พอเห็น ‘วงการคนกินข้าว’ แคร์ความยั่งยืนของวิถีชาวนา (ชื่อวงการนี้ฉันตั้งขึ้นมาเอง) ด้วยการจัดกิจกรรมชวนชาวบ้านแบบเราๆ ไปทำความรู้จักข้าวหรือชิมข้าวพันธุ์แปลกๆ กันอย่างคึกคัก ด้วยจิตใจที่แน่วแน่เรื่องหาของอร่อย ก็เลยได้ลองพาตัวเองไปชิมข้าวในรูปแบบ drink course ที่บาร์โนแอลกอฮอล์ Intangible จังหวัดเชียงใหม่แบบเงียบๆ เมื่อเดือนที่แล้ว
ความเจ๋งของดริ้งก์คอร์ส ‘Rise’ นี้ คือการที่คุณพี่ mixologist หรือนักออกแบบเครื่องดื่ม ตั้งใจเอาข้าว 12 สายพันธุ์ (ประกอบด้วยข้าวดอยจากเมืองเหนือ ข้าวพื้นเมืองจากแดนอีสานและแดนใต้รวม 9 สายพันธุ์ แซมด้วยข้าวญี่ปุ่นอีก 3 สายพันธุ์) มาแปลงร่างเป็นเครื่องดื่มกับอาหารที่ใช้แพริ่ง
นอกจากเรื่องราวเครื่องดื่มที่ฟังแล้วต้องร้องหูยในใจตามทุกแก้ว ประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าจักรวาลข้าวพื้นเมืองมันน่าเข้าไปค้นหาความอร่อยมากๆ คือตอนเคี้ยวแล้วเจอเทกเจอร์เท่ๆ หนึบหนับๆ ของข้าวโสมมาลีขัดสีจากจังหวัดสกลนคร ที่อยู่ในแพริ่งที่ชื่อว่า ข้าวมันเนยเคยกับปลา (ส่วนเรื่องรสมือในการปรุงขอบอกสั้นๆ คำเดียวเลยว่าอร่อยมาก!) ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ ในแต่ละจาน ก็มีรสชาติ กลิ่น และเทกเจอร์ที่เป็นเอกลักษณ์เป็นของตัวเองด้วยเหมือนกัน
ได้ยินมาว่าคอร์สนี้ตั้งใจจะเป็นใบเบิกทางให้คนทั่วไปสนใจข้าวพื้นเมือง ซึ่งก็ขอใช้พื้นที่บอกทีมงานที่อยู่เบื้องหลังเลยว่า พี่คะ พี่ทำสำเร็จค่ะ! จากตอนแรกกะจะไปกินสนุกๆ ทว่าสิ่งที่เราได้กลับมาคือกิเลสในการจะหาซื้อข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากินเอง
เพราะข้าวเป็นสิ่งที่ต้องกินทุกวัน เลยถือโอกาสนี้ explore ข้าวที่ใช่สำหรับตัวเองไปด้วยเลย (ฟีลเดียวกับตามหาคนรักที่ใช่) โดยเฉพาะเจ้าโสมมาลีที่เรากินแล้วตาเป็นประกาย หรือแก๊งข้าวดอยเม็ดป้อมๆ ที่อร่อยพอๆ กับข้าวญี่ปุ่น ความยากคือข้าวเหล่านี้เป็นข้าวที่เราจะหาซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้ ถ้าอยากได้จริงๆ ต้องตามหาคอนแท็กเพื่อซื้อกับผู้ผลิตโดยตรง หรือไม่ก็ต้องสู้เดินทางไปซื้อถึงแหล่งปลูกเองอย่างที่เชฟหลายๆ คนสู้กัน
ที่แรร์ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะข้าวพื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นข้าวที่ชาวบ้านปลูกกินกันเอง บางคนก็ปลูกเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ (คล้ายกับเป็นมรดกสืบต่อกันแบบรุ่นต่อรุ่น) พอจะปลูกขายเยอะๆ ก็ยาก เพราะต้องพึ่งพาพลังในการทำตลาดอย่างมหาศาลเพื่อให้ป๊อบสู้กับข้าวหอมมะลิ ข้าวกข. หรือข้าวสายพันธุ์แมสๆ ที่คนกินกันมาเป็นสิบๆ ปีได้ แต่ก็ด้วยมูฟเมนต์ที่คนเมืองเข้าอกเข้าใจข้าวพื้นเมืองมากขึ้น ทีมชาวนาที่แปรรูปข้าวขายเอง หรือแบรนด์ข้าวเล็กๆ ที่พยายามสื่อสารเรื่องความมั่นคงทางอาหารหลายๆ เจ้า ก็ได้บรรจุข้าวพันธุ์หากินยากเหล่านั้นเป็นออพชั่นให้ผู้บริโภคอย่างเราเลือกซื้อกันจริงจังขึ้นในหน้าร้านออนไลน์ นี่แหละ แสงสว่างปลายอุโมงค์ของคนอยากซื้ออย่างเราค่ะ!
และนอกจากจะสนุกกินแล้ว การซื้อของเรายังเป็นเครื่องมือในการให้กำลังใจคนปลูกด้วยอีกทาง ขอใช้โอกาสนี้ป้ายยาแบบซื่อๆ เลยแล้วกันนะ อย่างข้าวโสมมาลีรวมถึงข้าวจากผืนนาอีสานพันธุ์อื่นๆ อย่างข้าวก่ำน้อย ข้าวหอมภูเขียว ฯลฯ สามารถตามไปอุดหนุนได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ข้าวหอมดอกฮัง หรือแบรนด์ที่เราเชียร์อย่าง HATCH Goodies ก็มีข้าวหายากอย่างข้าวดอยบือโป๊ะโล๊ะ ข้าวปะกาอัมปึล หรือข้าวขาววิสุทธิ์ให้ตามซื้อด้วย (ซึ่งเจ้านี้มีข้าวบางพันธุ์จากกลุ่มหอมดอกฮังขายเหมือนกันนะ) ส่วนข้าวบือซอมี ข้าวดอยของชาวปกาเกอะญอก็กดสั่งจากทีม Yorice ได้ (เจ้านี้ไม่ได้ขายแค่ amazake อย่างเดียวจ้ะ) ใครมีผู้ผลิตเจ้าไหนที่อยากป้ายยาคนอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน คอมเมนต์บอกกันได้เลยเด้อ
ข้าวที่ใช่ของคุณเป็นแบบไหน ถ้ายังไม่มีคำตอบอร่อยๆ ให้ตัวเอง วงการข้าวพื้นเมือง ยินดีต้อนรับนะ
Read More:
มนุษย์สัมพันธ์ 01 : คุยกับ 3 คนไกลบ้าน เปิดกล่องเสบียงอาหารจากครอบครัว
ชวนคนไกลบ้านทั้งหลายมาเปิดเสบียง โชว์กล่องอาหาร พร้อมเล่าเรื่องราวความเป็นห่วงเป็นใยของแต่ละครอบครัวให้เราฟัง
เรื่องกล้วยเช้านี้
กล้วยที่เรากินทุกวัน เกี่ยวอะไรกับ Food Security
#ก็อปเกรดบี ทำเนียนเลียนแบบอาหารร้านโปรด
ลอกเมนูที่ชอบๆ จากร้านโปรดที่ไปประจำ มาทำกินเองที่บ้านให้หายคิดถึง