ในวันนั้น จำได้ว่าทุกคนต่างแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับอัตลักษณ์และเรื่องราวของตัวเอง และพี่เจี๊ยบก็เล่าให้เราฟังถึงเรื่องครอบครัว ที่เผชิญทั้งเรื่องการเจอความเกลียดชังจากคนในชุมชน จนพื้นที่รอบบ้านหลังเก่าที่เคยอยู่ถูกเผา ทั้งการรับลูกของคนอื่นมาเลี้ยงดู และจุดเริ่มต้นของครอบครัวแบบ แม่-แม่-ลูก ที่ก่อร่างมาพร้อมๆ กับคู่ชีวิตอย่าง จุ๋ม-วีรวรรณ วรรณะ และลูกสาว หงส์-ศิริวรรณ พรอินทร์
เรื่องราวของพี่เจี๊ยบที่เราได้ฟังในวันนั้นยิ่งทำให้เราได้แต่สงสัยว่าสังคมแบบไหนกันที่ปล่อยให้ใครบางคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งๆ ที่เขาคือเพื่อนมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจ มีความรัก มีความสัมพันธ์ และอยากสร้างครอบครัวเหมือนๆ กับคนทั่วไป
แต่ไม่ว่าจะคนในสังคมบางกลุ่ม หรือแม้แต่รัฐไทย ก็ยังไม่เคยเข้าใจและไม่ได้ทำให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศรู้สึกปลอดภัยหรือสบายใจในการใช้ชีวิตเลยแม้แต่น้อย
เราเลยกลับไปคุยกับพี่เจี๊ยบอีกครั้ง ชวนพี่เจี๊ยบมาเล่าให้ฟังว่าการที่บ้านนี้เมืองนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ LGBTQIAN+ มันดีขนาดไหน จะเป็นยังไงถ้าไทยมี พรบ. สมรสเท่าเทียม
เพราะจริงๆ นี่ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเลย แต่คือเรื่องราวของเราทุกคน
ถ้าวันนี้มีสมรสเท่าเทียม
“ถ้ามีสมรสเท่าเทียม ก็คงจะได้สมรสกับคู่ชีวิตคือพี่จุ๋ม ตั้งแต่ 12 ปีที่แล้ว“
เราเริ่มถามพี่เจี๊ยบแบบซื่อๆ ง่ายๆ ว่าถ้าเกิดประเทศไทยมีสมรสเท่าเทียมแล้ว ชีวิตพี่เจี๊ยบจะเป็นยังไงบ้าง แน่นอนว่าคำตอบหนึ่งคือเขาได้จดทะเบียนสมรสกับคนรักแบบไม่ต้องรอคอยมานานกว่า 12 ปี และต้องสูญเสียโอกาสไปมากมาย ทั้งทรัพย์สมบัติที่ควรจะได้ถือครองร่วมกับคู่ชีวิต ไม่ต้องเสียภาษีแบบคนโสด แถมยังไม่มีกฎหมายมารับรองว่าหากคนหนึ่งคนใดเสียชีวิต แล้วทรัพย์สินจะไปอยู่ที่ไหน
ยิ่งไปกว่านั้นคือสิทธิของลูกที่ควรจะได้รับเท่าๆ กับครอบครัวอื่นๆ แต่กลับต้องเสียไปเพียงเพราะกฎหมายไม่รับรองให้คนรักเพศเดียวกันสมรสกันได้ จนสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวต้องหายไปด้วย
”ถ้ามีสมรสเท่าเทียม ลูกสาวก็จะไปโรงเรียนโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แล้วถ้าวันหนึ่งลูกสาวเข้ามหาวิทยาลัยก็จะสามารถกู้ยืมกองทุนทางการศึกษาได้ เพราะเรากับคู่ชีวิตจะเป็นผู้ปกครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถเซ็นให้ได้เอง สำคัญที่สุดคือเรื่องสิทธิในการเดินทางของลูกสาวที่จริงๆ มีโอกาสได้ไปทำงานที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย อเมริกา แต่ที่ผ่านมาไปไม่ได้ เพราะเรากับคู่ชีวิตไม่ใช่ผู้ปกครองตามกฎหมายที่จะเซ็นอนุญาตให้ลูกเดินทางได้ คิดดูว่าเขาต้องเสียโอกาสมากมาย เพียงเพราะไม่มีสมรสเท่าเทียม”
