“Toxic Relationship มันไม่ได้มาแบบโจ่งแจ้ง มันมักจะมาในรูปแบบที่แนบเนียน แยบยล หรือรูปแบบของการบอกว่าฉันรักเธอ เธอถึงต้องทำแบบนั้นแบบนี้”
เราไปเจอโพสต์ในทวิตเตอร์ของ ลูกแก้ว-โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เราคุ้นชื่อ เธอโพสต์ภาพครบรอบ 5 ปี ที่ออกมาจากความสัมพันธ์เป็นพิษได้ จากคนที่รักตัวเองไม่เก่ง เดินเข้าออกในความสัมพันธ์เป็นพิษอยู่หลายปี ลูกแก้วค่อยๆ หาวิธีสร้างความแข็งแรงในจิตใจ อัพสกิลรักตัวเองจนมากพอที่จะแหวกม่านความมืดเดินออกมาได้ และพบว่าโลกนี้ยังมีความรักอีกหลากหลายรูปแบบที่รอซัพพอร์ต และเป็นความรักแบบเฮลท์ตี้ที่ไม่ทำให้ต้องเสียใจ
เราเชื่อว่า หลายคนเคยผ่านประสบการณ์นี้และหาวิธีออกมาได้ แต่หลายคนก็ยังติดอยู่และกำลังหาทางออก ลูกแก้วย้ำเสมอว่าทั้งหมดนี้มันไม่ง่าย ต้องใช้เวลา ต้องฝึกการกลับมารักตัวเอง และต้องมีคนรอบข้าง (คนอื่นนอกจากคนในความสัมพันธ์ของคุณ) เข้าใจพร้อมซัพพอร์ตคุณ
เมื่อไหร่ที่คุณรู้ตัวว่าพื้นที่ปลอดภัยทางความสัมพันธ์เริ่มแคบลง หรือทำตัวตนหล่นหายกลายเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ทุกข์ระทม เราเชื่อว่าคุณจะกลับมารักและเป็นตัวเองได้สมบูรณ์อีกครั้ง และหวังว่าเจอความสัมพันธ์แบบเฮลท์ตี้ที่คุณใฝ่ฝัน จากมุมมองของลูกแก้วในบทความชิ้นนี้
why you don’t leave?
“ถ้าพูดง่ายๆ มันคือความสัมพันธ์ที่อำนาจเราไม่เท่ากันและเราไม่มีสิทธิที่จะต่อรอง บอกสิ่งที่เราต้องการ หรือเป็นอย่างที่เราต้องการแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์แบบนั้นแหละที่ Toxic ไม่ว่าเรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว และไม่ว่าอีกฝั่งจะใช้อำนาจที่เหนือกว่าในรูปแบบคำว่ารัก คำว่าห่วงใย หรืออื่นๆ ใด”
ข้างต้นคือนิยามคำว่า Toxic Relationship ที่ลูกแก้วบอกกับเรา
สัญญาณก้อนใหญ่ที่บอกว่าคุณอาจอยู่ในความสัมพันธ์แบบ Toxic Relationship อาทิ โทษตัวเองทุกเรื่องในความสัมพันธ์ถึงแม้ไม่ใช่ความผิดฉันเลย รู้สึกเหมือนต้องเดินบนเปลือกไข่เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายหัวร้อน ไม่มีพื้นที่อิสระให้หายใจ ต้องรายงานว่าอยู่ที่ไหน เช็กโทรศัพท์ได้ตลอดเวลา หรือยินยอมการใช้กำลังแก้ปัญหา เพราะยังไงเขาก็เป็นคนเดียวที่รักฉัน เป็นต้น
ซึ่งหากพูดถึง Toxic Relationship หลายคนคงคิดถึงเรื่องราวที่เริ่มต้นจากความสัมพันธ์ของคู่รักคู่หนึ่ง แต่หากมองลึกลงไป ความสัมพันธ์นี้เป็นเสี้ยวของการเติบโต ที่หล่อหลอมคนหนึ่งคนมาตั้งแต่เด็ก อาทิ ครอบครัวที่บอกเสมอว่าจะไม่รักถ้าไม่ทำตามคำสั่ง หรือโรงเรียนที่ไม่สามารถเลือกเองได้กระทั่งสีถุงเท้า
