หลังส่งชาวไอแอลไอยูแต่ละคนไปสร้างเสริมประสบการณ์ทำทัวร์ ทั้ง 5 ทัวร์ ทั้ง #ทัวร์ลงเรือ ล่องเรือไฟฟ้าย่านฝั่งธน #ทัวร์ลงป่า ชวนอาบป่าในเมือง #ทัวร์ลงกระดาษ มินิทริปวาดเมือง #ทัวร์ลงเล เที่ยวชุมชนลับตา และ #ทัวร์ลงขวด ถือขวดไปทำโทนิค นอกจากบทสัมภาษณ์ในมุมทำงานเจาะลึกของคนทำทัวร์ ยังได้เห็นเบื้องหลังแนวคิดในมุมที่ลูก ทัวร์ ไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งมุมนี้แหละเป็นคีย์สำคัญที่ไอแอลไอยูจะต้องเก็บมาสร้างประสบการณ์การทำทัวร์คอนเซ็ปต์จัดแบบที่ไม่มีใครเคยทำ หรือหากใครแล้วอ่านชอบสิ่งไหนจะเก็บไปใช้ต่อ เราก็ยินดีมากๆ
ถึงจะจบซีรีส์ #ทัวร์ลง และ #ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ อย่างสมบูรณ์ ไอแอลไอยูก็ไม่ได้พักการจัดกิจกรรมในปีนี้นะ สปอยล์ให้เลยว่ามีแน่! ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อของจริง จะยังเป็นทัวร์อยู่ไหม หรือมาในรูปแบบไหน รอติดตามนะ!
ทัวร์ลง EP. 01 :
ลง ‘เรือไฟฟ้า’ ไปคุยกับซัน คนทำทัวร์ล่องคลองฝั่งธน (จนเป็นงาน)
ทัวร์แรกที่ไอแอลไอยูลงชื่อไปคือ #ทัวร์ลงแม่น้ำ เราไม่ได้ว่ายน้ำแต่อย่างใดแต่ไปลงเรือทัวร์คลองกับคุณซัน-ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ Sun-powered Boat ด้วย ‘เรือไฟฟ้า’ เรือลำนี้จุคนได้ถึง 10 คน ต่อการเหมาหนึ่งครั้ง ไอแอลไอยูเลยยกทั้งออฟฟิศไปทัวร์เสียเลย (นี่สิถึงเรียกว่าลงเรือลำเดียวกันที่แท้!)
ทัวร์นี้เป็นการพาคนทัวร์คลองชมวิถีชีวิตโบราณสองฝากคลองฝั่งธน โดยมีคุณซันเล่าเรื่องไปด้วย ลมเย็น เห็นบ้านสวยๆ ดูเป็นกิจกรรมที่น่าจรรโลงใจ แต่กิจกรรมนี้มีสิ่งที่คุณซันปักธงในใจอยากสื่อสารคือ เรื่อง pain point ที่ชาวบ้านริมคลองต้องเผชิญจากการเดินเรือของเรือยนต์หางยาว ที่ทั้งเสียงดังบางทีดึกมากก็ยังมีเรือวิ่ง แถมแล่นเร็วจนเกิดคลื่นใหญ่ทำให้ตลิ่งบ้านพัง ท่าน้ำทรุดเอียง และปล่อยควันดำที่ลอยต่ำอยู่ในอากาศ และทางออกที่ทำให้ยังทัวร์คลองโดยเรือได้แบบไม่ทำร้ายชาวบ้านและธรรมชาติ คือเรือไฟฟ้า (ที่เสียงเบากว่า แล่นนุ่มนวลกว่า และไร้ควัน) และคุณซันก็เป็นตัวตั้งตัวตีตั้งชมรมเรือไฟฟ้านี่เอง
“ตอนนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกถึงจุด point of no return ถ้าไม่แก้ก็จะกลับมาไม่ได้ มันคือวิกฤตใหญ่ของมนุษยชาติ ถ้าไม่เร่งทำ อนาคตมันไม่มี คือถ้าเราเป็นผู้มีอำนาจ ฟันโชะมาก็สำเร็จ แต่เราไม่ใช่ผู้มีอำนาจ เราก็ได้แค่ทำของเรา สื่อสารออกไป
“ผมคิดแค่มีลูกทัวร์มาดู มาฟัง มารับรู้ปัญหาเหล่านี้แล้ว ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มของการอนุรักษ์และการแก้ปัญหา ถ้าเราสื่อสารเรื่องนี้ออกไปได้ เป็นหนทางสู่การแก้ปัญหาที่ดีเหมือนกัน” คุณซันทิ้งท้ายกับเรา
