Home —— สาระสำคัญ

waste from home แยกตัวมาเวิร์กที่บ้านแล้ว อย่าลืมแยกขยะที่บ้านด้วยนะ!

ได้ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นทั้งที นอกจากจะต้องจัดการตัวเองให้มีพลังพร้อม work from home แบบโปรดักทีฟแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากจะขอชวนทุกคนมาจัดการให้เป็นระบบระเบียบกันมากขึ้นอีกนิด ก็คือการจัดการขยะรอบตัวเรานั่นเอง

ยิ่งช่วงนี้อยู่บ้านเยอะ ขยะที่เราสร้างก็คงแยะตามไปด้วย ทั้งจากอาหารที่แวะออกไปซื้อ ขนมที่ตุนไว้ก็เริ่มหยิบมากินแก้เบื่อ หรือแม้กระทั่งสารพัดเอกสารที่ต้องปรินต์มาดูระหว่างทำงาน ถ้าเป็นเวลาปกติเราคงทิ้งรวมๆ กันไปแล้ว เพราะไม่มีเวลามานั่งคัด นั่งแยก หรือบางทีก็ได้แต่คิดว่าแยกไปแล้วไงต่อล่ะ

ดังนั้นพอมีเวลามากขึ้นแบบนี้ เราเลยอยากชวนทุกคนมาลองแยกขยะกันด้วยวิธีแบบง่าย ไม่กระทบกระเทือนชีวิตประจำวันเดิมๆ แล้วเชื่อเราเถอะว่าขยะทุกชิ้นถ้าจัดการให้ดี มันจะไปสู่ปลายทางดีๆ เสมอ!

จริงๆ แล้วนอกจากการแยกขยะจะมีผลดีกับสิ่งแวดล้อม (อย่างที่เรารู้กันอยู่แล้ว) มันยังสามารถลดภาระให้กับพนักงานเก็บขยะที่มักจะแวะเวียนมารับขยะจากหน้าบ้านเราในตอนดึกๆ ด้วย เพราะหากเราไม่จัดการให้ดี หน้าที่เหล่านั้นจะตกไปสู่พี่ๆ พนักงานทั้งหลายที่ต้องมาคอยคัดคอยแยก ดีไม่ดีเจอขยะติดเชื้อหรือขยะอันตรายเป็นแจ็กพอตไปอีก

ฝึกแยกขยะแบบง่ายมากแค่ 4 ถัง จำง่ายๆ

พอพูดถึงการแยกขยะ หลายๆ คนก็อาจจะเห็นภาพของการแกะนู่น แยกนี่ ขยะชิ้นนี้ต้องทิ้งลงถังไหนก็ไม่ค่อยแน่ใจ แต่สำหรับมนุษย์ออฟฟิศอย่างเรา ที่แม้อยู่บ้านก็ยังต้องทำงาน ไม่มีเวลามาศึกษากันขนาดนั้น เราก็ขอแนะนำเทคนิคเพิ่มถังขยะแค่สี่ถังไว้หย่อนขยะตามประเภทต่างๆ ที่เราสร้างกันบ่อยๆ พร้อมทำสัญลักษณ์สี เพื่อช่วยส่งต่อขยะเหล่านั้นไปสู่ปลายทางได้ง่ายขึ้น 

เริ่มที่ขยะยอดฮิตสำหรับช่วงนี้โดยเฉพาะ อย่างหน้ากากอนามัย ที่เมื่อนำไปทิ้งให้ทำสัญลักษณ์ด้วยการผูกเชือกหรือแปะกระดาษสีส้มบนถุงบอกว่านี่คือขยะอันตราย

ขยะกระดาษ สำหรับกองกระดาษทั้งหลายที่เกิดจากการปรินต์อ่าน ขีดเขียนระหว่างทำงาน เมื่อเตรียมทิ้งให้ทำสัญลักษณ์สีเหลือง รีไซเคิลได้

ขยะพลาสติก ก็ใช้สีเหลือง เพราะรีไซเคิลได้เหมือนกัน ทั้งถุงก๊อบแก๊บ ขวดน้ำ หรือกล่องพลาสติกสะอาดๆ จากบริการเดลิเวอรี่ต่างๆ ที่พักนี้มีอยู่เต็มบ้าน

ขยะอาหารที่เรากินไม่หมด หรือเศษขยะอื่นๆ ให้ทำสีน้ำเงิน หมายถึงขยะทั่วไปที่มีปลายทางทั้งการทำปุ๋ย การเผา และการฝังกลบ 

พอถึงเวลาให้รวบรวมขยะแยกเป็นถุงทิ้งตามนี้ ก็จะช่วยเบาแรงของพี่ๆ พนักงานไปได้อีกเยอะเลยล่ะ

