Play —— จากผู้ใช้จริง

รวมลิสต์สารคดี เพิ่มความอินในวิถีกินดีจาก Netflix

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ติดบ้านตามมาตรการ Social Distance มานานกว่าเดือน เชื่อว่าหลายๆ คนคงได้เคลียร์ลิสต์หนังและซีรี่ส์ใน Netflix กันไปจนหมดไหดอง เราเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้ใช้เวลาช่วงนี้มีเคลียร์สารคดีที่ชอบเช่นกัน โดยเฉพาะสารพัดสารคดีอาหารที่นอกจากจะสนุกดูเพลินแล้ว ยังเพิ่มความอินในการกินดี ปลุกพลังความเป็นมาสเตอร์เชฟในตัวเราได้ด้วย 

 

และในฐานะของคนที่เป็นแฟนสารคดีใน Netflix จึงอยากจะรวมลิสต์สารคดีอาหารในดวงใจที่อยากให้ทุกๆ ได้ดูไปด้วยกัน

Jiro Dreams of Sushi (2011) 

เบื้องหลังของร้านซูชิ 3 ดาวแห่งแรกในญี่ปุ่น

เริ่มกันด้วยสารคดีในตำนานที่เข้า Netflix Thailand เสียทีอย่าง Jiro Dreams of Sushi ที่เล่าเรื่องราวเบื้องหลังร้าน Sukiyabashi Jiro ร้านซูชิแห่งแรกที่ได้รับ 3 ดาวจากมิชลินเมื่อปี 2008 และ 2009 ท่ามกลางร้านซูชินับไม่ถ้วนของญี่ปุ่นและทำให้เจ้าของร้านและหัวหน้าพ่อครัวอย่าง Jiro Ono เป็นเชฟมิชลินที่อายุเยอะที่สุดอีกด้วย

แน่นอนว่าสารคดีเรื่องนี้เต็มไปด้วยความละเมียดละไม ความใส่ใจ และความมุ่งมั่นในการทำอาหารของ Jiro Ono ที่ยังคงอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าแม้จะอายุเกือบ 90 ปี แต่สำหรับเราแล้วสิ่งที่ประทับใจที่สุดในสารคดีเรื่องนี้ เรื่องราวของผู้คนมากมายที่อยู่เบื้อหลังของซูชิแต่ละคำ ไม่ว่าจะเป็นเชฟ คนจับปลา คนซื้อปลา คนขายข้าว รวมไปถึงเรื่องราวของลูกชายคนโตของลุงจิโร่ที่ต้องพิสูจน์ตัวว่าคู่ควรกับร้านอาหารของพ่อเพื่อสืบทอดกิจการต่อไป เรียกได้ว่าเป็นสารคดีที่ทั้งชวนหิวและอิ่มใจไปพร้อมๆ กัน

Cowspiracy: The Sustainability Secret (2014)

ทฤษฎีสมคบคิดระหว่างอุตสาหกรรมสัตว์กับองค์กร NGO 

ในวันนี้เราต่างก็รู้กันแล้วว่าอุตสาหกรรมเนื้อนั้นเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน มี NGO มากมายที่มากระตุ้นให้คนลดกินเนื้อสัตว์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในปีที่สารคดี Cowspiracy ฉาย แทบจะไม่มีองค์กรเพื่อสังคมระดับโลกออกมารณรงค์ให้ลดกินเนื้อสัตว์เพื่อรักษาโลก แม้จะมีการรายงานจาก FAO ออกมาบอกแล้วว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นตัวการสำคัญที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการคมนาคมเสียอีก 

