สิ่งแรกที่ต้องรู้ สำหรับคนที่อาจยังไม่รู้ คือ puffer jacket ส่วนใหญ่มันทำให้เราอุ่นได้ เพราะมันบรรจุด้วย ‘ขนเป็ด’ หรือ ‘ขนห่าน’ (down) อยู่ข้างใน แม้บางแบรนด์จะเนียนๆ เรียกมันว่าวัสดุยั่งยืนเพราะนี่คือขนสัตว์คือวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้จ้า
แต่เดี๋ยวนะ ถ้ามองว่าความยั่งยืนต้องมาคู่จริยธรรม การได้มาซึ่ง ‘ขน’ เหล่านี้ซึ่งมักมาจากการถอนสด หรือ live plucking นั้นเป็นการทรมานสัตว์หรือเปล่า? ว่ากันว่าการที่อุตสาหกรรมดาวน์ทำแบบนี้ไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดให้น้องๆ เป็ดและห่าน แต่ยังอาจทำให้พวกมันบาดเจ็บหรือตายได้เหมือนกัน
ความจริงที่น่าเศร้าจาก the International Down and Feather Bureau คือแทบไม่มีฟาร์มไหนเลยที่ตั้งใจเลี้ยงเป็ดและห่านเพื่อเอาขนอย่างเดียว แต่มักเป็น co-product ของฟาร์มที่เลี้ยงเพื่อเอาเนื้อ (ซึ่งแปลว่าน้องต้องสละชีพด้วยเสมอ) หรือเพื่อฟัวกราส์ (ซึ่งแปลว่าน้องต้องโดนขุนอย่างโหดร้ายก่อนตาย) และด้วยความที่อุตสาหกรรมดาวน์กำลังเติบโตอย่างมาก ตัวเลขที่คาดไม่ถึงคือในแต่ละปี มีการฆ่าเป็ดห่าน 3.3 พันล้านตัวทั่วโลก หรือ 9 ล้านตัวในแต่ละวัน
และที่เศร้าไปอีกคือ แม้ว่าจะมี Responsible Down Standard ซึ่งเป็นตรารับรองว่าการผลิตขนเป็ดของแบรนด์นี้มีจริยธรรม ก็ยังอาจมีการย้อมแมวขายเพื่อให้ขนเป็ดของพวกเขาดูดีและขายได้ หรือแบรนด์ที่อ้างว่าฉันเก็บขนเป็ดอย่างเป็นธรรมตามฤดูกาลผลัดขนของน้องๆ ก็ยังการันตีไม่ได้ว่าพวกเขาไม่ได้โกหก เพราะที่จริงแล้วเป็ดแต่ละตัวน่ะผลัดขนไม่พร้อมกัน จึงเป็นไปได้ยากที่อุตสาหกรรมจะจัดการกับความไม่แน่นอนนี้ได้อยู่ดี
นี่ยังไม่นับสวัสดิภาพของเป็ดห่านในบางฟาร์มที่อาจไม่ได้มาตรฐานจนทำให้น้องๆ พิการหรือเครียดหนัก รวมไปถึงเรื่องผลกระทบต่อโลกทั้งสารพิษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรม น้ำเสีย แถมที่บอกว่าขนเป็ดย่อยสลายได้ แต่ถ้ามันบุอยู่ข้างในโพลีเอสเตอร์อย่างแน่นหนามาจนแยกชิ้นส่วนยากแล้ว ก็กลายเป็นว่ามันเป็นกำแพงปิดกั้นให้มันย่อยสลายไม่ได้อยู่ดี (ฝังกลบกันไปยาวๆ 200 ปีนะ)
“อย่าซื้อเสื้อขนเป็ดตัวใหม่เลย” อาจจะคือข้อสรุปแบบสั้นง่ายที่สุด ถ้ามีอยู่แล้วก็ใส่ให้คุ้มค่าซะ สำหรับคนที่ไม่อยากสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไม่ใจดีกับสัตว์ คุณอาจเจอเสื้อแจ็กเก็ตหรือเสื้อโค้ทมือสองที่อุ่นได้โดยไม่จำเป็นต้องทำจากขนน้องๆ เลย หรือถ้าคุณมีสตุ้งสตางค์พร้อมลงทุนกับทางเลือกอื่นๆ ที่ยั่งยืนและมีจริยธรรม ตอนนี้ก็มีวัสดุทดแทนดาวน์ที่เป็นนวัตกรรมให้พอได้ยินแล้ว เช่น PrimaLoft (ทำจากพลาสติกเหลือทิ้ง) Thermore (ทำจากขวด PET) Flowerdown (ทำจากดอกไม้ป่า) หรือชี้เป้าแบบง่ายๆ ให้ไปลงทุนกับแบรนด์ที่เอาจริงเรื่องปิ้งย่างอย่าง Patagonia ลงทุนมากหน่อยแล้วซื้อตัวเดียวให้ใช้ไปจนแก่ ก็เป็นไอเดียอบอุ่นร่างกายที่ไม่เลว
Read More:
มนุษยสัมพันธ์ 03: คุยกับ Younglek เรื่องความสบายของนม บรา ชั้นใน ที่คล้ายๆ กับการได้ประกาศอิสรภาพเล็กๆ
เล็ก-ภัทรสิริ อภิชิต เจ้าของแบรนด์ชุดชั้นในที่ชื่อ Younglek Under
I Need Some Body Positivity ทำไมต้อง ‘ดูดี’ ทั้งที่ก็ต้องอยู่แต่ในบ้าน
วิธีเอาใจออกห่างไวรัสด้วยการหันมาดูแลตัวเอง ทั้ง ‘ข้างนอก’ (body) และ ‘ข้างใน’ (mind)
Androgynous Fashion ผู้ชายใส่กระโปรงเป็นเรื่องธรรมดาจ้ะ
รู้จัก 'แฟชั่นไร้เพศ' ให้เท่าทันและเท่าเทียม