แต่ด้วยความมือใหม่และไม่ค่อยว่าง จะตัดสินใจกดดู episode 1 สักเรื่องมันต้องแน่ใจก่อนว่าจะได้อะไรดีๆ กลับมา ซึ่งเพจ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ช่วยชีวิตมาก ถ้าเพจนี้แนะนำเรื่องไหน การันตีได้ว่ากดดูตามแล้วจะอยู่ในหมวดดีงามยันพึงใจได้แน่นอน
“เราเองก็เริ่มกลับมาดูตอนเน็ตฟลิกซ์เริ่มมีซีรีส์เกาหลี แล้วก็พบว่ามันต่างจากซีรีส์เกาหลีเมื่อก่อนที่เคยดู ที่จะเป็นสายโรแมนติกคอมเมดี้ซะส่วนใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้มีซีรีส์ฆาตกรรม สืบสวนสอบสวน แพทย์เฉพาะทาง มันตอบโจทย์คนแบบเราที่ไม่ได้ชอบดาราขนาดนั้น หวีดไม่เป็น ก็เลยเริ่มสนใจ แล้วเริ่มเจอเรื่องเซอร์ไพร์สหลายอย่าง เลยลองทำเพจดู” พี่จิมมี่ – เจิมสิริ เหลืองศุภภรณ์ อดีต Co-Founder และ Editor-in-Chief ของ The Standard POP เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นเพจเมื่อปี 2020 ซึ่งเป็นยุคที่คอนเทนต์เกาหลีในบ้านเรา ยังคงเป็นข่าวบันเทิงเชิงแฟนคลับมากกว่าจะมาวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือตีความสิ่งดีงามในซีรีส์สักเรื่อง
“เกาหลีเป็นประเทศของคนตั้งใจ เป็นคนซีเรียสโดยพื้นฐาน แล้วก็ทะเยอทะยานด้วย ทุกครั้งที่มีโอกาสไปสัมภาษณ์คนทำงานเบื้องหลัง เขามักจะบอกเลยว่าที่ประสบความสำเร็จมาได้ มันเริ่มต้นมาเหมือนๆ คนอื่นแหละ เพียงแต่ว่าเขาตั้งใจกันมากๆ แล้วก็พยายามมากๆ ก็จริงๆ จนกลายเป็นคอนเทนต์ที่อยู่ๆ คนทั่วโลกก็ยอมดูซับไตเติลว่ะ ด้วยความตั้งใจจนเกินมาตรฐานบางอย่าง จึงได้รับการยอมรับในระดับโลก”
พี่จิมมี่เล่า ก่อนจะสรุปให้ฟังว่า เราอาจจะคุ้นๆ กับซีรีส์เมโลดราม่าในยุคแรกๆ ที่ก็เชื่อมโยงกับประเทศที่กำลังเริ่มตั้งไข่ อยากสร้างความหวัง ให้กำลังใจคนผ่านตัวละครสู้ชีวิตที่ดิ้นรนจนประสบความสำเร็จ หรือคาแรกเตอร์แบบซินเดอเรลล่ายากจนที่ได้พบรักแท้ เป็นเจ้าหญิงวุ่นวาย เจ้าชายเย็นชา อะไรก็ว่ากันไป แต่เมื่อทำมาเรื่อยๆ ความทะเยอทะยานในการเล่าเรื่อง ทำให้วงการนี้หยิบเอาเรื่องราวในชีวิตประจำวันและประเด็นในสังคมที่พวกเขาอยาก ‘สร้างการเปลี่ยนแปลง’ มาฉายให้ชัดขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องผู้หญิง การบูลลี่ สิทธิผู้พิการ ฯลฯ “อย่างเรื่องล่าสุด Link: Eat, Love, Kill นี่ก็ตั้งใจพูดเรื่องกฎหมายสตอล์กเกอร์ที่มีช่องโหว่และยังทำให้ผู้หญิงถูกคุกคามอยู่ดี”
“มันแนวซีรีส์แนวหนึ่งคือแนวเยียวยาจิตใจ ยิ่งช่วงหลังๆ มีเยอะมาก คงด้วยความที่ประเทศมันอยู่ยาก ความเครียดสูง ค่าครองชีพก็เลยมีซีรีส์พวกนี้มาเยียวยาใจ ซึ่งดูแล้วมันก็สบายใจนะ ซีรีส์เกาหลีเก่งเรื่องขยี้อารมณ์ มักจะพูดถึงเรื่องอารมณ์หรืออะไรบางอย่างที่มันนามธรรมมากๆ ออกมาได้ดี เก่งอะ รู้สึกว่าเข้าถึงใจคนดูดีจัง” พี่จิมมี่ยิ้มกว้างก่อนจะลิสต์ซีรีส์ที่เราน่ากดเพิ่มเก็บไว้ใน My List เอาไว้ดูให้ครบ (ไปจนถึงดูซ้ำๆ เวลาต้องการกำลังใจ)