ili U Noted ✍️: รู้สึกได้เลยว่าตัวเองกำลังเป็นส่วนหนึ่งการอนุรักษ์คลองแห่งนี้ กำลังเป็นปากเป็นเสียงให้ปัญหาไม่จมหาย เชื่อว่าเมื่อปัญหาถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง เราอาจได้หนทางแก้ปัญหาที่หลากหลาย สุดท้ายมันอาจจะถูกแก้ได้จริง และการทำทัวร์เพื่อสื่อสารสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงมันไม่ง่ายเลย แต่ถ้ามีความหวัง ดิ้นรนต่อไป ผลมันอาจจะมีให้เห็นได้ไม่ช้าก็เร็ว (เชื่อว่ายังมีอีกหลายคลองที่เจอปัญหานี้ บ้านใครเป็นแบบนี้มาเล่าให้ฟังได้นะ) จงมีหวังไว้ทุกคน!
อ่านทัวร์ลง EP.01 ต่อที่นี่
ทัวร์ลง EP. 02:
คุยกับ ‘ณิชา’ คนทำทัวร์อาบป่าในเมือง
ทัวร์ที่สองที่ไอแอลไอยูลงชื่อไปคือ #ทัวร์ลงป่า เราส่งตัวแทนไปลองเข้าร่วม และลองคุยเรื่องการทำทัวร์นี้กับคุณ ณิชา ศิรินันท์ เจ้าของเพจ Forestory ไกด์ที่พาเรามาอาบป่าในเมือง รวมคนหลายช่วงวัย ต่างสไตล์ แต่มีความวุ่นวายใจไม่สบายกาย โหยหาป่า อยากไปหาธรรมชาติเป็นจุดร่วม
ทัวร์นี้เป็นเหมือนทริปไซส์กะทัดรัด แม้งานนี้จะไม่ใช่งานหลักเพื่อเลี้ยงชีพ แต่เธอขับเคลื่อนมันด้วยแพสชั่นอย่างตั้งใจ ทัวร์นี้ไม่ได้เดินไปไหนไกล ออกแบบกิจกรรมให้เกิดการเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติ ผ่านการเปิดสัมผัสต่างๆ ของร่างกาย
สิ่งที่ได้กลับไปนอกจากจะได้ความสบายใจแล้วยังได้มีเรื่องของความหวงแหนธรรมชาติติดมาอยู่ปลายความรู้สึก จริงๆ เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจ เพราะเมื่อไหร่ที่เราเชื่อมโยงกับสิ่งใดเราจะรู้สึกรักและอยากปกป้องสิ่งนั้น รวมถึงธรรมชาติด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทัวร์ของคุณณิชาอยากสื่อสาร
“ทุกครั้งที่เราจัดทริปแบบนี้ก็จะเห็นกับตาว่า แค่มาเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ภาวะหนักเหล่านั้นมันจะเบาลง ถึงเป็นแค่ช่วงสั้นๆ แต่เหมือนทุกคนได้กลับบ้าน ทุกคนจะรู้แล้วว่านี่คือรากของเขา แล้วเดี๋ยวทุกคนก็จะกลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติอีก ในทางใดทางหนึ่ง
การอาบป่าคือการใช้ธรรมชาติบำบัด เมื่อเราเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เราจะรู้สึกว่าอยากอนุรักษ์ และรู้สึกอยากขอบคุณจากใจจริง” ณิชาบอกกับเรา
ili U Noted ✍️ : การเปิดผัสสะทำให้เราเชื่อมโยงกับสิ่งที่ใกล้ตัวเราได้ง่ายกว่าที่คิดโดยที่เราไม่รู้ตัว นอกจากการเชื่อมโยงธรรมชาติ อาจขยายขอบเขตให้กว้างออกไปเป็น บุคคล ชุมชน ย่าน หรือกว้างขนาดเมืองก็สามารถเชื่อมโยงได้ แค่ลองเปิดการสัมผัสสิ่งเหล่านี้ทางใดทางหนึ่ง มองเห็นด้วยตา พูดคุยกับคน หรือเดินเข้าไปสัมผัสบรรยากาศที่ไม่เคยรู้จัก มาลองเปิดใจ แล้วอะไรก็จะสนุก!
