01 เดินค้นแผ่นเสียงกว่าแสนแผ่น ที่ห้องสมุดแผ่นเสียง
อารีย์-ประดิพัทธ์ เป็นอีกหนึ่งย่านที่อุดมไปด้วยเรื่องราวของ ‘แผ่นเสียง’ เรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนปัจุบัน หลักฐานแสดงการให้ความสำคัญถึงการมีอยู่อย่างจริงจัง คือ ‘ห้องสมุดแผ่นเสียง’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ที่นำเสียงเพลงในอดีตมาอนุรักษ์ ให้คุณค่า และเก็บรักษาอย่างดี
เล่าให้ฟังก่อนว่า ในอดีต นอกจากกรมประชาสัมพันธ์จะทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารของรัฐ ยังมีสื่อในยุคแรกคือวิทยุกระจายเสียงปล่อยดนตรีสู่เสียงตามสายอยู่หลายยุค ทั้งยุคที่มีวงดนตรีบรรเลงเพลงออกอากาศกันสดๆ ยุครุ่งเรืองของแผ่นเสียง ยุคเทปคาสเส็ตต์ ยุคซีดีเพลง จนมาถึงยุคเพลงจากไฟล์ดิจิทัล เมื่อความนิยมของคนเปลี่ยน สื่อเสียงเพลงที่หมดความนิยมจึงกลายเป็นของเก่า กรมประชาสัมพันธ์จึงรวบรวมแผ่นเสียงที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มาเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดแผ่นเสียงนี้ เรียงรายเต็มชั้นและผนังกว่าแสนแผ่น
พี่บรรณารักษ์ห้องสมุดแผ่นเสียงเล่าให้เราฟังว่า แผ่นเสียงมากมายนี้ได้มาจากสถานีวิทยุที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ช่วงเริ่มจัดรายการเมื่อต้นปี พ.ศ. 2500 นักจัดรายการวิทยุหรือดีเจจะเล่นเพลงจากแผ่นเสียง เมื่อแผ่นเสียงหมดความนิยม สถานีวิทยุจึงต้องหาสถานที่ส่งต่อแผ่นเสียง จึงได้ส่งมาเก็บรักษาไว้ในรูปแบบห้องสมุดแผ่นเสียงนี่เอง
ห้องสมุดแผ่นเสียงแห่งนี้ เริ่มเปิดให้เข้าชมในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2565 เด็ก เยาวชน บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย พี่บรรณารักษ์เล่าให้ฟังต่อว่า กลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ตอนแรกกับตอนนี้ต่างกันมาก คิดกันไว้ว่าจะเป็นผู้ใหญ่อายุมากที่เคยฟังแผ่นเสียงมาก่อน แต่กลุ่มที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมมากที่สุดกลับเป็นวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา คาดว่าประจวบเหมาะที่ยุคแอนาล็อกกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ทั้งกล้องฟิล์ม ม้วนเทป กล้องวิดีโอรุ่นเก่าๆ ซึ่งรวมถึงแผ่นเสียงด้วย
ถึงเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเยี่ยมชม แต่กลุ่มนี้ก็ยังแตกต่างกัน มีทั้งกลุ่มคนที่ชอบฟังเพลงเก่ามากๆ เพราะเคยได้ฟังมาจากคุณปู่คุณย่า พอได้กลับมาฟังแผ่นเสียงอีกครั้งจึงอบอุ่นใจ ในขณะที่บางคนไม่เคยหยิบจับแผ่นเสียงของจริงเลย อยากมาดูมาสัมผัสด้วยตัวเอง หรือบางคนอยากให้พี่บรรณารักษ์ช่วยหาเพลงให้ แต่จำได้แค่ทำนองเลยต้องฮัมเพลงให้ฟัง พี่บรรณารักษ์เล่าสตอรี่ที่อุ่นใจว่ามีคนมาตามหาเพลงที่คุณตาเคยร้องจีบคุณยาย เพราะตอนนี้คุณยายป่วยเลยอยากอัดเพลงนี้ไปให้คุณยายฟัง
เมื่อเยี่ยมชมแผ่นเสียงจนพอใจ ถ้าเกิดความหลงใหลจนอยากมีไว้ครอบครอง ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ นี้ยังมีร้านขายและทำธุรกิจเกี่ยวกับแผ่นเสียงที่ยังเปิดและดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน ให้ไปหยิบจับ เปิดฟัง อีกหลายร้าน อยากให้ตามมาทางนี้!