สารคดีเรื่องนี้จริงเป็นการตามไปหาคำตอบว่าทำไมหลายๆ องค์กรถึงเลือกที่จะไม่พูดถึงสาเหตุสำคัญนี้ หรือว่าจริงๆ นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการสมคบคิดกัน (Conspiracy) เพื่อปกปิดความจริงของผลกระทบจากการปศุสัตว์ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ให้กับ NGO อยู่ Cowspiracy เป็นสารคดีข่าวเจาะชั้นดีที่พาเราไปลุ้นกับการหาคำตอบของผู้กำกับทั้ง Kip Andersen และ Keegan Kuhn แม้เรื่องราวที่เขาพยายามขุดคุ้ยจะดูเป็นเรื่องแสนไกลตัว แต่วิธีการดำเนินเรื่องที่มีทั้งอุปสรรค ความระทึกใจ ไม่ต่างอะไรจากหนังสืบสวนสอบสวนดีๆ ก็ชวนให้ติดตามไปจนจบ

What the Health (2017)

หรือเนื้อ นม ไข่ จะเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรค

อีกหนึ่งสารคดีจากผู้กำกับ Cowspiracy ที่รอบนี้เขามาเปิดโปงอุตสาหกรรมอาหารครบทั้งเรื่อง เนื้อ นม ไข่ โดยเฉพาะเหล่าอาหารแปรรูปที่เขาบอกว่ามีอันตรายไม่ต่างจากการสูบบุหรี่เลยทีเดียว ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคืออาหารเหล่านี้แทบจะเป็นโปรตีนหลักที่ชาวอเมริกันกินเป็นประจำ องค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพหลายๆ ที่ถึงขั้นแนะนำวัตถุดิบอย่างแฮม เบค่อน ลงไปในเมนูเพื่อสุขภาพด้วยซ้ำ

What the Health เป็นสารคดีที่มีความเข้มข้นไม่ต่างอะไรจาก Cowspiracy ยิ่งเรื่องราวที่เขานำเสนอเป็นอาหารที่ใครๆ ก็ต้องเคยกินอย่าง เนื้อ นม ไข่ ยิ่งทำให้เราต้องตกใจกับหลากหลายผลกระทบของอาหารที่กลายเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคโดยที่เราไม่เคยรู้ ซึ่งในสารคดีนี้นอกจากไปขุดคุ้นหาข้อมูลผลกระทบของอาหารต่อสุขภาพ ยังมีเรื่องราวของผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจที่เปลี่ยนวิถีการกินมาเป็น Plant-based diet เพื่อรักษาชีวิต ยิ่งทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าการกินนั้นเปลี่ยนชีวิตได้และเราสามารถกินอาหารให้เป็นยาได้จริงๆ

The Game Changers (2018) 

พลิกมุมมองต่อการกินโปรตีนในกลุ่มนักกีฬา

ความน่าสนใจอย่างแรกเลยของ The Game Changers คือผู้กำกับ (Louie Psihoyos) ไม่ได้เป็นนักทำหนัง เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะป้องกันตัวที่ผันตัวมาเป็นครูฝึกในหน่วยนาวิกโยธิน แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาตัดสินใจมาทำสารคดีเมื่อเขาเกิดอาการบาดเจ็บ ทำให้ต้องศึกษาหาแนวทางการกินที่สามารถฟื้นฟูร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งพบว่าการกินพืชอย่างเคร่งครัดจะสามารถฟื้นฟูร่างกายได้ดีที่สุด แต่ในฐานะของนักกีฬาที่มีความเชื่อว่าต้องได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพื่อไปเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เขาเริ่มสงสัยว่านักกีฬาจะสามารถกินผักเป็นหลักจนกลายเป็นมังสวิรัติได้จริงหรือ?

สารคดีเรื่องนี้เราได้เห็นนักกีฬาจากหลากหลายแขนงผู้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่านักกีฬาสามารถเป็นมังสวิรัติได้ ทั้งนักวิ่งมาราธอนที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่งกว่า 7 ปี นักยกน้ำหนักเจ้าของสถิติโลก นักปั่นจักรยานที่คว้าแชมป์โอลิมปิกในวัย 40 ปี ไปจนถึงคนเหล็กอย่าง Arnold Schwarzenegger ที่แต่นอกจากจะสัมภาษณ์นักกีฬาแล้ว ในสารคดียังเต็มไปด้วยการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ชวนนักกีฬากลุ่มตัวอย่างให้เปลี่ยนมากินพืช พร้อมกับทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ที่ทำให้เราเห็นว่าการกินพืชทั้งดีต่อร่างกายจริงๆ