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อไม่มีกฎหมายรับรอง สังคมบางส่วนก็ยังเลือกปฏิบัติ ทำให้สุขภาพจิตของลูกสาวย่ำแย่ลง ทั้งโดนล้อเลียนที่โรงเรียน ไปจนถึงการแบกรับชีวิตที่ทางเลือกมีน้อยเพียงเพราะกฎหมายกีดกัน
แม้แต่ตัวพี่เจี๊ยบเองก็ต้องเจอกับการดูถูกเหยียดหยามนับครั้งไม่ถ้วนเพียงเพราะเรียกร้องสิทธิของการเป็นคนเท่ากัน
“ถ้ามีสมรสเท่าเทียม พี่คงไม่ต้องมาถูกดูหมิ่นเหยียดหยามแบบนี้ เพราะคนที่เรียกร้องสิทธิ LGBTQIAN+ ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามตลอดว่าเรียกร้องเพื่อประโยชน์ส่วนตน ชีวิตพี่คงสบายกว่านี้ เวลาไปขึ้นเวทีคงไม่ต้องโมโห ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องทรอม่า (Trauma) พี่คงจะรวยกว่านี้ ลูกสาวก็คงมีอนาคตที่ดีกว่านี้เยอะ”
และยิ่งถึงวันที่มีสมรสเท่าเทียม พี่เจี๊ยบมองว่าคงเป็นวันที่ไทยได้มีประชาธิปไตย มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และมีรัฐสวัสดิการที่ดีด้วย
“พี่จะตื่นสักเก้าโมง ออกไปวิ่งเทรลสักครึ่งวัน กลับมาจิบกาแฟ แล้วก็ทำงานวันละ 3 ชั่วโมง เพราะเรามีสวัสดิการแล้ว เราไม่จำเป็นต้องวางแผนอนาคต หรือต้องมีเงินเก็บเป็นล้านๆ เพื่อวางแผนหลังเกษียณ เพราะเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตย ค่าครองชีพต่างๆ ก็จะสอดคล้องกับค่าแรง”
นั้นคือสิ่งที่พี่เจี๊ยบฝันไว้ ถ้าวันหนึ่งไทยมีสมรสเท่าเทียม
ถ้าวันนี้มีพื้นที่ปลอดภัยของ LGBTQIAN+
พื้นที่ปลอดภัยของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่สำหรับพี่เจี๊ยบมองว่า พื้นที่ปลอดภัยที่เขามองหา จะเกิดขึ้นได้เมื่อสังคมมีความหลากหลาย
“เราเคยไปส่งลูกที่โรงเรียน แล้วตกใจมากเพราะเด็กถูกบังคับให้แบกเป้ ใส่ถุงเท้า ใส่กระโปรง ใส่เสื้อ ทำผมทรงเดียวกัน เราไม่สามารถแยกได้ว่าใครคือลูกของเรา ตอนมองไกลๆ แล้วเดินมาพร้อมๆ กัน มันน่ากลัวนะ ถ้าเรากลายเป็นคนเหมือนๆ กัน กลายเป็นมินเนี่ยน ขวาหัน ซ้ายหัน”
“สังคมแบบนั้นสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีพื้นที่ให้ความสร้างสรรค์ อัตลักษณ์ถูกลบไปหมด ทั้งๆ ที่ร่างกายของคนเราต้องหลากหลาย ด้วยภาษา ด้วยชาติพันธุ์ สีผิว เราจะรู้สึกปลอดภัยมากๆ ถ้าได้เห็นความหลากหลาย ถ้าไปเมืองไหนแล้วเห็นผู้พิการ เห็นเด็ก เห็นผู้หญิง เห็น LGBTIQAN+ สัตว์เลี้ยง แต่ถ้าไปเมืองไหนเห็นแต่ผู้ชาย พี่จะกลัวมากว่าแล้วประชากรอีกครึ่งหนึ่งหายไปไหน ถ้าไม่เห็นเด็กพี่จะรู้สึกวาเป็นสังคมที่ไม่มีความหวังเลย”
นึกภาพตามก็เป็นเช่นนั้น เพราะความหลากหลายทำให้คนที่มีอัตลักษณ์ต่างๆ รู้สึกมีพื้นที่ของตัวเอง มีคนที่ยอมรับความแตกต่าง และจะไม่รู้สึกแปลกแยกไปจากคนอื่นๆ
