ความน่าสนใจของทริปที่ Folkation จัด คือการออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยวร่วมกันกับชาวบ้าน โดยเน้นพาเราไปทำความรู้จักกับโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ผ่านกิจกรรมตามวิถีชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น เช่น การไปออกเรือกับชาวประมง เที่ยวเกาะลับที่คนไม่รู้จัก หรือนอนริมฝั่งโขงเพื่อหาปลาตามแม่น้ำ ทำให้ นอกจากคนในชุมชนจะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวในหลายๆ มิติ นักเดินทางอย่างเราก็ได้สัมผัสประเทศไทยในแบบที่น้อยคนนักจะรู้จัก ที่สำคัญคนจัดทริปอย่าง Folkation เองก็นำความชอบมาเป็นอาชีพได้จริงด้วย
เพื่อทำความรู้จักกับสิ่งที่เขาทำอยู่ให้ดียิ่งขึ้น เราจึงตัดสินใจซื้อตั๋ว ออกไปล่าปลากระบอกกันที่เกาะคอเขา จังหวัดพังงา โดยมีพี่อุทิศ ชาวประมงมือฉมังประจำเกาะแห่งนี้เป็นคนคอยนำทาง!
Folkation คือโปรเจ็กต์ของ ภูมิ ที่ตั้งใจอยากพาคนออกไปเที่ยวในชุมชนลับตา ภูมิเคยทำงานที่ต้องลงพื้นที่ไปพบปะผู้คนตามชุมชนต่างๆ และเห็นว่าแต่ละพื้นที่แทบทุกภาคของไทยนั้นมีของดีซ่อนอยู่ แต่ไม่ได้รับการโปรโมทให้ดีเท่าที่ควร เมื่อลาออกจากงานประจำเขาจึงคิดทำการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ขึ้นมา โดยนำเสนอความน่าสนใจของพื้นที่นั้นๆ ผ่านกิจกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเจ้าบ้านแต่ละหลัง เช่น การล่าฝูงปลากระบอกที่บ้านของพี่อุทิศ เกาะคอเขา จังหวัดพังงา ออกทะเล ตกหมึก ตกปลา เที่ยวเกาะลับที่บ้านของน้องสาว ในชุมชนมุสลิม จังหวัดระนอง เที่ยวกับเพื่อนชาวอูรักลาโว้ย เพื่อนของบังหมานที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เหวี่ยงแห กู้อวนดักปลา แล้วกินอาหารอีสานกลางป่าที่บ้านของตอง หรือจะนอนค้างแรมริมน้ำและเที่ยวเกาะแก่งริมโขงที่บ้านของพ่อนารถ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
“ตอนทำงานเราได้ไปหมู่บ้านหนึ่งที่พังงา แล้วก็ไปเห็นตะกร้าที่ชาวบ้านเขาทำใส่ของ จำได้ลางๆ ว่าตะกร้านั้นมันหน้าตาไม่เหมือนตะกร้าทั่วไปที่เคยเห็น นั่นคือจุดเริ่มต้นที่คิดว่า เออ ประเทศเรานี่มีของดีเยอะเนอะ หลังจากนั้นพอได้ไปนู่นมานี่ผ่านการงานมากขึ้น โดยที่หลายๆ แห่งเป็นที่ที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ได้ไปเห็นสถานที่ต่างๆ แล้วรู้สึกตะลึงในความสวยงาม ได้รู้จักนิสัยใจคอผู้คน ได้ลงพื้นที่ไปทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน ก็ค่อยๆ มีความคิดว่าอยากทำการท่องเที่ยวแบบนี้ขึ้นมา