“แล้วดูซีรีส์มา 4-5 ปีแล้ว มีโอปป้าให้หวีดหรือยัง” – เราถาม
“ตอนนี้เป็นคุณกูใน My Liberation Notes ดีมากจริงๆ”
ใช่, จากนั้นเราก็เสียงสูงใส่กัน และยอมรับร่วมกันว่าหน้าหล่ออึนๆ ของพระเอกก็เป็นการเยียวยาใจในรูปแบบหนึ่ง
01 Hospital Playlist
“ซีรีส์ชีวิตคนธรรมดาในโรงพยาบาล ที่คนสร้างพยายามถ่ายทอดออกมาได้ดีนะ ซึ่ง Hospital Playlist มี 2 ซีซั่น รวมๆ แล้วก็น่าจะสัก 15-16 อีพี มันจึงมีประเด็นและเรื่องราวเยอะมาก ลามไปถึงการทำงานหมอจริงๆ หมออยู่เวรแล้วต้องควบเวร กลางคืนผ่าตัดตอนเช้ามาตรวจต่ออะไรแบบนี้ เฮ้ย มันจริงจนหมออินบ็อกซ์มาเล่าให้เราฟัง ซึ่งเราประทับใจมากเลยนะ เพราะไม่คิดว่าจะมีหมออยากจะคุยกับเรามากขนาดนี้
“ซีรีส์นี้ทำให้เราดูแล้วทำให้เราอ่อนโยนขึ้น นึกถึงตอนที่เราไปโรงพยาบาลรัฐ เราต้องรอ 2 ชั่วโมงก็อาจจะแบบอะไรกันวะเนี่ย แต่พอดูซีรีส์นี้แล้วเข้าใจ เห็นใจเพื่อนมนุษย์เยอะขึ้น แล้วก็รักหมอมากขึ้น” (ยิ้ม)
“ทีมผู้สร้างบอกว่าตั้งใจให้คนที่ดูอยากเป็นตัวเองที่ดีขึ้น ในเรื่องมันเลยไม่มีตัวร้ายแบบจี๊ดๆ อะไรขนาดนั้น ดูแล้วใจฟู มีความหวังกับชีวิตอยู่เสมอ ซึ่งแปลว่าเขาทำสำเร็จ คือดูแล้วเราอยากเป็นคนที่ดี อยากเป็นหมอที่ดี อยากเป็นคนไข้ที่ดี หรือกระทั่งอยากบริจาคอวัยวะก็ถูกต้อง”
02 You Are My Spring
“You Are My Spring เป็นเรื่องของนักจิตวิทยาเลย เป็นจิตวิทยาด้านการฆ่าตัวตาย ดูเคสคนที่ฆ่าตัวตาย แล้วก็ไปผูกพันกับคดีความในอดีตของตัวเอง เราคิดว่า ด้วยความที่เวลาทีมผู้สร้างจะเลือกประเด็นหรือเรื่องที่จะเล่าจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เราว่าเขามองเห็นอยู่แล้วล่ะว่ามันเกิดปัญหาอะไร แล้วเขาจะสื่อสารอะไร ทนาย ตำรวจ หมอ ชีวิตเด็กโดนบูลลี่ แม่บ้าน ฯลฯ คือเราว่าเขาเลือกหยิบปัญหาที่มันอยู่ในชีวิตประจำวัน คนดูมันก็อิน เพราะมันอยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ
“แล้วมันจริงจังมากเลยนะเรื่องอาชีพ ละเอียดมากเลย อย่างเรื่อง Doctor Lawyer ที่โซจีซบต้องเป็นศัลยแพทย์มือหนึ่ง ก่อนถ่าย อาจารย์หมอจริงๆ ก็ผ่าตัดให้ดูจริงๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อทั้งทีมงานฝและนักแสดงจะได้เข้าใจ ไม่ให้พลาด นี่คือความตั้งใจแบบซีเรียสสุดๆ ของเขา”
03 Hometown Cha-Cha-Cha
“เรื่องนี้เราชอบมากเลยนะ ให้รางวัลประจำปีไปแล้ว ให้เอง รางวัลอะไรไม่รู้แหละ แต่ว่าเรื่องนี้ต้องได้นะ” (หัวเราะ)
