Body —— ผลการทดลอง

20 ชิ้น 20 วัน ฉันจะใส่เสื้อผ้าวนไป ไป ไป ไป!

การแต่งตัวเป็นเรื่องเสริมสุขภาพใจ แต่ถ้าสนุกเพลินเกินไป ก็จะกลายเป็นมนุษย์ที่ซื้อเสื้อผ้ามาเต็มตู้จนรู้สึกผิด! เนื่องในปี 2020 นี้ เราเลยทำการทดลองดัดนิสัยตัวเองด้วยการอยู่ให้ได้ 20 วันแบบไม่เสียจริต ด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับแค่ 20 ชิ้น! ลองดูว่าถ้าต้องใส่ชุดเดิมวนๆ ไป จะรู้สึกสวยหรือเสียสติกันแน่

รู้แก่ใจเสมอว่าตัวเองมีเสื้อผ้าในตู้เยอะเกินใช้ แต่เพิ่งมารู้ลึกๆ ว่ามันไม่ได้แค่เปลืองแค่เงินเรา แต่มันแย่กับโลกจนอยากลงทัณฑ์ตัวเองก็ตอนทำอะเดย์ฉบับ world-life balance เมื่อน้องในทีมช่วยกันหาข้อมูล แล้วได้รู้ว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแบบฟาสต์แฟชั่น ทำบาปทำกรรมให้โลกมากแบบตีออกมาเป็นตัวเลขได้ขนาดไหน


สิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมฟาสต์ไม่แฟร์ชั่น

*ข้อมูลอ้างอิงจาก a day #233

  • อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยในแต่ละปี
  • วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่ใช้ทอเสื้อคือฝ้าย ซึ่งในการผลิตเสื้อยืดจากผ้าฝ้ายแค่ 1 ตัว ใช้น้ำมากพอให้คนหนึ่งคนอาบน้ำได้นาน 2 ปีครึ่ง
  • แค่ในการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ทั่วโลก ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าการทำโรงงานถ่านหิน 185 แห่ง
  • 40% ของคนวัยเบบี้บูมเมอร์ถึงมิลเลเนียล ทิ้งเสื้อผ้าหลังใส่ไปแค่ครั้งเดียว!
  • และถ้าเราใส่เสื้อผ้านานขึ้นอีก 1 ปี จะช่วยลดมลพิษจากกระบวนการผลิตได้ถึง 24%

สะสมความรู้สึกผิดต่อโลกจนเต็มปริ่ม เราก็ถือเอาฤกษ์เอาชัยในเดือน 2 ปี 2020 ที่ผ่านมา เริ่มทำการทดลองที่ชื่อ 20×20 challenge จริงๆ ก็เลียนแบบชาเล้นช์ของฝรั่งแหละ แต่ตั้งตัวเลขเอามั่วๆ ตามความพึงใจ และตั้งเป้าเอาเองแบบง่ายๆ ว่าฉันจะต้องเห็นคุณค่าของเสื้อผ้าที่ซื้อมาแล้วให้มากกว่าเดิม!

20×20 challenge แบบคิดเองลองเอง

โจทย์: ท้าตัวเองให้ใส่เสื้อผ้า 20 ชิ้น ใน 20 วัน

ที่มาและปัญหา: ซื้อเสื้อผ้ามาเยอะไป ใส่ไม่คุ้ม สร้างปัญหาให้โลก

สมมติฐาน: ทำไมจะทำไม่ได้ ง่ายจะตาย!

ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง: ตัวเอง ความอดทน กาละเทศะ และกิเลส

ระยะเวลา: 12/02/20 – 2/03/20 

หน้าตาของเสื้อผ้าและเครื่องประดับจำนวน 20 ชิ้นที่ผ่านการคัดเลือก

เกณฑ์ในใจของเรามีไม่กี่ข้อ หนึ่ง ต้องเป็นโทนสีที่คิดว่าอยู่ด้วยกันแบบผสมไปมาได้ ฟ้า (สีโปรด) แดง (เผื่อตรุษจีน) ดำ ขาว น่าจะอยู่กันได้ และแอบมีเบจเติมมานิดนึง สอง ต้องมีกางเกงและกระโปรงให้พอเพียง! เราจะไม่ใส่ซ้ำเป็นชุดเค็มเด็ดขาด สาม ต้องผสมกันระหว่างชุดไปประชุมได้ กับชุดง่ายๆ ที่ไม่ต้องคิดมาก สี่ ต้องหักดิบตัวเองที่ชอบซื้อเครื่องประดับบ่อยนัก โดยเฉพาะต่างหู เอาไปแค่นี้พอ! ห้า รวมกระเป๋าไปด้วยละกัน โหดดี จะได้ท้าทายหน่อย 

ขอเชิญรับชมผลการทดลองเป็นภาพ เนื่องจากมันก็จะเขินๆ หน่อย เลยขอให้น้องกราฟิกคาดหน้าตัวเองให้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ PARASITE ของบองจุนโฮ ได้รางวัลออสการ์ในปีนี้

20 วันแห่งการมิกซ์แอนด์แมตช์บ้าง ไม่แมตช์บ้าง

จะสังเกตเห็นว่า ห้าวันแรกค่อนข้างราบรื่นในเชิงสไตล์ แมตช์ได้แบบไม่พังมาก แต่ก็ต้องยอมใส่กางเกงยีนส์ซ้ำเสียแล้ว (ขออภัยในความซกมก) เนื่องจากมาค้นพบว่า เฮ้ย ฉันเลือกกางเกงขายาวมาแค่สองตัวเองเรอะ! บ้าจริง!