“ตอนทำงาน ส่วนใหญ่เราต้องทำตามโจทย์ที่องค์กรให้มา แต่สิ่งที่เราเชื่อมั่นมาตลอดคือถ้าอยากจะทำอะไรที่ช่วยชาวบ้านจริงๆ น่าจะมาจากการที่เขาสามารถสร้างอาชีพอยู่ได้ด้วยตัวเอง เราคิดว่าแบบนั้นชาวบ้านน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า” ภูมิว่า การท่องเที่ยวในรูปแบบพาไปทำกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านจึงเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าน่าจะมีศักยภาพมากที่สุด ที่สำคัญกว่ากิจกรรมคือการได้สร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน เพราะภูมิมองว่าในปัจจุบันคนเราอาจสนใจกับสิ่งอื่นๆ มากกว่าคนรอบตัว เขาจึงหวังว่าการเที่ยวแบบนี้น่าจะทำให้ได้สัมผัสและมีปฏิสัมพันธ์กับคนตรงหน้ามากขึ้นด้วย
หลังอ่านรายละเอียดกิจกรรมของบ้านแต่ละหลังในโปรแกรมที่ Folkation แนะนำ เราสนใจ บ้านของพี่อุทิศ มากที่สุด
พี่อุทิศเป็นชาวประมงแห่งเกาะคอเขา ที่ทำมาหากินด้วยการจับปลามาทั้งชีวิต กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถทำได้มีให้เลือกสองแพ็กเกจ คือการนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ตามพี่อุทิศไปยังชายหาด เพื่อล่าฝูงปลากระบอก หรือจะออกหากุ้งแชบ๊วยที่เข้ามาใกล้ฝั่ง
เราเลือกแพ็กเกจแรก ชำระเงินเสร็จสรรพเรียบร้อย ภูมิก็ส่งวิธีการเดินทางไปเกาะคอเขาโดยละเอียดมาให้
เริ่มจากต้องเดินทางไปยังอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จากนั้นให้ขับรถต่อไปยังท่าเรือบ้านน้ำเค็ม เพื่อนั่งเรือเฟอร์รี่ข้ามฝั่งไปยังบ้านพี่อุทิศ โดยรถข้ามแพ จะมีให้บริการในเวลา 7:30, 8:30, 10:30, 12:30, 14:30, 16:30, 17:30 เวลาเดียวกันทั้งฝั่งไปและกลับจากเกาะ
ส่วนถ้าใครไม่มีรถส่วนตัวก็สามารถข้ามไปยังเกาะคอเขาได้ด้วยการนั่งรถทัวร์มาลงรถที่สถานีตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แล้วเรียกตุ๊กตุ๊กหรือสองแถวมาส่งที่ท่าเรือบ้านน้ำเค็ม เพื่อข้ามไปยังเกาะคอเขา บนเกาะจะมีรถสองแถวคอยให้บริการอยู่
.
(ขอแอบบอกไว้ก่อนว่าสำหรับใครที่เป็นมือใหม่ ยังไม่มั่นใจในการท่องเที่ยวแนวนี้ สามารถปรึกษากับภูมิได้เลย เพราะเขาจะช่วยบอกข้อมูลเดินทางโดยละเอียด และช่วยแพลนทริปให้เหมาะกับสถานการณ์ของเรามากที่สุด / อย่างครั้งนี้จริงๆ แล้วเราจะเดินทางไปเจอกับภูมิที่นั่น แต่เพราะเราติดโควิดซะก่อน ที่นัดกันไว้จึงต้องยกเลิกกะทันหัน ทริปนี้จึงมีแขกรับเชิญเป็นพ่อและแม่ของเราที่หนีบติดไปเที่ยวด้วยกันแทน)
เกาะคอเขา มีขนาดไม่ใหญ่นัก แถมยังมีประชากรอยู่เพียงแค่หลักร้อย เมื่อข้ามเกาะมาถึง ผู้คนที่นั่งเรือมาด้วยกันก็กระจัดกระจายไปคนละแห่งตามเส้นทาง ทั้งถนนจึงมีแค่รถของเราเท่านั้น
ระหว่างทางอันเงียบสงบ เราเจอทั้งป้ายแนวอพยพหนีคลื่นสึนามิ เจอป้ายบอกให้ระวังกวางป่า เจอควายฝูงใหญ่อยู่ริมหนองน้ำ ไปจนถึงป้ายบอกทางไปเมืองโบราณ เหมือนหลุดมายังเกาะลึกลับที่ทำเอาทึ่งว่ามีเกาะแบบนี้อยู่ในประเทศด้วยเหรอเนี่ย (หลังสืบข้อมูลพบว่า-ในอดีตเกาะคอเขาเคยเป็นเมืองท่าสำคัญที่ขนถ่ายสินค้าจากฝั่งอันดามันไปขายทางฝั่งอ่าวไทย รวมทั้งเป็นแหล่งติดต่อค้าขายเครื่องประดับ วัตถุโบราณกับต่างประเทศ เช่น อินเดีย จีน เป็นที่รู้จักในชื่อ ทุ่งตึก)
.
