ส่งท้ายคอนเทนต์ซีรีส์ #SafeZoneFirst #พื้นที่ปลอดภัยไว้ก่อน ทั้ง 5 อีพี ไอแอลไอยูขอรวบรวมวิธีสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกันจากประสบการณ์ของผู้คนที่เราได้ไปสัมภาษณ์ เพราะถ้าเราอยากให้ผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศมีพื้นที่ปลอดภัยในสังคม ครอบครัวเป็นเซฟโซนและรับฟังลูก โรงเรียนไทยซัพพอร์ตความฝันและเข้าใจความหลากหลายของนักเรียน เพื่อนของเรามีพื้นที่ปลอดภัยในใจเมื่อเดินหลงเข้าไปในความสัมพันธ์ท็อกซิก หรือตัวเราเองมีฐานที่มั่นในใจที่เราสร้างพื้นที่ไว้ในใจเราเอง ทั้งหมดนี้ เราช่วยกันสร้างได้!
เราเชื่อว่าเมื่อทุกคนเข้าใจเงื่อนไขการใช้ชีวิตในความสัมพันธ์แต่ละรูปแบบ ถึงจะไม่ได้ประสบพบเจอกับตัวเอง แต่หากมีคนที่รู้จักอยู่ในวงโคจรนั้น คุณอาจกลายเป็นเซฟโซนให้เขาได้ หรือในขณะเดียวกันคุณอาจจะเจอเซฟโซนพื้นที่ใหม่ที่เซฟใจคุณได้ด้วยเช่นกัน หวังว่าบทสรุปคอนเทนต์ซีรีส์นี้ จะเป็นจุดเริ่มให้ลองเปิดใจเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกันหรือกระทั่งตัวเองให้ได้นะ
เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้…LGBTQIAPN+
“ไม่ว่านิยามตัวเองแบบไหน ความรักของเรา ก็เท่าเทียมกันกับทุกคนในสังคม”
คอนเทนต์ซีรีส์ #SafeZoneFirst อีพีนี้ เราคุยกับ พี่เจี๊ยบ-มัจฉา พรอินทร์ ผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ผู้ประสานงานประจำประเทศไทย เราชวนพี่เจี๊ยบมาเล่าให้ฟังว่าการที่บ้านนี้เมืองนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ LGBTQIAPN+ มันจะดีขนาดไหน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องของทุกคน
“เราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะมีลูกที่มีความหลากหลายทางเพศไหม เราจะมีญาติ มีเพื่อน หรือแม้แต่คนที่เรารัก เขาจะมีความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมันจะดีกว่าไหม ถ้าคนที่เรารักได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
“ถ้ามีสมรสเท่าเทียม ลูกสาวก็จะไปโรงเรียนโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แล้วถ้าวันหนึ่งลูกสาวเข้ามหาวิทยาลัยก็จะสามารถกู้ยืมกองทุนทางการศึกษาได้ เพราะเรากับคู่ชีวิตจะเป็นผู้ปกครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สำคัญที่สุดคือเรื่องสิทธิในการเดินทางของลูกสาวที่จริงๆ มีโอกาสได้ไปทำงานที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย อเมริกา แต่ที่ผ่านมาไปไม่ได้ เพราะเรากับคู่ชีวิตไม่ใช่ผู้ปกครองตามกฎหมายที่จะเซ็นอนุญาตให้ลูกเดินทางได้ คิดดูว่าเขาต้องเสียโอกาสมากมาย เพียงเพราะไม่มีสมรสเท่าเทียม” พี่เจี๊ยบบอกกับเรา
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ที่นี่
เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้…นักเรียน
