าอะไรบ้างที่เป็นปัญหา ทำไมมันถึงยังเป็นปัญหา แล้วปัญหานั้นจะสามารถแก้ได้ด้วยนโยบายแบบไหน เพื่อเมืองนี้จะได้มีที่ให้ผู้พิการอย่างจริงจังสักที

Press Start!

01

“สะพานลอยและสกายวอล์กควรเป็นตัวเลือก แต่สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานก็ควรทำให้ดีด้วย” หนู-นลัทพร ออกความเห็นเป็นคนแรก

ปัญหาหลักในเมืองใหญ่ที่รถสัญจรเยอะ (แถมวิ่งเร็ว) แบบนี้ คือเรื่องของการข้ามถนน เพื่อตัดปัญหาในการต้องเดินข้ามถนนที่บางครั้งก็มีหลายเลนเกิน สะพานลอยจึงกลายเป็นหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่เราคุ้นเคยกันดี และแทบจะพบเจอได้บ่อยชนิดที่ว่าอีกนิดคงมาแทนที่ทางม้าลายหมดแล้ว

แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้สะพานลอยได้อย่างสะดวกสบาย กลุ่มผู้ใช้วีลแชร์และกลุ่มคนตาบอด คือกลุ่มผู้ใช้เมืองที่ประสบปัญหากับสิ่งก่อสร้างนี้อย่างหนัก เพราะพวกเขาไม่สามารถขึ้นบันไดได้ และเมื่ออยากข้ามถนน ถนนหลายแห่งก็ดันไม่มีทางม้าลายที่สะดวกปลอดภัย ทำให้พวกเขาต้องมารับความเสี่ยงกับรถที่วิ่งฉิว สุดท้ายผู้พิการหลายคนจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเรียกแท็กซี่พาอ้อมข้ามฝั่งไป ทั้งที่ความจริงเดินไปแค่ไม่กี่นาทีก็ถึงแล้ว!

อย่างที่หนูบอก สะพานลอยจะมีก็มีได้ แต่การสร้างทางม้าลายที่สะดวกและปลอดภัยก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญให้ผู้พิการสามารถออกมาใช้เมืองได้เท่าคนกลุ่มอื่น เพราะเอาเข้าจริง ไม่ได้มีแค่กลุ่มผู้ใช้วีลแชร์หรือคนตาบอดเท่านั้นที่อยากได้ทางม้าลายดีๆ ยังมีกลุ่มคนออทิสติกที่ดูแลตัวเองไม่ได้ หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่ขึ้นบันไดไม่ไหว ก็ต้องการทางข้ามถนนที่สะดวกและปลอดภัยเหมือนกันนะ

02

ผู้พิการ

เมืองควรสร้างมาให้ทุกๆ คนเดินเข้าถึงได้ จะมาบอกว่าเขาเดินไม่ได้ เลยไม่ต้องทำอะไรก็ไม่ใช่นะ เพราะมันมีวิธีการที่ทำให้เขาเดินได้อยู่นี่” ฝน-พิชญาว่า

น่าจะพูดได้เต็มปากเลยว่าฟุตบาตหรือทางเท้าในไทย คืออุปสรรคของเราทุกคน ถ้าผู้ใช้คือคนทั่้วไป เจอหลุมบ่อตรงไหนก็คงกระโดดข้ามได้สบายๆ หรือถ้าเจออะไรมาขวาง เดินอ้อมหน่อยก็คงไม่เป็นปัญหา แต่พอเป็นผู้ใช้วีลแชร์หรือคนตาบอดแล้ว ไม่มีทางที่จะหลบอุปสรรคเหล่านั้นไปได้เลย ไหนจะตู้จดหมาย เสาไฟฟ้า ทางกั้นมอเตอร์ไซค์ และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย การออกไปใช้ฟุตบาตแต่ละทีเลยทรหดยิ่งกว่าเล่นเกมในรายกาย ‘โหด มัน ฮา’ เสียอีก

