ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์หมักดองอาหารเป็นศูนย์ อาจเพราะเราเป็นคนที่ไม่ได้อินกับการกินอาหารหมักๆ ดองๆ สักเท่าไหร่ รู้สึกว่าอาหารหมักดองนั้นมีขั้นตอนยุ่งยากและต้องใช้เวลา การทำของหมักของดองกินเองจึงเป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่เคยคิดว่าจะสามารถทำได้
แต่ไหนๆ ก็มีเวลาว่างๆ ในช่วง WFH ทั้งที จึงขอใช้โอกาสนี้เปลี่ยนมุมมองต่ออาหารหมักๆ ดองๆ ของตนเองใหม่ ด้วยการทดลองทำของหมักดองที่เขาบอกกันว่าง่ายแสนง่ายอย่าง กิมจิ และ เหล้าบ๊วย มาดูกันว่าผลการทดลองจะเป็นอย่างไร ทำง่ายจริงไหม คุ้มค่ากับการรอคอยจริงๆ หรือไม่
โครงการทดลอง : หมักกิมจิกินด่วน
ระยะเวลาการทดลอง : 5 วัน
สารตั้งต้น
- ผักกาดขาว
- เกลือสมุทร
- แป้งข้าวเหนียว
- ขิง
- หอมหัวใหญ่
- กระเทียม
- น้ำปลา
- น้ำตาลทรายขาว
- พริกป่นเกาหลี
- -กุ้งแห้ง
วิธีการทดลอง
1.เตรียมซอสหมักกิมจิ นำใส่น้ำเปล่า 1 ถ้วยลงในหม้อใบเล็ก ใส่แป้งข้าวเจ้าลงไป คนไปเรื่อย ๆ ด้วยไฟกลางประมาณ 5 นาทีหรือจนข้น
2.ปั่นกระเทียม ขิง หอมหัวใหญ่ และกุ้งแห้งเข้าด้วยกันจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน
3.เทแป้งและของปั่นลงไปในชามผสม ปรุงรสด้วยพริกป่นเกาหลี น้ำปลา และน้ำตาลทราย คนผสมจนเข้ากัน พักทิ้งไว้จนเย็น
4.ระหว่างเตรียมซอสก็หมักผักกาดกับเกลือประมาณ 2-3 ชั่วโมงจนผักกาดนิ่ม
5.นำผักกาดที่หมักเรียบร้อยแล้วไปล้างน้ำเปล่า เพื่อเอาความเค็มออกประมาณ 2-3 น้ำ นำมาพักไว้จนสะเด็ดน้ำ
6.นำผักกาดขาวที่ล้างน้ำเรียบร้อยแล้วไปคลุกกับซอสหมัก นวดผสมจนเข้ากัน ตักใส่ขวดโหล
7.หมักไว้นอกตู้เย็นประมาณ 1 คืน แล้วใส่ตู้เย็นต่ออีกประมาณ 2-3 วัน
ผลการทดลอง
กินเปล่าๆ : สำหรับเราที่ไม่ชอบกิมจิที่เปรี้ยวเกินไป หมักแค่ 2 วันก็อร่อยเหมาะกับการกินเปล่าๆ หรือเป็นเครื่องเคียงก็ดี
ปรุงอาหาร : ต้องหมักต่ออีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ถึงจะมีรสชาติเข้มข้นมากพอที่จะปรุงเป็นซุปกินจิหรือข้าวผัด
ข้อสรุป
ค้นพบว่ากิมจินั้นทำง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ แถมยังใช้เวลาไม่มากอย่างที่คิด ขั้นตอนที่ดูยุ่งยากที่สุดคงจะเป็นการเตรียมซอสหมัก แต่พอได้ทำซักครั้งสองครั้งก็เริ่มชิน รู้ตัวอีกทีก็เตรียมหมักโหลที่ 2 แล้ว