‘โรงเรียน’ พื้นที่วัยเด็กใช้เวลามากที่สุด พื้นที่ที่เด็กๆ หวังว่าจะเป็นสนามที่เปิดกว้างให้พวกเขาทดลองใช้ชีวิตได้ พื้นที่ไม่ตัดปีกแห่งความฝันกันและกัน พื้นที่ที่เห็นประโยชน์จากความหลากหลายของเด็กๆ และไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง แต่หลายครั้งโรงเรียนก็กดทับความหวัง ชีวิต และการเติบโตของเด็กๆ โดยที่ไม่รู้ตัว
“พลอยว่าโรงเรียนควรซัพพอร์ตความหลากหลายของทุกคน เพราะว่าพอนักเรียนรวมทั้งครูและคนในโรงเรียนเข้าใจอัตลักษณ์ของตัวเองและความหลากหลายเราก็จะได้เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกัน มองเห็นคนอื่นเป็นมนุษย์เหมือนเรา มีความเคารพคนในแบบที่เท่าเทียมกัน เราว่าสังคมคงจะดีขึ้น โรงเรียนเรียนน่าจะสอนแบบนี้ มากกว่าที่จะลบอัตลักษณ์ของเด็กๆ ไปจนหมด”
คอนเทนต์ซีรีส์ #SafeZoneFirst อีพีนี้เราชวน พลอย-เบญจมาภรณ์ นักเรียนที่เลือกออกจากระบบการศึกษา แต่ยังอยากเห็นโรงเรียนไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคน มาคุยกันถึงเรื่องหากโรงเรียนไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ ได้มากพอ คุณครูและนักเรียนเข้าใจจุดยืนซึ่งกันและกัน เคารพกันในแบบเพื่อนมนุษย์ โรงเรียนจะเป็นอย่างไร
“เด็กแต่ละคนควรจะมีสิทธิ์ที่จะออกแบบคลาสเรียนของตัวเองได้ ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร มีความถนัดในด้านไหน โดยที่ไม่ต้องมีกฎมีอะไรที่มันบังคับ เพราะเป้าหมายของการศึกษาคือมุ่งเน้นให้มนุษย์พัฒนาและสามารถที่จะใช้ชีวิตเติบโตไปต่อยอดในเส้นทางของตัวเองได้ ไม่ใช่ผลิตคนเพื่อที่จะไปเข้าสู่โรงงานที่เป็นแรงงานในระบบทุนนิยม มันควรจะเป็นพื้นที่ที่เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วก็เติบโตเพื่อที่จะทำตามความฝันของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีใครมาชี้นำ บงการ หรือว่าบีบบังคับ”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ที่นี่
เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้…ลูก
ช่วงที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นแฮชแท็ก #บ้านไม่ใช่เซฟโซน เยอะขึ้นในทุกช่องทางโซเชียล และเกือบทั้งหมดคือความรู้สึกของ ‘ลูก’ ที่รู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในบ้านอีกต่อไป ซึ่งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนใกล้ตัวอย่าง ‘ลูก’ ก็อาจยากง่ายต่างกันไปในแต่ละบ้าน
คอนเทนต์ซีรีส์ #SafeZoneFirst อีพีนี้เราชวนพี่ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club ที่ครั้งนี้มาในบทบาทคุณแม่ธิดาของลูกๆ ทั้งสองคน มาเล่าถึงฮาวทูทำบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่ลูกๆ และพ่อแม่เปิดใจคุยกันได้ทุกเรื่อง พี่ธิดาเชื่อว่าการจะเข้าใจลูกได้ก็ต่อเมื่อพ่อแม่รับฟังเขามากๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงเกิดพื้นที่ของการไว้ใจ และพ่อแม่จึงกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกๆ ได้ และเมื่อมีเซฟโซนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้การปะทะกันในครอบครัว (ที่แน่นอนว่าหลายบ้านต้องพบเจอ) ก็จะเกิดอย่างเฮลท์ตี้ด้วย
