‘เฟมทวิต’ คือศัพท์ล่ามาแรงที่แม้ไม่เคยบัญญัติอยู่ในพจนานุกรมไทย แต่ปรากฏใช้อยู่ในโลกทวิตเตอร์ไทยแลนด์อย่างแพร่หลาย คาดว่ารากศัพท์มาจากการจับผสมคำว่า เฟมินิสต์+ทวิตเตอร์ แต่กลับถูกนำมาใช้ในความหมายเชิงลบ ล้อเลียน แปะป้าย หรือดูแคลนชาวเน็ตในทวิตเตอร์ที่นิยามตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์ โดยอ้างว่าเป็นพวกไร้เหตุผล เก่งแต่ฉอด และเรียกร้องเกินเบอร์ไปหน่อย เลยเถิดไปถึงขั้นกลายเป็นประเด็นเหมารวมว่า “พวกเฟมทวิตที่เรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิงกลับเป็นพวกที่กดทับเพศชายให้ต่ำกว่าเสียเอง!” แถมบางทียังมีคำพูดประมาณว่า “ถ้าเป็นเฟมินิสต์ก็โอเคนะ แต่ไม่โอเคกับเฟมทวิตเลย!”
อ่านถึงตรงนี้แล้วก็ใจร่มๆ กันก่อน เราอยากชวนมานิยามคำว่าเฟมทวิตกันใหม่ แบบใช้อารมณ์ให้น้อยลง ใช้เหตุผลให้มากขึ้นอีกนิด เพราะการเหมารวมคนอื่นด้วยคำว่าเฟมทวิต บางครั้งก็อาจทำให้เราเผลอมองข้ามความพยายามในการเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมไปได้เหมือนกัน
แล้วแบบนี้ เราควรนิยาม ‘เฟมทวิต’ ว่ายังไงดีล่ะ? ง่ายๆ เลย เฟมทวิตก็คือเฟมินิสต์ที่มีถิ่นฐานอยู่ในทวิตเตอร์เท่านั้นเอง และเมื่อเรามองว่าเฟมทวิตมีค่าเท่ากับเฟมินิสต์คนหนึ่ง จึงต้องฝึกที่จะมองแนวคิดของเฟมินิสต์ให้ลึกลงไป แล้วจะพบว่า ที่จริงแล้วแนวคิดเฟมินิสต์สามารถเป็นการเรียกร้องเพื่อสิทธิทางเพศได้หลากหลายเฉด หากมองเป็นสเปกตรัมก็คงมีตั้งแต่สีอ่อนไปจนถึงสีเข้ม และประเด็นที่เรียกร้องกันในปัจจุบันก็เป็นได้หลากหลายมากกว่าแค่เรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิงได้เลือกตั้งและทำงานนอกบ้านเหมือนผู้ชายแบบสมัยก่อน [3] ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อกฎหมายทำแท้งปลอดภัย ผ้าอนามัยปลอดภาษี ไปจนถึงสิทธิของ LGBTQ+ สมรสเท่าเทียม สิทธิการแปลงเพศ ฯลฯ (แถมกลุ่มเพศที่หลากหลายยังอยู่ร่วมขบวนการเฟมฯ มาอย่างยาวนานมากๆ อีกด้วย)
นั่นหมายความว่า เฟมินิสต์ทุกคนไม่จำเป็นต้องคิดและแสดงออกเหมือนกันก็ได้ และไม่ว่าเฟมินิสต์คนนั้นจะอยู่ที่ไหน บนแพลตฟอร์มใด เป็นเฟมทวิตหรือไม่ ก็สามารถมีความเชื่อได้เป็นร้อยเป็นพันรูปแบบ เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าวิธีไหนเป็นวิธีที่ถูกหรือผิด เมื่อต่างคนต่างมีภูมิหลัง ประวัติ ประเด็นที่สนใจที่แตกต่าง ซึ่งส่งผลให้แต่ละคนมีวิธีการแสดงออกทางความคิดที่แตกต่างกันไปอีกด้วย
หัวใจสำคัญของการเป็นเฟมฯ ไม่ใช่แค่การทำให้เพศไหนอยู่เหนือใครเป็นพิเศษ แต่คือการเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกันของคนทุกเพศ [4] และเช่นกัน การจะนิยามตนเองหรือคนอื่นว่าเป็นเฟมินิสต์ เฟมทวิต หรือเฟมฯ อะไรก็แล้วแต่ จึงไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น คุณจะเป็น LGBTQ+ เป็นผู้ชาย หรือยินดีแสดงออกเรื่องเพศแบบไหน ก็เป็นเฟมินิสต์ได้เหมือนกัน
ขอสรุปสั้นๆ ว่า การที่ใครสักคนจะนิยามตนเองว่าเป็นเฟมินิสต์ ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ไม่ใช่เรื่องน่าเหยียดหรือแปะป้ายกันผิดๆ เพราะคงไม่มีใครบอกได้ว่าแนวคิดแบบไหนดีที่สุด แนวคิดเฟมินิสต์ที่แตกต่างกันย่อมนำมาสู่การถกเถียงกันได้ ไม่ใช่เรื่องผิด และหลักการต่างๆ ก็ไม่ตายตัว สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ขอเพียงมองเป้าหมายเดียวกันคือความเท่าเทียม และการถกเถียงกันนั้นยังตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของเหตุผลและความเข้าใจ ไม่ใช่ความเกลียดชังก็พอ
สุขสันต์วันแห่งความเท่าเทียมของผู้หญิงจาก ili U!
Read More:
ฮาวทูสู้กับ Climate Despair
สิ้นหวัง หมดไฟ ไปต่อยังไงกับปัญหาโลกร้อน/โลกรวน
ภาษาพากรีน | ศึกษานโยบายสิ่งแวดล้อมในสนามเลือกตั้ง ๒๕๖๖
หยิบศัพท์แสงที่ซ่อนอยู่ในนโยบายสิ่งแวดล้อมของหลายพรรค มาเปิดนิยามทำความเข้าใจกัน ผ่านตัวละครในบทเรียน ‘ภาษาพากรีน’
แด่ผู้สูญหายที่ไม่อาจกลับมา
อะไรบ้างที่หายไป พร้อมการถูกบังคับสูญหาย