Chef’s Table (2015–ปัจจุบัน) 

เปิดครัว เปิดใจ เชฟผู้เปลี่ยนวงการอาหารโลก

คงจะไม่พูดถึงไม่ได้ สำหรับสารคดีชุดชื่อดังที่พาเชฟคนสำคัญผู้สร้างสรรค์อาหาร มาเล่าถึงที่มา แรงบันดาลใจ ความหลงใหล และความหมายของการทำอาหารของพวกเขา พร้อมกับพาเราเข้าไปเดินเล่นสำรวจการทำงานในครัวของสุดยอดร้านอาหารชั้นนำทั่วโลก ถ่ายทอดออกมาผ่านโปรดักชั่นการถ่ายสุดอลังการ เพิ่มอินสไปร์เรชั่นในการทำอาหารมาเต็ม

ข้อดีของ Chef’s Table คือมีเชฟที่หลากหลายให้เราเลือกดูได้ แต่บางทีก็อาจจะมากเกินไปจนหลายๆ ไม่รู้ว่าควรจะดูคนไหน เราจึงขอแนะนำ top 4 เรื่องราวเชฟในดวงใน นั้นคือ Massimo Bottura (Season 1, EP1) เชฟผู้สร้างแนวทางใหม่ที่อาหารอิตาลี, Gaggan Anand (Season 2, EP6) เชฟที่อยากยกระดับอาหารอินเดียให้เป็นอาหารจานหรู, Cristina Martinez (Season 5,EP1) เชฟหญิงผู้ลี้ภัยที่ใช้อาหารสร้างตัวตนในอเมริกา และ Dario Cecchini (Season 6 ,EP1) สัตวแพทย์ที่ต้องมาเป็น butcher หรือคนขายเนื้อเพื่อสืบทอดกิจการของครอบครัว

Cooked (2016) 

ตามรอยประวัติศาตร์ หาเหตุผลที่คนต้อง cook

สารคดีจากหนังสือเล่มดังของ Michael Pollan เรื่องนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในสารคดีที่จะปลุกจิตวิญญาณมาสเตอร์เชฟของเราได้เป็นอย่างดี เพราะเขาบอกว่าว่าการทำอาหารไม่ใช่ความสามารถพิเศษ แต่เป็นทักษะพื้นฐานที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่รอด!!

ซึ่งสารคดีนี้จะเล่าเรื่องราวของผ่านความขี้สงสัยของ Michael ว่า องค์ประกอบพื้นฐานของทุกสิ่งบนโลกอย่างไฟ น้ำ ลม ดิน มีบทบาทในการเปลี่ยนวัตถุดิบจากจุดดั้งเดิมที่สุดของมันจากธรรมชาติ มาเป็นอาหารรสอร่อยบนจานของเราได้ยังไง แล้วการทำอาหารมีความสำคัญกับมนุษย์แค่ไหน Michael ถึงขั้นบอกไว้ว่า “การที่เราไม่ทำอาหารทำให้เราเป็นแค่ผู้บริโภคที่ไม่ได้เห็นที่มาของอาหาร และมันก็ทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราถูกลิดรอนไป” 

ดูจบแล้วต้องลุกขึ้นมาทำอาหารเพื่อปลุกความเป็นมนุษย์ของตัวเองจริงๆ

Ugly Delicious (2018–ปัจจุบัน) 

