Eat —— ปฎิทินฤดูกิน

ปฏิทินฤดูกิน | สวัสดีเดือนพฤษภาคม

สวัสดีเดือนพฤษภาคม! ถึงจะเป็นเดือนที่ต้องคอยหลบทั้งแดดร้อนจัด สลับกับฝนตกหนักจากอิทธิพลมรสุมที่พัดผ่านเข้ามา แต่ผักผลไม้ที่ออกดอกออกผลตามฤดูกาลนั้น เป็นเรื่องที่เราขอย้ำผู้บริโภคทุกคนว่า พี่คะ ชนเลยค่ะ ไม่ต้องหลบ! 

เพราะการซัพพอร์ตพี่ๆ เกษตรกรที่ตั้งใจทำไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตตามฤดูกาลส่งต่อมาให้พวกเราได้กินแบบอร่อย ไม่ได้มีดีแค่การช่วยให้ต้นทางมีกำลังใจในการทำงานต่อเท่านั้น ฝั่งคนกินเองก็จะได้ประโยชน์จากสารอาหารที่ธรรมชาติสรรสร้างให้มาแบบเต็มๆ แถมยังมั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากการใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิตเพราะเป็นพืชผักที่เติบโตตามฤดูกาลด้วยนะ ปฏิทินฤดูกินเดือนนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง ตามมาดูกัน

ตั้งหม้อรอต้มเห็ดเผาะจิ้มกับน้ำพริก

คนชอบกินเห็ดแนมน้ำพริกหรือเมนูแกงคั่วสายเหนือและแกงลาวสายอีสาน ยิ้มดีใจกันได้เลย เพราะนี่เป็นฤดูกาลที่เห็ดพื้นบ้านเก็บได้ตามป่าธรรมชาติอย่าง เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ พร้อมใจกันออกผลผลิตแล้ว! แต่ที่ต้องโน้ตไว้ในใจคือเห็ดเผาะเป็นของที่ต้องแย่งกันซื้อไวๆ หน่อย เพราะเห็ดเผาะหนุ่มๆ ที่ให้รสสัมผัสกรุบกรอบ กินแล้วมันที่สุด (สังเกตจากเนื้อด้านในที่ยังเป็นสีขาว ผิวด้านนอกยังเป็นสีน้ำตาลสว่าง) เราจะหากันได้เฉพาะช่วงฝนแรกเท่านั้น

ลูกระกำแดงฉ่ำเต็มต้นพร้อมลอยแก้ว

ใครที่ชอบกินผลไม้โบราณ เราขอผายมือให้กับผลไม้ฉ่ำน้ำรสเปรี้ยวอมหวาน น่าเอามาทำผลไม้ลอยแก้วอย่างลูกระกำ เพราะเวลานี้เป็น perfect time ที่น้องๆ แดงสุกเต็มต้น เวลาพูดถึงระกำ หลายคนน่าจะตกหลุมแยกไม่ออกว่าต่างจากลูกสละยังไง เพราะหน้าตาแบบเปลือกแข็งมีหนามนั้นเกือบจะเหมือนกันเด๊ะ สังเกตง่ายๆ เลยว่าลูกระกำจะมีลักษณะอ้วนกลมกว่า มีสีแดงสดกว่า (สละจะออกแดงส้ม) ส่วนสีของเนื้อข้างในจะเหลืองกว่า และเนื้อของระกำจะไม่หนาเท่า แต่ถึงอย่างนั้นความหอมอร่อยก็ไม่แพ้กันเลย