โครงการทดลอง : ดองเหล้าบ๊วยชวนลืม
ระยะเวลาการทดลอง : 1 ปี
สารตั้งต้น
- บ๊วยสด
- น้ำตาลกรวด
- เหล้าสีขาว (White Spirit) ที่มีแอลกอฮอล์สูงกว่า 25 ดีกรีแต่ไม่เกิน 40 ดีกรี (เราใช้เหยี่ยวเงินผสมโซจู)
วิธีการทดลอง
1.นำบ๊วยที่คัดเลือกมาแล้วว่าลูกแข็ง มีสีเขียว ไม่ช้ำ แช่ในน้ำสะอาดนาน 2-4 ชั่วโมง เพื่อล้างยางและความขมออก
2.ล้างบ๊วยที่แช่แล้วให้สะอาด เช็ดบ๊วยให้แห้ง ใช้ไม้จิ้มฟันแคะขั้วสีดำออก จิ้มบ๊วยให้ทั่ว เพื่อเร่งการซึมเข้าเนื้อ
3.นำโหลที่เตรียมไว้ล้างสะอาดเช็ดด้วยเหล้าขาว หรือจะลวกน้ำอุ่นก็ได้ จากนั้นตากไว้ให้แห้ง
4.ใส่บ๊วยและน้ำตาลกรวดลงในโหลทีละชั้นๆ เราชอบหวานเลยใช้บ๊วยและน้ำตาลในน้ำหนักเท่าๆ กัน แต่ถ้าไม่ชอบเหล้าบ๊วยที่หวานมากก็ให้ลดน้ำตาลลงครึ่งสูตร
5.เทเหล้าขาวลงไปจนเต็มโหล
6.เขียนวันเดือนปีที่ดองติดไว้กันลืม เก็บในที่พ้นแสงหรือเอาผ้าคลุมไว้ ดองกันยาวๆ 1 ปี ระหว่างนั้นให้พลิกโหลบ้างประมาณ 3-4 เดือนครั้ง ให้น้ำตาลไม่ตกตะกอน
ผลการทดลอง
กินเพียวๆ : เหมือนดื่มเหล้าขาว แสบคอไม่ไหว ขอผ่านไปก่อน
ผสมกับ Mixer : หลังจากทดลองทั้งผสมน้ำเปล่า โซดา สไปร์ท และชเวปส์ ค้นพบว่าสูตรที่เวิร์คที่สุดสำหรับเราคือ เหล้าบ๊วย+โซดา+มะนาว เพราะยังได้กลิ่นหอมๆ ของบ๊วย แต่ก็ได้ความซ่าของโซดาและความเปรี้ยวของมะนาวมาช่วยตัดรสให้ดื่มได้ง่ายขึ้น
ข้อสรุป
เห็นหน้าตาคราฟท์ๆ ใสๆ แต่บอกเลยว่าเหล้าบ๊วยรสเข้มกว่าที่คิด อาจจะเพราะเราเลือกใช้เหล้าขาวที่มีกลิ่นค่อนข้างแรง ทำให้ช่วงแรกแอบตกใจกับความเข้มของเหล้าบ๊วยไปเหมือนกัน แต่หลังจากที่ดองต่อมาอีกซักพักรสชาติของเหล้าเริ่มอ่อนลง มีความกลมกล่อมขึ้นทำให้กินง่าย ก็ถือว่าเป็นการรอคอย 1 ปีที่คุ้มค่าเหมือนกันนะ
Read More:
Urban Foraging BKK บันทึกเด็ดดอกไม้กินจริงๆ ไม่ได้เล่นขายของ
ความสนิทสนมกับต้นไม้ในซอยบ้านนี่แหละ ที่จะทำให้เรากลมเกลียวกับโลกใบนี้มากขึ้น
ดูสารคดีจน Guilty แต่ก็ยังกินต่อให้ Guilt-Free ได้อยู่!
ส่องปัญหาเรื่องกินๆ แบบเวิลด์ไวด์ พร้อมทางเลือกกินแบบไทยๆ ที่ไม่ต้องเลิก
ส่องวัตถุดิบรสนัว ก้นครัวชนพื้นเมือง
เข้าใจวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองบ้านเรา ผ่านอาหารและจักรวาลการครัว