เอาจริงๆ ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ตู้จดหมายหรือเสาไฟฟ้าที่ขวางทางเท่านั้น เพราะ​​เกณฑ์และมาตรฐานผังเมืองรวม พ.ศ. 2549 มีการกำหนดให้ทางเท้าในพื้นที่ย่านธุรกิจ-พาณิชยกรรม ย่านอุตสาหกรรม ย่านที่อยู่อาศัยและโรงเรียน ต้องมีความกว้างอย่างน้อย 1.5 เมตร และในพื้นที่อื่นๆ หากมีความเหมาะสมทางเท้าก็ยังสามารถขยายไปให้กว้างได้ถึง 3 เมตร เพื่อให้เดินสวนกันได้สบายไม่มีอุปสรรค 

แต่จากสถิติที่ทีม Good Walk ซึ่งทำเรื่องเมืองเดินได้เคยศึกษาไว้ ฟุตบาตเฉลี่ยในกรุงเทพฯ นั้นมีความกว้างแค่ 1.03 เมตรเท่านั้น นอกจากจะเดินสวนกันไม่ได้แล้ว กระเบื้องยังเป็นกับระเบิด และมีอุปสรรคมากมายที่อยากต่อการใช้งานของกลุ่มผู้พิการมากจริงๆ

03

ผู้พิการ

การติด ‘เบรลล์บล็อก’ แบบที่ดูงงๆ และส่งๆ ตามฟุตบาตของบ้านเรา น่าจะทำให้เราลืมไปแล้วว่าจริงๆ การติดแผ่นนำทางสำหรับคนตาบอดมันมีหลักเกณฑ์อย่างไร แล้วการติดแบบผิดๆ เนี่ยก็อันตรายสำหรับผู้ใช้งานจริงมากด้วย

ฟังก์ชั่นของเบรลล์บล็อก มีขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์เชื่อมต่อสถานที่ต่างๆ ให้คนตาบอดเดินได้ง่ายขึ้น โดยการทำงานมีอยู่ 2 แบบอย่างที่เราคุ้นเคย คือ ‘บล็อกเตือน’ ที่มีลักษณะเป็นวงกลมนูน คอยบอกว่าบริเวณนั้นอาจมีสิ่งกีดขวางหรือมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเกิดขึ้นข้างหน้า บล็อกเตือนจึงควรติดตั้งให้ห่างจากสิ่งที่อยากเตือน เช่น บันได ตู้โทรศัพท์ หรือทางแยก ประมาณ 30 เซนติเมตร และ ‘บล็อกเดิน’ ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นยาวนูน คอยบอกว่าทางข้างหน้าราบเรียบสามารถเดินตรงไปได้เลย

หลายปัญหาที่เราพบในเมืองก็คือการติดตั้งบล็อกเตือนกระชั้นชิดมากเกินไป รู้ตัวอีกทีผู้พิการอาจชนเข้ากับสิ่งกีดขวางด้านหน้าไปแล้ว หรือการติดแบบผิดๆ ทำให้การนำทางไม่ถูกต้อง ติดแล้วนำไปหาเสาไฟฟ้าบ้าง ใต้สะพานลอยบ้าง หรือแม้จะติดถูกต้องเรียบร้อย เบรลล์บล็อกบางจุดก็มีสีไม่สะดุดตา ซึ่งนี่อาจเป็นปัญหากับผู้ที่มองเห็นเลือนรางได้ด้วย

หรืออย่างในภาพนี่ไง มีท่อน้ำทับอยู่เฉย!

04

ผู้พิการ

ขนส่งสาธารณะคือทางเลือกสุดประหยัดสำหรับการเดินทางในเมือง แต่เมื่อการขึ้นขนส่งสาธารณะก็เป็นอุปสรรค ทางเลือกของผู้พิการจึงมีแค่แท็กซี่ที่มีราคาแพงกว่า เพราะถ้าสังเกตดูให้ดี แม้รถเมล์ยุคใหม่หลายคันจะเริ่มมีทางขึ้นแบบชานต่ำ หรือทางขึ้นให้รถเข็นได้ แต่เมื่อขึ้นได้แล้ว ปัญหาคือไม่รู้ว่ารถเข็นของพวกเขาจะไปอยู่ตรงไหน ถ้ารถเมล์ขับซิ่งขับเร็ว พวกเขาควรทำอย่างไร หรือแม้แต่ขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าต่างๆ พอขึ้นได้จริงแล้ว ก็ต้องมาลุ้นอีกว่าจะมีลิฟต์ให้ลงสบายๆ หรือเปล่า