เตรียมเหมาเงาะทองผาภูมิของแรร์กาญจนบุรี

ช่วงนี้เราจะเริ่มเห็นแผงผลไม้คึกคักไปด้วยเหล่าน้องๆ เงาะโรงเรียน แต่ที่อยากชวนชิมจริงๆ คือเงาะทองผาภูมิ ที่เป็นสายพันธุ์พื้นถิ่นของจังหวัดกาญจนบุรี (เพิ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นผลไม้ GI เมื่อปีที่แล้วนี่เอง) ต่างกับเงาะโรงเรียนจากแหล่งอื่นๆ ตรงที่ผลที่ค่อนข้างกลมเล็ก ขนสั้น เปลือกบาง ถึงภายนอกจะเล็กแต่น้องมีเนื้อที่หนา ให้รสหวานและเทกเจอร์กรุบกรอบ เหมาะกับคนที่ชอบเงาะไม่ฉ่ำน้ำ หากินได้ยาวๆ ไปถึงเดือนกรกฎาคมนะ

ทุเรียนออร์แกนิกกินให้หนำใจแบบไม่เป็นร้อนใน

เดือนนี้ยังเป็นต้นฤดูของทุเรียนออร์แกนิก ที่อยากชวนมาซัพพอร์ตก็เพราะการปลูกทุเรียนออร์แกนิกเป็นงานที่อาศัยความทุ่มเทแรงกายและใจเป็นอย่างมาก (ทุเรียนเป็นพืชที่ศัตรูพืชเยอะ เวลาออกผล ต้นทุเรียนก็ต้องการการบำรุงอันหนักหน่วง ไร่ส่วนใหญ่เลยจำเป็นต้องใช้เคมีน่ะ) แถมผลผลิตต่อไร่ก็น้อย ถึงอย่างนั้นหลายๆ ไร่ก็ยังกัดฟันสู้ต่อ เพราะอยากให้ผู้บริโภคได้กินของที่ดี ที่สำคัญ ฤทธิ์ร้อนในทุเรียนออร์แกนิกนั้นมีไม่เยอะเท่าทุเรียนเคมี ชาวทุเรียนเลิฟเวอร์กินเบิ้ลได้ ไม่เป็นร้อนในแน่นอนจ้ะ

เป็นตาแซ่บกับแมงอีนูนทอดก็ได้แกงก็ดี

วัตถุดิบสุดท้ายที่เราหยิบมาแนะนำวันนี้คือแมงอีนูน เชื่อว่าคนเมืองกรุงฯ อาจจะไม่ค่อยรู้จักชื่อและหน้าตา แต่ถ้าถามชาวเหนือและอีสาน แมงอีนูนทอดกับแกงแมงอีนูนเป็นเมนูที่ชาวเรา (ขอใช้คำว่าเราเพราะเฮาเป๋นคนเหนือ) คุ้นเคยกันดี สตอรี่ของแมงอีนูนก็น่าสนใจ เพราะจริงๆ แล้วน้องเป็นศัตรูพืชที่ชอบออกมาก่อกวนพี่ๆ เกษตรกรกันในช่วงต้นฤดูฝน วิธีการกำจัดที่มีแต่ได้กับได้ ก็คือการใช้แสงไฟนีออนล่อและจับมาทำเป็นเมนูอร่อยนั่นเอง โปรตีนจากแมลงจงเจริญ!

Communication Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #นิสิตออกแบบสื่อสาร

Read More:

Eat มนุษยสัมพันธ์

มนุษยสัมพันธ์ 05: จักรวาลขนมปังของเชฟแก้ว Salee Bakehouse ที่พูดเรื่อง welfare ของเกษตรกร

ชวนเชฟแก้ว-กมลา ธานีโต คุยเรื่องการทำขนมปังแบบเข้าใจตัวเอง การเป็นครู และสิ่งสำคัญที่อยากส่งต่อให้กับนักเรียนในคลาสขนมปัง

Eat สาระสำคัญ

ส่องวัตถุดิบรสนัว ก้นครัวชนพื้นเมือง

เข้าใจวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองบ้านเรา ผ่านอาหารและจักรวาลการครัว

Eat ผลการทดลอง

ว่างนัก เลยทดลองหมักอาหารกินเอง

ผลการทดลองทำกินจิหมักๆ และเหล้าบ๊วยดองๆ ของคน WFH