“ซีรีส์ที่พูดเรื่องการใช้ชีวิตธรรมดา ซึ่งเราว่าสุดท้าย มันถามเราเหมือนกันนะว่าชีวิตนี้เราต้องการอะไรวะ เหมือนที่ตัวละครหนีออกมาจากโซล มาอยู่หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ทำไม เก่งนะที่มันทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ คิดอะไรได้หลายๆ แง่มุม แล้วก็อาจจะช่วยตอบปัญหาชีวิตช่วงนั้นเหมือนกันว่า เออ สุดท้ายเป้าหมายชีวิตจริงๆ ต้องการอะไรกันแน่ เป็นช่วงเวลาที่ดูแล้วตอบตัวเองได้พอสมควรเหมือนกัน”
04 My Liberation Notes
“เรื่องนี้คนเมืองต้องอินจริงๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับเรามากตรงที่เป็นคนบ้านไกล บ้านอยู่ปากน้ำ สมุทรปราการ มาเรียนธรรมศาสตร์ มาทำงานในเมือง อินมาก ตื่นออกมาตั้งแต่เช้า กว่าจะได้กลับบ้าน เข้าใจมาก เราว่าซีรีส์เรื่องนี้มันถ่ายทอดบาดแผลคนเมือง แม้ว่าชีวิตเขาจะดีกว่าพวกเราเยอะ ไม่ต้องรถติดน้ำท่วม รถไฟฟ้าไปถึง” (ยิ้มขื่น)
“มีหลายประเด็นที่เรารู้สึกว่าคนเมืองหยิบเอาไปใช้ได้เลย โดยเฉพาะตรงที่บอกว่าให้เก็บสะสมความสุขให้ได้ 5 นาทีต่อวันก็พอแล้ว มันดีต่อวิธีคิดเรามากๆ คนเขียนบท (พัคแฮยอง) เก่งมากๆ เวลาดูซีรีส์เกาหลีมันภาคภูมิใจนะ คือภาคภูมิใจว่ามันมาจากองค์ประกอบที่เขาพยายามกันมากๆ ตั้งใจมากๆ หลายๆ เรื่อง ถ้าองค์ประกอบไม่ดีจะดังได้ยังไง อย่าง Twenty-Five Twenty-One ถ้าไม่ได้คิมแทรีมาเล่นเป็นนาฮีโด มันจะดังได้ขนาดนี้หรือเปล่า คนอายุสามสิบกว่าต้องมาเล่นเป็นเด็ก 15-16 คือคิมแทรีก็คิดเองนะที่จะตัดผมและยอมเด๋อๆ ด๋าๆ หรือ My Liberation Notes ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ได้แก๊งนี้มาเล่น มันอาจจะเหงาไปเลยก็ได้”
05 It’s Okay to Not Be Okay
“หลังๆ มานี้เราจะเห็นซีรีส์ที่นำเสนอเรื่องออทิสติกเยอะขึ้น ซึ่งมันไม่เคยมีมาก่อน เพราะเป็นคนที่ไม่ค่อยถูกเห็นในสังคม ที่เกาหลี เขาจะพยายามเก็บลูกไว้ที่บ้าน ไม่อยากให้ใครรู้ว่าลูกเป็นอย่างนี้ จนพอเริ่มมีในซีรีส์เยอะขึ้น มันก็สร้างความเข้าใจให้คนได้ดีขึ้นด้วย
“ซึ่ง It’s Okay to Not Be Okay มันทำให้เห็นรายละเอียดที่ชัดขึ้น และวิธีดูแลรักษาใจทั้งให้คนที่เป็นออทิสติก รวมถึงคนธรรมดาด้วยซ้ำ พูดประเด็นจิตวิทยาเยอะมาก ซึ่งก็เชื่อว่าทำรีเสิร์ชกันหนักมากกว่าจะออกมาเป็นสิ่งนี้ได้ มันก็เลยมีท่าโอบกอดผีเสื้อหรืออะไรต่างๆ ซึ่งตรงตามหลักจิตวิทยาจริงๆ รวมถึงพี่ที่เล่นเป็นออทิสติก ก็ไปศึกษาคลุกคลีจริงจังเพื่อที่จะได้ออกมาเป็นตัวละครที่ถูกต้อง
“ในมุมคนธรรมดา ดูแล้วก็เฮ้ย เราอาจจะมีแผลใจตอนเด็กๆ มีเรื่องบางอย่างที่ค้างคาในใจ มันได้ค่อยๆ เรียนรู้จิตใจเขาเราเอง อยากให้ดู เรื่องนี้คือดีมาก”
06 Our Blues
