นอกจากจะเห็นสตางค์ไปงานสวอปเสื้อผ้าบ่อยๆ เห็นการมิกซ์แอนด์แมตช์กับเสื้อผ้าเดิมๆ ที่มีได้สนุก (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าวินเทจ/มือสอง) และเห็นความเข้มแข็งที่จะไม่ช้อปฟาสต์แฟชั่นชิ้นใหม่ๆ สิ่งที่สตางค์ไปสุดเบอร์กว่านั้น คือการใส่ชุดผ้าฝ้ายทอมือแบบไทยๆ ในชีวิตประจำวัน และจริงจังขนาดเอาผ้าพื้นเมืองในหมวดงานฝีมือประจำจังหวัด ออก ตก เหนือ ใต้ มาตัดเป็นชุดร่วมสมัยใส่แบบไม่เคอะเขิน
“คือตอนที่ทำแมกกาซีนชื่อ There ต่อด้วย a day และ The Cloud มันทำให้เราเดินทางเกือบทุกเดือน ก็ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดคนกรุงเทพฯ ของเราที่เห็นต่างจังหวัดเป็นแค่ที่ท่องเที่ยว เป็นการไปมองหาว่าเขามีของดีอะไรที่เราจะเอามาเล่า งานทำให้เราได้รู้เรื่องราว วิธีการ หรือสตอรี่ของงานฝีมือเหล่านี้ และทำให้เราอยากอุดหนุนเขาไม่ต่อราคา เวลาเราซื้อของในห้างเรายังไม่เห็นจะต่อเขาสักคำเลย แต่ทำไมเจอแบบนี้เราอยากจะต่อ ก็เลยเริ่มจากอุดหนุนชุดผ้าฝ้ายสำเร็จจากร้านที่เราชอบ ซึ่งปัญหาของชุดผ้าฝ้ายคือบางทีมันดูลำลองเกินไปเวลาที่จะใส่ไปทำงาน บวกกับเราก็ซื้อผ้าสวยๆ มาเก็บไว้เต็มตู้ไปหมด เลยลองเอาไปให้ร้านลุงแถวบ้านซึ่งเป็นร้านตัดสูทลองตัดดู ก็ออกมาสวยอยู่ ก็เริ่มเห็นความเป็นไปได้ว่าเราเอาผ้าที่ซื้อไว้มาตัดชุดได้นะ”
จากผ้าถุงสไตล์คุณป้าก็กลายมาเป็นเดรสสีแดงสะดุดตา ผ้าฝ้ายทอมือสีธรรมชาติก็เก๋ขึ้นด้วยแบบเสื้อมีดีเทล ไหนจะผ้าย้อมครามลายคล้ายซิ่นที่ปรับให้เป็นกางเกงขาบานเท่ๆ ผ้าปาเต๊ะที่เอามาตัดเป็นคอร์เซ็ตไปเลยสิคะ และถ้ายังสนุกไม่พอ ก็เอาผ้าบาติกเขียนมือมาตัดเป็นชุดฮันบกที่แมตช์กับไอเท็มประจำวันอื่นๆ ที่ไม่มีทางซ้ำกับใคร
กระบวนการมันอาจจะยาวนานกว่าเราจะได้เสื้อหนึ่งตัวมาใส่นะ ทุกวันนี้เราพยายามจะซื้อเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นให้น้อยที่สุด แต่จะทำยังไงให้เรายังสนุกกับการแต่งตัวทุกวันได้ ซึ่งการที่เราสนับสนุนแบรนด์ผ้าไทย ได้อุดหนุนแบรนด์เล็กๆ ได้มีงานให้ช่าง มันทำให้เรารู้สึกผิดกับการแต่งตัวน้อยลง
“เสื้อผ้าเป็น statement อย่างนึง ด้วยงานที่ทำ เราต้องพูดเรื่องคนอื่น เราไม่มีแพลตฟอร์มที่จะพูดสิ่งที่เป็นตัวเราออกมา งั้นฉันใช้ร่างกายฉันเป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารแล้วกัน” สตางค์บอก ก่อนจะเล่าว่าในไอจี wardrobeofcuriosity ซึ่งเป็นพื้นที่สื่อสารผ่านการแต่งตัวของสตางค์ที่ไม่ได้มีแค่ชุดผ้าไทยที่ทำเราว้าว แต่ยังมีการทำชุดจากพลาสติกรียูส แม้จะไม่ใช่เสื้อผ้าที่ใส่ได้ในชีวิตจริง แต่ก็ทำอีกหน้าที่ในฐานะนักสื่อสาร