02 มือใหม่อยากเก็บแผ่นเก่า เดินเข้าร้านแผ่นเสียง
ร้านแรกเป็นบ้านเดี่ยวสองชั้นสไตล์วินเทจตั้งอยู่ในซอยประดิพัทธ์ 17 ชื่อว่า ร้านแผ่นเสียง ชื่อตรงตัวแบบนี้แหละ นก-พงศกร ดิถีเพ็ง เจ้าของร้านเล่าว่าร้านนี้ทั้งขายแผ่นเสียง และรับผลิตเสียงเสียงให้กับศิลปินเบอร์ต้นๆ ของไทย ถึงจะเป็นมือใหม่ที่อยากเข้าใจเรื่องแผ่นเสียง พี่นกเจ้าของร้านก็ยินดีตอบคำถามเสมอ ทุกพื้นที่ของร้านแผ่นเสียงเรียงรายไปด้วยแผ่นเสียงทั้งจากศิลปินไทยและศิลปินสากลหลากยุคสมัย มีโซนที่เน้นไปที่แผ่นเสียงสุดแรร์สำหรับ audiophile หรือนักฟังเพลงหูเทพ ไปจนถึงแผ่นเสียงเก่าที่นำมาปั๊มผลิตใหม่ (Reissue) หรือจะแย่งแยกโซนที่เน้นแผ่นเสียงเพลงโอลด์ดี้ตั้งแต่ยุค 60s-80s และโซนศิลปินรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ในกระแส
นั่นทำให้กลุ่มคนรักเสียงเพลงที่มาเยือนที่นี่มีตั้งแต่นักฟังรุ่นใหญ่ และคนรุ่นใหม่ที่เริ่มกลับมาสนใจเสียงเพลงแอนาล็อกที่มีเอกลักษณ์เหล่านี้ ที่นี่จึงไม่ใช่แค่ร้านขายแผ่นเสียง แต่เป็นจุดเชื่อมต่อให้กับผู้คนที่รักในสิ่งเดียวกันด้วย
03 แวะคุยกับนักสะสมเทปคาสเซ็ตต์รุ่นเก๋า ที่ร้านเทป
ออกมาจากร้านแผ่นเสียง เดินเข้าซอยอีกไม่ไกล จะพบกับอาคารสีขาวซ่อนตัวในต้นไม้ใหญ่ เดินเข้าไปที่ห้องชุดที่สอง ขึ้นบันไดไปชั้น 3 จะพบกับ ร้านเทป (Casette shop) ร้านขายเทปคาสเซ็ตต์ทั้งเก่าและใหม่ โดยมี เจ-ณัฐพล สว่างตระกูล เจ้าของร้านมือเก๋าในวงการเทปคอยอธิบายทุกตลับได้อย่างฉะฉาน นอกจากนี้ยังมีแผ่นเสียงยุคเก๋า เครื่องเล่นเทปหลายยุคให้ลองเปิดฟังอยู่ทั่วร้าน เจเล่าให้ฟังว่า วงการเทปในไทยตอนนี้ยังหายใจได้อยู่ ถึงแม้กราฟจะไม่พุ่งสูงเท่าสองปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันศิลปินหน้าใหม่ก็เริ่มที่จะออกเทปประกอบอัลบั้มของตัวเองไว้ด้วย บางอัลบั้มของศิลปินถ้าอยู่ในกระแส มูลค่าต่อชิ้นก็พุ่งสูงไปหลักพันเลยก็มี
04 จิบกาแฟ ฟังเพลงจากแผ่นเสียง ที่ร้าน Dust On Wax BKK
อีกหนึ่งร้านแผ่นเสียงในย่านอารีย์ที่อยากแนะนำให้ลองไปเยือนในย่านคือ Dust On Wax BKK ร้านขายแผ่นเสียงที่มีสโลว์บาร์ของ มิกซ์-ธำรงค์วิทย์ ศรปาลีนันท์ และ ออฟ-สหพล พันธุ์ภักดี เจ้าของร้านทั้งสอง ที่สร้างให้พื้นที่นี้เป็นที่แลกเปลี่ยนบทสนทนาให้การดื่มกาแฟและชวนฟังเพลงจากแผ่นเสียงให้สนุกกว่าที่เคย
เสียงดนตรีย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ในปัจจุบัน ยังคงดังกังวานไม่ต่างจากอดีต ถ้าผ่านมาได้ยินเสียงแว่วของแผ่นเสียง หรือเสียงทุ้มเป็นเอกลักษณ์ของเทปคาสเซ็ตต์ ลองเดินเข้าไปจอยและพูดคุยกับเจ้าบ้านที่ย่านนี้ได้นะ
ส่องวัตถุต้องสงสัยกันต่อได้ที่นี่
วัตถุต้องสงสัย 00: สุ่มหาคำตอบที่สงสัย จากสิ่งเล็กๆ ในย่านอารีย์ (และประดิพัทธ์)
วัตถุต้องสงสัย 01: ‘วัตถุ’ โบราณ ที่อยู่ทั้งนอกและในพิพิธภัณฑ์
วัตถุต้องสงสัย 03: ‘วัตถุ’ ประสงค์ดี ที่ช่วยให้ย่านนี้ยั่งยืน
Read More:
Play-lists พาใจไปเที่ยวเล่น ในวันที่ต้องอยู่บ้าน
รวมลิสต์สิ่งบันเทิงใจ ในวันที่ไวรัสไม่เป็นใจให้บันเทิงนอกบ้าน
Self-guided Tour Manual คู่มือเดินทัวร์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์
ต้องมีแล้วไหม? คู่มือเดินทัวร์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์
ไอแอลไอยูทดลองเปิด 'ร้านเช่า หนังสือ ' อ่านฟรีที่ออฟฟิศ!
อีกหนึ่งหนทางสู่ Conscious Lifestyle ที่ทำได้ง่าย ไอแอลไอยูชวนกันหยิบหนังสืออ่านวนกันไป แถมสนุกไม่ใช่เล่น!