“เรื่องนี้ที่เกาหลีก็ดังมาก อาจจะเพราะมีตัวละครเยอะ เป็นการรวมตัวทั้งนักแสดงดังๆ และนักแสดงสมทบที่คุ้นหน้าคุ้นตา ไม่ใช่นักแสดงหลักคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนเล่นดีหมดเลย แล้วก็มีน้องออทิสติกที่เป็นออทิสติกจริงๆ มาเล่น โคตรเก่งเลยอะ ดูแล้วร้องไห้เลย คือดีมาก
“แต่ละอีพีค่อยๆ เล่าความสัมพันธ์หลายแบบ พ่อลูก แม่ลูก พี่น้อง ยิ่งคู่สุดท้ายคือแบบอื้อหือ ที่สุดของใจ ยึดโยงกับชีวิตคนเกาหลีจริงๆ เราว่าคนเกาหลีน่าจะอินเพราะมันตรงกับพื้นฐานชีวิตเขา ทั้งสภาพสังคม วัฒนธรรม”
07 39
“ไม่ค่อยบ่อยที่จะมีละครไทยพูดถึงผู้หญิงวัย 39-40 แต่ซีรีส์เกาหลีเล่าเรื่องกลุ่มนี้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งในเรื่องนี้ ก็เป็นแก๊งเพื่อนวัย 39 เล่าปัญหาชีวิตแบบที่ผู้หญิงวัยนี้ต้องเจอ มีทั้งเรื่องยังไม่ได้แต่งงาน มีแฟนที่มีความสัมพันธ์แบบเปิดเผยไม่ได้ ลามไปถึงปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต คืออยู่ในวัยที่อาจจะมีเพื่อนเริ่มเป็นมะเร็งบ้างอะไรบ้าง เล่าเรื่องแพนิกบ้าง ซึ่งเราเชื่อว่าตอนนี้คนเป็นกันเยอะมากเพียงแต่เราไม่ค่อยได้บอกกัน
“พอเป็นเรื่องแบบนี้ มันรีเลตง่าย ตรงกับชีวิตเราด้วย ก็จะอินพอสมควร และนักแสดง แสดงดีทุกคน แสดงดีจนขนลุก”
08 Move to Heaven
“ Move to Heaven อันนั้นพูดเรื่องคนตาย การจากไป ซึ่งมันตรงกับช่วงโควิดที่มันคนตายเยอะ ก็เหมือนเมืองไทยหรือประเทศอื่นๆ ที่มีคนเสียชีวิตเยอะมากๆ แล้วคนมูฟออนกันไม่ได้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในสังคมตอนนั้นๆ
“เรื่องนี้ ผู้สร้างเขาบอกเลยว่าเขาตั้งใจทำเพื่อสิ่งนี้ คือต้องการเยียวยาจิตใจคน ให้รู้ว่าการจากไปมันไม่ได้เลวร้ายหรือว่ามูฟออนไม่ได้ขนาดนั้น เป็นการพูดถึงความตายอย่างงดงาม”
09 Our Beloved Summer
“ความสนุกของซีรีส์เกาหลีคือมันคาดเดายาก มิกซ์หลายความรู้สึกมากๆ คือบอกว่าเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ มันก็ไม่ได้โรแมนติกคอมเมดี้อย่างเดียว บางทีเป็นโรแมนติกคอมเมดี้แต่มีการฆ่ากันเกิดขึ้น มันก็จะมีความมิกซ์กันแปลกๆ อย่างเรื่องนี้ เรารู้สึกว่าเขาเก่ง คือมันไม่ได้เป็นแค่โรแมนติกอย่างเดียว มันผนวกเรื่องอื่นๆ เข้ามาที่ทำให้ตัวละครมีมิติมากขึ้นด้วย แล้วก็มีเรื่องราวไปโดนใจคนทั่วๆ ไปได้ด้วย ชอบมาก
“ล่าสุดที่ไปเกาหลีมา คือไปกินชาพุทรามาเพราะอยากรู้ว่าเป็นยังไง เป็นน้ำรสคนแก่หน่อยๆ แต่ก็อร่อยดีนะ” (หัวเราะ)
Read More:
ไลฟ์สตรีมดีที่ดูแก้เหงาได้ทั้งวัน
แนะนำไลฟ์สตรีมไว้ดูแก้เหงา ที่มีประโยชน์ และดูสดไปพร้อมๆ กันได้
มองโลกให้น่ารักแบบแก๊งหมอ!
ส่องความ empathy ที่แอบอยู่ในซีรีส์ ส่งท้าย Hospital Playlist
บันทึกการเดินเท้าเข้าตึกร้าง New World x Old Town
ก่อนจะสร้างโลกใหม่ ต้องไม่ลืมโลกเก่า?