เรารู้สึกว่าเรื่อง Toxic Relationship มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่โยงไปถึงโรงเรียน ครอบครัว เพราะมันก็จะมีคำถามว่า ทำไมคนถึงออกมาจากความสัมพันธ์เป็นพิษแบบนี้ไม่ได้กันเยอะ
“มนุษย์หนึ่งคนโตมาในประเทศนี้ ประเทศที่สีถุงเท้านักเรียนเรายังเลือกเองไม่ได้ หรือโบว์ที่ใส่ได้แค่สีเดียวเท่านั้น และกว่าเด็กคนหนึ่งจะมีอิสระด้านการแต่งตัวก็ตอนเข้ามหาวิทยาลัย เราว่ามันช้าไปมากที่เด็กคนนึงจะเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง มันควรที่จะรู้จักตัวเองได้ตั้งแต่อายุ 11-12 ปี แต่วัยนั้นเราโดนจับให้ใส่ชุดนักเรียนตลอดเวลา มันเลยไม่แปลกที่เด็กคนหนึ่งจะเลือกสิ่งที่ตัวเองอยากได้จริงๆ ไม่เป็น แล้วเด็กหนึ่งคนที่โตมาแบบชีวิตไม่เคยเลือกอะไรเองได้ ใครที่บอกว่าดีเราก็ทำตาม หากวันหนึ่งเจอความสัมพันธ์แบบเป็นแฟนกัน แล้วเป็นความสัมพันธ์ที่ Toxic คิดว่าเขาจะออกมาได้เลยหรอ เราว่ามันยากมาก
“เหมือนถ้าเราโตมาในบ้านที่พ่อเราสั่งเรามาตลอดชีวิต แล้วเราก็รู้สึกว่าสิ่งนี้คือความรัก วันหนึ่งเราไปเจอแฟนที่สั่งเรา เราก็แค่คิดว่าก็เหมือนที่พ่อเรารักเราไง ตอนนี้มันเลยมีสื่อหลายแห่งที่พูดเรื่องเด็ก ว่าการจะเลี้ยงมนุษย์ให้เติบโต แล้วไม่ตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่แย่ มันต้องเริ่มที่ครอบครัว
“เราว่าโครงสร้างสังคมทั้งหมดมันบ่มเพาะรวมถึงรัฐบาลเลยนะ มันก็ไม่แปลกที่เราจะชินกับการอยู่ๆ ที่มีใครไม่รู้มาใช้อำนาจอยู่แล้ว เพราะสังคมที่ไม่เคยสอนให้ใครรักตัวเอง ผลผลิตมันเลยบิดเบี้ยวทั้งคู่ มันสร้างฝั่งหนึ่งที่มีอำนาจ ฝั่งหนึ่งไม่มีอำนาจ แต่ว่าไม่สร้างการต่อรองหรือพื้นที่ปลอดภัย” ลูกแก้วเล่า
เพราะพื้นที่ปลอดภัยที่ควรจะมีในความสัมพันธ์มันหายไป พื้นที่ที่อนุญาตให้พูดคุยกันได้ ตั้งคำถามต่อกันได้มันไม่มี และหลายคนก็ยังติด ‘เงื่อนไข’ ที่ทำให้อยากออกมาแทบตาย แต่ก็ยังทำไม่ได้
“คนส่วนใหญ่จะคิดว่า เมื่ออยู่ในความสัมพันธ์แบบ Toxic Relationship สเต็ปต่อไปคือต้องออกเลย แต่ถ้าคุณรู้แล้วคุณออกได้เลย เราก็จะบอกว่านั่นอาจจะไม่ใช่ Toxic Relationship
“เพราะความ Toxic มันมีเลเยอร์ของอำนาจเข้ามาเกี่ยวเหนี่ยวรั้งไว้ ถ้าเรารู้แล้วเราเริ่มตะหงิดๆ ว่า นี่ Toxic หรือยัง ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าไม่มีเงื่อนไขนั้น เงื่อนไขนี้ เรายังอยากอยู่ตรงนี้ไหม ลิสต์คำตอบนั้นไว้ก่อนว่าทำไมเราถึงออกมาไม่ได้ แล้วค่อยๆ ดูเงื่อนไขแต่ละข้อ อย่างน้อยจะค่อยๆ แยกเงื่อนไขได้ว่าที่เราอยู่มันไม่ใช่เพราะเรารักเขาเลยนี่หว่า ไม่เป็นไร ค่อยๆ หาทางออก