ภูมิเล่าให้ฟังว่าวิธีหาสถานที่ท่องเที่ยวของ folkation จะเริ่มจากการมองหาสถานที่น่าสนใจ แล้วจึงออกสำรวจกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน โดยอาศัยความเป็นคนเมืองของตัวเองเป็นมาตรวัด ดูว่ากิจกรรมไหนน่าสนุก กิจกรรมไหนเหมาะจะแนะนำเป็นไฮไลต์ โดยที่ไม่ลืมดูลักษณะนิสัยของชาวบ้านที่เป็นคนนำเที่ยว และหานักท่องเที่ยวที่สนใจมาทดสอบโปรแกรมเที่ยวก่อนขายจริงอีกด้วย
“แต่ละที่กว่าจะทำขึ้นมาได้คือเราต้องไปหลายรอบ คุยหลายรอบมาก อย่างเกาะร้างในโปรแกรมของบ้านน้องสาว เกาะมันก็อยู่ของมันอย่างนั้นมาตั้งแต่น้องเขาเกิด เราเองก็ไปสำรวจมาหลายรอบว่าบ้านนี้จะไปทำกิจกรรมอะไรบ้างดี สุดท้ายอยู่ดีๆ แม่ของน้องสาว เขาก็พูดขึ้นมาว่าลองพาไปเกาะนั้นสิ พอไปปุ๊บ โอ้โห ดีมาก แล้วทำไมไม่บอกผมตั้งแต่ทีแรก” ภูมิหัวเราะร่วน ก่อนเล่าเพิ่มเติมว่าบางครั้งถึงแม้สรุปกิจกรรมออกมาเรียบร้อยแล้ว ก็ยังต้องกลับไปสำรวจหากิจกรรมใหม่อยู่เรื่อยๆ ด้วย
“มันคือการไปทำกิจกรรมตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน บางครั้งมันเลยอาจจะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ลมฟ้าอากาศ ระดับน้ำ ทำให้บางช่วงไม่สามารถเดินทางได้ แต่เราก็พยายามบอกข้อมูลไปอย่างเต็มที่ เพื่อที่แขกจะได้รู้ไว้ก่อนว่าเขาจะไปเจอกับอะไร หรือช่วงนั้นมีสภาพอากาศแบบไหน”
แค่ได้ฟังกลวิธีเราก็ถึงกับร้องโอด ส่วนภูมิก็ยอมรับว่ากว่าจะอธิบายและชวนชาวบ้านในแต่ละพื้นที่มาทำงานร่วมกันนั้นไม่ง่าย
“ตอนเราไปชวนชาวบ้าน แล้วบอกเขาว่าเราอยากจะทำการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต เขาก็จะมีชุดคำถามมาว่าบ้านเขาทำได้เหรอ เราก็บอกว่าสิ่งที่เขาอยู่อย่างนี้แหละ มันเป็นสิ่งที่คนที่ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น สนใจอยากจะมา
“บางบ้านเขาก็จะกังวลว่าต้องมีที่พักดีๆ ไหม อาหารบ้านๆ คนที่มาเที่ยวเขาจะกินได้เหรอ เราก็ต้องคอยบอกว่า ได้ เราอยากเอาของดีในบ้านเขาออกมานำเสนอให้กับนักท่องเที่ยว ที่พักก็เน้นให้ปลอดภัย เรื่องอาหารก็ให้ทำแบบที่เขากินนี่แหละ อาจจะปรับลดเรื่องความเผ็ด หรือวัตถุดิบบางชนิด เพราะเขามาถึงนี่แล้วคงอยากลองกินอาหารพื้นบ้านมากกว่า”
สิ่งที่ภูมิต้องการคือให้ทุกคนยังใช้วิถีดั้งเดิมของตัวเองได้เหมือนเดิม ยังทำงานประจำของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องทิ้งวิถีแล้วมาทุ่มสุดตัวกับการท่องเที่ยว
ขับรถมาพักใหญ่ก็เจอบ้านที่มีลักษณะตรงกันกับในรูปที่ภูมิส่งมาให้ โชคดีที่ถนนในเกาะคอเขามีถนนหลักเพียงเส้นเดียว แม้จะไม่มีจีพีเอสระบุเส้นทางชัดเจนนัก แต่เราก็หาบ้านพี่อุทิศเจอได้ไม่ยาก นั่งพักเพียงครู่พี่อุทิศก็ขนอุปกรณ์ขึ้นรถพ่วงข้าง สตาร์ทรถ เรียกให้เราขึ้นไปนั่ง พร้อมลุยออกไปหาปลากันทันที
พี่อุทิศขับออกจากบ้าน แล้วเลี้ยวรถเข้าซอยเล็กๆ พาเราลัดเลาะไปสัมผัสลมเย็นๆ และป่าไม้เขียวๆ ใกล้ชายฝั่ง คุยกันไปกันมาระหว่างทางจึงได้รู้ว่าพี่อุทิศเป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี บ้านเดียวกันกับเรานี่เอง แต่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่นี่เพราะเกาะคอเขาเป็นชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์กว่า
ขับรถจนมาถึงริมหาด พี่อุทิศก็จอดให้เราลง บริเวณโดยรอบเป็นคล้ายๆ ป่าโกงกาง ที่ทอดยาวด้วยหาดที่เต็มไปด้วยดินเลน มีปูวิ่งเต็มพื้นที่ รอบๆ ชายฝั่งมีไซตั้งไว้เต็มพื้นที่บ่งบอกให้รู้ว่าที่นี่คือเขตแดนในการหาวัตถุดิบทะเลของชาวบ้าน
พี่อุทิศเดินนำไปที่เรือ พร้อมบอกว่าเราไม่ได้จะหาปลากันที่นี่ แต่ต้องนั่งเรือข้ามไปยังเกาะพระทอง ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน งานแรกในฐานะลูกมือจึงเป็นการเข็นเรือเล็ก (ที่ติดโคลน) ออกจากฝั่ง ก่อนจะค่อยฝ่าฝนไปหาปลา
นั่งมาเพียงไม่นาน จากที่โดนเม็ดฝนสาดใส่หน้าจนเริ่มหนาว คลื่นลมก็ค่อยๆ สงบ ในที่สุดเรือก็จอดเลียบชายฝั่งไร้ผู้คน พี่อุทิศส่งสัญญาณให้ลูกเรือทั้งหมดลุยด้วยการหยิบอุปกรณ์ขึ้นพาดบ่า แล้วเดินกรุยน้ำไปตั้งหลักที่ริมหาด
อุปกรณ์หาปลาที่พี่อุทิศเอามาด้วย มีเพียงอวน และถุงตาข่ายใส่ปลา หลังนั่งคลี่อวนไม่ให้พันกัน และเอาอวนใส่ไม้หลักทั้งสองฝั่ง พี่อุทิศก็ยื่นมาให้เราถือไว้หนึ่งฝั่ง แล้วค่อยๆ ถืออีกฝั่งเดินลุยไปในน้ำ ต้อนให้ปลาอยู่ในวงล้อม
ขั้นตอนนี้แหละสนุก เพราะด้วยความที่ทีมงาน (aka พ่อ) ของเราอ่อนซ้อม แทนที่จะกดไม้หลักให้แนบกับพื้นดินกลับยกไม้ขึ้นสูง ปลากระบอกจึงได้ที ว่ายหนีออกไปบางส่วน
เดินๆ ลากๆ อยู่เพียง 10 นาที พี่อุทิศก็ส่งสัญญาณให้เราลากอวนขึ้นฝั่ง จากตอนแรกที่คิดว่าคงวิ่งฉิว ลากได้สบายๆ แต่กลายเป็นว่าอวนนั้นหนักกว่าที่คิด เพราะต้องลากต้านแรงน้ำ รวมพลังลากกันไม่นาน ก็เห็นปลากระบอก ปลาดอกหมากตัวใสๆ และปูตัวเล็กตัวน้อย ติดมาตามอวนเต็มไปหมด
ด้วยความที่ทีมงานอีกคน (aka แม่) เป็นลูกหลานชาวเลเหมือนกัน บทสนทนาที่เราได้ฟังช่วงปลดปลาออกจากอวน จึงเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคนฝั่งอันดามันและอ่าวไทย
แม่เล่าว่าแต่ก่อน ตาของเราก็เคยออกหาปลาแบบนี้เหมือนกัน แต่เรียกว่า วางกัด คือจะดูทิศทางลมแล้วเดินถือไม้หลักลงทะเลไปคนละฝั่ง (คล้ายๆ เน็ตเทนนิส) จากนั้นก็ว่ายไปรอบๆ ตีน้ำให้ปลามาทางอวน
ส่วนพี่อุทิศก็แชร์ให้ฟัง บอกว่าทะเลฝั่งอันดามันนี้ต่างจากฝั่งอ่าวไทยตรงที่มีน้ำขึ้น-น้ำลง วันละ 2 เวลา ทำให้โอกาสในการออกหาปลามีเยอะกว่าฝั่งนู้นมาก แต่ถึงอย่างนั้นด้วยคลื่นลมและกระแสน้ำที่พัดแรงกว่า ก็ทำให้ความอร่อยของปลาในแถบนี้ลดน้อยลงจากฝั่งอ่าวไทยอยู่บ้าง
คุยไปคุยมา พวกเราคนสองชายฝั่งก็ได้แต่ขอซูฮกในความเก่งกาจของบรรพบุรุษ ที่แม้ทะเลจะลึกสุดใจ แต่เราก็หาอาหารมาประทังชีวิตเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้!
ถ้าอ่านข้อมูลจากในเพจ จะเห็นว่าในโปรแกรมแบบ 3 วัน 2 คืนจะรวมอาหารเอาไว้อยู่แล้ว และหากแจ้งเจ้าบ้านแต่ละแห่งไว้ก่อนว่าอยากลองกินอาหารประจำบ้าน เจ้าบ้านเหล่านั้นก็จะมีอาหารตามฤดูกาลหลายๆ อย่างเตรียมไว้ต้อนรับ ทั้งไข่มดแดงที่บ้านพ่อนารถ ปลาแม่น้ำโขงที่ได้มาจากการเหวี่ยงแหริมน้ำที่บ้านตอง แมลงพลัดที่เกาะอยู่ตามตันไม้ใหญ่บนเกาะคอเขา และเพรียงที่ซ่อนอยู่ในทรายริมหาด ที่บ้านของพี่อุทิศ
เพราะพี่อุทิศชำนาญในอาชีพแบบสุดๆ ใช้เวลาไปเพียงนิดเราก็ได้ปลามาค่อนกระชอน เมื่อพี่อุทิศเอ่ยปากถามว่าอยากลากอวนอีกครั้ง หรือจะเดินหาเพรียงทะเลกัน เราจึงตัดสินใจเลือกอย่างหลัง
พี่อุทิศหยิบไม้ที่คล้ายไม้เสียบลูกโป่งออกมา แล้วจึงสาธิตการหาเพรียง เริ่มจากหารูบนทราย จากนั้นเสียบไม้ลงไป ถ้าเจอรูที่ใช่ ไม้จะสามารถลงไปลึกได้สุดทาง จากนั้นต้องรีบใช้พลังทั้งหมดที่มีขุดดินลงไป ถ้าไวพอ เราจะเจอกับเพรียงตัวยาวที่หลบอยู่ภายใน
สาธิตเสร็จต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไปขุด เงยหน้าขึ้นมาอีกทีผืนทรายตรงหน้าก็เต็มไปด้วยรอยขุด ส่วนผลประกอบการออกมาว่าพี่อุทิศเจอเพรียงรัวๆ ส่วนเรากลับบ้านมือเปล่า ขุดลึกแค่ไหนก็เจอแต่ความว่างเปล่า
หลังก้มหน้าก้มตาขุดหาเพรียงอยู่นานแต่ไม่สำเร็จผล พลังที่มีอยู่เต็มหลอดก็ค่อยๆ หดหายไปจนต้องยกธงขาวยอมแพ้ ขอข้ามฝั่งกลับไปพักเหนื่อยที่บ้านพี่อุทิศ พวกเราทั้งหมดจึงช่วยกันขนอวน เก็บไม้ ลุยน้ำไปขึ้นเรือกลับฝั่ง พลางจินตนาการถึงมื้ออาหารที่รอเราอยู่ที่บ้าน
เมนูวันนี้มีอาหารทะเลเป็นวัตถุดิบหลัก ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ปู ปลากระบอก ละลานตาซะจนต้องเอ่ยปากว่าคงกินกันไม่หมดหรอก แต่พี่อุทิศก็ทำเพียงยิ้มรับ บอกแค่ให้กินกันให้เต็มที่ก็พอ
เมนูที่เรายกให้เป็น mvp ของวันคือ กุ้งชุบแป้งทอด และต้มปลากระบอกที่น้ำซุปหวานหอมมากกกก บอกได้ถึงคุณภาพความสดของปลา (ซึ่งเราขอเดาว่าเป็นปลาที่เราหากันนี่แหละ 555)
ตลอดมื้ออาหาร นอกจากเสียงชมเรื่องความอร่อย และความสดของวัตถุดิบจะดังขึ้นไม่ขาดปาก ตลอดทริปสิ่งที่ครอบครัวของเราพูดถึงอยู่บ่อยๆ ก็คือเหมือนพวกเรากำลังมาเที่ยวบ้านญาติยังไงยังงั้น
เพราะไม่ใช่แค่พี่อุทิศที่ต้อนรับขับสู้เราอย่างดี แต่ภรรยาและลูกๆ รวมไปถึงหลานตัวจ้อยก็ดูแลพวกเราด้วยรอยยิ้มตั้งแต่นาทีแรกที่ไปถึง แม้ทริปจะเป็นแบบวันเดียวสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมง แต่พอได้มาสัมผัสกับวิถีชีวิตจริงๆ ของชาวบ้าน ก็ทำให้เราเห็นความสวยงามของพื้นที่ที่ไม่รู้จักนี้ขึ้นมาก จนอยากจะลองไปทริปอื่นๆ ที่ภูมิจัดต่อ
ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าเป้าหมายที่ภูมิบอกไว้ว่าอยากให้ชาวบ้านมีทางเลือกอาชีพเพิ่มมากขึ้น ทำให้เขาเห็นว่าบ้านเกิดของเขาก็มีดี ตัวตนและอัตลักษณ์ที่พวกเขาเป็นมันเจ๋งนั้นสัมฤทธิ์ผล เพราะแม้เราอาจจะยังไม่รู้ว่าในอนาคตชาวบ้านที่ทำงานร่วมกับภูมินี้จะยังทำต่อเนื่องไปนานแค่ไหน แต่อย่างน้อยในตอนนี้ทริปแบบอิงวิถีชีวิตที่ภูมิตั้งใจคิดขึ้นมาก็สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้จริงตามที่เขาตั้งใจ
Read More:
คุยกับ 4 เจ้าของโต๊ะทำงานที่ใช่ ในวัน Work From Home
In a Relationship with My Workstation!
a day #233 ใครไม่แคร์ คนทำแคร์
บันทึกการแคร์โลกในแบบของกลุ่มคนทำคอนเทนต์
work from home ยังไง ให้งานยังเวิร์ก!
วิธีทำงานให้รอดและอยู่อย่างปลอดภัย เมื่อต้อง work from home