อ่านทัวร์ลง EP.02 ต่อที่นี่
ทัวร์ลง EP. 03:
คุยกับ ‘Bangkok Sketchers’ แก๊งโต้โผชวนคนวาดเมือง
ทัวร์ที่สามที่ไอแอลไอยูลงชื่อไปคือ #ทัวร์ลงกระดาษ ของแก๊งค์ Bangkok Sketchers เป็นทัวร์วาดรูปเมือง คนวาดรูปไม่เก่งก็มาได้ ไม่รู้จักใครก็มาได้ และเข้าร่วมฟรี!
ทัวร์นี้เป็นทัวร์ที่ไม่ได้เป็นอาชีพที่สองของใคร ไม่มีใครได้รับค่าตอบแทน แต่เป็นทัวร์ที่แข็งแรงเรื่องการนัดรวมตัวของนักวาดหน้าเก่าและหน้าใหม่ในทุกๆ เดือน (จัดถี่มาก ทำได้ไง!) ทุกคนทราบวันและเวลานัดหมายผ่านกรุ๊ปเฟซบุ๊กในชื่อ Bangkok Sketchers เมื่อถึงเวลาก็มาเจอกันที่จุดนัดหมาย จับจองพื้นที่กระจายตัวไปวาดรูปเมืองตรงหน้า
“การสเก็ตซ์มันเป็นการสะท้อนสิ่งที่เรารู้สึกกับสถานที่นั้น แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจจะปั้นให้มันสวยงามเพื่อที่จะเอารูปไปขายได้หรืออะไรอย่าง เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการวาดที่ไม่ต้องกดดันว่าคนจะชมว่าสวยไหม ยอดไลก์จะเยอะไหม จะขายได้ไหม คิวเรเตอร์จะสนใจหรือเปล่า
“ทุกคนที่เข้ามาหรือที่มีความสัมพันธ์กัน เพราะว่าเรามีหน้าที่ปรบมือชื่นชมซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะวาดเก่งวาดไม่เก่ง มันมีคุณค่าในตัวมันเอง และเจตนาเบื้องหลัง เราถือว่าเราทำเพื่อจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ความสุขของแต่ละคน โดยที่ไม่มีอย่างอื่นเข้ามาแอบแฝง” พี่อัสนี หนึ่งในโต้โผทริปนนี้ บอกเล่าถึงแก่นของการรวมตัว พวกเขารวมตัวกันเพื่อความสุขจริงๆ
ili U Noted ✍️ : ไอแอลไอยูก็เชื่อเหมือนกันมนุษย์อยู่คนเดียวไม่ได้ มันจะเฉาไป มันต้องมีเพื่อน! ไม่ว่าเพื่อนเก่าหรือใหม่ ยิ่งสังคมปัจจุบันที่ชั่วโมงอาศัยในโซเชียลของเราเริ่มมากขึ้น หรือช่วงโรคระบาดที่ต้องกักตัวจนหลายคนมีความรู้สึกโดดเดี่ยว การออกมาเจอกันในพื้นที่ที่สบายใจร่วมกัน เราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ อย่างทัวร์นี้ที่ทุกคนสบายใจที่จะนั่งวาดรูป นั่งคุยไปเรื่อยๆ ไม่มีการตัดสินกัน มันเลยเป็นพื้นที่ที่สามารถรวมกลุ่มกันได้ถี่ทุกๆ เดือนแบบนี้เลย
อ่านทัวร์ลง EP.03 ต่อที่นี่
ทัวร์ลง EP.04:
คุยกับ ‘folkation’ ทัวร์เที่ยวกับคนในพื้นที่ ลงเลสัมผัสเสน่ห์ใต้
ทัวร์ที่สี่ที่ไอแอลไอยูลงชื่อไปคือ #ทัวร์ลงเล เป็นทัวร์ที่บินไปลงทะเลจริง! เจอคนในพื้นที่จริง! กับ Folkation เพจเฟซบุ๊กที่จัดทริปท่องเที่ยวให้คนออกไปสัมผัสชุมชนไกลตาซึ่งยังดำเนินวิถีชีวิตหาอยู่หากินแบบดั้งเดิม