แต่นอกจากเรื่องความหลากหลายแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่จะทำให้รู้สึกว่านี่คือเมืองที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศคือกฎหมาย
“สังคมที่เราจะรู้สึกปลอดภัย คือสังคมที่เรามั่นใจว่ากฎหมายที่มีอยู่ปกป้องคุ้มครองทุกคนอย่างเท่ากัน”
“ถ้ายังไม่มีกฎหมายก็ต้องได้รับการพัฒนาขึ้น อย่างเช่น ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการเรียกร้องเรื่องคำนำหน้า เรื่องสมรสเท่าเทียม แต่พอมีการเรียกร้องแล้วก็ควรมีกฎหมายมารองรับ หรือไปเมืองไหน แล้วมีกฎหมายรองรับกลุ่มเฉพาะว่าเขาจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะรู้สึกปลอดภัยมาก เราจะไม่รู้สึกเหมือนทุกวันนี้ว่า ถ้าเราทำอะไรไปจะ ถูกดำเนินคดีรึเปล่า แค่ออกไปบนท้องถนนแล้วพูดสมรสเท่าเทียม จะถูกจับไหม”
นี่เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้ามีกฎหมายคุ้มครอง อย่างน้อยคนที่มีความแตกต่างหลากหลายก็จะรู้สึกได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ไม่ต้องกังวลว่าถ้าถูกรังแก หรือเหยียดหยามแล้วจะไปฟ้องร้องใครได้บ้าง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการปฏิบัติที่ส่งผลต่อทั้งกายภาพและจิตใจของกลุ่ม LGBTQIAN+ ไม่น้อย
พี่เจี๊ยบยังชวนมองไปไกลกว่านั้นด้วยว่า ความรู้สึกปลอดภัยจะยิ่งทวีคูณถ้ากลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเพศ สีผิว เชื้อชาติ อายุ ได้ไปอยู่ในระดับออกแบบนโยบายร่วมกัน วันนั้นคงจะเป็นวันที่รู้สึกไม่ต้องกังวลอะไร
แต่นั่นไม่ใช่ภาพปัจจุบันที่สัดส่วนที่นั่งในสภายังถือครองด้วยชายสูงวัยจำนวนมาก ที่ทำให้กังวลว่าเสียงที่ส่งออกไปจากกลุ่ม LGBTQIAN+ หรือกลุ่มอัตลักษณ์อื่นๆ คงไม่เคยไปถึง
ถ้าวันนี้ทุกคนเข้าใจว่าความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องของทุกคน
ในระดับภาพใหญ่อย่างกฎหมายก็ต้องขับเคลื่อนต่อไป แต่ในการสื่อสารกับคนระนาบเดียวกันก็จำเป็น ซึ่งพี่เจี๊ยบเชื่อว่าถ้าสังคมเห็นว่าปัญหานี้สำคัญ จะยิ่งเป็นแรงและพลังให้กันและกันได้ดียิ่งขึ้น
แต่ส่วนใหญ่กลับเจอคำถามว่าในเมื่อตัวเขาเองไม่ได้เป็น LGBTQIAN+ เขาจะได้อะไรจากสิ่งนี้
ซึ่งคำตอบของพี่เจี๊ยบก็ช่วยขยายให้ฟังว่าทำไมเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ LGBTQIAN+ รวมถึงผลักดันสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องของทุกคน
“เราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะมีลูกที่มีความหลากหลายทางเพศไหม เราจะมีญาติ มีเพื่อน หรือแม้แต่คนที่เรารัก เขาจะมีความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมันจะดีกว่าไหม ถ้าคนที่เรารักได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน”
“นี่ก็คือเรื่องของเราไม่ใช่เหรอ เพราะเราคือพ่อ เราคือเพื่อน เพราะเราคือคนในครอบครัวเดียวกัน เราคือคนในสังคมเดียวกัน”
ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ในห้วงเวลาที่ประชาธิปไตยริบหรี่เช่นนี้ แต่พี่เจี๊ยบยังยืนยันกับเราว่า เราเริ่มสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกันได้เดี๋ยวนี้ วันนี้ เวลานี้เลย ไม่ว่าจะช่วยกันดูแลและร่วมปกป้องสิทธิของ LGBTQIAN+ ตั้งแต่ในครอบครัว ในโรงเรียน แล้วค่อยขยับขยายไปสู่สังคม
“ไม่รอให้มีแค่ความฝัน แต่ทำทุกๆ วันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” พี่เจี๊ยบทิ้งท้าย
ถึงคู่ชีวิต…ในวันที่สมรสเท่าเทียมยังเป็นแค่ความฝัน
ที่รักคะ
สิบกว่าปีที่เราดูแลกันมา
ไม่เคยมีวันไหน ที่เราไม่คิดถึงกัน
ไม่มีวันไหน ที่เราไม่ได้คุยกัน
ไม่มีวันไหน ที่เราไม่ได้ดูแลกัน
เราเป็นแบบนั้นเสมอไม่ว่าจะมีหรือไม่มีสมรสเท่าเทียม
ที่รักคะ
การไม่มีสมรสเท่าเทียม
สะท้อนการไม่ถูกยอมรับศักดิ์ศรี คุณค่า และความเป็นมนุษย์ของเรา ชาว LGBTQIAN+
ทั้งในครอบครัว สถาบันการศึกษา สังคมโดยรวมรวม ทั้งระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
ที่รักคะ
ทางปฏิบัติ
ครอบครัวของเรายังคงเผชิญกับการถูกตัดสิน ตีตราอย่างไม่เป็นธรรม
นี่ทำให้เราทั้งสองคนไม่สามารถอุปการะ รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ อย่างเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ
ทำให้บุตรของเรา เผชิญกับประสบการณ์ถูกบูลลี่ในสถานศึกษา เพียงเพราะเธอมีแม่ 2 คน
ลูกต้องมีร่องรอยทางด้านจิตใจ เพียงเพราะสังคมมีอคติและไม่ยอมรับครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ
ที่รักคะ
ครอบครัวของเรา เคยถูกเผา 5-6 ครั้งภายใน 10 วัน หรือเรียกว่าเผชิญกับถูกคุกคาม ด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง (Hate Crime) อันมีรากฐานมาจากความแตกต่างด้าน เพศสภาพ และ/หรือรสนิยมทางเพศ
นี่เป็นเพราะว่า สังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็น Homophobia – Transphobia- BiPhobia ไม่ตระหนักเลยว่า “ความเกลียดกลัว นำไปสู่การก่ออาชญากรรมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ก็ยังมีช่องว่าง
ที่รักคะ จริงอยู่ เรายังคงคิดถึง ดูแลและรักกันเสมอ ไม่ว่าจะมี หรือไม่มีสมรสเท่าเทียม
แต่ประสบการณ์ด้านบน อันได้แก่ การเผชิญกับการถูกตัดสิน ตีตรา และการถูกละเมิดสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวและการเผชิญกับการถูกกระทำด้วยความรุนแรงอันมารากฐานมาจากความชัง/การเกลียดกลัวบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้ามีสมรสเท่าเทียม
ที่รักคะ
เราทั้งครอบครัว ตระหนักดีว่าสมรสเท่าเทียมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่ต่อสู้ ต่อรองและรื้อถอนวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ที่หล่อเลี้ยงและสถาปนาระบบสองเพศ (gender binary) และกำหนดให้แนวคิดแบบรักต่างเพศ (heteronormativity) กลายเป็นบรรทัดฐาน(Norm) ของสังคม
ที่รักคะ
การตู่สู้อย่างยาวนานของครอบครัวของเรานั้นหาได้เปล่าประโยชน์ไม่
ที่รักจำได้ใช่ไหม
วันที่มีคู่รักสาวไทยกับชาวต่างชาติ วิ่งมาขอถ่ายรูปคู่กับเราและพูดให้กำลังใจรวมทั้งบอกว่า เราจะสู้ไปด้วยกัน”
คู่รักสาวไทย-ไทย ที่ส่งข้อความมาปรึกษาเรื่องการก่อตั้งครอบครัวและการมีบุตรที่เราเองก็กังวลใจเรื่องช่องว่างทางกฎหมาย แต่เธอก็บอกว่า เธอพร้อมที่จะตู่สู้ เหมือนครอบครัวของเรา
รวมทั้งเสียงจากเยาวชน LGBTQIAN+
ที่พบเราในเวทีเสวนา ที่บอกว่า “พี่ทำให้หนูอยากก่อตั้งครอบครัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้มองไม่เห็นเลยว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร”
และที่สำคัญที่สุด
ที่รักคะ
การต่อสู้ของเราและลูก
ทำให้เรามีวันนี้ ที่เรายังคงรัก คิดถึงและดูแลกันในทุกๆวัน แต่ที่เพิ่มเติมคือ ในที่สุดสังคมไทย ก็มีสมรสเท่าเทียม
สิทธิ ศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเราจะมิถูกเหยียบ ให้ต่ำต้อยเฉกเช่นที่ผ่านมา
ที่รักคะ
จากนี้ไป
เราและครอบครัวของเราจะได้รับการเคารพ ปกป้อง คุ้มครองอย่างเท่าเทียมกับทุกคนในสังคม
สิทธิหลากหลายทางเพศ หาใช่เพียงหลักการ แต่ได้รับการรับรองในทางกฎหมาย
นำไปสู่การสิ้นสุดการเลือกปฏิบัติเชิงระบบ(Ended systematic discrimination) ต่อ LGBTQIAN+ ในมิติของสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว
ที่รักคะ
ในวันที่มีสมรสเท่าเทียม
คือวันปลดแอก คือการปลดปล่อยการกดขี่ เชิงระบบ (Systematic oppression) ให้ตัวตนของเรา ครอบครัวของเราและ ชุมชนของเราถูกตระหนักว่า “Everyone Born Free and Equal with Dignity and Pride”
ที่รักคะ ไม่ว่าวันนี้จะมีหรือไม่มีสมรสเท่าเทียม เรายังรัก คิดถึงและดูแลกันเสมอ
แต่ที่ต่างคือความรักของเรา เท่าเทียมกันกับทุกคนในสังคม
“รัก ที่รักเสมอ”
มัจฉา
และนี่คือชีวิต คือเรื่องราว คือความฝัน คือสิ่งที่พี่เจี๊ยบและครอบครัวอยากเห็น วันที่ไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ (จริงๆ) แบบไม่ใช่การพูดอย่างทำอย่าง และมันคงจะสวยงามมากๆ ถ้าไทยได้มี พรบ. สมรสเท่าเทียม เห็นคนเท่ากัน และเป็นประชาธิปไตยไปพร้อมกัน
ชวนมาดูแลกันและกัน และผลักดันให้พื้นที่ปลอดภัยของ LGBTQIAN+ ไม่ใช่เพียงความฝันอีกต่อไป
ขอบคุณภาพจาก มัจฉา พรอินทร์
Read More:
ที่พูดไป ใช่ freedom of speech ไหมนะ?
ทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง freedom of speech และ hate speech เพื่อให้ใช้สิทธิบนโลกออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม
ฮาวทูสู้กับ Climate Despair
สิ้นหวัง หมดไฟ ไปต่อยังไงกับปัญหาโลกร้อน/โลกรวน
วิธีคลายกังวล ในวันที่ใจกำลังไม่ไหวแล้ว
It's okay to feel worried