“หลายคนอาจจะบอกว่าคนพิการเดินทางฟรีนี่ ใช้ชีวิตดีนี่ บีทีเอส เอ็มอาร์ทีก็ไม่ต้องเสีย แต่ในความเป็นจริงการใช้ฟรี แต่ลงไม่ได้ ก็เป็นปัญหาเหมือนกันนะ อย่างตัวรถไฟฟ้าบางทีก็มีปัญหาว่าเกาะฝั่งนี้เราลงได้ เกาะฝั่งนี้ลงไม่ได้ บางทีลิฟต์พาลงกลางถนนก็มี พอเราจะข้ามแยกข้ามถนนไปเจอถนนแปดเลนก็มองหน้ากันเลิกลั่กแล้วไหม

ลองคิดภาพว่าเรานั่งรถไฟฟ้า บางทีอยากลงเพื่อแวะห้าง แวะฟิตเนสข้างทาง แต่มันลำบากมากกว่าเราจะไปถึง เราก็เลือกที่จะไม่ไปดีกว่า สิ่งเหล่านี้มันทำให้คนพิการขาดสังคมด้วย แทนที่เขาจะได้ไปเจอเพื่อน ไปพักผ่อนหย่อนใจ เที่ยวผับเที่ยวบาร์เขาก็ทำไม่ได้”  รัก-คชรักษ์ กล่าว 

05

ผู้พิการ

อีกเรื่องน่าเศร้าที่ทีมงาน thisAble.me เล่าให้เราฟังก็คือ อาคารหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชน ไม่มีทางลาดเข้าสู่ตัวอาคารจากด้านหน้า ทำให้ผู้ใช้วีลแชร์ต้องอ้อมไปขึ้นลิฟต์ขนของซึ่งอยู่ด้านหลัง ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านี้ก็เป็นพลเมืองที่อยากใช้เมืองไม่ต่างจากคนกลุ่มอื่น

แทนที่จะเดินเข้าอาคารง่ายๆ ไม่กี่นาทีแบบคนอื่นเขา กลุ่มผู้ใช้วีลแชร์จึงต้องบวกเวลาเพิ่มไปอีกหลายสิบนาที ดีไม่ดี ทางเข้าที่อ้อมๆ ไปนั้นก็ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้พวกเขาเขาถึงลิฟต์ หรือทางขึ้นที่ดีกว่าเท่าไหร่เลย

เราว่าปัญหานี้มันไม่ได้แก้ไม่ได้หรอก เพราะว่าสิ่งก่อสร้างมันคืออะไรที่เราสามารถปรับได้เสมอ แต่สิ่งที่แก้ยากมันคือทัศนคติคนนี่แหละ อย่างตอน ม.4 เราย้ายโรงเรียน ผอ. โรงเรียนยังพูดเลยว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีนักเรียนที่นั่งวีลแชร์ที่นี่มาก่อน แต่เขาก็ถามเรานะว่าอยากลองไหม มาปรับไปด้วยกัน

“พอเราเข้าไปจริงมันก็เริ่มมีการปรับหลายอย่างทั้งทางลาด ทั้งลิฟต์ ทำให้ตอนนี้ที่โรงเรียนมีเด็กพิการหลายคนเข้ามาเรียนต่อจากเรา จนเราคิดว่าจริงๆ แล้วถ้าทางมันเอื้อต่อการเข้าถึง ไม่ว่าสถานที่ไหนเดี๋ยวคนพิการเขาก็ไปใช้บริการเอง”

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Read More:

Play

Self-guided Tour Manual คู่มือเดินทัวร์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์

ต้องมีแล้วไหม? คู่มือเดินทัวร์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์

Play

คุณจะได้เจออะไรใน ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ Ver 2.0 'ROUTE: Caffeine Calling'

เส้นทางที่คุณและเพื่อนใหม่แปลกหน้า จะมาเสพคาเฟอีนเข้าเส้นร่วมกัน ในย่านประดิพัทธ์-อารีย์ ตามลายแทงที่คุณไม่รู้ล่วงหน้า ทัก cup!

Play จดหมายเหตุ

แพ้ชนะไม่สำคัญเท่า ‘ความเป็นมนุษย์’

รวมมิตรชัยชนะของ #สิทธิมนุษยชน ในโตเกียวโอลิมปิกเกมส์ 2020