ตามหานิยามอาหารดี ที่ไม่ต้องหน้าตาดีก็ได้

ขณะที่สารคดีอาหารทั่วไปมักจะเล่าเรื่องราวของอาหารหน้าตาดีหรืออาหารที่มีความพิเศษ Ugly Delicious เลือกที่จะเล่าเรื่องราวของอาหารบ้านๆ อย่างเหล่า Comfort Food ที่หน้าตาอาจจะไม่ได้ดีเลิศแต่รสชาติอร่อย ซึ่งสารคดีนี้เป็นโปรเจ็กต์ของ David Chang ที่อยากจะเปลี่ยนมุมมองของอาหารให้กับคนทั่วไป พร้อมกับบอกว่าอาหารทุกๆ อย่างมันมีเรื่องราวมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เราอาจจะไม่เคยรู้

สิ่งที่เราชอบเป็นพิเศษของ Ugly Delicious คืออารมณ์ขันของ David Chang ที่สามารถเล่าเรื่องราวความซับซ้อนของวัฒนธรรมอาหารให้ออกมาสนุกข้าใจง่าย เราได้เห็นการเสียดสีประเด็นทางสังคมที่แฝงอยู่ในจานอาหารแทบจะทุกตอน เป็นสารคดีที่กล้าจะหยิบเรื่องการเมือง เรื่องเพศ และเชื้อชาติมาพูดได้แบบที่เราฟังแล้วไม่ขัดหู นอกจากจะชวนหิวแล้วยังชวนให้เราตั้งคำถามถึงอาหารมากมายรอบตัวได้ด้วย 

Street Food (2019) 

เรื่องเล่าหลากรสจากร้านริมทางทั่วเอเชีย

ก่อนที่จะมีสารคดีชุดนี้ เรามักจะค่อนแคะอยู่บ่อยๆ ว่า Netflix นี้ยกยอแต่เรื่องราวอาหารของชนชั้นกลาง สร้างนิยามว่าอาหารที่ดีต้องมาจาก ‘เชฟมืออาชีพ’ ที่กว่าจะกินได้ต้องมีทั้งเงินทั้งเวลา แต่เรื่องราวของชาวบ้านตาสีตาสาที่ตื่นมาทำอาหารราคาถูกให้คนเป็นร้อยในทุกๆ วันกลับไม่เคยมีใครพูดถึง พอ Netflix มีสารคดีที่เล่าเรื่อง Street Food เราจึงตั้งตารอทันที ซึ่งการรอคอยนี้ก็ไม่ผิดหวัง

Street Food นอกจากจะพาเราไปดูวัฒนธรรมการกินอันเข้มข้นที่แฝงอยู่ในร้านอาหารข้างทางชื่อดังในย่าน Street Food หลากหลายแห่งทั่วเอเชียแล้ว สารคดีนี้ยังฉายให้เห็นชีวิตของเจ้าของร้านที่อัดเน้นไปด้วยประเด็นดราม่าสู้ชีวิต ทำให้เราได้เห็นว่า Street Food นั้นมีความหมายมากกว่าเป็นของอร่อยจริงๆ

Content Designer

#เกิดจังหวัดตาก #ไปเรียนที่เชียงใหม่ #กำลังเป็นนักเขียนอยู่ในเมืองกรุง

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Play ผลการทดลอง

‘ตามล่า’ หนังสือที่อยากได้จากร้านมือสอง

ทดลองช้อปหนังสือมือสองแบบมีมิชชั่น (ไม่) อิมพอสซิเบิ้ล

Play

คุณจะได้เจออะไรใน ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ Ver 2.0 'ROUTE: History Nerds'

คุณและเพื่อนใหม่จะได้เจาะเวลา ตามหาจุดหมายที่ถ้าวันนี้ไม่รีบช่วยกันจำ วันหน้าอาจไม่อยู่แล้ว

Play

คุณจะได้เจออะไรใน ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ Ver 2.0 'ROUTE: Nameless Street Food'

คุณและเพื่อนใหม่จะได้พากันไปกินของอร่อยย่านประดิพัทธ์-อารีย์ ตามลายแทงร้านชื่อไม่ดังที่คุณไม่รู้ล่วงหน้า แต่ไอแอลไอยูคัดเลือกมาให้แล้วว่าคนแถวนี้คอนเฟิร์มกันว่าดีจริง!