ต้องขอบคุณตัวเองที่ชอบใส่เสื้อผ้าแบบซ้อนไปซ้อนมาหลายๆ ชั้นอยู่แล้ว เลยทำให้การใส่เสื้อผ้าที่เกือบ copy แล้ว paste ของ day 8 และ 10 ดูไม่แปลกจากปกติขั้นนั้น แต่จริงๆ แล้วเพิ่งมาค้นพบว่าปัญหาของการทดลองนี้คือ การซักผ้าให้ทันใส่! 

เนื่องจากเราลืมไปว่าต้องมองการณ์ไกลไปถึงวันตรุษจีน (ซึ่งต้องใส่เสื้อสีสดใสทั้งสองวัน ใน day 13 กับ 14) เลยทำให้ใส่เสื้อสีแดงและสีบานเย็นไปแบบบริหารให้กลับไปซักได้ไม่ทัน 

ส่งผลให้ใน day 14 เราต้องไปหาเสื้อยืดสีแดงตัวที่ 21 และกระโปรงตัวที่ 22 มาใส่ไปพบพ่อแม่ สรุปว่าทำการทดลองเฟลไป 1 วัน! ต้อนรับปีใหม่จีนจ้า แล้วก็ยังเฟลในเชิงสไตล์หลากหลายอีกด้วย เพราะพบว่าเดรสยาวสีดำที่เลือกมาใน day 11 ใส่ออกมาแล้วก็คล้าย day 3 เกินไป ทั้งที่วันนั้นใส่กางเกงไว้ข้างในก็ไม่รู้สึกต่างแฮะ

เกือบลืมไป ว่ามีสิ่งดีที่เกิดขึ้นใน day 11 ซึ่งเป็นช่วงที่เราเริ่มเบื่อกับเสื้อผ้าที่ใส่ซ้ำๆ พอดี วันนั้นนั่งรถไฟฟ้า แล้วเจอคนญี่ปุ่นมาทักว่าซื้อเสื้อตัวนี้ที่ไหน (และเราก็บอกลายแทงไป) แม้จะไม่เกี่ยวกันเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้ดันทำให้เราเกิดพลังใจในการใส่ให้คุ้มขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก เหมือนมีคนรู้ว่าแกเบื่อแล้วสินะ เลยส่งคนมาชม 555

ห้าวันสุดท้าย เราเริ่มชินกับการใส่เครื่องแบบมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะรู้ว่าใกล้สิ้นสุดแล้วรึเปล่าก็ไม่แน่ใจ (ฮ่า) แต่มันก็ทำให้เราเริ่มผูกพันกับเอี๊ยมตัวโปรดที่เราไม่ค่อยกล้าใส่บ่อยเท่าไหร่มากขึ้น ได้เรียนรู้ขึ้นมาว่าตัวเองสนุกกับเสื้อสีแดง และใส่มันไปทำงานได้เหมือนกัน ทั้งที่ปกติรู้สึกว่าสีมันแรงเกินตัวไปสำหรับการประชุมหรือพบปะผู้คน 

สรุปผลการทดลองใส่เสื้อผ้าวนไป  

ปัญหาและอุปสรรค: คิดว่าเลือกจำนวนท่อนล่างมาน้อยไปหน่อย และประเมินการซักผ้าดีเกินจริงไปนิด หรือไม่ก็จำนวนวันกับจำนวนชิ้นมันไม่ลงตัวไปหน่อย ถึงเวลาจริงๆ ชุดที่อยากแมตช์ด้วยกันอาจจะซักไม่ทัน ต้องยอมใส่ชุดที่แมตช์แบบไม่ปลื้มมาก หรือซ้ำๆ ไปก่อน


สิ่งดีๆ ที่เกิดกับตัวเอง: ต่อให้การทดลองนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร แต่เราว่ามันมีความภูมิใจที่เราได้ลองลงมือทำ และมันคือการตระหนักแบบจริงๆ ว่าเราไม่มีทางใส่เสื้อที่มีอยู่ในตู้เสื้อผ้าได้คุ้มแน่ๆ ดังนั้นจงหยุดช้อปซะ! เสื้อบางตัวพอต้องใส่มันซ้ำๆ เราก็ชอบมันขึ้นมาจนอยากใส่ให้บ่อยกว่าเดิม


และแน่นอน เดือนกุมภาพันธ์ เราไม่ได้ช้อปปิ้งเสื้อผ้าเลยสักตัว ประหยัดเงิน!


สิ่งที่อยากบอกตู้เสื้อผ้า: ตู้เสื้อผ้าจ๋า ฉันกลับมาแล้ว สาบานว่าจะใส่ทุกตัวให้คุ้มสุดๆ รู้สึกขอบคุณเสื้อผ้าที่มีอยู่ยิ่งนัก ฉันจะใส่ทุกตัวให้คุ้มกว่านี้ และหวังว่ามันจะดีกับโลกด้วยเช่นกัน

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Body จากผู้ใช้จริง

บันทึกสถิติงดซื้อเสื้อใหม่ 2019-2020

บันทึกความฟูและเฟลของนักช้อปกลับใจ งดซื้อเสื้อใหม่ 2 ปี!

Body จากผู้ใช้จริง

ฝาก ‘รอยเท้า’ เอาไว้!

รองเท้าคู่โปรด ฝากรอยเท้า (คาร์บอน) ไว้ให้โลกแค่ไหน

Body สาระสำคัญ

Freedom of Choice ในฮิญาบ ที่เราและโลกก็ควรเข้าใจ ด้วยความเคารพ

ไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหน ก็ควรเคารพในศรัทธาที่แตกต่างกัน