อยู่มาวันหนึ่ง เราได้เห็นจากเพจนี้นี่แหละว่านอกจากจะไปอาบป่าที่ป่ากันจริงๆ แล้ว เขายังอาบกันในสวนสาธารณะกลางเมืองได้ด้วย จึงขอทักไปคุยกับเจ้าของเพจด้วยความหวัง (ว่าจะไม่ต้องไปอาบไกล) และพบว่าณิชาเป็นผู้นำการอาบป่าดีกรี Certified Forest Therapy Guide จาก ANFT (Association of Nature and Forest Therapy) สหรัฐอเมริกา เพราะสนใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับสนใจความเป็นมนุษย์และสิ่งที่อยู่ในจิตใจ จึงมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการอาบป่าอีกหลายแง่มุม เลยเอามาแบ่งปันเผื่อใครกำลังสนใจอยากหาวิธีฮีลกายและใจในทางนี้
“Forestory เป็นเพจสื่อสารเรื่องอาบป่าและธรรมชาติบำบัด อย่างช่วงนี้เราศึกษาเรื่องโรคขาดธรรมชาติที่คนในเมืองมีภาวะนี้กันเยอะขึ้น ซึ่งความยากของโรคนี้คือมันไม่มีตัวชี้วัดเหมือนเราไปตรวจสุขภาพประจำปี แต่ทำไมคนยุคนี้ยังนอนไม่หลับ เครียด หรือมีความคิดวนไปวนมา เราอาจจะต้องใช้การสังเกตตัวเองว่ารู้สึกว่าขาด รู้สึกไม่เติมเต็มอยู่หรือเปล่า แล้วการอาบป่าจะช่วยยังไงได้บ้าง เราสามารถอาบป่าในเมืองได้ไหม หรืออย่างน้อยที่สุด มันมีอะไรในบ้านที่จะช่วยลดการเป็นโรคขาดธรรมชาติได้บ้าง” ณิชาเล่าถึงปัญหาที่เราๆ คนเมืองมักจะเจอกัน
“ตอนเราเรียนอาบป่า ก็มีข้อถกเถียงกันว่าเราสามารถอาบป่าที่ไหนได้บ้าง จำเป็นต้องเป็นในป่าไหม ถ้าเป็นสวนสาธารณะหรือสวนหลังบ้านล่ะ ซึ่งสุดท้าย เราก็ได้คำตอบว่า การอาบป่าสามารถทำได้ทุกที่ที่มนุษย์กับธรรมชาติสามารถที่จะเชื่อมโยงกันได้ การอาบป่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของการให้ธรรมชาติมาฮีลเรา แต่มันเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงกับธรรมชาติด้วย แต่ถ้าให้ตอบส่วนตัว เราว่าพื้นที่ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าถามความรู้สึกเราระหว่างพาคนไปสวนสาธารณะกับไปป่า ความรู้สึกหรือผลลัพธ์มันก็ต่างกัน ความพิเศษของป่าที่มนุษย์จะรู้สึกได้โดยสัญชาตญาณก็อาจทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้มากขึ้น ในขณะที่สวนสาธารณะอาจจะให้ไม่ได้ขนาดนั้น แต่ก็เป็นการเยียวยาพื้นฐานได้
เมื่อถามถึงฮาวทูอาบป่าในสวนด้วยตัวเอง ณิชาบอกว่าให้โฟกัสไปที่ผัสสะเป็นหลัก “ค่อยๆ โฟกัสไปทีละเซนส์ของร่างกายเรา หลับตาแล้วโฟกัสที่เสียง ลองฟังเสียงธรรมชาติ ฟังเสียงนกร้อง เสียงแมลง เสียงลม เสียงใบไม้ แล้วโฟกัสที่กลิ่น ดมกลิ่นของอากาศในพื้นที่ตรงนั้น ลองดมกลิ่นใบไม้ ลองจับดินขึ้นมาดม หรือการสัมผัส การกอดต้นไม้ ลงไปนอนกลิ้นกับพื้นดิน ถอดรองเท้าเหยียบดิน ให้ครบเซนส์ทั้ง 5 อย่าง
“ถามเองว่าทำเองได้ไหม ก็ได้นะคะ แต่นึกภาพคล้ายๆ การนั่งสมาธิหรือทำโยคะ ถ้าดูคลิปแล้วลองทำก็อาจจะพอทำได้ แต่การมีคนไกด์ก็ช่วยพาให้เชื่อมโยงกับธรรมชาติได้มากขึ้น เหมือนการไปอาบป่าคนเดียว ก็มีความพิเศษที่ได้อยู่กับตัวเอง อยู่กับความสงบ แต่การไปอาบป่าหลายๆ คน ข้อดีคือเวลาเราที่ทำกระบวนการด้วยกัน มันจะมีช่วงที่แต่ละคนได้สะท้อนมุมมองของตัวเองซึ่งมันช่วยให้เราได้เรียนรู้ในแบบของคนอื่นด้วย ทุกครั้งเราก็จะบอกว่าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่เราจะเป็น co-explorer ที่ช่วยสร้างพื้นที่และพาทุกคนเข้าไปเชื่อมโยง และสุดท้าย ทุกคนต้องเชื่อมโยงกับธรรมชาติด้วยตัวเอง”
สำหรับคนที่อยากลองอาบป่าเต็มกระบวนการกับณิชา สามารถติดตามได้ทางเพจว่าจะมีเปิดกิจกรรมในช่วงไหน หรือจะรวมตัวกันเป็น private group ขนาดจิ๋ว ถ้าสวนในเมืองแค่ 3-5 คนก็พอ แต่ถ้าจะเข้าไปออกทริปไปต่างจังหวัด สัก 6-8 คนก็ไหว แล้วณิชาจะเป็นคนสร้างกระบวนการ ‘ไว้วางใจธรรมชาติ’ ให้ แม้กับคนที่ไม่เคยเข้าป่าหรือกลัวป่าก็ตาม
แต่ถ้าอยากชิมลางด้วยตัวเองในสวนใกล้บ้าน ก็เริ่มจากค่อยๆ หลับตาและเปิดสัมผัสของตัวเองได้เลย
Read More:
20 ชิ้น 20 วัน ฉันจะใส่เสื้อผ้าวนไป ไป ไป ไป!
20x20 challenge ท้าตัวเองให้ใส่เสื้อผ้าแค่ 20 ชิ้น วนไปภายใน 20 วัน
I Need Some Body Positivity ทำไมต้อง ‘ดูดี’ ทั้งที่ก็ต้องอยู่แต่ในบ้าน
วิธีเอาใจออกห่างไวรัสด้วยการหันมาดูแลตัวเอง ทั้ง ‘ข้างนอก’ (body) และ ‘ข้างใน’ (mind)
Androgynous Fashion ผู้ชายใส่กระโปรงเป็นเรื่องธรรมดาจ้ะ
รู้จัก 'แฟชั่นไร้เพศ' ให้เท่าทันและเท่าเทียม