ไม่จับ-พับ-ม้วน-ปิด แยกขยะติดเชื้อ

ขยะตัวดีในฤดูกาลโรคระบาดแบบนี้คงหนีไม่พ้นหน้ากากอนามัยสำหรับใครที่ยังต้องออกจากบ้าน แน่นอนว่าพอเป็นขยะติดเชื้อก็ต้องมีการจัดการที่พิเศษหน่อยเพื่อไม่ให้เชื้อโรคออกมาป้วนเปี้ยนในบ้านเรา หรือไปแพร่ใส่คนเก็บขยะแทน

การจัดการกับหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องควรเริ่มตั้งแต่การถอดอย่างถูกวิธี ด้วยการดึงสายคล้องหูออกแทนการจับที่ตัวหน้ากากโดยตรง หลังจากนั้นให้พับครึ่งหน้ากากแบบนำด้านนอกออกเพื่อไม่ให้เชื้อโรคจากเราเล็ดลอดออกไป แล้วม้วนเก็บโดยใช้สายคล้องหูรัดให้แน่นหนา ป้องกันการกระจายของเชื้อโรคอีกที

เมื่อพับหน้ากากอนามัยแล้ว ก็ต้องหาจุดทิ้งที่เหมาะสม นั้นคือถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด พร้อมตั้งในทำเลห่างไกลจากที่ที่เราอยู่สักหน่อยเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีเชื้อโรคหลุดมาในพื้นที่ของเรา

ขยะหน้ากากเหล่านี้ต้องแยกทิ้งในถังขยะติดเชื้อเท่านั้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้อื่น ดังนั้นเราจะรวบรวมไปทิ้งเองตามจุดทิ้งขยะติดเชื้อใกล้บ้านก็ได้ หรือใครที่ไม่สะดวกขอแค่มัดปากถุงให้แน่นหนา จะให้ดีควรเป็นถุงใสที่มองเห็นข้างใน พี่คนเก็บจะได้ไม่ต้องเปิดปากถุงดู แล้วระบุสัญลักษณ์สีส้มเอาไว้ว่านี่คือขยะอันตราย ก็เป็นการช่วยพนักงานเก็บขยะได้อีกเยอะเลย!

ใช้แล้ว-ใช้ซ้ำ ลดขยะกระดาษ

ถึงแม้จะอยู่บ้าน แต่ในชั่วโมงทำงานแบบนี้ คงมีบ้างที่จะต้องปรินต์งานออกมาอ่าน หรือใช้กระดาษจดบันทึกวันละหลายๆ หน ก่อนจะทิ้งกระดาษเหล่านั้นไป เราอยากให้หาจุดตั้งกล่องใส่เอกสารง่ายๆ สำหรับแยกกระดาษวางไว้ใกล้โต๊ะทำงาน จะได้หยิบใช้หยิบทิ้งกันสะดวกๆ

เมื่อหาทำเลทองได้แล้ว หน้าที่ของเราแค่แยกกระดาษออกเป็นสองกอง กองแรกไว้สำหรับรวมกระดาษที่ใช้ไปหน้าเดียว เผื่อคราวหน้าจะได้หยิบเอามาใช้ปรินต์งานใหม่ได้อีกรอบ ส่วนกระดาษแผ่นไหนที่ใช้จนเต็มสองหน้าแล้วก็แยกเอาไว้อีกกองแค่นั้นเอง

เมื่อกองกระดาษสองหน้ามีเยอะ เราสามารถรวมไปขายตามร้านรับซื้อของเก่าเพิ่มรายได้เล็กๆ น้อยๆ หรือส่งไปยังศูนย์รับรีไซเคิลต่างๆ ที่อยู่ใกล้บ้านก็ได้ ส่วนใครที่ไม่สะดวก แค่รวบรวมกระดาษเหล่านั้นใส่ถุงให้เรียบร้อย ทำสัญลักษณ์สีเหลืองแปะที่หน้าถุง เพื่อระบุให้พนักงานเก็บขยะทราบว่านี่คือสิ่งที่รีไซเคิลได้ พอถึงวันเก็บขยะเขาก็จะนำไปจัดการรีไซเคิลให้เราเองแหละ

แยก-เก็บ-ทิ้ง ขยะพลาสติก

มาถึงขยะตัวท็อปในฤดูกาลกักตัวนี้ เพราะเข้าใจได้ว่าบางวันทำอาหารเบื่อๆ ก็คงมีบ้างที่คิดถึงรสชาติอาหารนอกบ้าน ต้องสั่งนู่นสั่งนี้มากินจนอาจได้ทั้งถุงทั้งกล่องพลาสติกมาเก็บไว้ แล้วไหนจะขวดน้ำ ถุงขนมที่ซื้อมาตุนไว้อีก

ก่อนจะตั้งถังสำหรับทิ้งขยะพลาสติกใดๆ เราอยากชวนทุกคนมาแยกพลาสติกที่ได้มาแล้วยังเก็บไว้ใช้ได้กันก่อน เช่น ถุงก๊อบแก๊บสะอาดๆ สามารถพกไปช้อปในคราวหน้าได้ หรือกล่องใส่อาหารที่มีฝาปิดก็เก็บไว้ใช้ได้อีกหลายหน การให้พวกมันซ้ำๆ ให้มากที่สุดคือหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการลดขยะพลาสติกแล้วนะ 

ส่วนขยะพลาสติกอื่นๆ ที่เหลือ เช่น แก้วน้ำ ขวดน้ำ หรือซองพลาสติกห่อของต่างๆ ที่สะอาดเรียบร้อยดีอยู่ ก็แค่จัดพื้นที่ทิ้งพวกมันให้เป็นระเบียบ พอมีเยอะจะนำไปขาย ไปส่งศูนย์รีไซเคิลเอง หรือรวบรวมใส่ถุงแปะสัญลักษณ์สีเหลือง รอวันเก็บขยะ เขาก็จะช่วยนำไปรีไซเคิลให้เราได้เหมือนกัน


แยก-ตาก-โปรย เศษอาหาร

พอมีเวลาทำอาหารบ่อยขึ้น แน่นอนว่าขยะจำพวกเศษอาหาร เปลือกไข่ หรือกากกาแฟจากการชงกินเองทุกวันก็คงจะมีมากขึ้นตามไปด้วย สำหรับบ้านใครที่มีถังหมักปุ๋ยอยู่แล้ว นี่อาจไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่ แต่สำหรับคนอื่นๆ ก็ไม่ยากที่จะเริ่มต้นเหมือนกัน!

เพราะแค่นำเฉพาะเปลือกไข่กับกากกาแฟมาตากแห้ง ทิ้งไว้สักหนึ่งวัน ก็สามารถเอาไปโปรยเป็นปุ๋ยชั้นดีแบบเร่งด่วนให้ต้นไม้ได้แล้ว 

แต่ถ้านั้นยังยากไปอยู่ เราก็อยากขอความร่วมมือง่ายๆ เพียงแค่ตั้งถังขยะเล็กๆ แยกไว้ในโซนห้องครัวสำหรับทิ้งเศษอาหารโดยเฉพาะก็พอ เมื่อถึงเวลาเก็บขยะก็มัดปากถุงให้เรียบร้อย ทำสัญลักษณ์สีน้ำเงินแปะว่านี่คือขยะเศษอาหาร พนักงานเก็บขยะจะได้จัดการเอาไปทำปุ๋ยหมักหรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ต่อ

ส่วนขยะเลอะ เปรอะ เปื้อนอื่นๆ ก็สามารถนำใส่ถุงทำสัญลักษณ์สีน้ำเงินได้เหมือนกัน แต่เราอยากแนะนำให้ทิ้งแยกอีกใบ เพราะขยะอื่นๆ เหล่านี้จะต้องนำไปเผาหรือฝังกลบแทนการทำปุ๋ยนั่นเอง

อัพเลเวล…

ส่วนใครที่คิดว่าการแยกแบบเบสิกแค่นี้มันง่ายเหลือเกิน เราก็ขอชวนมาแยกแบบอัพเลเวลขึ้นอีกนิด เช่น ทำปุ๋ยหมักด้วยการฝังกลบเศษอาหารใช้เองไปเลย แต่วิธีนี้ต้องอาศัยเชื้อจุลินทรีย์ในการช่วยย่อยสลาย ถ้ายากเกินไปลองติดต่อซื้อถังหมักปุ๋ยมาไว้ที่บ้าน คราวนี้ก็ไม่มีเศษอาหารหลุดลอดไปให้ทิ้ง แถมเรายังมีปุ๋ยมาใช้ปลูกต้นไม้ฟรีๆ ทุกเดือนอีก

นอกจากนี้เรายังสามารถล้างแล้วตากถุงแกงที่เลอะให้สะอาด เพื่อให้นำไปรีไซเคิลใหม่ได้ ตัดและล้างกล่องนมที่กินหมดแล้ว รวบรวมส่งไปทำหลังคาก็ได้นะ หรือจะแยกกระป๋องส่งไปรีไซเคิล แยกขวดแก้วป้องกันอันตรายยามจัดเก็บ และแยกขยะอันตรายอื่นๆ จำพวกถ่านไฟฉาย หลอดไฟและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไว้ด้วยกันก็จะยิ่งดีเข้าไปใหญ่เลย 

แล้วมาแยกให้เป็นนิสัยกันนะ!

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Home ผลการทดลอง

ทดลองทำ waste audit แบบง่าย (สุดๆ)

สถิติการสร้างขยะของฉันตลอด 1 เดือน

Home สาระสำคัญ

Beyond KonMari: จัดบ้านแบบสปาร์กจอยไม่ไหว ทำไงได้อีก

ไลฟ์โค้ชสายจัดบ้านก็มา! คำถามคือจะเลือกวิธีไหนถึงจะเวิร์กกับเรา และดีกับโลกด้วย

Home ผลการทดลอง

ทดลองเว้นระยะห่างกับ ‘ทิชชู่’ 1 เดือน

มนุษย์เสพติดทิชชู่อย่างเราจะทำได้ไหม?