แต่ถ้าอยากออกจากความสัมพันธ์ Toxic สิ่งที่สำคัญมากๆ คือ ต้องใจดีกับตัวเอง และกลับมารักตัวเองจริงๆ” ลูกแก้วบอกกับเรา
การพูดว่าให้กลับมารักตัวเอง อาจดูพูดง่ายทำยาก แต่ถ้าคุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษหรือความสัมพันธ์ไหนก็ตามที่รู้สึกว่าตัวตนคุณหล่นหาย ไม่มีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ นั่นเป็นสัญญาณให้คุณต้องกลับมารักตัวเองแบบจริงจังแล้ว
be kind to yourself
“เราว่ามันยากมาก ที่มนุษย์หนึ่งคนจะฝึกให้รักตัวเอง เพราะสังคมไทยไม่ได้ฝึกให้เด็กคนนึงรักตัวเองและมีเส้นเขตแดนตั้งแต่ต้น มันต้องฝึก ถึงแม้ตอนเด็กเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เข้าใจเรื่องนี้มากพอ แต่โลกใบนี้มันใจร้ายกับเรามากพอแล้ว ขอให้ใจดีกับตัวเองและรักตัวเองหน่อย”
ถึงแม้วัยเด็กจะหล่อหลอมให้เรามีความเชื่อในการชีวิตอย่างหนึ่ง แต่ถ้าตอนโตต้องช้ำใจเพราะชุดความเชื่อนั้นจะลองเปลี่ยนแปลงตอนนี้ก็ยังไม่สาย ไม่ได้เร่งให้คุณต้องรีบรักตัวเอง หรือรีบออกมา ความสัมพันธ์เป็นพิษที่ถูกสร้างมายาวนานขนาดนั้น มันต้องใช้เวลา ต้องค่อยๆ แก้
“ปัญหาของคนที่ยังอยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษที่เคยเจอหรือมีเพื่อนเล่าให้ฟังคือ เขายังรักและใจดีกับตัวเองไม่เป็น
“ถ้าเรารู้แล้วว่าความสัมพันธ์นี้เริ่มไปไกล ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดแล้ว แต่เรายังออกไม่ได้ ด้วยเงื่อนไขอะไรก็ตาม จริงๆ มันมีวิธีอีกเยอะนะ แต่สำหรับเรา เราใช้วิธี ‘เขียน’ เราเป็นคนชอบจดบันทึก เราก็จะเขียนว่า วันนี้เราเจออะไร เขาทำอะไรต่อเรา แล้วก็ตั้งคำถามกับตัวเองไปเรื่อยๆ ถามและคุยกับตัวเองเยอะมาก เราก็ไม่ได้เขียนคุยกับตัวเองวันสองวันแล้วออก เราคุยกับตัวเองอยู่ 3 ปี เราว่าวิธีนี้ทำให้เรากลับมาเป็นตัวเองและรักมากขึ้น
“ซึ่งพอถามตอบกับตัวเองมาเรื่อยๆ จนวันนึงเรามีคำตอบให้ตัวเองว่าที่เราอยู่ตรงนี้มันเริ่ม ‘ไม่ใช่’ ขึ้นเรื่อยๆ เราก็เริ่มลิสต์ว่า การมีใครสักคนรักเราจริงๆ ในความคิดเรามันควรเป็นยังไง พอคำตอบมันไม่ตรงกับปัจจุบันทุกข้อเลย เราเลยแปลกใจว่า เราทำอะไรอยู่ตรงนี้ โลกนี้มันมีความรักความสัมพันธ์ที่มันไม่ต้องมานั่งร้องไห้อาทิตย์ละ 3 วัน 5 วันแบบนี้นี่หว่า แล้วเราอยู่ตรงนี้ทำไม
“มีวันหนึ่งก่อนที่จะตัดสินใจออกจากความสัมพันธ์ที่ไม่โอเค เรากลับไปอ่านสมุดบันทึกอีกรอบ แล้วเราก็รู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้เป็นใคร ทำไมน่าสงสารขนาดนี้ เหมือนเราไม่ได้มองว่านั่นคือตัวเองเลยนะ
เราแทนค่ามนุษย์คนนี้เป็นใครสักคน เรารู้สึกว่าทำไมเขาต้องมาเจอเรื่องที่ไม่ดีแบบนี้ พอคิดได้อย่างนั้น เราไม่อยากให้ตัวเองในอนาคต ต้องเจอเหมือนผู้หญิงคนนั้นในอดีตอีก”
ลูกแก้วใช้วิธีเขียนเพื่อคุยกับตัวเอง แต่หลายคนก็มีวิธีคุยกับตัวเองเพื่อหาคำตอบต่างกันไป บ้างใช้วิธีพูดคุยกับตัวเองในกระจก บ้างบันทึกความรู้สึกเป็นวิดีโอเพื่อย้อนกลับมาดูและทำความเข้าใจตัวเอง และอื่นๆ หากยังไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะกับวิธีไหน เราว่าวิธีง่ายสุดอย่างการเขียนก็เป็นตัวเลือกที่ดี
การรักตัวเองในพื้นที่ความสัมพันธ์แบบเป็นพิษ ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แต่เป็นการกลับมาสนใจความต้องการของตัวเองแบบจริงจัง เพื่อสร้างความแข็งแรงด้านจิตใจ ก่อนตัดสินใจแก้ปัญหานี้ด้วยตัวเองอีกครั้ง
love myself anniversary
วันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 5 ปีที่ลูกแก้วเดินออกมาจากความสัมพันธ์ Toxic เธอตั้งไว้เมื่อ 5 ปีก่อน เพื่อให้ย้อนมองกลับไปว่าเธอเดินมาไกลจากความบอบช้ำทางใจแค่ไหน และย้ำเตือนว่าเธอรักตัวเองมากขนาดไหน
“ที่เราตั้งไว้ 5 ปี เพราะตอนแรกเราคิดว่าเราจะทำไม่ได้ หลายครั้งที่เราเก็บข้าวเก็บของออกไป บางทีสัปดาห์เดียวเราก็กลับไปใหม่ หรือบางทีไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ มันก็เลยเป็นความรู้สึกว่า ถ้า 5 ปี แล้วยังทำไม่ได้เนี่ย ไม่ได้แล้วนะ ต้องออกแล้ว ถ้าเราออกได้จริงๆ เราอยากให้ตัวเราวันนั้น หันมามองตัวเองในวันที่ตัดสินใจในอดีต และอยากให้ตัวเองเห็นว่าเป็น 5 ปีที่เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน
การตั้งหมุดแล้วย้อนกลับไปมองสิ่งที่เราทำได้จริงๆ มันทำให้เราชื่นชมตัวเองได้ง่ายขึ้น เรื่องนี้มันไม่ง่ายเลย แล้วเราผ่านมาได้ เราว่ามันเป็นแบบฝึกหัดที่ช่วยให้รักตัวเองให้เป็น มี self esteem มากขึ้น มันยากที่คนรักตัวเองไม่เป็นจะชมตัวเอง เพราะเขาไม่ได้เชื่อในปัจจุบันขนาดนั้น ซึ่งไม่เป็นไรนะ ไม่ผิดเลย”
คนที่รักตัวเองไม่เก่งจะต่อต้านคำชมทั้งจากตัวเองและผู้อื่น ปฎิเสธอย่างแข็งขันทั้งๆ ที่ตัวเองนั้นก็เก่งจริง เพราะความเชื่อในตัวเองที่ต่ำทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่อคำชมที่ว่าได้ แต่เมื่อไหร่ที่ถูกด่าทอ หรือพ่นคำด้านลบใส่ คนกลุ่มนี้จะดูดซับไปอย่างเร็ว ทั้งที่เขาอาจไม่มีความผิดนั้นเลยก็ตาม
ดังนั้น การปลุกการรักตัวเองขึ้นมา สร้างความแข็งแรงด้านจิตใจในส่วนนี้จึงสำคัญ การลองทำตามวิธีคนอื่นไปก่อนเพื่อหาวิธีที่เหมาะกับตัวเอง อาจจะเป็นการค่อยๆ เรียนรู้หาคำตอบก็ได้
“เราขอบคุณตัวเองในอดีตมากๆ นะ เรารู้สึกว่า มันมีสิ่งที่ดีรออยู่ มีเพื่อนที่น่ารัก มีครอบครัว ทุกคนรักเราอย่างดีมากๆ แต่เราในอดีตคนนั้นไม่รู้เรื่องราวเหล่านั้นเราเลย รู้สึกว่าเราในอดีตคนนั้นมันกล้าหาญมาก ขนาดไม่รู้ว่ามีอะไรดีๆ อยู่ข้างหน้าแต่ก็ตัดสินใจเดินออกมาจากสิ่งที่คุ้นเคยได้”