อยากรู้ว่าแต่ละชุดมีที่มาจากไหน เผื่อตามไปเอฟหรือได้ไอเดียสโลว์แฟชั่นแบบอื่นๆ ไปดูภาพถัดไปได้เลย
01 ชุดสูทจากแบรนด์ฝ้ายเข็น จังหวัดอุบลราชธานี
แม้จะเป็นชุดผ้าฝ้าย แต่ถ้าช่างเลือกหน่อยก็จะพบว่ามีหลายแบบที่ใส่เอาเท่ได้ ไม่เชยเป็นงานรณรงค์ใส่ผ้าไทยวันศุกร์ สตางค์บอกว่าอุดหนุนแบรนด์นี้มาหลายตัวเลย เพราะคอลเล็กชั่นที่เหมามา มิกซ์ใส่ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ
02 ผ้าปาเต๊ะจากตลาดกิมหยง หาดใหญ่
ชุดแรกที่สตางค์เข้าสู่วงการ tailor-made คือการเอาผ้าปาเต๊ะที่ไปยืนเลือกที่ตลาดกิมหยงไปให้ร้านลุงแถวบ้านซึ่งเป็นร้านตัดสูทตัด แม้ว่าลุงจะไม่ได้ตัดตามแบบที่ให้ไป แต่ก็สวยดี มีแรงใจในการเอาผ้าไปตัดเพิ่ม
03 ชุดจากแบรนด์ Kanz by Thaitor ผ้าบาติกจากจังหวัดแพร่
เพราะไปสัมภาษณ์เจ้าของแบรนด์แล้วอินมากจึงอยากอุดหนุน แถมแบรนด์นี้ก็ใส่ไม่ยากเพราะออกแบบเป็นแฟชั่นร่วมสมัยอยู่แล้ว สตางค์เลือกลายจุดพร้อยทั้งตัว ก่อนจะขิงว่า นี่ไม่ใช่มารีเมกโกะหรือยูนิโคล่ที่ใส่กันทั้งเมืองน้า แต่เป็นงานที่แม่ลูกเขาทำด้วยกัน มันไม่ซ้ำและมีสตอรี่!
04 เสื้อผ้าฝ้ายเข็นมือลาย Soyadot จากแบรนด์ Wisdomative
กางเกง ผ้าฝ้ายย้อมครามจากสกลนคร
Wisdomative เป็นแบรนด์ร่วมสมัยที่เอาวิธีคิดแบบดีไซเนอร์ไปสนับสนุนชุมชนทำงานฝีมือ ผ้าจากแบรนด์นี้เลยดูเท่กว่าใคร สตางค์หยิบมาตัดเสื้อไว้แมตช์กับท่อนล่างหลากหลาย ส่วนกางเกงที่ได้ผ้ามาจากเมืองคราม สตางค์ก็ไปของานยากกับช่าง เอาลายขิดๆ มาเป็นขอบเอวและขา แต่ก็ออกก็เท่ดี มีดีเทล
05 Corset ผ้าปาเต๊ะจาก Saloma Patek สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส
สตางค์เป็นเด็กละคร ชอบเสื้อผ้าวินเทจ และอยากมีคอร์เซ็ตเป็นของตัวเอง เมื่อจินตนาการเอาว่าผ้าปาเต๊ะลายสวยจากสุไหงโกลกน่าจะเป็นคอร์เซ็ตเก๋ๆ ได้ จึงถือแบบจาก the MET นิวยอร์กไปให้ช่างอ่อนนุชเนรมิตให้
06 ชุด Eco Print จากกลีบกุหลาบ แบรนด์ Rissara จังหวัดเชียงใหม่
สตางค์อวดว่าชุดนี้เหมือนได้สวมกุหลาบจริงๆ เพราะเป็นชุดที่ผ่านกระบวนการอีโคปรินท์ เอาดอกกุหลาบมาย้อมแบบเข้มๆ
07 ผ้าบาติกจากเกาะกลาง จังหวัดกระบี่
ได้เป็นเห็นวิธีวาดลายบาติกด้วยมือแบบถึงที่ และรู้ว่าลายบาติกเก๋ไก๋กว่าภาพจำเดิมๆ เลยลองเอามาตัดฮันบกไว้มิกซ์แอนด์แมตช์กับไอเท็มอื่นดู
Read More:
ฝาก ‘รอยเท้า’ เอาไว้!
รองเท้าคู่โปรด ฝากรอยเท้า (คาร์บอน) ไว้ให้โลกแค่ไหน
บันทึกสถิติงดซื้อเสื้อใหม่ 2019-2020
บันทึกความฟูและเฟลของนักช้อปกลับใจ งดซื้อเสื้อใหม่ 2 ปี!
20 ชิ้น 20 วัน ฉันจะใส่เสื้อผ้าวนไป ไป ไป ไป!
20x20 challenge ท้าตัวเองให้ใส่เสื้อผ้าแค่ 20 ชิ้น วนไปภายใน 20 วัน