“ถ้าไม่ใช่เซฟโซน เราจะทะเลาะกันบนความโกรธกัน ต้องเอาชนะกัน เพราะแกไม่เข้าใจในสิ่งที่ฉันพูด แกไม่เข้าใจเจตนาของฉัน คือต่างคนต่างคิดแบบนี้ แต่ถ้าฐานมันมีความเข้าใจกัน ยังไงที่นี่มันไม่ทำให้เราเจ็บปวดจนตาย เพราะที่นี่คือที่ปลอดภัย เราจะขัดแย้งกันแบบที่เรารู้ว่ามันจะไม่นำเราไปสู่จุดที่เราไม่ต้องการ ขัดแย้งกันแล้วเดี๋ยวเราจะกลับมาดีกัน เพราะเราไม่อยากให้พื้นที่ตรงนี้มันหายไป การทะเลาะกันมันจบง่ายขึ้น มันผ่านไปเร็วขึ้น
“เป้าหมายจริงๆ ของการเลี้ยงลูก มันคือการที่เราช่วยให้คนคนหนึ่งที่เกิดมาเป็นลูกเรา เขามีฐานที่แข็งแรงในจิตใจ เมื่อวันหนึ่งที่ออกไปสู่โลกข้างนอก เขาจะทำอาชีพอะไร ได้เงินเดือนเท่าไหร่มันเป็นเรื่องของเขา แต่เขาต้องออกไปเป็นคนที่พร้อมจะอยู่กับโลก เราสนใจเรื่องนี้มากกว่า เตรียมความพร้อมให้เขาแข็งแรง พร้อมเผชิญชีวิต เราเชื่อว่าถ้าครอบครัวทำหน้าที่นี้ สังคมเราก็น่าจะมีทรัพยากรมนุษย์ที่เข้มแข็ง แล้วก็ออกไปทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ที่นี่
เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้…ความสัมพันธ์ท็อกซิก
วังวนความสัมพันธ์ท็อกซิกที่ต้องร้องไห้สามเวลาหลังอาหาร มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความดำมืด บวกกับใจที่ยังไม่แข็งแรงพอจะพาตัวเองออกมา แต่รู้ไหมว่า คุณสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยรองรับใจให้ตัวเองหรือเพื่อนสนิทที่กำลังเผชิญปัญหานี้ได้
คอนเทนต์ซีรีส์อีพีนี้เป็นบทสัมภาษณ์ที่เราคุยกับ ลูกแก้ว-โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เราคุ้นชื่อ จากคนที่รักตัวเองไม่เก่ง เดินเข้าออกในความสัมพันธ์เป็นพิษอยู่หลายปี และค่อยๆ หาวิธีสร้างความแข็งแรงในจิตใจ แหวกม่านความมืดจากความสัมพันธ์ท็อกซิกออกมาได้
หากคุณอยู่ในความสัมพันธ์ท็อกซิก เมื่อรู้แล้วจะออกมาเลยมันไม่ง่าย ต้องใช้เวลา ต้องฝึกการกลับมารักตัวเอง หากไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ลองถาม-ตอบกับตัวเองเรื่อยๆ ว่านี่คือความสัมพันธ์ที่คุณใฝ่ฝันไว้บ้างไหม ถ้าเกินกว่าครึ่งตอบว่า ‘ไม่’ คงถึงเวลาต้องกลับมานิยามความต้องการของตัวเองให้ชัดเจน เขียนเงื่อนไขที่ทำให้ออกมาไม่ได้ เพื่อหาทางแก้ปัญหาไปทีละข้อ
“นิยามกับตัวเองให้ชัดเลยว่า ความสัมพันธ์ที่เฮลท์ตี้ที่เราต้องการคืออะไร จะมโนไว้เป็นข้อๆ เลยก็ได้ เราว่ามันช่วย ถ้าวันหนึ่งเราเจออะไรที่มันเขวไปจากที่เราตั้งไว้ และการขอความช่วยเหลือ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนไม่รู้ว่าในความสัมพันธ์ Toxic ทำได้ เราลองขอความช่วยเหลือจากคนอื่นดูที่ไม่ใช่แฟนเรา ลองดูคนอื่นที่ซัพพอร์ตเราได้”
และหากคุณเป็นคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือเป็นเพื่อนห่างๆ ในเฟสบุ๊ค เห็นชีวิตความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษ ลองเปิดใจเข้าใจความต่างของเงื่อนไขแต่ละคน เพราะความเข้าใจของคุณ (เพียงนิดเดียว) ก็สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้
