Love —— สาระสำคัญ FAQ

แบรนด์จะซัพพอร์ต LGBTQ+
ยังไงให้มากกว่าแค่เปลี่ยนโลโก้เป็นสีรุ้ง?

เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เราจะได้เห็นโลโก้ของหลายๆ แบรนด์กลายร่างเป็นสีรุ้งในเดือนแห่งไพรด์ หรืออาจพูดได้ว่าการตะโกนว่าแบรนด์ฉันสนับสนุนเพศที่หลากหลาย ถือเป็นการเดินเกมที่ค่อนข้างเซฟในมุมของธุรกิจไปแล้ว แต่เอาเข้าจริงผู้บริโภคตัวเล็กๆ อย่างเราน่ะอึดอัดมานานที่เห็นบางแบรนด์แค่เปลี่ยนสีรุ้งทุกเดือนมิถุนาแล้วจบไป ทั้งที่ ‘คุณ’ ในฐานะ ‘แบรนด์’ ทำได้มากกว่านั้นอีก 

รายได้จากแคมเปญช่วงไพรด์ ไปไหน?
ถ้าคุณลงทุนทำแคมเปญสินค้าที่ขายความเป็น pride month เรื่องแรกที่ผู้บริโภคจะอยากเห็นแน่ๆ คือรายได้จากการขายสินค้าที่ว่ามันไปสนับสนุนคอมมูนิตี้ LGBTQ+ ต่อที่ตรงไหน แค่ไหน อย่างไร หรืออย่างน้อยมันได้นำไปสู่กองทุนที่ช่วยเหลือคอมมูนิตี้นี้บ้างรึเปล่า ซึ่งในบ้านเราเองก็มีกลุ่มคนที่ทำงานต่อสู้เพื่อประเด็นนี้ให้เลือกสนับสนุนมากมาย ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (ThaiTGA) ที่ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตรอบด้านของ Transgender ควบคู่ไปกับการผลักดันเชิงนโยบาย หรือ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) ที่มุ่งขับเคลื่อนเรื่องกฏหมายสมรสเท่าเทียมโดยตรง 

สร้างพื้นที่ให้ LGBTQ+ ที่เล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่ 
แทนที่จะเปลี่ยนสีโลโก้ วิธีที่จะสนับสนุน LGBTQ+ แบบจับต้องได้กว่าเดิม คือการสร้าง ‘พื้นที่’ ที่สนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมจริงๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นแบรนด์สินค้าอะไรก็ตาม ลองมองหาดูว่าคุณทำอะไรได้บ้างบนพื้นที่ที่คุณมีอยู่แล้ว เช่น ถ้าคุณเป็นแบรนด์ร้านหนังสือ จะสร้างเช้ลฟ์แนะนำงานเขียนดีๆ ของ LGBTQ+ ไหมล่ะ เพราะวรรณกรรมถือเป็นสื่อที่ช่วยจะสร้างความเข้าใจในสังคมได้ลึกซึ้งและงดงามในตัวมันเอง ถ้าคุณคือแบรนด์เสื้อผ้า ถ้าออกแบบให้มีมุมดิสเพลย์คอลเลกชั่นไร้เพศเป็นทางเลือกให้คอมมูนิตี้ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก ถ้าคุณคือคนทำซีรีส์ หนัง หรือโฆษณา หรือแม้แต่เป็นคนจ้างทำโฆษณา จะดีกว่าไหมถ้าบทของคุณมีพื้นที่ให้กับเพศที่หลากหลาย และเลือกใช้นักแสดงให้ตรงตามเพศวิถีของเขาจริงๆ ถ้าคุณคือคนจัดเทศกาลดนตรีหรือดีเจ มันคงจะสนุกดีถ้าได้จัดโปรแกรมหรือเพลย์ลิสต์แบบมองเห็นศิลปิน LGBTQ+ หรือต่อให้คุณเป็นร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้า คุณอาจจะมีห้องน้ำไร้เพศเป็นทางเลือกเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมก็ย่อมได้

ซัพพอร์ตแบบจริงๆ ในระดับนโยบาย
ด่านสุดท้ายที่ทุกแบรนด์ควรกลับไปถามตัวเองดีๆ ว่าเรามีแล้วหรือยัง คือการซัพพอร์ตความเท่าเทียมในระดับนโยบาย ต่อให้คุณจะเปลี่ยนสีโลโก้หรือไม่ ก็ต้องไม่ลืมว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับในที่ทำงานเช่นกัน นโยบายที่ทำได้เลยและควรมีตลอดไป ได้แก่ การจ้างงานแบบไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ระบุเพศหรือเลือกรับชายหญิง การให้แต่งกายได้ตามเพศวิถี หรือมีสวัสดิการที่ซัพพอร์ตกลุ่มเพศที่หลากหลาย เช่น วันลาผ่าตัดของทรานส์ รวมถึงควรสร้างพื้นที่ปลอดภัยหาก LGBTQ+ ถูกคุกคาม เช่น มีระบบ HR ที่รับร้องเรียน ช่วยเหลือ และดำเนินการกับผู้ทำผิดแบบไม่ปล่อยผ่าน และหากเป็นไปได้ องค์กรหรือแบรนด์ยังสามารถเลือกที่จะไม่ทำงานร่วมกับคนหรือองค์กรที่กีดกันความหลากหลายทางเพศ เพื่อแสดงการสนับสนุนในประเด็นนี้ด้วย

ไม่ Rainbow Washing หรือเกาะสีรุ้งแค่หวังผล
แต่หันมาสร้างสิทธิและความเท่าเทียมแบบเอาจริงกันดีกว่า

คุณจะเปลี่ยนสีโลโก้ไม่ใช่เรื่องผิดหรอก แต่แทนที่จะทำเพื่อตามกระแสสังคม ลองหันมาสร้างอะไรที่ยั่งยืนและจับต้องได้ดีกว่า อย่าลืมว่ายังมีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ยังไม่ได้รับสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ (ซึ่งต้องไปช่วยกันผลักดันให้แก้กันที่ตัวบทกฎหมายด้วย) แถมประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ Homophobia และความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นให้เห็นอยู่เรื่อยๆ

อยากเห็นแบรนด์ซัพพอร์ต LGBTQ+ ด้วยวิธีที่ยั่งยืน ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ แม้เดือนแห่งไพรด์จะจบลง และเป็นกระบอกเสียง (ดังๆ) ให้ #สมรสเท่าเทียม ด้วยล่ะ

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Communication Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #นิสิตออกแบบสื่อสาร

Read More:

Love สาระสำคัญ

เราจะอยู่กันยังไง ในยุคที่กลัวคนไอ ไม่ไว้ใจคนไม่ใส่หน้ากาก

โลกตอนนี้มันอยู่ยาก แต่อยู่รอดคนเดียวไม่แบ่งใครยากกว่า

Love บันทึกประจำวัน

เป็นแม่ค้าออนไลน์เวอร์ชั่นชังชาติก็ได้ แค่อยากช่วยเพื่อนร่วมชาติบ้าง

เปลี่ยนความโกรธให้มีมูลค่า ด้วยแชร์ริตี้ช้อปเวอร์ชั่นจิ๋วและส่วนตัวมาก

Love

เข้าใจกัญฯ ไว้ เพราะเรื่องนี้มีมากกว่าเมา

รู้จักกัญชาแบบเคลียร์ๆ ไม่ใช่สายเขียวก็มีสิทธิ์อินได้