ทัวร์นี้เป็นโปรเจ็กต์ของ ภูมิ ที่มองเห็นว่าแต่ละพื้นที่แทบทุกภาคของไทยมีของดีซ่อนอยู่ เลยอยากพาคนออกไปเที่ยวเป็นการทัวร์ชุมชนลับตา วิธีหาสถานที่ท่องเที่ยวของ Folkation จะเริ่มจากการมองหาสถานที่น่าสนใจ แล้วจึงออกสำรวจกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน โดยอาศัยความเป็นคนเมืองของตัวเองเป็นมาตรวัด ดูว่ากิจกรรมไหนน่าสนุก กิจกรรมไหนเหมาะจะแนะนำเป็นไฮไลต์ โดยที่ไม่ลืมดูลักษณะนิสัยของชาวบ้านที่เป็นคนนำเที่ยว และหานักท่องเที่ยวที่สนใจมาทดสอบโปรแกรมเที่ยวก่อนขายจริงอีกด้วย
“ตอนเราไปชวนชาวบ้าน แล้วบอกเขาว่าเราอยากจะทำการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต เขาก็จะมีชุดคำถามมาว่าบ้านเขาทำได้เหรอ เราก็บอกว่าสิ่งที่เขาอยู่อย่างนี้แหละ เจ๋งแล้ว มันเป็นสิ่งที่คนที่ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น สนใจอยากจะมา”
เมื่อสำรวจเรียบร้อย จึงสรุปจุดหมายให้ลูกทัวร์เลือกหลายที่ เช่น การล่าฝูงปลากระบอกที่บ้านของพี่อุทิศ เกาะคอเขา จังหวัดพังงา, ออกทะเล ตกหมึก เที่ยวเกาะลับในชุมชนมุสลิม จังหวัดระนอง เที่ยวกับเพื่อนชาวอูรักลาโว้ย เพื่อนของบังหมานที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่, เหวี่ยงแห กู้อวนดักปลา กินอาหารอีสานกลางป่า หรือจะนอนค้างแรมริมน้ำและเที่ยวเกาะแก่งริมโขงที่บ้านของพ่อนารถ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เนี่ย อยากไปเก็บให้หมดทุกที่!
“บางบ้านเขาก็จะกังวลว่าต้องมีที่พักดีๆ ไหม อาหารบ้านๆ คนที่มาเที่ยวเขาจะกินได้เหรอ เราก็ต้องคอยบอกว่า ได้ เราอยากเอาของดีในบ้านเขาออกมานำเสนอให้กับนักท่องเที่ยว ที่พักก็เน้นให้ปลอดภัย เรื่องอาหารก็ให้ทำแบบที่เขากินนี่แหละ อาจจะปรับลดเรื่องความเผ็ด หรือวัตถุดิบบางชนิด เพราะเขามาถึงนี่แล้วคงอยากลองกินอาหารพื้นบ้านมากกว่า” ภูมิบอกกับเรา
ili U Noted ✍️ : เมื่อจะทำทัวร์เที่ยวย่านหรือเที่ยวชุมชนที่เราไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ การเคารพคนในพื้นที่จึงสำคัญมาก การบอกกล่าวว่าจะมีสิ่งนู้นสิ่งนี้เกิดขึ้น สนับสนุนสิ่งที่คนในชุมชนทำ ขอความร่วมมือบางอย่าง โดยต้องคำนึงถึงผลที่ตามมาว่าจะไม่เกิดความวุ่นวายหรือรบกวนกันมากนัก ไอแอลไอยูพยักหน้าเห็นด้วยที่คุณภูมิบอกว่าความเป็นโลคอลของแต่ละพื้นที่มันเจ๋งจริงๆ มาทำทัวร์ย่านกันดีกว่า!
อ่านทัวร์ลง EP.04 ต่อที่นี่
ทัวร์ลง EP.05:
คุยกับ ‘Waang Pi’ คนว่างที่ขยันชวนคนมาขึ้นเขาเข้าป่าทำ Wild Tonic
ทัวร์สุดท้ายที่ไอแอลไอยูลงชื่อไปคือ #ทัวร์ลงขวด เดินทางเข้าคลาสทำ wild tonic กับ Waang Pi ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พอเอ่ยถึงคลาส บางคนอาจแย้งว่านี่ผิดประเภทกับทัวร์หรือเปล่า แต่บอกเลยว่าเราจะไม่ได้อยู่กันแค่ในห้องเรียน แต่ได้ออกทริปเปิดประสบการณ์เก็บวัตถุดิบจากป่าแบบที่สนุกเกินคาด!
ทัวร์นี้เริ่มจากการเล็คเชอร์เบาๆ รู้จักโทนิก 101 ก่อนจะเตรียมตัวเข้าป่าไปเก็บวัตถุดิบกับพรานป่าตัวจริงเสียงจริง เราจะเจอสมุนไพรชื่อไม่คุ้น รู้จักผลไม้ป่าที่กินได้ เหล่าสมุนไพรป่าที่มีประโยชน์ เมื่อเก็บของจนครบแล้วก็กลับมาเรียนทำ Wild Tonic ที่เริ่มต้นตั้งแต่เลี้ยงหัวเชื้อสำหรับหมักเอง! ดูแล้วเป็นทัวร์ที่ค่อนข้างยูนีคแต่ทัวร์นี้มีคนเข้าร่วมเยอะมาก นอกจากนั้น Waang Pi ก็ยังจัดทัวร์เข้าป่าเข้าครัวบ่อยครั้ง ซึ่งแน่นอนว่ามีคนจับจองที่นั่งไม่ขาด สิ่งสำคัญคือทั้งคู่บอกกับเราคือ ยืนหยัดในความชอบและความถนัดของตัวเอง ผลที่ตามมาจะสนุกเอง
“ผมตัดสินใจว่าช่วงที่ยังมีแรงเหลือก็อยากใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่ตัวเองชอบ ทำยังไงก็ได้ให้เราไม่ต้องกลับไปอยู่ในเมือง ได้ทำงานน้อยลง อยู่แบบขี้เกียจได้มากขึ้น ต้นทุนของเราคือเวลา ซึ่งที่นี่มีทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศที่เราไม่ต้องซื้อ ชีวิตเราวนเวียนอยู่กับการกินอาหารทั้งวันทั้งคืนอยู่แล้ว ก็ใช้อาหารที่เป็นทั้งความชอบและงานอดิเรก มาสร้างเป็นอาชีพใหม่ที่ช่วยให้เราดูแลตัวเองได้
“ผมไม่สนใจว่าสุดท้ายเราจะต้องมีชีวิตแบบไหน ขอแค่ว่าสิ่งที่เราทำ ทำให้เราอยู่ได้ ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกชุ่มชื้น โอเค ฉันยังอยู่ในบริบทของชีวิตที่สดชื่นได้ ไม่ได้กัดกินตัวเองจากสิ่งที่เลือก ถ้าเรายังไม่กดดันตัวเอง แปลว่ามันยังเป็นทิศทางที่เหมาะสมอยู่” พี่จ๊อบ บอกกับเรา
ili U Noted ✍️ : เราสนุกกับสิ่งไหน ทำสิ่งนั้นอย่างสุดพลังเถอะ! มันจะดีกับเรา และแน่นอนว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งสนุกไปกับเราด้วย
อ่านทัวร์ลง EP.05 ต่อที่นี่
ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้:
เดินสุ่มกับกลุ่มเพื่อนใหม่ ในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์
ทัวร์นี้ไม่ได้ไปลงทัวร์ที่ไหน แต่ไอแอลไอยูทำทัวร์ขึ้นมาเองเลย!