“มนุษย์หนึ่งคนมีเงื่อนไขมากมาย เราไม่รู้หรอกว่ามนุษย์หนึ่งคนต้องถูกตั้งคำถามมากมาย ทั้งๆ ที่คุณไม่รู้อะไรในเงื่อนไขในชีวิตเขาเลย ดังนั้นเพื่อน คนรอบตัว ครอบครัว ทุกคนสำคัญมากนะ ถ้าเราเจอเพื่อนของเราอยู่ในความสัมพันธ์ Toxic ช่วยใจดีกับเขาหน่อย”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ที่นี่
เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้…ตัวเอง
เป็นพื้นที่เซฟโซนให้คนอื่นแล้ว ถึงเวลากลับมาเป็นพื้นที่ปลอดภัยเซฟใจให้ตัวเอง เพื่อจะพาไปสู่การรักตัวเองได้มากขึ้น เพื่อค้นเจอวิธีที่จะอยู่กับตัวเองอย่างอ่อนโยนและยั่งยืน
บทสัมภาษณ์ปิดท้ายคอนเทนต์ซีรีส์ #SafeZoneFirst #พื้นที่ปลอดภัยไว้ก่อน เราพาไปพูดคุยกับ อ.ตั้ม หรือ วิจักขณ์ พานิช อำนวยการสถาบันแห่งการเรียนรู้ทางใจที่ชื่อ ‘วัชรสิทธา’ และผู้ร่วมก่อตั้งสเปซภาวนาใจแบบไม่จำกัดศาสนาที่ชื่อ ‘อวโลกิตะ’ ที่เน้นว่า คนเราทุกคนต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการเติบโตทางจิตวิญญาณอยู่เสมอ เป็นพื้นที่ปล่อยว่าให้ตัวเองใช้ชีวิตได้อย่างไร้เงื่อนไข รับรู้ว่ารู้สึก รับรู้ว่าหนักเกินจะแบกไว้ เพื่อฝึกเรียนรู้ที่จะปล่อยวางในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เมื่อมีสเปซที่ไร้การตัดสินให้ตัวเองได้ เราจะสามารถแชร์พื้นที่ปลอดภัยนี้ให้กับคนอื่นได้เช่นกัน
“พื้นที่ปลอดภัยข้างในที่เราแต่ละคนมี มันคือความรับผิดชอบในการดูแลชีวิตตัวเองให้ยังมีพลัง มีชีวิตชีวา มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้สึกรักตัวเอง เคารพตัวเอง ทั้งหมดนี้ มันจะก่อกำเนิดคุณค่าต่างๆ เป็นพลังของชีวิตให้เราไปทำงานให้โลกใบนี้
“เวลาที่เราดูแลสภาวะจิตใจของเรา เคารพความเป็นมนุษย์ของเรา มันเป็นท่าทีเดียวกันกับการรับฟังความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ท่าทีเดียวกันกับเวลามีสถานการณ์ทางการเมือง มีการเรียกร้อง มีการชุมนุมประท้วง เรารู้สึกถึงเซ้นส์ของ solidarity (ความเป็นหนึ่งเดียวกัน) ที่เราจะโอบรับความทุกข์ของคนอื่นไม่ต่างจากความทุกข์ของเรา ถ้าเราเข้าใจความหมายและประสบการณ์ของ space ที่เป็นสากลแบบนี้ จะไม่มีความขัดแย้ง มันเป็นอะไรที่สากลมาก ดังนั้นการที่เรา mature หรือเป็นผู้ใหญ่ขึ้นในระดับปัจเจก เราก็มีความ mature ขึ้นในระดับ Interpersonal และในระดับสิ่งแวดล้อม สังคม การเมืองเช่นกัน”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ที่นี่
Read More:
โควิด-19 คือข่าวดีของการกอบกู้สิ่งแวดล้อมจริงไหม?
หรือคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง สัตว์ป่าออกมาเริงร่า อาจจะเป็นผลดีที่อยู่เพียงชั่วคราว
คุยกับ ‘แก้ว-มณีวรรณ’ เด็ก ม.ปลาย ที่เลือกตอบความฝันด้วยการศึกษานอกระบบ
"ครูคะ หนูขอลาออก"
ที่พูดไป ใช่ freedom of speech ไหมนะ?
ทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง freedom of speech และ hate speech เพื่อให้ใช้สิทธิบนโลกออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม