Play —— ili U & OKMD

วัตถุต้องสงสัย 01: ‘วัตถุ’ โบราณ ที่อยู่ทั้งนอกและในพิพิธภัณฑ์

วัตถุที่ผ่านกาลเวลา ล้วนมาพร้อมเรื่องเล่า

และวัตถุที่อยู่ในย่าน ย่อมสะท้อนเรื่องเล่าที่ยึดโยงกับผู้คนและพื้นที่ ทั้งยังเป็นเครื่องยืนยันการมีอยู่ที่บันทึกเรื่องราวของย่านเอาไว้ เช่นเดียวกับ ‘วัตถุโบราณ’ ส่วนหนึ่งที่เราเห็นและหยิบมาเล่า เพราะมันบอกได้ถึงเรื่องราวในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

01 พบเจออดีต ตอม่อสะพาน ที่ร้านอย่างเก่าก่อน

หลักฐานอิงจากภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ ที่ถูกบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2489 เป็นภาพถ่ายมุมสูงเห็นย่านอารีย์เป็นทุ่งนากว้างขวางสุดลูกหูลูกตา เห็นคูคลองขนาบแปลงนาและไร้ตึกสูงเหมือนในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อเมืองขยาย ผู้คนเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัยในย่านนี้ คูคลองเลยถูกถมกลายเป็นถนน อย่าง ซอยศุภราช อดีตเคยเป็นคลองศุภราช ที่เมื่อเข้าซอยแล้วต้องเลี้ยวหักศอกทันทีเพราะว่าเมื่อก่อนคลองถูกขุดให้เลี้ยวตามคันนา

เนื่องจากเป็นคลองขุดที่ขนานไปกับซอย บ้านแถวนั้นจึงต้องมีสะพานหน้าบ้านเพื่อข้ามคลอง จึงยังมีตอม่อสะพานหลงเหลือให้เห็น และหนึ่งในตอม่อที่ยังสมบูรณ์และบอกเล่าเรื่องราวนี้ คือตอม่อหน้าประตูทางเข้าร้านอย่างเก่าก่อน ร้านอาหารไทยรสโบราณที่อยู่ในซอยศุภราชนี่เอง

02 องค์พระวิษณุ ศรัทธาของศิษย์เก่าอาชีวะ

ถึงจะคุ้นเคยกับการมีศาลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ในสถานที่ต่างๆ แต่ องค์พระวิษณุ หน้าอาคารมนริรินในซอยสายลมที่ตั้งตระหง่าน ก็สร้างความสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าทำไมถึงมีศาลเทพนายช่างใหญ่ตั้งอยู่หน้าอาคารสำนักงาน แต่ถ้ารู้ว่า ในอดีต พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอาชีวะสายลม การมีเทพที่เคารพของเด็กช่างตั้งอยู่ จึงกลายเป็นเหตุเป็นผลที่เข้าใจได้ทันที  

โรงเรียนอาชีวะสายลม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 และกระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนไปเมื่อ พ.ศ. 2526 คนในย่านเล่าว่า แม้โรงเรียนจะปิดตัวไปนานแค่ไหน แต่ก็ยังมีศิษย์เก่าแวะเวียนสักการะองค์พระวิษณุเป็นประจำอยู่นะ

03 แสตมป์ดวงแรกของไทย มีให้ดูที่นี่

มีหลักฐานประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซ่อนอยู่ใน พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน คือ ‘แสตมป์ดวงแรกของไทย’ ในชื่อชุด ‘โสฬส’ 

ก่อนอื่น ขอย้อนกลับไปยัง พ.ศ. 2426 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้สถาปนากิจการไปรษณีย์ขึ้น และได้จัดสร้างตราไปรษณียากรชุดแรกจำนวน 6 ชนิดราคาขึ้นมาใช้งาน ตามชื่อสกุลเงินคือ โสฬส อัฐ เสี้ยว ซีก เฟื้อง และสลึง ซึ่งเป็นหน่วยเงินของไทยที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึง พ.ศ. 2452 แสตมป์ชุดนี้จึงถือเป็นรากฐานการไปรษณีย์ของเรามาจนถึงปัจจุบัน

ความพิเศษของพิพิธภัณฑ์นี้ไม่ได้เป็นแค่พิพิธภัณฑ์เดียวในไทยที่มีแสตมป์ดวงแรกของไทยอยู่ แต่ยังมีแสตมป์ยุคเก่าทั้งของไทยและต่างประเทศอีกมากมายให้เราเดินดูได้ทั้งวัน ใครอยากย้อนวันวานงานอดิเรกยอดฮิตยุคเก่าอย่างการสะสมแสตมป์ การมาที่นี่อาจทำให้กลับไปหลงรักดวงตราชิ้นจิ๋วนี้ได้อีกครั้ง

04 พดด้วง องค์สาม ประติมากรรมสมัยใหม่ที่สตอรี่เก่า 

ถ้านับจำนวนปี คงไม่อาจเรียกประติมากรรมที่ตั้งอยู่หน้าธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่บนถนนพหลโยธินชิ้นนี้ว่าวัตถุโบราณได้ แต่ ประติมากรรม ‘พดด้วง องค์สาม’ ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2524 โดยอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ คืองานประติมากรรมหล่อด้วยสำริดรมดำที่บอกเล่าเรื่องราวของเงินตราในอดีต โดยใช้รูปทรงของพดด้วงซึ่งใช้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 

ประติมากรรมชิ้นนี้ได้นำเงินพดด้วงมาเรียงซ้อนให้เกิดรูปทรงใหม่ ออกแบบประทับตราสัญลักษณ์ให้ร่วมสมัยโดยอิงจากสัญลักษณ์เดิมในอดีตคือ ตราจักรและตรีศูล สัญลักษณ์ของเงินพดด้วงที่ใช้ในสมัยกรุงธนบุรี กลายเป็นงานศิลปะที่คุ้นตาของคนในย่าน และเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ และธนาคารอย่างแยกไม่ได้ 

05 เวทีราชครู ป้ายใหม่ที่สานต่ออุดมการณ์เก่า

ซอยราชครูเป็นพื้นที่รวมตัวของนักการเมือง นายทหาร ข้าราชการ ฯลฯ โดยเฉพาะ ‘บ้านชุณหะวัณ’ ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ หนึ่งในผู้นำ ‘กลุ่มราชครู’ กลุ่มการเมืองใหญ่ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ว่ากันว่าเป็นผู้กุมอำนาจแท้จริงยุคจอมพล ป. (และ White House เมืองไทยสมัยนายกชาติชาย ชุณหะวัณ) ก่อนจะส่งต่ออุดมการณ์มายัง บ้านทัพพะรังสี นักการเมืองสายราชครูรุ่นต่อมา 

แต่นอกจากจะเป็นที่ตั้งของบ้านของนักการเมือง จิตวิญญาณและอุดมการณ์ในการขับเคลื่อนเรื่องการเมืองก็ยังเข้มข้นอยู่ในซอยนี้ ป้ายเวทีราชครู ในร้านอาหารบ้านแม่ยุ้ย ซอยราชครู คือหลักฐานจากเวทีเสวนาเรื่องการบ้านการเมือง ที่ขอสานต่ออุดมการณ์ผ่านหัวข้อเสาวนาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทย และความเป็นไปของบ้านเมือง 

สามารถติดตามกิจกรรมพูดคุยครั้งต่อไปได้ที่เพจ เวทีราชครู – Rajakhru Stage

ส่องวัตถุต้องสงสัยกันต่อได้ที่นี่

วัตถุต้องสงสัย 00: สุ่มหาคำตอบที่สงสัย จากสิ่งเล็กๆ ในย่านอารีย์ (และประดิพัทธ์)

วัตถุต้องสงสัย 02: วัตถุไฮ-ไฟ ที่เล่าเรื่องราวผ่านเสียงเพลง

วัตถุต้องสงสัย 03: ‘วัตถุ’ ประสงค์ดี ที่ช่วยให้ย่านนี้ยั่งยืน

Content Designer

หน่วยย่อยของนักเล่าเรื่องที่อยากเล่าเรื่องส่วนตัวเล็กๆ ง่ายๆ ที่อยู่ในวงโคจรและความสนใจเรื่องไลฟ์สไตล์ที่สร้างภาระต่อโลกน้อยลงหน่อย ด้วยสมมติฐานที่ตั้งเองว่า เราน่าจะมีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่สนุกและสนิทกับโลกมากกว่าที่หลายคนคิดนะ

Read More:

Play สาระสำคัญ

Play-lists พาใจไปเที่ยวเล่น ในวันที่ต้องอยู่บ้าน

รวมลิสต์สิ่งบันเทิงใจ ในวันที่ไวรัสไม่เป็นใจให้บันเทิงนอกบ้าน

Play สาระสำคัญ

เที่ยวหน้าจะเอายังไง? ถ้าร่างกายต้องการเดินทาง

วิถีใหม่หลังโควิด จะทำให้เราออกไปเจอโลกกว้างได้อย่างเดิมไหม

Play

Self-guided Tour Manual คู่มือเดินทัวร์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์

ต้องมีแล้วไหม? คู่มือเดินทัวร์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์