darkness doesn’t exist
“ในความสัมพันธ์แบบ Toxic บางครั้งที่ตัวเองจะตัดสินใจออก แต่ออกไม่ได้ แทนที่จะโทษอีกคน โทษโครงสร้าง ทุกคนก็จะโทษตัวเอง และสังคมก็จะชอบโทษเหยื่อด้วย ประโยคที่เราเคยได้ยินก็จะมี ‘โง่หรือเปล่า โดนทำร้ายขนาดนี้ ทำไมไม่ออกมา’ ทุกคนก็จะยิ่งใจร้ายกับตัวเองและโบยตีตัวเอง และทุกครั้งที่กลับไปยังความมืดนั้น สักพักก็จะเริ่มตัดตัวเองจากเพื่อน ครอบครัว คนรอบข้าง เพราะไม่อยากโดนด่าว่าโง่ หรือไม่อยากไปเป็นภาระ”
ระหว่างทางที่คุณกำลังเรียนรู้วิธีการรักตัวเองเพื่อหาคำตอบในความสัมพันธ์ แน่นอนว่าคุณยังอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม ความรู้สึกเดิม ผู้คนเดิม บางครั้งอาจรู้สึกว่าฉันทำสิ่งนี้ไม่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งนั่นไม่เป็นไรเลย ในความจริงคุณสามารถยื่นมือขอความช่วยเหลือจากกลุ่มคนที่คุณไว้ใจได้
การขอความช่วยเหลือ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนไม่รู้ว่าในความสัมพันธ์ Toxic ทำได้ เราลองขอความช่วยเหลือจากคนอื่นดูที่ไม่ใช่แฟนเรา เพราะยิ่งเวลาที่เราอยู่ในความสัมพันธ์ที่ Toxic มันง่ายมากเลยที่เขาจะทำให้เรารู้สึกว่า โลกทั้งใบของเรามีแต่เขา แต่ถ้าเรามีบทสนทนากับตัวเองเรื่อยๆ เราเห็นเงื่อนไขหลายๆ อย่าง เราลองดูคนอื่นที่ซัพพอร์ตเราได้
“มันยากมากจริงๆ ที่จะไปบอกเพื่อนว่า เราไม่โอเค แต่เราต้องรู้จักพูดคุยกับคนอื่น สื่อสารกับคนอื่นเพื่อรู้ว่ามันมีคนอื่นที่รักเรา ไม่ใช่เขาคนนั้นคนเดียวที่รักเรา ถ้าเราไปเห็นความรักจากคนอื่น ในรูปแบบอื่นบ้าง เราจะรู้ว่าบนโลกนี้มันยังมีความรักอีกหลากหลายรูปแบบที่ดีกว่านั้น และไม่ทำให้เธอต้องเสียใจและอยู่ในความมืดแบบนี้”
แต่ว่า ความมืดของแต่ละคนก็แตกต่างกัน
“กรณีความมืดของเรา อาจบอกได้ว่าเป็นชนชั้นกลาง หางานทำเองได้ ครอบครัวไม่ได้แตกสลาย พ่อแม่ เพื่อน พร้อมซัพพอร์ต พอค่อยๆ แหวกม่านก้าวออกมา เราพบว่าจริงๆ แล้วโลกมันสว่างด้วยความรักจากเพื่อนเยอะกว่าที่คิด จนเรางงเลยว่า 3 ปีที่ผ่านมา ฉันไปมัวแต่หมกตัวอยู่ในห้องมืดแล้วคิดว่ามันมืดทำไม
“แต่ก็ยังมีความมืดอีกหลายแบบ ความมืดที่เป็นลูกกำพร้าไม่เหลือใคร มีลูกอยู่ในท้องหนึ่งคน อยู่กับสามีที่ชอบทำร้ายร่างกาย ในห้องเช่าเล็กๆ ความมืดของเขากับมืดของเรามันคนละแบบเลย แล้วมืดแบบนั้นแค่เดินออกมาจากห้องแล้วเห็นแสงสว่างอย่างเรามันเป็นไปไม่ได้ เราจึงไม่ควรใช้เงื่อนไขของเรา ไปตัดสินเงื่อนไขของใคร