‘สุ่มสี่สุ่มให้’ เป็นทัวร์ที่เกิดจากไอแอลไอยูเห็นว่าโลกยุคใหม่ที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในออนไลน์ แถมพื้นที่สาธารณะในเมืองก็ไม่เอื้ออำนวยให้เรามีเพื่อนใหม่ เราเลยจัดทริปเดินเมืองแบบสุ่ม! ตั้งแต่ทำหน้าที่เป็นคนมาจับกลุ่มเพื่อนให้ และออกแบบที่เที่ยวที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ ให้ไปทดลองใช้ชีวิต 1 วันกับเพื่อนใหม่ๆ ใช้เมืองในวิธีการใหม่ๆ ที่ทั้งยั่งยืนและเซอร์ไพรส์ในทริปเดียวกัน
ถึงแม้เราจะลงชื่อเป็นลูก ทัวร์ อื่นๆ มาแล้ว แต่การลงมือทำทัวร์เองไม่ใช่เรื่องง่าย ตั้งแต่การลงไปเดินพื้นที่จริงเพื่อเก็บข้อมูลทุกอย่าง นำมาคัดเลือกใส่ลงในทริป จัดรูทการเดินทางให้แต่ละกลุ่มเดินทางไปแต่ละจุดหมายแบบไม่ชนกัน (ขั้นตอนที่มีความยากระดับ 10!) ก่อนนำทุกอย่างมาย่อยให้เข้าใจง่าย ออกแบบออกมาเป็น ‘Self-Guided Tour Manual คู่มือเดินทัวร์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์’
แต่ละย่านมีเรื่องราวให้รอค้นพบอีกมากมาย สิ่งที่แต่ละกลุ่มได้กลับมาจากการแวะไปพบเจอสถานที่จริง ทักทายพูดคุยกับคุณป้าคุณลุงในย่าน เป็นการสนิทกับย่านอีกแบบหนึ่ง และถ้าได้ไปกับเพื่อนที่อยากไปผจญภัยกับเราด้วยก็สนุกขึ้นไปอีก มีคู่มือเดินทัวร์ด้วยนะ กดเป็นเจ้าของได้ที่นี่: shop.line.me/@208rspsp
ท้ายสุดคือเราไม่คิดว่าจะมีคนเข้าร่วมทัวร์เราเยอะขนาดนี้ ฟีดแบ็กที่ผู้เข้าร่วมได้เล่าประสบการณ์ของตัวเองที่เข้าไปตีสนิทกับผู้คนในชุมชน ในย่าน หรือความเซอร์ไพรส์ที่เจอในพื้นที่มันสนุกมากๆ ซึ่งการรวมตัวของคนแปลกหน้าที่เราจับมารวมกัน ตอบโจทย์กับหลายคนที่อยากมีเพื่อนใหม่มาก (ปลื้มใจ)
เอาล่ะ ไอแอลไอยูทำกันมาหลายทัวร์แล้ว ครั้งหน้าอาจจะไม่เป็นทัวร์แล้ว แต่จะเป็นแบบไหน ต้องรอติดตาม!
อ่านกิจกรรมนี้เพิ่มเติมที่นี่
ออกแบบกราฟิก: paperis
Read More:
หมา-นุษย์ สัมพันธ์ เคาะประตูหาเพื่อน (สี่ขา) ข้างบ้าน ili
ออฟฟิศ pet-friendly ที่เงยหน้าจากงานปุ๊บ ก็เยียวยาใจปั๊บ
work from home ยังไง ให้งานยังเวิร์ก!
วิธีทำงานให้รอดและอยู่อย่างปลอดภัย เมื่อต้อง work from home
เบน-เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ ดีไซเนอร์ ที่เข้าครัวทำวุ้นโยคังให้กลายเป็นงาน
เมื่องานของกราฟิกดีไซเนอร์ไม่ได้อยู่บนกระดาษ หน้าจอคอมพิวเตอร์ บนโลโก้แบรนด์ ฯลฯ แต่อยู่ในขนม