“ซึ่งความมืดแบบนั้น มันเป็นความมืดที่รัฐต้องจัดการ ต้องมีกระบวนการช่วยเหลือผู้หญิงที่อยู่ในความรุนแรงในครอบครัว รัฐต้องมีโครงสร้างมีตาข่ายที่รองรับเรื่องราวแบบนี้ให้มากขึ้นเพื่อให้มนุษย์ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีสิทธิที่จะก้าวเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่ตัวเองไม่ต้องการ มันเป็นเงื่อนไขอีกแบบที่ต้องแก้ระดับโครงสร้าง”
healthy relationship
จักรวาลคู่ขนานของ Toxic Relationship คือ Healthy Relationship ตรงข้ามกันทุกอย่างทั้งความรู้สึก วิธีการสื่อสาร และสิ่งที่มีเพิ่มขึ้น คือพื้นที่ปลอดภัยในความสัมพันธ์
“เราว่าในทางอุดมคติ ความสัมพันธ์ที่ดี ต่อให้เราอำนาจไม่เท่ากัน คนมีอำนาจมากกว่าก็ต้องแชร์พาวเวอร์ ควรจะต้องเปิดโอกาสให้ตั้งคำถามต่อกันและกันได้ พูดคุยกันได้ หรือถ้าเป็นแฟนกันแล้วสถานะทางเศรษฐกิจเราดีกว่าอีกคน คนมีอำนาจสูงกว่าก็ต้องตระหนักเหมือนกันว่า มีบางอย่างที่มันเอื้อต่อการไปบังคับให้เขายอม
“ในขณะเดียวกันคนที่รู้สึกว่าอำนาจเราน้อยกว่า เราก็ต้องรู้จักสร้างเส้นเขตแดนของตัวเอง ต้องถามตัวเองให้ชัดเจนเสมอว่าตัวเราต้องการอะไร นี่ใช่ความรักความสัมพันธ์ที่เราต้องการไหม เพื่อเวลาที่มีอะไรล้ำเส้นออกไป เราจะได้รู้ตัวไว และก็บอกอีกฝั่งได้ไวๆ บางทีเขาอาจไม่รู้ตัวว่าเขากำลังทำเรื่องแย่ๆ ใส่เราอยู่ และหากเรายอมอยู่เรื่อยๆ เราโอเค บางทีเขาก็อาจจะคิดว่าเราไม่ได้มีปัญหา”
การส่งเสียงการพูดจึงเป็นสิ่งสำคัญในความสัมพันธ์ ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะบอกความรู้สึกออกไปเพื่อยืนยันความเป็นตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องค่อยๆ ถาม-ตอบ และนิยามความต้องการของตัวเองให้ชัดเจนไว้เป็นพื้นฐานการตัดสินใจด้วย
นิยามกับตัวเองให้ชัดเลยว่า ความสัมพันธ์ที่เฮลท์ตี้ที่เราต้องการคืออะไร จะมโนไว้เป็นข้อๆ เลยก็ได้ เราว่ามันช่วยถ้าวันหนึ่ง เราเจออะไรที่มันเริ่มเขวไปจากที่เราตั้งไว้ มันเริ่มมองออกว่าอันนี้ไม่ใช่ ไม่โอเคนี่ บางทีเราก็ต้องเป็นคนที่รู้จักตัวเองพอเหมือนกัน”
Read More:
มนุษยสัมพันธ์ 02: คุยกับฝัน-โปรดิวเซอร์พอดแคสต์ R U OK เรื่องโอเคกับตัวเองก่อน แล้วทุกอย่างก็จะโอเค
คุยกับฝันเรื่องรักตัวเอง ชวนคิดถึงคนอื่น และตระหนักว่าเรามีคุณค่าเกินกว่าจะนิ่งเงียบและยอมจำนน
คุยกับ ‘แก้ว-มณีวรรณ’ เด็ก ม.ปลาย ที่เลือกตอบความฝันด้วยการศึกษานอกระบบ
"ครูคะ หนูขอลาออก"
ที่พูดไป ใช่ freedom of speech ไหมนะ?
ทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง freedom of speech และ hate speech เพื่อให้ใช้สิทธิบนโลกออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม